สิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


สิทธิชุมชน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

เย็นจิตร  ถิ่นขาม[1]

บทนำ 

นับตั้งแต่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับพุทธศักราช  2540  ซึ่งมาตรา  46  รับรองและสนับสนุนให้ “ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม”  มีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรมของตนเอง  ประเด็น “สิทธิชุมชน”  ก็ได้รับการนำเสนอขึ้นสู่ปัญหาระดับนโยบายของรัฐ  องค์กรสนับสนุนการวิจัยของรัฐทั้งในส่วนของสภาวิจัยแห่ชาติ (วช.)  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.)  และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  ได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยจำนวนมากที่สำรวจค้นคว้า  เรื่อง “สิทธิชุมชน”  ด้วยรูปแบบและวิธีการศึกษาต่างๆ  แม้จะยังมิได้มีการสำรวจสถานภาพองค์ความรู้การวิจัยเรื่อง  “สิทธิชุมชน”  อย่างจริงจัง แต่ประมาณการได้ว่าเงินงบประมาณของแผ่นดินได้นำมาใช้เพื่อการทำวิจัยและสร้างองค์ความรู้  รวมทั้งการศึกษาเชิงนโยบายสิทธิชุมชนไปแล้วหลายสิบล้าน  แต่ข้อน่าสังเกตก็คือ  ยังไม่เคยปรากฎชัดเจนว่ามีหน่วยงานใดของรัฐ  กลไกรัฐ  หรือผู้บริหารที่มีอำนาจการตัดสินใจระดับนโยบายของรัฐ  ได้นำเอาผลการศึกษาวิจัย  องค์ความรู้  และข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องสิทธิชุมชนเข้าไปใช้ประโยชน์แต่อย่างใด (ชลธิรา  สัตยาวัฒนา, 2546)  ดังนั้นเพื่อเป็นการทำความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้นและเป็นการง่ายต่อการนำแนวคิด “สิทธิชุมชน”  ไปใช้จริงในการวิเคราะห์และการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมเชิงอำนาจของการจัดการทรัพยากร  บทความนี้จึงเขียนขึ้นโดยมีมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนองค์ความรู้ของประเด็นสิทธิชุมชน  กระบวนทัศน์ของสิทธิชุมชน  พร้อมทั้งเสนอกรณีศึกษาพลวัตสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในรายวิชาสังคมวิทยาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ระดับปริญญาโท  สาขาสังคมวิทยาการพัฒนา  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์   มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

 

สิทธิชุมชน - นิยาม

ภายใต้กระบวนการผนวกท้องถิ่นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เข้าสู่ส่วนกลางนั้น แต่ในความสัมพันธ์ทางอำนาจ ชนบทหรือท้องถิ่นกลับถูกกันออกไปสู่ความเป็นชายขอบ (Marginality) โดยผ่านการนิยาม สร้างความหมาย จัดประเภท และกีดกันการเข้าถึงอำนาจ เช่น การนิยามให้เกษตรกร เป็นพวก “โง่ จน เจ็บ” ให้ชนบทเป็น “แหล่งแรงงานราคาถูก” ให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่สูงเป็นพวก “ทำลายป่า” “ค้ายาเสพติด” ซึ่งกระบวนการสร้างความเป็นชายขอบ หรือสร้างภาวะความเป็นอื่น (Otherness) ให้กับชนบท ได้เป็นตัวสร้างความชอบธรรมให้โครงการพัฒนาทั้งหลายของรัฐ เข้าทำการ “พัฒนา” อย่างเมามัน แต่ยิ่งพัฒนากลับพบว่า การเติบโตของเมืองและอุตสาหกรรมได้ผลักภาระต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ชนบทรับเคราะห์ (Externality) เช่น ชาวเขาต้องถูกย้ายจากป่าเพื่อหลีกทางให้กับรัฐและทุน มลพิษอุตสาหกรรมทำลายสิ่งแวดล้อมชนบท

ในปัจจุบันนี้ กลุ่มชนต่างๆในสังคมไทย ต่างออกมาเรียกร้องสิทธิกันมากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องสิทธิในที่ดิน ในป่า ในแม่น้ำ หรือสิทธิในการทำประมงชายฝั่ง จึงเกิดมีคำถามตามขึ้นมาเสมอๆว่า ทำไมชาวบ้านถึงคิดว่า พวกเขามีสิทธิในทรัพยากรเหล่านั้นร่วมกัน ในขณะที่คนอีกบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนในภาคราชการ หรือกลุ่มคนในเมือง ที่อยู่นอกสังคมชนบท กลับคิดว่าชาวบ้านไม่มีสิทธิ อย่างเช่นในกรณีของสิทธิที่ชาวบ้านออกมาเรียกร้องค่าชดเชยจากการสูญเสียอาชีพประมงในแม่น้ำมูล ซึ่งเกิดจากการสร้างเขื่อนปากมูล เพราะเข้าใจว่าแม่น้ำเป็นทรัพยากรสาธารณะ และไม่ใช่เป็นทรัพยากรของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือ การที่ชาวบ้านลุกขึ้นปกป้องสิทธิของตน ด้วยการคัดค้านการสร้างเขื่อน การสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน หรือการสร้างท่อก๊าซ ก็ตาม

กรณีต่างๆเหล่านี้ ถาหากพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วจะพบว่า พื้นฐานของปัญหาล้วนแล้วแต่เป็นความขัดแย้งในการตีความหมายของสิทธิ หรือการเข้าใจความหมายของสิทธิแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหมายของสิทธิชุมชน หรือสิทธิของกลุ่มชน เช่น สิทธิของชาวนา สิทธิชาวบ้าน และสิทธิของท้องถิ่น ทั้งๆ ที่เป็นความคิดที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี พ.ศ 2540 อยู่แล้ว โดยให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในการจัดการทรัพยากร แต่ด้วยมีความหมายที่ไม่คุ้นเคยมานาน ในภาคปฏิบัติ จึงอาจจะยังมีความคลุมเครืออยู่บ้าง เพราะในปัจจุบัน แม้จะเริ่มมีความพยายามออกกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ เช่น กฎหมายป่าชุมชน เป็นต้น พร้อมๆ กับมีความพยายามผลักดันนโยบาย เพื่อให้สิทธิกับเกษตรกรในรูปอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก เช่น นโยบายการปฏิรูปที่ดินแบบใหม่ นโยบายเกี่ยวกับสิทธิในการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นและประชาสังคม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีแนวโน้มที่แสดงถึงความก้าวหน้าในด้านสิทธิของชาวนาเพิ่มขึ้นก็ตาม ยังพบว่าเกิดกรณีของการละเมิดสิทธิชุมชนอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ สิทธิของกลุ่มชนชายขอบ และสิทธิของคนจน ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่ควรจะสืบค้นต่อไปจึงมีคำถามอยู่ 2 ด้านคือ ในด้านหนึ่ง การอ้างสิทธิตามความหมายที่แตกต่างกันนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ส่วนในอีกด้านหนึ่ง ความหมายของสิทธิชุมชนเช่นไร จึงจะส่งเสริมสิทธิของเกษตรกร พร้อมๆกับพัฒนาการใช้ทรัพยากรให้ยั่งยืนและเป็นธรรมด้วย (อานันท์  กาญจนพันธุ์, 2543) 

                ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจความหมายของสิทธิชุมชนมากขึ้น จึงควรที่จะทบทวนและวิเคราะห์การให้นิยามสิทธิชุมชนทั้งจากภาคส่วนนักวิชาการ  ภาครัฐ  และชุมชนท้องถิ่นเอง  เนื่องจากสิทธิชุมชนมีความเป็นพลวัตทั้งในแง่ประเด็นปัญหา  ความขัดแย้ง  การต่อสู้เชิงอุดมการณ์  และกระบวนการสร้างอัตลักษณ์  รวมถึงการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์  ปรับกระบวนการต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิชุมชนด้วยรูปแบบการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ยืดหยุ่น  พลิกแพลง  หลากหลาย

“สิทธิชุมชน” เป็นคำที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่ ในฐานะความเป็นวาทกรรมที่ให้ความหมายและคุณค่ากับสิ่งหนึ่งที่เกิดและดำรงอยู่มาช้านานแล้ว  “สิทธิ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานแปลว่า “อำนาจอันชอบธรรม” (ราชบัณฑิตยสถาน, 2525)[2]

ลำพังคำว่า “อำนาจ” นั้นในทางสังคมวิทยา หมายถึง ความเป็นไปได้ที่บุคคลหนึ่ง  สามารถกำหนดให้อีกบุคคลหนึ่งกระทำตามความต้องการของตน โดยไม่คำนึงว่าอีกฝ่ายหนึ่งต้องการกระทำหรือไม่ หรือรู้สึกอย่างไร (สุริยา สมุทรคุปต์, 2536)[3] ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2525) ให้ความหมาย “อำนาจ” คือความสามารถหรือสิ่งที่สามารถทำหรือบันดาลให้เกิดสิ่งใดได้

“สิทธิ” นั้นจึงไม่ใช่อำนาจหรือความมีอำนาจเพียงเท่านั้นแต่ “สิทธิ” ต้องเป็นอำนาจที่ถูกกำกับด้วย   “ความชอบธรรม” อันหมายถึงอำนาจที่ถูกต้องตามหลักธรรม ตามหลักของคุณงามความดี ความถูกต้อง ความยุติธรรม เช่น หลักศาสนา หลักกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ประเพณีและเกณฑ์คุณค่าที่คนในสังคมหนึ่ง ๆ ยึดถือร่วมกัน ในภาษาอังกฤษ “สิทธิ” จึงตรงกับคำว่า “right” ซึ่งแปลว่าความถูกต้อง ในบางตำราอาจใช้คำว่า “สิทธิอำนาจ” ในความหมายเดียวกัน

“สิทธิมนุษยชน” ก็คือสิทธิในฐานะที่เขาเกิดมาเป็นมนุษย์ “สิทธิพลเมือง” ก็คือสิทธิในฐานะที่เป็น พลเมืองของประเทศ ดังนี้ “สิทธิชุมชน” จึงเป็นสิทธิของชุมชน เป็นอำนาจอันชอบธรรมที่ชุมชนพึงมีพึงได้อย่างถูกต้องชอบธรรม ผู้อื่นต้องยอมรับ จะละเมิดหรือริดรอนมิได้  (วีระ สมบูรณ์, 2545)[4]

  “สิทธิชุมชน” คือ สิทธิการใช้ประโยชน์ สิทธิในการจัดการ และตรวจสอบถ่วงดุล  “สิทธิปัจเจก” ซ้อนกับ “สิทธิชุมชน” โดยไม่ให้ฝ่ายหนึ่งไปละเมิดซึ่งกันและกัน การจำกัดสิทธิของปัจเจกเท่ากับเป็นการเปิดพื้นที่ให้สิทธิชุมชนสามารถทำงานได้ เป็นสิทธิที่ซ้อนหลายสิทธิขึ้นไป สิทธิหลายอย่างซ้อนกันได้ นี้คือหลักที่เรียกว่า หลักพหุนิยมทางกฎหมาย กฎหมายต้องซ้อนกันได้ ไม่ใช่ใช้เพียงกฎหมายเดียวบังคับทั้งประเทศเหมือนกันหมด เพราะชุมชนมีวัฒนธรรม จารีตประเพณี ที่แตกต่างกัน  สิทธิชุมชนไม่ได้เป็นเรื่องยากเกินที่จะเข้าใจ เป็นสิ่งที่อยู่ข้างกายเรา เมื่อเรารู้สึกว่าเสียหายแล้วไม่สามารถเรียกร้องได้แสดงว่ายังไม่มีสิทธิชุมชน  (อานันท์  กาญจนพันธุ์ : สุขุม  ชีวา เรียบเรียง)

ดังกล่าวแล้วว่า “สิทธิชุมชน” เป็นวาทกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แต่แท้ที่จริงแล้ว “สิทธิชุมชน”   เป็นอุดมการณ์ที่แนบแน่นกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนมาอย่างยาวนาน (ชลธิรา สัตยาวัฒนา,2546) จากการใช้ชีวิตร่วมกันของชาวชุมชนที่ต้องพึ่งพาอาศัย ร่วมทุกข์ร่วมสุข เกิดความเอื้ออาทรและผูกพัน ความขัดแย้งแตกแยกที่เกิดขึ้นจะผลักดันให้มีการคิดค้นหาวิธีการจัดการภายในให้ลุล่วงไป ความเป็นไปของชุมชนในลักษณะดังกล่าว พัฒนาให้เกิด “กฎเกณฑ์” ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นข้อบัญญัติอันศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวชุมชนยึดถือร่วมกัน แฝงอยู่ในวิถีชีวิตชุมชน เกิดการผลิตซ้ำ เกิดการพัฒนาเป็นแบบแผนที่แข็งแรง ข้อบัญญัติดังกล่าวของชุมชน เป็นข้อบัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกับ “ขอบเขตอำนาจ” ที่สมาชิกแต่ละคนแต่ละฐานะพึงมี พึงได้รับท่ามกลางการดำเนินชีวิตด้วยกัน อำนาจนั้นเป็นอำนาจที่ทุกคนยอมรับภายใต้ “คุณค่า ที่ยึดถือร่วมกัน” เป็นอำนาจที่มีความชอบธรรม ก็คือ “ระบบสิทธิ” ของชุมชนนั่นเอง

เสน่ห์ จามริก  ให้ความหมายของ “สิทธิชุมชน คือ การให้ชุมชนชาวบ้านมีสิทธิในการเลือกอนาคตของตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระโดยตัวเองในสถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านจำเป็นจะต้องเรียนรู้ชุมชนที่เขาอยู่ ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิปัญญาเหล่านี้เป็นสิ่งที่โลกกำลังจ้องอยู่ หนึ่ง เขาต้องเรียนรู้ที่จะเชื่อมสิ่งที่เขามีอยู่กับความต้องการ ความคาดหวังจากโลกภายนอกเท่าทันที่จะปกป้องสิทธิของเขา ในขณะเดียวกัน ก็ใช้สิทธิที่จะพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าเขาสามารถทำประโยชน์ให้กับโลกได้ อย่างน้อยที่สุดปกปักรักษาทรัพยากรของโลก สอง อาจจะบอกว่าเขาก็สนใจอยากจะได้เรียนรู้เพิ่มเติมที่จะทำวิจัย สาม อาจจะบอกว่า เขายินดีที่จะร่วมมือทำอะไรต่อมิอะไรที่จะใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างเป็นประโยชน์ยั่งยืน ในเวลานี้เราต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชนแค่เรื่องสิทธิทำกินว่าต้องให้อยู่ตรงนี้ ถ้าเป็นแค่นี้ไม่พอ มีอะไรหลายอย่างที่เราต้องคิด วิจัย ศึกษา” (เสน่ห์ จามริก.)[5]

ทั้งนี้มีความสอดคล้องกับ  ยศ  สันตสมบัติ  ที่บอกว่า  “สิทธิชุมชน หมายถึง สิทธิร่วม เหนือทรัพย์สินของชุมชน สมาชิกของชุมชนซึ่งทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าเท่านั้น จึงจะมีสิทธิใช้และได้ประโยชน์จากป่า โดยนัยนี้ สิทธิชุมชนให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ดังนั้น แม้ว่าโดยทฤษฎีแล้วสมาชิกของชุมชนทั้งหมดจะมี  สิทธิตามธรรมชาติ  ในการใช้ทรัพยากรรวม แต่ชุมชนก็สามารถใช้อำนาจออกกฎเกณฑ์โดยคำนึงถึง ความเป็นธรรมในสังคม  เป็นสำคัญตัวอย่างเช่น ชุมชนหลายแหล่งมีกฎเกณฑ์อนุญาตให้แต่ละเฉพาะครัวเรือนที่แต่งงานใหม่และยากจนเท่านั้นจึงจะมีสิทธิตัดไม้เพื่อใช้ส่วนตัว ในขณะที่ครัวเรือนที่มีฐานะดีจะไม่ได้สิทธิอันนั้น” (ยศ สันตสมบัติ)[6]

ทั้งนี้นักวิชาการส่วนหนึ่งก็ได้มีมุมมองที่เน้นการมอง  “สิทธิ” ที่เรื่องของการใช้ทรัพยากรร่วมกับบุคคลอื่นหรือการได้ใช่ทรัพยากรของตนเอง  เช่น  นิธิ  เอี่ยวศรีวงศ์  ที่กล่าวว่า “แนวความคิดเรื่อง  สิทธิชุมชน สำหรับสังคมไทยอาจดูเป็นเรื่องใหม่ แต่อย่างน้อยที่สุด ขณะนี้เราก็สามารถปลูกฝังสิ่งนี้ลงไปในสังคม โดยผ่านกระบวนการนอกระบบการศึกษา จนในที่สุดมันซึมเข้าไปในระบบการศึกษากลายเป็นสิ่งที่ชาวบ้านใช้ในการต่อสู้หลายต่อหลายเรื่อง สิ่งสำคัญคือทำอย่างไร ที่จะทำให้แนวคิดเรื่อง สิทธิ  ซึ่งในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น ยังเป็นความหมายเพียงแค่ขอบเขตของปัจเจกบุคคล ได้ขยายความหมายของคำๆ นี้ออกไปตามแนวคิดของโครงสร้างสังคมสมัยใหม่ได้   เราไม่ควรไปติดกับชุมชนที่มีความหมายเป็นแค่เพียงพื้นที่เพียงอย่างเดียว เพราะในเมืองไทยมีสำนึกเกี่ยวกับชุมชนที่ไม่ได้เป็นพื้นที่อย่างเดียวมากมาย เช่น กรณีคนพิการขอให้มีบันไดเลื่อนถึงแม้จะต่างคนต่างอยู่แต่เป็นประโยชน์ร่วมของเขา จากการที่เขานับตัวเองเป็นคนหนึ่งของผู้พิการ ดังนั้น เรื่องของชุมชนกับเรื่องของอัตลักษณ์เป็นเรื่องเดียวกัน หมายความว่า ตัวเองมีผลประโยชน์ร่วมกับคนอื่นอย่างไร หรือควรจะมีทรัพยากรของตัวเองร่วมกับคนอื่นอย่างไร เหล่านี้เองคือความเป็นชุมชน และการที่คนเหล่านั้นมีจินตนาการว่าตัวตนของตัวเองส่วนหนึ่งร่วมอยู่กับส่วนอื่นเพราเหตุผลอย่างนั้น  นี่คือ สิทธิชุมชน ” (นิธิ  เอียวศรีวงศ์)[7]

นอกจากนั้น เสกสรรค์  ประเสริฐกุล  และเลิศชาย ศิริชัย ยังได้มีแนวคิดที่สอดคล้องกันว่า  “ผู้ยากไร้ทั้งหลายไม่ได้ต้องการดำรงตำแหน่งสาธารณะ ไม่ได้ต้องการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาชิงอำนาจในรัฐสภา หากต้องการสิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในการพิทักษ์รักษาวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสิทธอื่นๆ อันเกี่ยวข้องกับการมีชีวิตอยู่โดยไม่ถูกรุกล้ำล่วงเกิน เกี่ยวข้องกับความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชนของตน (เสกสรรค์  ประเสริฐกุล)[8]

“การไม่รับรองสิทธิชุมชนดังกล่าวของรัฐ ไม่เพียงทำให้ชุมชนเดือดร้อนในแง่ของแหล่งทำกินและแหล่งที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำลายสิ่งสำคัญที่รัฐไม่เคยนึกถึง คือ วิญญาณของชุมชน ที่ผนึกชุมชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันปรากฏให้เห็นชัดเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน เพราะเมื่อชุมชนไม่สามารถใช้อำนาจของตัวเองจัดการดูแลเรื่องทรัพยากรให้เป็นฐานในการเลี้ยงชีวิตของคนในชุมชนได้อย่างเพียงพอ ชุมชนก็คลอนแคลน ระบบความคิดความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาเริ่มถูกฝ่าฝืนหรือท้าทายเพื่อการดิ้นรนให้มีชีวิตรอด  กรณีการไล่ที่หรือยึดที่ของชุมชนก็ยิ่งชัดเจนมาก เป็นการไล่คนออกมาจากวิญญาณของชุมชน แตกกระจัดพลัดพรายไปอยู่ในที่คนไม่ได้ผูกพันกับวิญญาณของบรรพชนและประวัติศาสตร์ของชุมชน” (เลิศชาย ศิริชัย)[9]

ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเข้าใจของชาวบ้านในเรื่องสิทธิชุมชน กับกรณีของชาวม้งในบ้านขุนกลาง ที่ตั้งอยู่บนดอยอินทนนท์ ในขณะนั้นมีการประกาศให้ตั้งเป็นอุทยานอินทนนท์ใหม่ๆ เจ้าหน้าที่ก็พยายามจะจับให้ชาวบ้านในเขตอุทยานฯมาอยู่รวมกัน หรือไม่ก็พยายามบีบให้ออกไปจากพื้นที่อุทยานฯ ปรากฏว่าชาวบ้านถูกจับไปจำนวนหนึ่ง ทางสถาบันวิจัยสังคมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็จัดให้มีการประชุมขึ้น  เจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่  ทั้งนี้มีชาวบ้านซึ่งเป็นผู้นำคนหนึ่งก็ลุกขึ้นกล่าวว่า ถ้าจับเอาเขาออกไปไว้นอกอุทยานฯแล้ว รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่จะรับผิดชอบในการที่จะทำให้พวกเขามีชีวิตอยู่ได้หรือเปล่า สิ่งที่เขาเรียกร้องคือ ขอใช้แรงงานของเขาในการทำไร่ เพื่อให้มีกินมีใช้อยู่ได้ ถ้าไปเปลี่ยนแปลงพวกเขาแล้ว คนที่มาเปลี่ยนเขาจะรับผิดชอบพวกเขาได้หรือไม่

ในภาษาของชาวบ้าน “สิทธิ” จึงหมายถึง การที่พวกเขาเป็นผู้กำหนดวิถีชีวิตของเขาได้เอง ถ้าคนอื่นมากำหนดให้เขา โดยจับเขาย้ายออกไป ก็ต้องถามว่า คนนั้นสามารถจะมารองรับชีวิตเขาได้หรือเปล่า   และถ้าตีความตามความเข้าใจแบบนักเสรีนิยมของตะวันตก ก็จะบอกว่า นี่คือสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ในการใช้แรงงาน เพราะคนมีสิทธิที่จะใช้แรงงาน เพื่อรักษาชีวิตของตนเองให้อยู่รอดได้ ซึ่งตั้งอยู่บนแนวความคิดของสิทธิปัจเจกชน แต่คำกล่าวของชาวบ้านนั้น น่าจะมองมาจากความคิดแบบสิทธิชุมชนมากกว่า เพราะแสดงนัยของความเข้าใจในเรื่อง “สิทธิการใช้” อย่างชัดเจน ตามความหมายที่ว่า ใครที่ใช้ประโยชน์อะไรอยู่ ผู้นั้นก็จะมีสิทธิหรือมีความชอบธรรมในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรหรือสิ่งใดก็ตามที่ใช้อยู่นั้น “สิทธิการใช้” นั้นเป็นภาษาที่นักวิชาการกำหนดขึ้นมา ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ สิทธิจะต้องเกิดขึ้นจากการที่ชุมชนหรือสังคมให้การยอมรับ ก็คือมีความชอบธรรมนั่นเอง ในแง่นี้สิทธิชุมชนจึงสะท้อนมิติของอำนาจด้วย แต่ในกรณีตัวอย่างข้างต้นนี้ แสดงว่ารัฐไม่ยอมรับสิทธิการใช้ทรัพยากรในเขตอุทยานฯของชาวบ้าน ดังนั้นชาวบ้านจึงต้องเรียกร้องต่อสู้ เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนอำนาจความชอบธรรมเสียใหม่ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง เพราะภาครัฐนั้นยึดถือหลักการของสิทธิเชิงเดี่ยวและยังผูกติดกับพื้นที่อีกด้วย จึงทำให้ไม่เข้าใจความหมายของสิทธิของชาวบ้าน ที่ประกอบด้วยมิติต่างๆอย่างหลากหลายและซับซ้อน

 ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า “สิทธิชุมชน”  คือ ข้อตกลง กฎเกณฑ์ทางสังคม หรืออาจพัฒนาสู่ความเป็นสถาบันร่วมกันของกลุ่มคนเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร การจัดการทางเศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ กลุ่มคนดังกล่าวมีความสัมพันธ์ทางสังคมร่วมกัน หรือเป็น “ชุมชน” ลักษณะชุมชนนั้นมิได้ยึดติดกับชุมชนหมู่บ้าน อันเป็นรูปแบบการปกครองของรัฐ แต่เป็นเครือข่ายทางสังคมของผู้คนที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน อยู่ในระบบนิเวศเดียวกัน มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน หรือมีแบบแผนการผลิต ระบบเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกัน ซึ่งอาจจะมีขอบเขตชุมชนใดชุมชนหนึ่ง หรือหลายชุมชน หลายกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ได้จำกัดแค่ชุมชนชนบท แต่ขยายครอบคลุมถึงเมือง เป็นเครือข่ายท้องถิ่น หรืออาจจะเป็นชุมชนในจินตนาการ ที่ผู้คนสัมพันธ์ผ่านสื่อ หรือนิยามว่าเราเป็นพวกเดียวกัน มีความสัมพันธ์ผ่านสิทธิร่วมกัน

 

สิทธิชุมชน – กระบวนทัศน์

มานุษยวิทยาไม่ว่าสำนักใด  เชื่อในศักดิ์ศรีของมนุษย์และศักยภาพชุมชน  แม้ว่าจะมีปรัชญาบางสำนักเชื่อว่า  “สิทธิ”  มีมาแต่กำเนิด  มีตามธรรมชาติ  โครงการวิจัย “สิทธิชุมชนท้องถิ่น  จากจารีตประเพณีสู่สถานการณ์ปัจจุบัน : การศึกษาเพื่อแสวงหาแนวทางนโยบายสิทธิชุมชนท้องถิ่นในประเทศไทย”  ทั้งหมดเจ็ดโครงการย่อย   พบว่า

“สิทธิ”  เป็นสิ่งที่มนุษย์ได้มาด้วยการต่อสู้กับธรรมชาติและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  “สิทธิ”  จึงเกิดมีขึ้นได้ด้วยการเคลื่อนไหวทางสังคม  ด้วยการต่อกรกับสถาบัน  และด้วยการเรียกร้องต่อสู้กับอำนาจรัฐ  “สิทธิชุมชน”  ไม่อาจมีขึ้นได้  ถ้าไม่มีผู้คนและชุมชนที่ตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของชุมชน”

นอกจากนี้ความลึกซึ้งแนบแน่นในอุดมการณ์สิทธิชุมชนเกิดขึ้นได้จากการที่ชุมชนมีความเข้าใจ  และหวงแหนฐานทรัพยากรอันเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจของชุมชน  ที่สอดคล้องกับวิถีครรลองชีวิตของชุมชน  โดยนัยดังกล่าว  รัฐและกลไกรัฐ จะไม่สามารถค้นพบประเด็น “สิทธิชุมชน”   และไม่อาจเข้าใจซาบซึ้งในความละเอียดอ่อนของ “อุดมการณ์สิทธิชุมชน”  ในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ  ได้เลย  ถ้ารัฐไม่เข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าของชุมชน  และศักยภาพของชุมชนที่ตนเกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบ

กระบวนทัศน์ “สิทธิชุมชน”  ถือว่า “ความรู้”  และ  “ฐานคิด  (เชิงทฤษฎี)”  แม้กระทั่ง  “ประวัติศาสตร์”   รวมไปถึง “ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์”  เป็นสิ่งที่ผู้คนและชุมชน  “สืบสาน”  ขึ้นจากความทรงจำในอดีต  และความจงใจสร้างตามความเชื่อ  ความมุ่งมาดปรารถนา  ความใฝ่ฝันของผู้คนและชุมชน  รวมไปถึงความตั้งใจที่จะสร้างขึ้นเพื่อถักทอ “อัตลักษณ์”  ของชุมชน  กลุ่มชาติพันธุ์  หรือกระทั่งรัฐหนึ่งๆ  เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ  โดยมีเป้าหมายทางการเมืองชี้นำ

ดังนั้นโดยนัยเดียวกัน  ความคิดเรื่อง “สิทธิ”  “สิทธิมนุษยชน”  และ  “สิทธิชุมชน”   ของแต่ละกลุ่มชน  กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ  จึงเป็นสิ่งที่สามารถ “สืบสาน” (reconstruct)  จากชุมชนนั้นเอง  โดยอาจวิเคราะห์จากระบบความเชื่อ  ศาสนา  จารีตประเพณี  พิธีกรรม  ภาษา  วรรณกรรมลายลักษณ์  วรรณกรรมมุขปาฐะ  เพลงพื้นบ้าน  เพลงกล่อมเด็ก  ศิลปกรรม  สถาปัตยกรรม  ลายผ้า ฯลฯ  รวมไปถึงวิถีชีวิตประจำวัน  และวงจรชีวิตนับแต่แรกปฏิสนธิจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

สิทธิชุมชนในมุมมองของสิทธิเชิงซ้อน

สิทธิชุมชนไม่ใช่สิทธิครอบครองเป็นเจ้าของอย่างเบ็ดเสร็จเหมือนสิทธิปัจเจก และสิทธิรัฐที่เจ้าของใช้สิทธิ์ตนเองกีดกันการเกี่ยวข้องจากภายนอกอย่างสิ้นเชิง เห็นได้จากกิจกรรมการจัดการป่าชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ เศรษฐกิจชุมชน หรือการฟื้นฟูอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ล้วนเป็นกิจกรรมที่ต้องการการสนับสนุนจากเครือข่ายท้องถิ่น ประชาสังคม และรัฐ อย่างไรก็ดี ชุมชนก็ได้สร้างเงื่อนไข กติกา ที่มีการควบคุมการใช้จากภายนอก ป้องกันการละเมิดสิทธิชุมชน ซึ่งกล่าวได้ว่า สิทธิชุมชนให้ความสำคัญกับผู้ที่อยู่กินดูแลทรัพยากรเพื่อความอยู่รอดของชุมชนเป็นอันดับแรก คนภายนอกจะมาอ้างสิทธิเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนเมือง มาอยู่เหนือการมีชีวิตรอดของชุมชนไม่ได้ ระดับของการมีส่วนร่วมจึงลดหลั่นกันไปตามความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตและสังคม อย่างไรก็ตามลักษณะของการกีดกันคนภายนอกอาจจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งหรือการแย่งชิงทรัพยากร หรือในโครงสร้างการจัดการทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียม แต่โดยทั่วไปสิทธิชุมชน มักมีลักษณะการมีส่วนร่วมจากภายนอกมากกว่าการกีดกัน (สนั่น ชูสกุล, มปป)

ภายใต้มุมมองสิทธิการใช้ของสิทธิชุมชนนั้น นอกจากจะไม่ใช้หลักของการกีดกันแล้ว ยังมีหลักการสำคัญอื่นๆผสมผสานอยู่อีกก็คือ หลักการของ สิทธิเชิงซ้อน (Complexity of Rights) ซึ่งเป็นหลักในการจัดการสิทธิในลักษณะที่ซ้อนทับกันได้บนหน่วยของพื้นที่เดียวกัน หรือหน่วยของสิ่งของหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ต้นไม้ต้นหนึ่ง ถ้าเราคิดตามหลักของสิทธิปัจเจกหรือหลักของการกีดกันสิทธิแล้ว เราก็จะบอกว่า ต้นไม้ต้นนี้เป็นของฉันทันทีเลย สำหรับเกษตรกรที่อยู่ในชุมชนท้องถิ่น เขาจะไม่ได้มองต้นไม้ที่เขาปลูกเป็นของเขาคนเดียวเท่านั้น แต่เขาจะดูว่าสิ่งของต่างๆที่อยู่บนต้นไม้นั้นมีอะไรบ้าง จะใช้อะไรได้บ้าง ในลักษณะอย่างไร ด้วยเหตุนี้เอง แม้ต้นไม้ที่อยู่ในบ้านของคนอื่น เมื่ออีกคนไปเห็นว่ามีดอกออกผลอยู่ ผู้นั้นอาจจะขอเก็บผลไม้ไปกินได้ (อานันท์  กาญจนพันธ์,2543)

 

กรณีศึกษาที่แสดงถึงสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเอื้อให้เกิดกลไกในการจัดการที่ประชาชนกับรัฐได้ร่วมมือกันจัดการได้อย่างแท้จริง  ความร่วมมือในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสร้างแนวทางใหม่ โดยพัฒนากลไกในการสร้างภาคีความร่วมมือ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เรียนรู้ ปรับวิสัยทัศน์และแนวคิดการทำงานร่วมกัน สนับสนุนกลไกการทำงานแบบมีส่วนร่วม ทั้งในยุทธศาสตร์ระดับชาติ และระดับปฏิบัติการที่เป็นการบูรณาการในระดับจังหวัด เพื่อจัดการความขัดแย้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนของคนจนในชนบทอย่างบูรณาการ สร้างโอกาสและช่องทางให้ภาคประชาชนและองค์กรภาครัฐได้เรียนรู้ร่วมกัน ผ่านกระบวนการพูดคุย ทำความเข้าใจ และปฏิบัติการร่วมกัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของแนวทางใหม่นี้  ซึ่งในทศวรรษปัจจุบันสามารถที่จะบอกได้ว่าภาครัฐได้มีการตระหนักและให้ความสำคัญของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยสิทธิของชุมชนเอง  ซึ่งมีรายละเอียดจากการศึกษาของนักวิชาการต่างๆ  ดังรายละเอียด

แนวทางการศึกษาของนักวิชาการไทยที่เน้นสิทธิชุมชนและสถาบันทางสังคมนั้น  เริ่มก่อตัวขึ้นจากงานของฉลาดชาย  รมิตานนท์  เรื่อง  ป่าไม้สังคมกับการพัฒนาชนบท  ในปี  พ.ศ.  2528  ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการนำเสนอแนวทางการวิเคราะห์ปัญหาของการจัดการป่า  ด้วยมิติทางสังคมศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับมิติทางนิเวศวิทยาอย่างชัดเจน  หลังจากการศึกษาเรื่องป่าเคยถูกผูกขาดอยู่เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และนิเวศวิทยาเท่านั้น  จึงทำให้เห็นวิวัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า  ในแง่มุมต่างๆ  อย่างกว้างขวางมากขึ้น  ทั้งในด้านลบและด้านบวก  แม้ว่าจะยังไม่ได้ลงมือทำการวิจัยภาคสนามโดยตรง  เพียงแต่เป็นการศึกษาทบทวนจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  กระนั้นก็ช่วยให้สามารถวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐที่ผูกขาดการจัดการ  และมองข้ามความสัมพันธ์ด้านบวกของคนกับป่า  ซึ่งทั้งล้มเหลวและทั้งมีผลต่อการทำลายพื้นที่ป่าตลอดมา  และในที่สุดได้เสนอทางเลือกใหม่ในการจัดการป่า  โดยเสนอให้ชุมชนในป่าได้มีสิทธิและส่วนร่วมในการจัดการป่า  ทั้งเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาควบคู่กันไป  เพราะเห็นความสำคัญของศักยภาพของสถาบันและองค์กรชุมชนต่างๆ (อานันท์  กาญจนพันธ์ .บก, 2543)

งานวิจัยเรื่อง “สิทธิชุมชนพื้นเมืองดั้งเดิมล้านนา : ศึกษากรณีชุมชนลัวะ  ยวน  ปกาเกอญอ  (กะเหรี่ยง) ลื้อ ในเขตจังหวัดน่าน  แพร่  และเชียงใหม”  ดำเนินการวิจัยโดยอาจารย์อรุณรัตน์  วิเชียรเขียว (หัวหน้าโครงการวิจัย)  เป็นงานศึกษาที่มุ่งหาคำอธิบายให้กับพัฒนาการความคิดเรื่องสิทธิจากมุมมองของกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิม  (Aboriginal Community)  ที่มีอยู่ในล้านนนา  โดยให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงของแนวคิดว่าด้วยเรื่องสิทธิ  จากมุมมองของชุมชนท้องถิ่นที่มีอยู่ในล้านนา  ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  เพื่อจะหนุนเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน  ในการจัดการและร่วมดูแลรักษาทรัพยากรของส่วนรวมตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  และเพื่อเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจปัญหาความขัดแย้งในเรื่องการใช้ทรัพยากรระหว่างคนกลุ่มต่างๆ  ซึ่งพบว่าชุมชนล้านนานั้นมีการกล่าวถึงเรื่องสิทธิกันมาตั้งแต่โบราณ  โดยหลักฐานที่ยืนยัน  เช่น  ประวัติศาสตร์นิพนธ์  ตำนาน  ในเรื่องของสิทธิชุมชนนั้น  ชาวบ้านมี  “สิทธิร่วม”  ในการใช้ทรัพยากรจากป่า

“สิทธิชุมชนท้องถิ่น : กรณีศึกษาปัญหาสิทธิชุมชนท้องถิ่นชาวเขา”  โดย  ดร.รัตนาพร  เศรษฐบุตรและคณะ  พบว่า  สิทธิชุมชนท้องถิ่นชาวเขาในอดีตเป็นที่ยอมรับของชุมชนพื้นที่สูง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  ปรากฎอยู่ในจารีตประเพณีที่แสดงออกโดยพิธีกรรมและข้อห้าม  ข้อปฏิบัติต่างๆ  ของชุมชนทำให้ชุมชนเหล่านั้นธำรงอยู่อย่างเข้มแข็ง  มีความเป็นปึกแผ่น  เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้  สิทธิชุมชนชาวเขาถูกล่วงละเมิดเมื่อรัฐเริ่มเข้าไปจัดการพัฒนาชุมชนชาวเขาให้มีความเจริญดุจเดียวกับชุมชนเมือง  เข้าไปปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตของชาวเขาเพราะเห็นว่าล้าหลังและทำให้เกิดผลเสียแก่ระบบนิเวศ  เป็นการทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติอื่นบนพื้นที่สูง  ชาวเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกบ่อนทำลายชาติบ้านเมือง  เป็นตัวปัญหา  เป็นคนต่างชาติ  จนถึงขั้นถูกจับกุมในข้อหาตัดไม้ทำลายป่าทั้งๆ  ที่ทำไร่อยู่ในที่ดินเดิมของตนเองที่ถูกประกาศให้เป็นป่าสงวนหวงห้าม  การพัฒนาของรัฐและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมทำ</

หมายเลขบันทึก: 357825เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2010 19:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท