The Road to Peace between Cambodia and Thailand, April, 2010


ทุกคนต้องตระหนักว่า ไม่ว่าคนไทยหรือคนกัมพูชา เราทุกคนไม่ว่าเป็นชายหรือหญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ คนจนหรือคนรวย มีการศึกษาหรือไม่มี และไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดๆ ทุกคนล้วนมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันบนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ทุกคนมีความต้องการ มีความรู้สึก รับรู้ได้ถึงความทุกข์ยาก ความเจ็บปวดและความโศกเศร้า และทุกคนต้องการความรักและการดูแลเอาใจใส่เช่นเดียวกันทุกคน ดังนั้น ทุกคนต้องเข้าใจ ต้องเคารพสิทธิและให้เกียรติผู้อื่นในฐานะที่ทุกคนเป็นมนุษยชาติที่มีศักดิศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน การคิดเช่นนี้จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน

บันทึกการแสดงความคิดเห็นจากการสัมมนา “The road to peace between Cambodia and Thailand”

24-25 April 2010, Siem Reap, Cambodia.

by Dechudom Khunnasit

อ้างถึงข่าวจากหนังสือพิมพ์ Bangkok Post (http://www.bangkokpost.com/leisure/leisurescoop/37111/road-to-peace) ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2010 ที่ลงเพียงว่า “It seems to be a prevalent phenomenon. Dechudom Khunnasit, an assistant researcher at the Knowledge Network Institute of Thailand, recalled that a Cambodian teacher who is a friend of his apologised to him for having taught his students to hate Thais.” ที่ท่านได้อ่านไปนั้นคือข้อความบางส่วน ซึ่งข้อความดังกล่าวอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ และต่อไปนี้คือข้อความทั้งหมดที่ผมได้แบ่งปันประสบการณ์ ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพระหว่างประเทศไทยและประเทศเขมร โดยมีเนื้อหาดังนี้;

 

จากกิจกรรมการประชุมของเยาวชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (12th Asia Pacific Youth Conference: APYC) ในปี 2006 ที่ประเทศอินโดนีเซีย มีคุณครูชาวกัมพูชาคนหนึ่งเดินมาหาผมและกล่าวแก่ผมว่า “ผมขอโทษที่ในอดีตที่ผ่านมาผมได้สอนนักเรียนของผมให้มองคนไทยในแง่ร้าย ให้มีทัศนะคติที่ไม่ดี และเกลียดชังคนไทยและประเทศไทย” จากการประชุมและกิจกรรมต่างๆ ที่เราได้ทำร่วมกัน ก่อให้เกิดความสัมพันธ์และมิตรภาพที่ดี เขาให้สัญญาว่าเขาจะไม่กระทำเช่นนั้นอีก ผมได้แต่ยิ้มรับและกล่าวขอบคุณเขา ผมไม่ได้กล่าวว่าคุณครูทุกคนในประเทศกัมพูชาสอนเด็กนักเรียนเช่นนั้น แต่สำหรับคุณครูคนนี้ จากมิตรภาพที่เรามีต่อกัน นับแต่นั้นมา เราได้เป็นเพื่อนที่ดีและรักใคร่กันเสมอมา

 

จากการสัมมนาเพื่อหาลู่ทางสู่การสร้างสันติภาพระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชาร่วมกันในวันนี้ อาจจะมีการกล่าวถึงว่า ประเทศไทยได้กระทำต่อประเทศกัมพูชาอย่างไร เช่น การที่ประเทศไทยให้ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้เป็นฐานทัพเพื่อทิ้งระเบิดที่กัมพูชา ในปี พ.ศ. 2508-2516 ที่เป็นเหตุให้ประชาชนชาวกัมพูชานับล้านคนเสียชีวิต หรือการที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แก่รัฐบาลเขมรแดง ตลอดจนความขัดแย้งเกี่ยวกับเขตแดนที่ยังคงมีการกล่าวถึงในปัจจุบัน มีหลายเรื่องราวในอดีตที่ยังคงทิ้งรอยร้าวและความเจ็บปวดไว้ แต่ตามที่ได้มีการกล่าวถึงประวัติศาสตร์มาแล้วนั้น ก็เพื่อให้เรามีความเข้าใจถึงสภาพปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาแล้ว เพื่อตระหนักและสำนึกว่าเราเคยทำผิดพลาดอะไร อีกทั้งเราคนไทยทุกคนจะต้องเข้าใจเพื่อนบ้านว่า เขาได้ต่อสู้และเผชิญอะไรมาบ้าง ทั้งนี้เพื่อว่าเราจะไม่ได้ย้อนกลับไปทำสิ่งที่เลวร้ายเช่นนั้นอีก กล่าวคือ “ผู้ที่ไม่เคยเรียนรู้ประวัติศาสตร์และปรับเปลี่ยน ก็จะมีชีวิตที่วนเวียนอยู่กับเหตุการณ์ดังเช่นในอดีตอย่างไม่มีวันจบสิ้น”

 

จากการสัมมนาในวันนี้ ไม่ว่าฝ่ายกัมพูชาหรือฝ่ายไทย ไม่ควรมีการนำประเด็นปัญหาความขัดแย้งในอดีตไปขยายความ อันจะนำพาไปสู่ความรู้สึกโกรธแค้นและความขัดแย้งในอนาคต เพราะแท้จริงแล้วประเด็นความขัดแย้งในอดีตนั้นอาจได้รับการเยียวยาแก้ไขแล้ว แต่วิธีการจัดการกับปัญหาที่ไม่เหมาะสมอาจเป็นเหตุให้เกิดปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งกว่าตัวปัญหานั้นเองเสียอีก ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องเรียนรู้การจัดการกับปัญหาอย่างเหมาะสมด้วย อีกทั้งทุกฝ่ายต้องเข้าใจว่า คนทุกคนไม่สมบูรณ์ ทุกคนล้วนทำผิดพลาดมาแล้วทั้งสิ้นในอดีต คนส่วนใหญ่ไม่มองว่าตนเองทำผิดพลาดอะไรมา แต่มักจะมองว่าผู้อื่นทำผิดอะไร แล้วเขาจะต้องชดใช้อย่างไร การคิดเช่นนี้ไม่นำพาไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างสันติ

 

จุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ คือ ทุกคนต้องตระหนักว่า ไม่ว่าคนไทยหรือคนกัมพูชา เราทุกคนไม่ว่าเป็นชายหรือหญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ คนจนหรือคนรวย มีการศึกษาหรือไม่มี และไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดๆ ทุกคนล้วนมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันบนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ทุกคนมีความต้องการ มีความรู้สึก รับรู้ได้ถึงความทุกข์ยาก ความเจ็บปวดและความโศกเศร้า และทุกคนต้องการความรักและการดูแลเอาใจใส่เช่นเดียวกันทุกคน ดังนั้น ทุกคนต้องเข้าใจ ต้องเคารพสิทธิและให้เกียรติผู้อื่นในฐานะที่ทุกคนเป็นมนุษยชาติที่มีศักดิศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน การคิดเช่นนี้จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน

 

วันนี้ ผมอยากให้เราทุกคนมาร่วมกันคิดว่า จะทำอย่างไรที่จะสร้างมิตรภาพอันดีระหว่างประชากรของทั้งสองประเทศได้ คือ ทุกฝ่ายจะต้องไม่ว่าร้ายหรือใส่ร้ายซึ่งกันและกัน ไม่สนับสนุนการยุยงส่งเสริมที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกไม่ว่าจากสื่อ จากระบบการศึกษา หรือจากองค์กรหรือสมาคมใดๆ ทุกคนจะต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนในการสร้างสันติภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างกันเพื่อประโยชน์สุขระหว่างประชากรของทั้งสองประเทศในอนาคต ผมมีความเชื่อว่า “เมื่อความสัมพันธ์ที่ดีใหญ่ขึ้น ปัญหาและความขัดแย้งจะเล็กลง”

 

นายเดชอุดม ขุนนะสิทธิ์

(วันที่ 25 เมษายน 2553)

หมายเลขบันทึก: 357338เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2010 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท