สิ่งที่ผมประทับใจในการเรียน


บรรยากาศวัยเด็ก นิทานอีสบ

สิ่งที่ผมประทับใจในการเรียน

หลายครั้งหลายคราขณะที่ผมไปบรรยายในสถานที่ต่างๆ คำถามหนึ่งที่มักจะถูกถามอยู่เสมอคือชีวิตวัยเด็กนั้นเคยประทับใจอะไรบ้าง คำตอบที่ผมมักจะยกเป็นตัวอย่างตอบอยู่เสมอก็คือ ในช่วงเรียนหนังสือระดับประถม ได้มีสิ่งที่ประทับใจตราตึงและมีคุณค่าสำหรับตัวผมในเวลาต่อมาหลายประการคือ

หนึ่ง...นิทานเช้าตรู่ ผมและเพื่อนๆ นักเรียนวัยเด็กๆ ชอบไปโรงเรียนแต่เช้ามืด เพราะครูประจำชั้นจะไปโรงเรียนแต่เช้าและคอยนั่งเล่านิทานให้ฟังทุกเช้า (นิทานอีสบ) ที่มักลงท้ายด้วยประโยคทองที่ว่า“นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...”ครั้นเมื่อผมเติบใหญ่ขึ้นถึงได้เข้าใจว่านี่คือกุศโลบายของครูที่ต้องการให้นักเรียนไปโรงเรียนแต่เช้า รวมทั้งเป็นการสอน “จริยธรรมด้วยนิทาน” ไปในขณะเดียวกัน ทุกวันนี้การทำหน้าที่ของครูในลักษณะนี้หาได้ยากมากแล้ว

สอง...เรียนรู้หน้าเสาธง ช่วงหน้าเสาธงแม้จะร้อนด้วยไอแดด แต่ครูใหญ่มักจะให้ครุผลัดเวียนกันมาพูดให้เด็กๆ ฟังเสมอ ส่วนมากมักจะเป็นข่าวคราวที่น่าสนใจในประเทศและต่างประเทศ ครูที่มาเล่ามุขเด็ดๆ และน้ำเสียงชวนฟังเป็นส่วนใหญ่ (แสดงว่ามีการเตรียมมาเป็นอย่างดี) มาถึงทุกวันนี้ผมพิจารณาได้ว่า แตกต่างกันมาก เพราะครูมักจะใช้เป็นช่วงเวลากล่าวโทษหรือทำโทษเด็กหน้าเสาธง เป็นถ้อยคำที่ไม่ชวนฟัง หนักกว่านั้นคือต่อว่าเด็กส่วนน้อยแต่ให้เด็กส่วนใหญ่ยืนตากแดดฟังไปด้วย

สาม...เขียนไทย คัดไทย เรียงความ ย่อความ ถือได้ว่าเป็นชั่วโมงแรกของการเรียน ที่เด็กๆรุ่นผมได้ซึมซับรับเอาไว้ ได้ฝึกฝนเป็นเวลาทองของวัน จึงไม่แปลกที่เด็กๆ เขียนภาษาไทยได้ดี ลายมือพอใช้ได้ เรียงความเล่าเรื่องเป็นและจับประเด็นได้ ผมจึงเสียดายแทนคนรุ่นใหม่ที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่กับภาษาไทยที่ผิดๆ ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ด้วยความสุขเช่นนั้น

สี่...ท่องจำสิ่งจำเป็น การได้ท่องสูตรคูณ ท่องพยัญชนะ รวมถึงท่องบทอาขยาน นับเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการต่อยอดการเรียนรู้ในระดับต่อๆ ไป รวมทั้งได้ซึมซับถึงความงดงามของวรรณคดี ความสละสลวยของภาษาไทย แต่น่าตกใจยิ่งนักที่กลับถูกบั่นทอนด้วยประโยคของคนมากอำนาจที่ว่า “ให้ยกเลิกการท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทองเสียที” ซึ่งถูกตีความไปว่าห้ามไม่ให้เด็กท่องจำใดใดเลย...รับรู้แล้วก็เหนื่อยใจแทนระบบการศึกษาไทย

ห้า...สั่งสอนก่อนลงโทษ ครูยุคผมนั้นก่อนจะลงโทษเมื่อเด็กทำผิด จะใช้เวลาอย่างมากในการรับฟังเด็กว่าทำไมทำอย่างนั้นอย่างนี้ จากนั้นจะใช้เวลาอธิบายให้เด็กรู้ว่าทำเช่นนั้นผิดอย่างไร หากผิดภายนอกโรงเรียนแล้วถูกตำรวจจับจะเป็นเช่นไร การพูดคุยกันเช่นนี้ได้ประโยชน์สองสถานคือ หนึ่ง ครูได้พูดคุยกับเด็ก คุยไปและได้ระงับอารมณ์โกรธของครูลง การลงโทษด้วยอารมณ์จึงไม่มี สองเด็กได้ประโยชน์คือได้รู้ว่าตนเองผิด เข้าใจถึงการได้รับโทษและได้มีโอกาสปรับเปลี่ยนตนเอง

นี่คือห้าประการในเบื้องต้นที่ผมขออนุญาตถ่ายทอดออกมาไว้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อว่าสถานศึกษาหรือครูท่านใดจะนำกลับไปรื้อฟื้นมาปฏิบัติ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะสนใจนำไปเป็นนโยบายหนึ่งในกระทรวงศึกษาก็ไม่ว่ากัน เพราะสิ่งเหล่านี้นับเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเด็กทั้งในด้านสติปัญญา อารมณ์ สังคมและจริยธรรม แก่เด็กๆ ของเราที่อ่อนต่อโลกความเป็นจริงกันเหลือเกิน

.............................................

หมายเลขบันทึก: 357386เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2010 13:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สัปดาห์ที่แล้ว ผมไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียว นักศึกษาปริญญาโทถามผมว่า ถ้าผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผมจะทำอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรมบ้าง ผมหัวเราะและตอบเขาว่า "ง่ายนิดเดียว" ที่ว่าง่ายเพราะผมไม่ได้เป็น การไม่ได้เป็นทำให้จินตนาการได้ง่ายว่าอยากทำอะไรบ้าง เช่น

1.ฟื้นวิชา "หน้าที่พลเมือง"กลับมา เพราะวิชานี้เป็นพื้นฐานให้เด็กได้เรียนรู้ว่าตนเองมีหน้าที่ที่ดีต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อชุมชน ต่อสังคม ต่อประเทศและต่อโลกอย่างไร ต้องเรียนให้มากครับเพราะเด็กๆ ในปัจจุบันรู้แต่ "สิทธิในทางที่ผิด"กันมาก

2.ฟื้นวิชา "ศีลธรรม" วิชานี้ไม่ใช่ท่องจำเพียงประวัติศาสนา ประวัติผู้นำทางศาสนา แต่ต้องเน้นการปฎิบัติและฝึกการเป็น "ผู้รู้จักให้" "มีความรักความเมตตา" "ความกตัญญูรู้คุณ"

3.ฟื้นวิชาภาษาไทย ทั้งการคัด การเขียนไทย การเรียงความ การย่อความ การเขียนจดหมาย การเรียนรู้ถึงความงดงามของภาษา โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน

4.ฟื้นกิจกรรม "ลูกเสือ เนตรนารี" "วิชาว่ายน้ำ"และ "วิชาบำเพ็ญประโยชน์"ให้เป็นกิจลักษณะ

5.เน้นกลไก "ครูประจำชั่น" ที่รู้จักเด็กในห้องทุกคน จะได้ช่วยให้เด็กพ้นจากปัญหาพื้นฐานที่ประสบอยู่ ซึ่งเป็นหนทางสำคัญที่ช่วยให้เด็กเรียนได้ดี ได้เรียนต่อเต็มที่ตามศักยภาพที่ตนมี

หลักๆ เบื้องต้นมี 5 ข้อนอกเหนือไปจากเรื่องหลักสูตรและการพัฒนาครู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท