ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิธีแก้ไขปัญหาแนว Holistic ecology


ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิธีแก้ไขปัญหาแนว Holistic ecology

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และวิธีแก้ไขปัญหา  แนว Holistic ecology

เย็นจิตร ถิ่นขาม[1]

 

แนวทางการมองปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีหลายแนวทางการมอง  เช่น  นิเวศสังคมนิยม  ที่แบ่งเป็น  Eco-Marxism และ Eco-anarchism  ซึ่ง Eco-Marxism คือแนวคิดการใช้มุมมองแนวมาร์กซิสม์มาเป็นพื้นฐานของการวิเคราะห์ปัญหาสภาพแวดล้อมว่าเกิดจากปัญหาทางสังคมที่จัดสำดับชั้นสูงต่ำ  (hierarchy) มีการกดขี่ทางชนชั้นในระบบทุนนิยม  การรวมศูนย์อำนาจ  การครอบงำ  จนเกิดสังคมชายขอบที่ถูกครอบงำโดยรัฐซึ่งเป็นตัวแทนและผู้ปกป้องนายทุน  หนทางในการแก้ปัญหาคือ  ต้องกำจัดความเลื่อมล้ำทางชนชั้นและความเป็นชายขอบ  แล้วสร้างสังคมธรรมชาติแบบ Anarchist-Communist  ขึ้น  ส่วน  Eco-anarchism  เป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลจากนักทฤษฎีอนาธิปัตย์  คือ  Peter Kropotkin  และวิเคราะห์ปัญหาสภาพแวดล้อมว่าเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันในสังคม  การทำลายสภาพแวดล้อมเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ  กลุ่มนี้มักต่อต้านรัฐและเห็นว่าต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวแบบใหม่ที่มีส่วนร่วม  เน้นชุมชนอิสระ  การกระจายอำนาจปกครองผ่านประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและการดำรงอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติและเชื่อว่า  สภาพแวดล้อมและธรรมชาติจะสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้เมื่อมีความเป็นธรรมทางสังคม

แนวทางการมองแบบ  นิเวศวิทยาการเมือง (Political Ecology)  ที่มองประเด็นปัญหาสภาพแวดล้อมว่าไม่ได้เกิดจากปัญหาระบบนิเวศพังทลาย  แต่เกิดจากโครงสร้างทางการเมือง  ความไม่เป็นธรรม  และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ก่อให้เกิดปัญหาแย่งชิงทรัพยากรและนำไปสู่การทำลายธรรมชาติและสภาพแวดล้อมในที่สุด  กลุ่มนี้ได้นำ  “มิติทางการเมือง”  มาเป็นจุดวิเคราะห์ปัญหา  และผสมผสานกับการเคลื่อนไหวทางด้านสภาพแวดล้อม  ให้มีการปฏิบัติการทางการเมืองและจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน  ในระยะยาวกลุ่มนี้ต้องการเห็นระบบสังคมใหม่  เน้นคุณภาพชีวิต  มีสถาบันการเมืองแบบใหม่ที่มีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม  นอกจากนี้ยังมีแนวทางการมองแบบนิเวศวิทยาเชิงวิพากษ์  แนวคิดการสร้างทางสังคม  แนวคิดประชากร  เป็นต้น  ซึ่งแนวทางที่ข้าพเจ้าคิดว่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำความเข้าใจปัญหาทรัพยากรได้อย่างดี  คือ  แนวคิดนิเวศวิทยาเชิงระบบ  เนื่องจากแนวคิดการมองแบบเชิงระบบนั้นทำให้เข้าใจสภาพปัญหาแบบเป็นองค์รวมและรอบด้าน   แนวคิดที่มองแบบแยกส่วนอย่างระจัดกระจาย  (รวมทั้งเน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะแบบโดดเดี่ยว)  ไม่อาจทำให้เราสามารถเข้าใจระบบความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนได้  ในความเป็นจริงแล้วธรรมชาติ  คือ  ระบบที่มีปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆ  ดำรงอยู่อย่างมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน  ดังนั้นเราจึงต้องมอง “กายภาพทั้งหมดของโลกธรรมชาติ”  เสียก่อน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิเวศวิทยาของมนุษย์  (Holistic ecology)  ทั้งนี้แนวคิดนิเวศวิทยาเชิงระบบ  มีรายละเอียด  ดังนี้

Holistic ecology  สนใจเกี่ยวกับเรื่องการวิเคราะห์ความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมหรือระหว่างสังคมกับธรรมชาติ  มองจากแง่ทฤษฎีสังคม  มนุษย์ในที่นี้เป็นมนุษย์ในแบบจำลองของอริสโตเติล  นั่นคือ  มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล  และยังเป็นสัตว์สังคมอีกด้วย  ท่ามกลางกระบวนการทางเศรษฐกิจเทคนิค  และวัฒนธรรม  มนุษย์กับสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กันแบบตึงเครียดตลอดเวลา  ด้านหนึ่ง  มนุษย์ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต  แต่อีกด้านหนึ่งมนุษย์ได้ทำลายล้างสิ่งแวดล้อม  จนกระทั่งเกิดความเสื่อมโทรมอย่างหนัก  การพังทะลายของระบบที่สนับสนุนการดำรงชีวิตเริ่มปรากฎเป็นความจริงมากขึ้นทุกที  เมื่อเป็นเช่นนี้  เราจึงจำเป็นต้องมองภาพทั้งหมดของมนุษย์กับธรรมชาติ

Holistic ecology  มีข้อสรุปที่สำคัญ  คือ  วิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมของสังคมไม่ได้เกิดมาจากปัจจัยตัวเดียว  หากแต่เป็นผลผลิตร่วมกันของระบบความสัมพันธ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับประชากรทรัพยากร  เทคโนโลยี  เศรษฐกิจ  สังคมวัฒนธรรม  และการเมือง  สาเหตุสำคัญของวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมมีดังนี้

  1. ปัญหาประชากร : การมีประชากรมากเกินไปอาจสร้างแรงกดดันให้แก่ระบบทรัพยากรในชนบท  รวมไปถึงการสร้างความตึงเครียดให้แก่การใช้ทรัพยากรทั่วไป  และก่อให้เกิดการขยายตัวของมลภาวะหลายรูปแบบ
  2. วิกฤตการณ์ของสังคมเมือง  วิกฤตการณ์ในชนบทผลักดันให้ผู้คนเป็นจำนวนมากต้องอพยพเข้ามาในเมืองใหญ่  ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสังคมเมืองที่เรารู้จักกันดี (การว่างงาน  ความยากจน  ความแออัด  ปัญหาอาชญากรรม ฯลฯ)
  3. ความล้มเหลวในการจัดการเกี่ยวกับการควบคุมมลภาวะ : รัฐ  และระบบราชการไม่ประสิทธิภาพในการใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมประเภทต่างๆ
  4. ลัทธิบริโภค : แบบแผนการบริโภคที่ได้รับอิทธิพลมาจากอุดมการณ์ทุนนิยม  เร้าให้มีการบริโภคมากขึ้นๆ  ซึ่งเป็นการเผาผลาญทรัพยากรอย่างไร้เหตุผล  ทั้งหมดก็เพื่อส่งเสริมธุรกิจทุนนิยมที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุด  ลัทธินี้มีความสัมพันธ์กับวัตถุนิยมและการบูชาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด
  5. ลัทธิบูชาเทคโนโลยี : ความหลงใหลในไฮเทคทำให้การละเลยเทคโนโลยีแบบสายกลาง  การใช้เทคโนโลยีเป็นไปเพื่อการแสวงหากำไรมากกว่าที่จะคำนึงผลกระทบต่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
  6. การละเลยความคิดแบบนิเวศ : การไม่คำนึงถึงกฎพื้นฐานของนิเวศวิทยามีส่วนก่อให้เกิดการกระทำหลายอย่างที่มีผลกระทบทำลายระบบนิเวศ  ซึ่งรวมไปถึงความหลากหลายทางนิเวศของเขตป่าเขา  แม่น้ำ  มหาสมุทร  ชีวิตสัตว์ป่า ฯลฯ
  7. วิกฤตการณ์ของการจัดการทางเศรษฐกิจ : ยุทธศาสตร์ที่เน้นแต่เรื่องความเจริญเติบโตส่งเสริมารใช้ทรัพยากรและการทำลายล้างธรรมชาติอย่างกว้างขวางในระยะสั้น  จนก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ของโลกธรรมชาติในระยะยาว
  8. พฤติกรรมของปัจเจกชนที่เน้นผลประโยชน์ส่วนตน : ทัศนคติที่ต้องการพิชิตธรรมชาติและจริยธรรมทุนนิยม  ส่งเสริมให้ปัจเจกชนมุ่งแสวงหาอรรถประโยชน์สูงสุดเพื่อตัวเองโดยไม่คำนึงถึงสังคมส่วนรวม  ไม่คำนึงถึงอนาคต  ไม่คำนึงถึงชนรุ่นหลัง

นี่เป็นเพียงปัจจัยบางประการเท่านั้นที่มีส่วนก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อม  แต่สิ่งสำคัญ  คือ  ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างระบบใหญ่ของสังคมมนุษย์  ดังนั้นการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อม  จึงต้องมุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งระหว่างสังคมกับธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  แต่การเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้คนเป็นจำนวนมากขึ้น  มีจิตสำนึกทางนิเวศแบบมหภาคและเริ่มมองเห็นความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลง  รวมทั้งพร้อมที่จะเข้าร่วมเคลื่อนไหวในระดับชาติได้อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และวิธีแก้ไขปัญหา  แนว Holistic ecology

บุคคลที่มีโลกทรรศน์ใหม่ที่เชื่อว่าปัญญาที่เน้นการมองอย่างเป็นระบบ (holistic wisdom) มีความสำคัญกว่า  “ข้อมูลข่าวสาร”  ซึ่งเป็นกุญแจนำไปสู่ความยั่งยืนยาวนาน (sustainability)  ทั้งนี้การมองด้วย  holistic ecology  มีลักษณะคือ

1.การมองโลกธรรมชาติเป็นองค์รวม : มิได้มองอย่างแยกส่วน  แต่แป็นเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย  เป็นเอกภาพของความสัมพันธ์ในทุกกลุ่มบนโลก

2. จุดศูนย์กลางอยู่ที่โลก : เพราะมองส่วนรวมมากกว่าส่วนย่อย  จุดศูนย์กลางของคุณค่าไม่ได้อยู่ที่มนุษย์  อยู่ที่ความสมดุลของโลก

3. คุณค่าของส่วนประกอบย่อยในโลกเป็นคุณค่าตามบทบาทและมีคุณค่าเบื้องต้นเท่าเทียมกัน  เพราะส่วนประกอบย่อยทุกกลุ่มมีความจำเป็นต่อความสมดุลของโลก

4. ความเป็น “ตัวตน”  ของปัจเจกที่แยกออกจากสิ่งอื่นโดยสิ้นเชิงเริ่มเลือนลาง  เพราะในมุมมององค์รวมของนิเวศวิทยา  ปัจเจกมีอยู่ในความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น

5. มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของโลกธรรมชาติ  ไม่ได้ถูกแยกออกมาด้วยลักษณะพิเศษที่มนุษย์มี

6. มิติของความสัมพันธ์ทางศีลธรรม  จากมุมมองของโลกชีวะที่เป็นจุดศูนย์กลางของคุณค่าทั้งหลาย  ความสัมพันธ์ทางศีลธรรมมิได้ถูกจำกัดอยู่เพียงมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น  แต่รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกธรรมชาติ

holistic ecology  มีข้อสรุปชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อม  นั่นคือ  ต้องเริ่มจากตัวมนุษย์เอง  ในรอบ 100  ปีที่ผ่านมา  โลกอุตสาหกรรมตะวันตกได้ส่งเสริมให้ประชาชนของตนดำเนินวิถีชีวิตที่เน้นการบริโภควัตถุจำนวนมากตามแบบฉบับของสังคมอเมริกัน (American way of life)  ซึ่งบัดนี้ได้แพร่ระบาดมาถึงสังคมไทยแล้ว  วิถีชีวิตนี้ย่อมนำไปสู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างหนักหน่วง  มองจากแง่นี้แล้วการเปลี่ยนแปลงวีชีวิตอย่างถอนรากถอนโคนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

แต่วิถีชีวิตเป็นเรื่องของค่านิยมทางสังคมซึ่งมีสายโยงใยไปถึงเรื่องจริยธรรม  วัฒนธรรม  และการบงการของระบบเศรษฐกิจการเมืองด้วย  เกี่ยวกับเรื่องนี้เราคงจะต้องมีการอภิปรายถึง 2 เรื่อง คือ  1.  ความขัดแย้งกับธรรมชาติ  :  การดำเนินวิถีชีวิตแบบตะวันตกต่อไปเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับธรรมชาติอย่างแน่นอน  เพราะความเสื่อมโทรมของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  ถ้าไม่ต้องการมีความขัดแย้งนี้ก็คงต้องมีการพัฒนาทัศนคติแบบใหม่ต่อธรรมชาติ (จริยธรรมทางนิเวศ)  2. ความขัดแย้งกับค่านิยมหลักของสังคม  :  การดำเนินชีวิตแบบใหม่เป็นหลักประกันที่จะช่วยให้ทั้งมนุษย์และระบบนิเวศอยู่รอดได้  แต่ก็จะมีความขัดแย้งแบบใหม่เกิดขึ้นมา  นั่นคือ  ระหว่างหลักการ “ความจำเป็นทางนิเวศ”  กับหลักการ “ความเจริญก้าวหน้า”

ปัญหาความขัดแย้งนี้เป็นสิ่งที่แก้ไขให้ตกไปได้ยาก  ในขณะที่ขบวนการสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มที่จะต้องการ “ความอยู่รอด”  ของธรรมชาติและมนุษย์  ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมยังลุ่มหลงและใฝ่ฝันถึงความเจริญก้าวหน้า  และการดำเนินวิถีชีวิตที่เน้นการครอบครองวัตถุต่อไป

ท่ามกลางความยึดมั่นในวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่  มนุษย์จำเป็นต้องก้าวไปให้ไกลกว่านี้  นั่นคือ  การเข้าถึงปัญหา “ความแปลกแยกของมนุษย์ที่มีต่อสังคมและธรรมชาติ”  ในระบบของโลกที่วิทยาการเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  และระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม  พยายามสร้างความเจริญทางวัตถุขึ้นมาเพื่อกักขังให้มนุษย์ต้องตกเป็นทาสของวัตถุโดยไม่รู้ตัว  ปัจจัยดังกล่าวได้กลายเป็น  “พลังที่ควบคุมสังคม”  ไปแล้ว  ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า  การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย  ตราบใดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงสังคม  พฤติกรรมและการกระทำของผู้คนในชีวิตประจำวันก็จะยังคงถูกครอบงำจากลัทธิบริโภคนิยม  และการทำลายล้างผลาญทรัพยากรและธรรมชาติจะยังคงดำรงอยู่ต่อไป

การต่อสู้ทางอุดมการณ์  โดยการวิพากษ์วิจารณ์วิทยาการ  และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีลักษณะส่งเสริมการทำลายธรรมชาติเพื่อผลประโยชน์แคบๆ  ของมนุษย์จึงกลายเป็นภาระกิจหลักด้านหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมของโลก  การเคลื่อนไหวเช่นนี้  ต้องการการต่อต้านกระแสที่เชื่อว่า  “โลกธรรมชาติคือกลไก”  การเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะมุ่งไปในทิศทางที่ส่งเสริมให้สมาชิกได้เรียนรู้ร่วมกันเพื่อให้เกิดจิตสำนึกใหม่ที่เน้นว่าโลกธรรมชาติคือ  สิ่งมีชีวิต  มีความรู้สึก ซึ่งมนุษย์จะต้องให้ความรักความห่วงใยให้มากที่สุด

ดังนั้นหากจะเปลี่ยนแปลงสังคมและเปลี่ยนแปลงมนุษย์ให้ตระหนักถึงสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและหันมายึดมั่นโลกทรรศน์การดูแล  ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมตามแนวทางของ  holistic ecology  แล้วนั้น  ก็ต้องมีการมองอย่างเป็นองค์รวม  ไม่ได้แยกส่วนว่าเป็นการเมือง  เศรษฐกิจ  สังคมหรือวัฒนธรรมกับสิ่งแวดล้อมดังที่นักวิชาการทั้งหลายแนวดังกล่าวได้เสนอไว้   เพราะการมองอย่างรอบด้านจะทำให้เข้าใจปรากฎการณ์  สาเหตุของปรากฎการณ์ปัญหา  และมีการเสนอแนะแนวทางในการจัดการได้อย่างถูกต้องและครอบคลุมมากขึ้น  ยกตัวอย่างเช่น  การแก้ไขปัญหาการจัดการป่าในพื้นที่ป่าสงวนของชุมชนแห่งหนึ่ง  ที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐเห็นว่าชุมชนบุกรุก  และทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณเขตพื้นที่ป่าสงวน  จะต้องย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ป่าสงวน  หากมองในแนวของ  Eco-anarchism  ก็จะมองว่าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รับใช้อำนาจที่มีอยู่  และความไม่เท่าเทียมของอำนาจประชาชนกับอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐทำให้เกิดปัญหาในการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน  และหากมองในแนวของประชากรก็จะมองว่า  เป็นเพราะชุมชนได้ขยายมากขึ้น  มีจำนวนประชากรในชุมชนมากขึ้นทำให้ต้องมีการใช้ทรัพยากรมากขึ้น ทำให้เกิดการทำลายทรัพยากรบางส่วนไป  ซึ่งหากพิจารณาในแนว  holistic ecology  แล้วนั้น  จะต้องมองแบบเป็นองค์รวม  มองทุกส่วนไม่แยกกัน  เป็นการเน้นเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย  เป็นเอกภาพของความสัมพันธ์แบบอิงอาศัยของทุกกลุ่มในโลกชีวะ  การเปลี่ยนแปลงในระบบของโลกชีวะมิใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงปัจจเจกแต่ละหน่วยเท่านั้น  แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเครือข่ายของความสัมพันธ์ต่างๆ  ทั้งหมดในระบบของโลกชีวะ  การมองธรรมชาติเป็นองค์รวมนี้เป็นรากฐานสำคัญในการขยายมโนทัศน์ของสังคมศีลธรรมให้ครอบคลุมโลกชีวะทั้งหมดด้วย  ทั้งนี้การมองอย่างเป็นองค์รวมนั้นก็เพื่อทำความเข้าใจปัญหาและหาทางแก้ปัญหาได้อย่างรอบด้านมากที่สุด   การมองแบบ  holistic ecology    สามารถที่จะจำลองเป็นแผนภาพ  ดังนี้

การมองแบบ holistic ecology

 จากแผนภาพจะเห็นได้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นมีความเชื่อมโยงกับหลายส่วนทั้งเรื่องเศรษฐกิจ  สังคมและวัฒนธรรม  และในแต่ละปัจจัยที่เกี่ยวข้องก็มีความเชื่อมโยงกันเองด้วย 

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงมิติทางด้านแนวคิดเท่านั้น  เงื่อนไขที่สำคัญที่จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง  คือ  กลุ่มผู้นำทางธุรกิจจะต้องมีโลกทรรศน์ใหม่  มีจิตสำนึกร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและมองปัญหาอย่างเป็นองค์รวม  รอบด้าน

 

สรุป 

การมองปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นมีหลายแนวทาง  ซึ่งแต่ละแนวทางพยายามมุ่งเน้นอธิบายปรากฎการณ์ทางสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด  พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ปัญหา  ทั้งนี้แนวทางที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะสามารถอธิบายสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้ดีที่สุด  คือ holistic ecology    เนื่องจากมีหลักการของการมองสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ  เป็นองค์รวม  สิ่งแวดล้อมไม่ได้แยกออกมาจากเศรษฐกิจ สังคม  วัฒนธรรม  สาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมมีตัวแปรและปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาประชากร  วิกฤตการณ์ของสังคมเมือง   ความล้มเหลวในการจัดการเกี่ยวกับการควบคุมมลภาวะ  ลัทธิบริโภค  ลัทธิบูชาเทคโนโลยี  การละเลยความคิดแบบนิเวศ  วิกฤตการณ์ของการจัดการทางเศรษฐกิจ  และพฤติกรรมของปัจเจกชนที่เน้นผลประโยชน์ส่วนตน  ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาที่กลุ่ม holistic ecology เสนอ  คือการมองอย่างเป็นองค์รวม  ไม่ได้แยกส่วนว่าเป็นการเมือง  เศรษฐกิจ  สังคมหรือวัฒนธรรมกับสิ่งแวดล้อมดังที่นักวิชาการทั้งหลายแนวได้เสนอไว้มาก่อน   เพราะการมองอย่างรอบด้านจะทำให้เข้าใจปรากฎการณ์  สาเหตุของปรากฎการณ์ปัญหา  และมีการเสนอแนะแนวทางในการจัดการได้อย่างถูกต้องและครอบคลุมและให้ความสำคัญทั้งต่อปัจเจกชน  ชุมชนและองค์กรท้องถิ่นตลอดจนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม



[1] สาขาสังคมวิทยาการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

หมายเลขบันทึก: 358067เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2010 19:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท