หลุมโจน : ศิลปะการหาปลาในวิถีชาวบ้าน


                        

                        ภาพวาดหลุมโจน  ผู้วาด : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ พฤษภาคม ๒๕๕๓

การหาปลาและการหาอาหารตามฤดูกาลของคนหนองบัว รวมทั้งชาวบ้านในชนบท มักเป็นการเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนตนเองให้สอดคล้องกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ทำมาหากินพอประมาณและตามที่จะหาได้จากสิ่งที่มีอยู่ในแหล่งธรรมชาติ

เครื่องมือและวิธีการหาปลาจึงมีลักษณะการคิดค้นให้เรียบง่าย หลากหลาย ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เพื่อใช้ให้เหมาะสมกับสภาพต่างๆในช่วงเวลาสั้นๆที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล เช่น ในสภาพน้ำหลากและไหลแรงก็มีเครื่องมือและวิธีการสำหรับดักปลากับสัตว์น้ำที่ไหลามากับน้ำจำพวกโต่ง ไซ  

เมื่อน้ำเริ่มลดและไหลไม่แรง ปลาและสัตว์น้ำเริ่มตัวโตและมักว่ายทวนน้ำเพื่อหาแหล่งอาศัยก่อนถึงหน้าแล้ง ก็จะใช้เครื่องมือจำพวกลอบ ไซสองทาง และเมื่อน้ำทรง หยุดนิ่ง เริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่หน้าแล้ง เครื่องมือหาปลาก็จะเป็นจำพวกลงเบ็ด ทอดแห เหล่านี้เป็นต้น

หลุมโจน ก็เป็นวิธีหาปลาในสภาพแวดล้อมดังกล่าวนี้อย่างหนึ่ง แต่เป็นวิธีที่มีความเป็นศิลปะและสะท้อนการเรียนรู้เพื่อดำรงชีวิตให้กลมกลืนกับธรรมชาติมากอย่างยิ่ง เพราะไม่ได้เป็นเครื่องมือหาปลาที่สร้างขึ้นเหมือนอย่างอื่น แต่เป็นการจัดเงื่อนไขสภาพแวดล้อม นำเอาสิ่งที่ไม่มีลักษณะของเครื่องมือหาปลาเลยมาประกอบเข้าด้วยกัน และเมื่อเลิกใช้ก็จะเป็นภาชนะใช้สอยอย่างอื่น เป็นวิธีทำอยู่ทำกินอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านท้องถิ่นหนองบัวทำได้กันทั่วไป

  ลักษณะและหลักคิดของหลุมโจน  

หลุมโจน ในพจนานุกรมไทย ฉบับของ มานิต มานิตเจริญ* ให้ความหมายไว้ว่า หลุมโจน น. บ่อย่อมๆที่ขุดล่อให้ปลาโดดเข้า เป็นวิธีดักปลาในแหล่งที่มีน้ำนิ่งหรือในห้วยหนองคลองบึงที่น้ำเริ่มงวด ซึ่งสภาพแวดล้อมดังกล่าวนี้ ธรรมชาติของปลาโดยทั่วไป โดยเฉพาะปลาขนาดใหญ่ จะพยายามหาหนทางไปยังแหล่งน้ำที่ใหญ่และอุดมสมบูรณ์กว่า ขณะเดียวกัน ปลาหลายชนิดก็จะมีธรรมชาติตื่นตัวกับน้ำใหม่ ทั้งจากฝนตกและแหล่งน้ำจากที่อื่นที่ไหลมายังแหล่งที่ปลาอยู่ ดังจะเห็นว่าเมื่อมีฝนตกหรือน้ำไหล ก็จะมีปลาแถกย้อนขึ้นไปยังด้านที่เป็นต้นทางของน้ำไหล

นอกจากนี้ ปลาหลายชนิดมีสัญชาตญาณโดยธรรมชาติที่จะหยั่งรู้สภาพแวดล้อม เมื่อน้ำเริ่มอยู่ตัวและงวดลงก่อนจะถึงหน้าแล้ง ปลาตัวใหญ่ เช่น ปลาหมอ ปลาดุก และปลาช่อน เหล่านี้ ซึ่งจะรู้ก่อนว่าหน้าแล้งกำลังจะมาถึง ก็มักจะแถกขึ้นบกออกจากแหล่งน้ำที่อาศัยอยู่เดิม กลไกธรรมชาติและธรรมชาติของปลาในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นที่มาของการทำหลุมโจน คือ ทำให้มีสภาพแวดล้อมเหมือนกับมีแหล่งน้ำอีกแห่งหนึ่งให้ปลาว่ายและแถกเข้าไป

  อุปกรณ์และวิธีทำหลุมโจน 

 (๑)  ห้วงเวลาทำหลุมโจน หน้าหนาว หน้าแล้ง และต้นฤดูร้อนที่ฝนยังไม่ตก
 (๒)  ภาชะทำหลุมโจน โดยทั่วไปแล้ว การทำหลุมโจนมักใช้ไหหรือโอ่งน้ำขนาดย่อม ไม่เล็กจนถึงกับปลาสามารถกระโดดออกได้ และไม่ใหญ่จนเกินกว่าจะขุดดินฝังภาชนะที่ใช้ ให้จมลึกลงไปในระดับที่ต้องการ
 (๓)  ทำเลการทำหลุมโจน ริมคลองและตลิ่งของแหล่งที่มีน้ำนิ่ง เช่น ห้วย หนอง คลอง ได บึง ในบริเวณที่สามารถตบแต่งโคลนตามริมตลิ่งให้ลื่น และขุดหลุมฝังไหหรือโอ่งลงไปได้
 (๔)  ดินโคลนที่ทำให้ผิดกลิ่นเหมือนแหล่งน้ำจากที่อื่น ใช้ดินโคลน เนื่องจากดินโคลนเป็นองค์ประกอบของสิ่งที่เกิดจากการมีน้ำขัง โดยหาจากแหล่งใดก็ได้ที่เป็นแหล่งที่มิใช่อยู่ในผืนน้ำเดียวกันกับแหล่งที่จะทำหลุมโจน วิธีคิดก็คือทำให้มีสภาพและกลิ่นของแหล่งน้ำอื่น ซึ่งดินโคลนที่มักนิยมนำมาใช้ก็คือ ดินโคลนจากแอ่งน้ำครำใต้ถุนบ้านซึ่งย่อมมีสภาพแตกต่างจากแหล่งน้ำในธรรมชาติ ขณะเดียวกัน ก็สามารถใช้ดินโคลนจากสระและแหล่งน้ำอื่นๆที่ห่างไกลและมีสภาพแตกต่างจากแหล่งที่ทำหลุมโจน
 (๕)  การทำหลุม ขุดหลุมบนตลิ่งให้ลึกเพื่อฝังไหหรือโอ่งให้ลึกลงไปในดิน ห่างจากน้ำพอประมาณ ทำทางโดยตบแต่งดินริมตลิ่งให้เป็นร่อง ทาโคลนให้เรียบ เป็นร่องเล็กๆที่เชื่อมโยงปากไหหรือปากโอ่งกับน้ำ ระยะห่างและความยาวของร่องที่เชื่อมปากไหหรือโอ่งกับน้ำนี้ หากห่างมากและสูงชันก็จะได้ปลาขนาดใหญ่ หากทำร่องสั้นๆ ลาดเตี้ยและปริ่มน้ำ ก็จะได้ปลาขนาดเล็กๆและอาจจะรวมไปถึงปูและสัตว์น้ำอื่นๆ ตกลงไปในหลุมโจนด้วย
 (๖)  น้ำที่ก้นภาชนะหลุ่มโจน หากไหหรือโอ่งมีขนาดใหญ่ รวมทั้งทำหลุ่มโจนที่ไม่ได้ไปดูทุกวัน ชาวบ้านจะใส่น้ำหล่อเลี้ยงก้นภานะของหลุมโจนด้วยเล็กน้อยพอให้ปลาไม่ตัวแห้ง แต่ไม่มากถึงกับว่ายและกระโดดได้
 (๗)  ทาโคลน ทาโคลนตามร่องหลุมโจนที่สร้างขึ้นโดยเน้นทาที่ปากหลุม หากลาดลงไปถึงบริเวณปริ่มน้ำก็จะกลายเป็นแหล่งเดียวกัน ไม่มีความแตกต่าง
 (๘)  หญ้าและกิ่งไม้พลางหลุมโจน ใช้กิ่งไม้และหญ้า คลุมร่องที่ทำขึ้นไปจนถึงปากหลุมโจน

  การยามและปลาที่จะได้จากหลุมโจน 

ปรกติแล้ว ปลามักจะลงหลุมโจนในเวลากลางคืน แต่ถ้าหากบริเวณที่ทำหลุมโจนอยู่ห่างไกลจากที่อาศัย แหล่งพลุกพล่านหรือทางผ่านของคน ปลาก็อาจจะแถกไปลงหลุมโจนในตอนกลางวัน ชาวบ้านจะไปดูหลุมโจนในตอนเช้าหรือเมื่อมีเวลาว่าง โดยมากแล้ว ปลาที่ติดหลุมโจนจะไม่บอบช้ำเหมือนวิธีดักปลาอย่างอื่น สามารถนำไปปล่อยในสระน้ำต่อไปได้อีก และจะเป็นปลาตัวใหญ่ แข็งแรง จำนวนไม่มาก จึงเป็นวิธีที่พอเพียงและเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปลากับปลาตัวเล็กๆอยู่ในตัวเอง.

 

  เรื่อง  : คุณครูวิกานดา บุญเอก โรงเรียนหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
  ภาพและเรียบเรียง   : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 * มานิต มานิตเจริญ (๒๕๒๔).พจนานุกรมไทย พิมพ์ครั้งที่ ๗.กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์บำรุงสาส์น หน้า ๑๐๒๙

หมายเลขบันทึก: 357966เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2010 12:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

อันว่าหลุมโจนนี้คนที่บ้านจะเรียกชื่อเฉพาะในกลุ่มละแวกบ้านว่า บ่อดักปลา ในพื้นที่ดินเหนียวน้ำไม่ซึมแค่เพียงขุดหลุมโจนโดยไม่ต้องฝังไห ฝังจู๋ ฝังโอ่ง ก็ได้ แต่ถ้าเป็นดินทรายน้ำซึมง่าย ก็ต้องฝังไห ฝังโอ่ง เพื่อกันน้ำซึม

ดินทาปากหลุมโจน ก็ใช้ทั้งดินโคลนจากสระน้ำ จากหนองน้ำ น้ำครำ(น้ำขี้กรีด)นอจากทา(ยา)ปากหลุมโจนแล้ว ก็ใช้ดินโคลนยาให้ตลอดร่องน้ำที่ทำขึ้น

การคลุมร่องน้ำที่ทำขึ้นมาจนถึงปากหลุม แถวบ้านมีต้นตาลเยอะ ก็ตัดใบตาลมาคลุมทั้งหลุมและร่องน้ำ ใบตาลนี้สามารถกันแดดได้อย่างดีปลาที่ลงไปอยู่ในหลุมทั้งวัน ปลาก็จะไม่เกล็ดแห้ง ตัวแห้งตายคาบ่อเพราะความร้อนจากแดด

ในร่องน้ำจะใช้จอกบ้าง ผักตบชวาบ้าง ที่นำมาจากสระน้ำหรือแหล่งน้ำเดียวกันกับดินโคลนนั่นเอง มาลอยไว้ที่ร่องน้ำบาง ๆ ก็พออย่าให้เต็มจนแน่นร่องน้ำ

ในอันนาบางอันที่น้ำงวดเหลือประมาณไม่ถึงครึ่งอันนา แต่มีน้ำเหลืออยู่เฉพาะที่มุมอันนาด้านลึก บางทีปลาใหญ่ลงบ่อหมดเลย เหลือแต่ปลากระซิวก็มี

เป็นการบรรยายที่เห็นภาพอย่างชัดแจ้งมาก
เหมาะเป็นองค์ศึกษาวิถีชีวิตชนบทแง่มุมหนึ่งในอดีตได้เป็นอย่างดีที่สุดครับ

 กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข)ครับ

  • เห็นภาพเลยครับ ยังนึกสงสัยอยู่เหมือนกันว่าแถวบ้านหนองบัวในย่านที่เป็นดินทรายเขาทำกันอย่างไร
  • น้ำขี้กรีดนี่ แถวบ้านผมเรียกในสำเนียงลาวว่าน้ำขี้สีกครับ

เห็นภาพลายเส้น รากไม้ใหญ่ น้อยเกี่ยวกระหวัดรัดพัน โอบอุ้มดิน กระแสสายธาร ที่ต่างล้วนพึ่งพากันในระบบนิเวศน์ให้สมบูรณ์ ... งดงามมากๆ ค่ะท่านอาจารย์

  สวัสดีครับคุณสันติครับ

  • ผมก็เริ่มเห็นแง่ที่จะเป็นประโยชน์และมีคุณค่ามากครับ ทั้งต่อชุมชนท้องถิ่นและต่อสังคมทั่วไป โดยเฉพาะเพื่อสะสมไว้เป็นการเรียนรู้ทางสังคมและเป็นทรัพยากรความรู้ท้องถิ่นที่อาจเป็นแหล่งให้คิดพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ไปได้อีกหลายอย่าง
  • ผมเองนั้นก็ได้เรียนรู้และค่อยๆได้แนวพัฒนารูปแบบการทำเพื่อช่วยกันรวบรวมไว้อย่างนี้ ก็จากท่านพระมหาแลกับผู้เข้ามาคุยกันในเวทีคนหนองบัวนี่แหละครับ
  • ที่สำคัญคือเป็นการสร้างขึ้นโดยบวกกันและผสมผสานสิ่งที่แต่ละคนรู้และทำได้ ตามกำลัง ก็ได้เรื่องดีๆงอกงามออกมาเรื่อยๆที่ดีมากเลยละครับ

 สวัสดีครับคุณ poo ครับ

  • การใช้ข้อมูลภาพและบูรณาการองค์ประกอบทางศิลปะ มาเป็นวิธีนำเสนอความรู้และจัดการความรู้ ให้ผลดีที่แตกต่างหลากหลายเพิ่มขึ้นจากวิธีการอย่างอื่นก็ตรงนี้แหละครับ
  • ดูแล้วได้ทั้งการเรียนรู้ ได้สุนทรียภาพและเกิดความรื่นรมย์ใจ จากแง่มุมที่เป็นการถ่ายทอดด้วยภาษาศิลปะ

สวัสดีค่ะพี่ชาย อ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

  • เห็นภาพวาดพร้อมคำบรรยายได้กลิ่นโคลนเลยค่ะ
  • วิธีการหาปลาเป็นเรื่องง่ายๆของคนในชนบทค่ะ เห็นสภาพของแหล่งน้ำแล้ว ปัญญาพุ่งปรี๊ดไม่ต้องคิดหนัก อะไรอยู่ข้างหน้าเอามาทำเครื่องมือได้หมด  
  • ไม่เคยเดินกลับบ้านมือเปล่า มีปูปลา ติดไม้ติดมือไปทำกับข้าวทุกวัน
  • แถวบ้านมีแอ่งน้ำจะเรียกว่า  วัง   เป็นน้ำลึกเขาจะล้อมก่ำค่ะ  เอากิ่งไม้ใบไม้ไปสุมๆกันกลางน้ำ มีเหยื่อไปล่อด้วย  พอปลากินเหยื่อ เหวี่ยงแหออกไปพร้อมกันหลายๆคน  ปลาก็จะติดแหค่ะ
  • ชีวิตวัยเด็กคลุกคลีอยู่กับท้องทุ่ง ติดว่าเป็นเด็กผู้หญิง ไม่งั้นคงได้ดำน้ำจับปลากับเขาแน่นอนค่ะ  กลิ่นโคลนสาปควายนี่แหละ บ้านนอกของแท้ค่ะ
  • รวบรวมเครื่องมือและวิธีการจับปลาแบบภูมิปัญญาไทยไว้เป็นคัมภีร์สักเล่มคงดีนะคะพี่ชาย เดี๋ยวคนรุ่นหลังๆจะมองไม่เห็นภาพวิถีไทยในอดีตค่ะ
  • อ้วนส่งหนังสือดังลมหายใจไปให้แล้ว
  • ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

ทำเหมือนที่บ้านเลยครับ แต่ที่บ้านผมจะเอาไห ไปใส่ในหลุมด้วย นอกจากนี้ยังเอาขี้โคลนหรือขี้ดินจากที่อื่นๆๆไปโรยในน้ำด้วย เพื่อให้ปลาตามกลิ่นมาลงในหลุมโจนครับ ตอนไปดูต้องระวังเพราะผมเคยเจองูในหลุมด้วยครับ เสียวมือน่าดูเลย ฮ่าๆๆๆๆๆ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

หลุมโจนน้ำหยด

เมื่อวาน(๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓)อาตมาได้พูดคุยเรื่องหลุมโจนกับท่านหลวงตาประทวน ยิ้มอยู่ อายุ ๗๕ ปี วัดศรีโสภณ บวชมานานเกือบยี่สิบปี
ท่านเป็นคนท้องถิ่นเกิดและเติบโตในเมืองพิษณุโลกบริเวณห้าแยกโคกมะตูม อันเป็นใจกลางศูนย์รวมความเจริญที่สุดในปัจจุบัน ท่านเล่าว่า ตอนเป็นเด็กก็นำควายไปเลี้ยงแถวป่าช้าวัดใหญ่-วัดพระพุทธชินราช(ป่าช้าวัดใหญ่-โรงเรียนพุทธชินราชวิทยา) ในบริเวณวัดใหญ่ ข้ามแม่น้ำน่านไปเลี้ยงที่ค่ายสำสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ที่น่าสนใจเป็นความรู้ใหม่ที่ไม่เคยได้ยินและรับรู้มาก่อนเลยก็คือน้ำหยดหน้าหลุมโจน ฟังประโยคเดียวก็เกิดความสงสัยขึ้นมาทันที นึกตามเรื่องราวรายละเอียดไม่ออก ไม่เห็นภาพเลย ต่อเมื่อท่านเล่ารายละเอียดให้ฟังจึงเข้าใจ
ท่านเล่าว่าในหน้าหนาวน้ำลงท่านมาหลุมโจนกับพ่อของท่านที่ทุ่งนาตำบลสมอแข ท่านเองก็ไม่ทราบว่าพ่อไปได้ความรู้เรื่องน้ำหยดหน้าปากหลุมโจนนี้มาจากไหน และท่านก็ยืนยันว่ามีคนที่รู้เรื่องนี้ไม่มากนัก ท่านพูดถึงตรงนี้อาตมาเลยแกล้งแซวเล่นๆไปว่า สงสัยพ่อหลวงตานี่จะเป็นคนหวงวิชาจึงไม่ยอมบอกใคร คงกลัวจะมีคู่แข่งมาแย่งอาชีพในการทำมาหากิน ท่านฟังแล้วก็ยิ้มๆ ท่านเล่าจบอาตมาเลยตั้งชื่อเรื่องว่า หลุมโจนน้ำหยด
หลุมโจนน้ำหยด มีลักษณะเหมือนกับหลุมโจนทุกอย่าง ส่วนที่แตกต่างคือไม่ต้องใช้ดินโคลนจากแหล่งน้ำอื่นมาทาปากหลุม ทาร่องน้ำ
วิธีทำ ที่บริเวณใกล้ปากหลุมใช้ไม้ปักดิน ๔ หลัก, ๓ หลักก็ได้แล้วนำปี๊บที่เจาะรูรู้อยด้ายมาวางไว้บนไม้ น้ำก็จะหยดลงมาตามเส้นด้ายอย่างไม่ขาดสาย กว่าน้ำจะหยดหมดปี๊บก็ตกประมาณเที่ยงคืน ท่านบอกว่าแม้แต่ปลากระดี่ก็ลง

  สวัสดีครับน้องคุณครูจุฑารัตน์ 

  • น้องคุณครูจุฑารัตน์คุยเพิ่มเติ่มให้ เลยทำให้ฟื้นความจำขึ้นมาได้อีกหลายอย่างครับ อย่างการสุมกิ่งไม้กลางลำน้ำนี่ นอกจากจะทำให้ปลามาอยู่แล้ว ก็ทำให้ได้หอยขมอย่างกับฟาร์มเลี้ยงหอยเลย
  • ได้แนวคิดไปด้วยมากเลยละครับเรื่องการทำหนังสือรวบรวมให้เป็นชุดเครื่องมือและวิธีจับปลาอย่างที่ชาวบ้านปฏิบัติอยู่ น่าสนใจมากครับ

  สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ

  • งูที่มักเจอในหลุมโจนอย่างที่อาจารย์ว่านี่ นึกออกเลยครับ
  • นอกจากทำให้เสียวมือแล้ว ก็ทำให้ปวดใจไปด้วยเลย เพราะมักจะเป็นงูกินปลา ที่พอตกไปอยู่รวมกับปลาในหลุมโจน อีก็นอนกินปลาเสียเรียบแล้วก็นอนพุงกางให้เราล้วงเข้าไป พอรู้ว่าเป็นงูก็ช็อคหงายหลังตกน้ำไปเลย หยึยยย

  กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข

  • เพิ่งเคยได้ทราบเรื่องหลุมโจนน้ำหยด ก็จากที่พระคุณเจ้าไปได้ข้อมูลและนำมาบันทึกถ่ายทอดไว้นี่แหละครับ
  • ดูแล้วน่าจะได้ผลดีมากนะครับ สุดยอดสร้างสรรค์เลยครับ

เรียนท่านอ.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

หลุมโจน เมื่อก่อนไม่รู้จักได้ยินก็นึกว่าเป็นหลุมโจรมาขุดไว้แอบซ่อนตัว

ตอนเป็นครูใหม่ๆ โรงเรียนอยู่กลางทุ่งนา

ชาวบ้านคุยกันว่าจับได้ที่หลุมโจน

ไม่กล้าถามรายละเอียด แล้วกลับมาคิดเองว่าที่นี่โจรคงชุม

กลับบ้านไปเล่าให้คุณพ่อฟังว่าได้ยินชาวบ้านบอกว่าแถวโรงเรียนมีโจร

เช้าวันรุ่งขึ้นคุณพ่อส่ง6.35แล้วบอกว่าระวังตัวนะลูก

นึกถึงแล้วอดส่ายหัวความไม่เอาไหนของตัวเองช่างเชยได้เชยดี

ขอบคุณค่ะและขออนุญาตนำภาพหลุมโจนไปเรียนรู้กับเจ้าตัวเล็กค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับคุณครู krutoiting ครับ

  • ผมก็ได้ยินแต่หลุมโจน แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันครับว่าควรจะเขียนว่าหลุมโจรหรือหลุมโจนดี ตอนที่คุยกับคุณครูวิกานดา บุญเอก โรงเรียนหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เธอก็ยกประเด็นชื่อเรียกนี้มาพิจารณาเหมือนกัน
  • แต่หากเรียกจากลักษณะว่าหลุมโจรนั้น วิธีจับปลาแบบนี้เหมาะที่จะเป็นหลุมพลางเสียมากกว่าจะเป็นหลุมโจรครับเพราะมีลักษณะการทำแบบพลางให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมเพื่อให้ปลาคุ้นเคย ไม่ใช่พลางผู้คน อีกทั้งต้องใช้เวลาในการทำและติดตั้งชั่วคราวไม่ได้ จึงไม่สอดคล้องกับอาการของลักขโมยและการโจรกรรม
  • ส่วนการโจนนั้น สอดคล้องกับลักษณะการไต่ แถก กระโจน ของปลา กระทั่งเข้าไปอยู่ในหลุมและภาชนะที่เราฝังดินไว้มากเลยครับ เลยควรจะเขียนว่าหลุมโจน
  • แต่ก็สนุกดีครับ ที่การทำอย่างนี้จะเป็นการทำให้ความรู้ในวิถีชาวบ้านที่เก็บสะสมกันไว้ด้วยความจำและสืบทอดด้วยวัฒนธรรมมุขปาฐะหรือบอกเล่าสู่กันกันปากต่อปาก มีการรวบรวมและสะสมขึ้นมาเก็บไว้ ยิ่งเราต้องสร้างขึ้นเองเป็นข้อมูลชั้นต้นอย่างนี้ ก็ยิ่งทำให้เห็นความเป็นต้นฉบับของความรู้ที่ฝังแน่นอยู่กับความเป็นทุนทางสังคมของสังคมไทยเอง
  • เป็นเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆแต่ในเชิงวิธีคิดแล้วละก็จัดว่ามีนัยสำคัญต่อการเรียนรู้ตนเองมากทีเดียวครับ
  • ความคิดของคุณครู krutoiting ที่จะนำไปคุยกับลูกนั้น เป็นการให้กำลังใจแก่ผมอย่างไม่ได้ตั้งใจเลยทีเดียวครับ เพราะส่วนหนึ่งนั้นผมก็อยากให้สื่ออย่างนี้ได้เป็นสื่อเรียนรู้ที่ทำให้เกิดหัวข้อพูดคุย ดึงเอาเรื่องราวจากชีวิตและประสบการณ์ชุมชนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันให้สนุกของครอบครัว ชุมชน และกลุ่มชาวบ้าน คนเมืองกับคนชนบท น่ะครับ ดีใจจังเลยละครับ
บัณฑิต คำปันทิพย์

พ่อทำหลุมโจน น้ำก๊อก เปิดเเบาๆ ไหลริน ปลาช่อน ปลาดุกเพียบ ทำวันเดียว เพราะวันต่อมาจะได้ปลาน้อย และค่าน้ำแพง5555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท