มิติใหม่ของกองทุนหมู่บ้าน


จุดเด่นของเครือข่ายฯ หลังจากนี้ที่จะออกมาเป็นรูปธรรมคือ การติดตามหนี้
อาทิตย์ที่แล้ว ได้มีโอกาสเข้าประชุม เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านของอำเภอรัตภูมิ จ.สงขลา ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายระดับตำบล 5 ตำบล ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน บ้านนาปาบ โดยมีวาระที่สำคัญคือ การเตรียมความพร้อมสำหรับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและเลือกตั้งกรรมการเครือข่ายชุดใหม่ โดยมีคุณสมบัติ (ขออภัยจำนามสกุลไม่ได้) เครือข่ายระดับจังหวัด เป็นวิทยากร

การทำงานแบบเดิมๆ ตั้งแต่รัฐบาลมีโครงการหมู่บ้านละล้าน เมื่อปี 2544 เป็นต้นมา กองทุนหมู่บ้านก็ดำเนินการเรื่อยมา สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ตามศักยภาพของแต่ละหมู่บ้าน ทำไปตามมีตามเกิด ภายใต้ พรบ.กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งบังคับใช้เมื่อ มค.2548 โดยไม่มีพี่เลี้ยง มีแต่คนของรัฐมาตรวจสอบ ว่าทำงานไปได้แค่ไหนอย่างไร ทำตามกฏเกณฑ์ กติกาหรือเปล่า เท่านั้น  (เท่าที่ผู้เขียนสัมผัสมา)

กองทุนหมู่บ้านมิติใหม่  เมื่อ 11 พค.2549  คือเมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง รัฐบาลได้ออก พรบ.เครือข่ายฯ โดยใช้ชื่อว่า "สมาคมเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและสังคมเมืองแห่งประเทศไทย" ประกอบด้วยเครือข่าย 4 ระดับคือ 

  1. ระดับตำบล 
  2. ระดับอำเภอ 
  3. ระดับจังหวัด
  4. ระดับภาค

โดยเครือข่ายตำบล 2 คน ไปเป็นเครือข่ายระดับอำเภอ และอำเภอจะส่ง 2 คนไปเป็นระดับจังหวัด ทุกกองทุนจะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลทั้งหมด ภายใน 31 ธค.2550 ถ้าไม่จดจะต้องถูกยุบกองทุน ไปขึ้นกับกองทุนบริเวณใกล้เคียง หลังจากจดทะเบียน กองทุนสามารถทำนิติกรรมต่างๆได้ตามกฏหมาย

จุดเด่นของเครือข่ายฯ หลังจากนี้ที่จะออกมาเป็นรูปธรรมคือ การติดตามหนี้ เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า กองทุนหมู่บ้านในสายตาสังคมทั่วไป ล้มเหลวไม่เป็นท่า สำนักงานสถิติแห่งชาติเองก็สรุปออกมาเช่นนี้เหมือนกัน

แต่จากนี้ไปอีกไม่นาน กระบวนการเรียกหนี้คืนจะเริ่มขึ้น เนื่องจากว่าที่ผ่านมา สมาชิกไม่ตำกว่า 80 % ที่เบี้ยวหนี้ (ตัวเลขที่ผู้เขียนสัมผัสเอง) มีปัญญาใช้หนี้ แต่ที่ไม่จ่ายเพราะว่าเข้าใจว่าถึงไม่จ่ายก็ไม่เป็นไรเพราะเป็นเงินของรัฐบาล ในเมื่อคนอื่นไม่จ่าย เราก็ไม่จำเป็นต้องจ่าย

แต่จากนี้ไป ทุกกองทุนจะเริ่มติดตามหนี้ด้วยการเรียกมาคุย ประนีประนอม แล้วแต่เทคนิกของแต่ละกองทุน ถ้าไม่สำเร็จ ระดับบนขึ้นไปจะลงมาช่วย โดยที่ ทุกอำเภอ (จ.สงขลา) จะมีทนายความประจำสำหรับการฟ้องร้องในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ในกรณีย์ที่ประนอมหนี้ไม่สำเร็จ

เนื่องจากว่าถ้ากองทุนไหนมีหนี้สินมาก หมายถึงว่ามีปัญหา ระบบบัญชีไม่ชัดเจนจะไม่ได้รับการอนุมัติให้จดทะเบียน เพราะ...ฉะ...นั้น.....กรรมการเครือข่ายทุกระดับเฉยไม่ได้ หลังจากนี้อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ต้องคอยติดตามกันต่อไปค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #กองทุนหมู่บ้าน
หมายเลขบันทึก: 35695เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2006 22:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
อ่านแล้วได้ข้อคิดมาก ๆ เลยครับ แต่ขออนุญาตถามเพิ่มเติมเพื่อความรู้นิดนึงครับ พอดีอ่านเจอประโยคนึงที่ว่า "กองทุนไหนมีหนี้สินมาก หมายถึบว่ามีปัญหา" ปัญหานี้ หมายความว่ากองทุนมีปัญหา หรือว่าหนี้สินมีปัญหาครับ ขอบคุณมากครับ
หมายถึงว่า เริ่มจากหนี้สินมีปัญหาก่อนค่ะ สมาชิกไม่ยอมคืนหรือว่าไม่สามารถคืนได้ และต่อมาทำให้กองทุนมีปัญหาเพราะไม่สามารถเรียกคืนได้ เลยกำหนดเวลามามากเช่นหนี้ปี 2544 -2547 ยังมีหนี้ค้างเก่าไม่ยอมจ่าย เกือบ 40 % ของเงินที่รัฐให้มา เป็นปัญหาลูกโซ่ค่ะ ขณะนี้ กองทุนที่ดิฉันทำอยู่บริหารเงินเพียง 60 กว่า% ที่รัฐให้มาเท่านั้น
นอกจากการเรียกหนี้คืนจะเข้มข้นมากขึ้น โดยใช้ระบบเป็นตัวบังคับ  ไม่ทราบว่ากองทุนหมู่บ้านมิติใหม่ จะมีมาตรการอะไรใหม่ๆ ที่จะให้มีการใช้เงินกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากกว่าเดิมอย่างไรบ้าง  หากคุณอุไรวรรณมีข้อมูลเชิงปฏิบัติมาเล่าสู่กันฟังอีกในบันทึกต่อๆ ไป ก็จะเป็นประโยชน์ไม่น้อย  อย่างน้อย ก็ทำให้พวกเราคนในรั้วมหา'ลัย มีหูตากว้างขวางขึ้น และรับรู้เรื่องราวภายนอกมากยิ่งขึ้น
เห็นด้วยกับอ.ปารมีเป็นอย่างยิ่งเลยค่ะ เพราะพวกเราที่มีส่วนร่วมในการทำงานของชุมชนอย่างคุณอุไรวรรณ เป็นผู้ที่ถือได้ว่าเป็นผู้ที่เชื่อมโยงระหว่างชุมชนวิชาการกับภูมิปัญญาชาวบ้าน เราน่าจะมีส่วนส่งเสริมกันและกัน และจะเป็นไปได้ก็ด้วยคุณประสานแบบคุณอุไรวรรณนี่แหละค่ะ ต้องขอบคุณมากๆที่เอามาเล่าสู่กันฟัง

ตอนแรกไม่มั่นใจค่ะว่า เรามาผิดเวทีหรือเปล่าเพราะ SmartPath เป็นชุมชนคนห้องแล็ป แต่กองทุนหมู่บ้านเป็นคนละเรื่องกันเลย ควรจะอยู่อีกชุมชนหนึ่ง แต่...ไหนๆเราก็อยู่ตรงนี้แล้ว รายละเอียดของ Blog ก็บอกแล้วว่าสัพเพเหระ เปิดบันทึกมันตรงนี้แหละ จะได้อยู่ที่เดียวกันกับบันทึกเก่าๆด้วย

ก็โล่งอกค่ะที่ อ.ปารมี Big boss ของชุมชน ท่านเห็นดีด้วย ก็จะพยายามนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังอีก ในโอกาสต่อไป

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท