วิชาสุดท้าย (ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน)


“อย่าทิ้งความกระหาย อย่าคลายความเชื่อ”

วิชาสุดท้าย (ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน)

ของ  สฤณี อาชวานันทกุล

จาก หนังสือวิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน

      การเชิญคนมากล่าวสุนทรพจน์ให้กับบัณฑิตจบใหม่ในวันรับปริญญา เป็นประเพณีประจำมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาที่ทำกันมาช้านาน ผู้ที่ได้รับเชิญมากล่าวสุนทรพจน์มักเป็น “คนนอก” ผู้มีชื่อเสียงในหลากหลายวงการ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่นักศึกษา หรือไม่ก็เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย “คนใน” ผู้เป็นที่เคารพรักของนักเรียน  สุนทรพจน์วันรับปริญญาอาจเป็นทั้ง       “ปัจฉิมกถา” ปิดท้ายชีวิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย และเป็น “ปฐมกถา” ต้อนรับบัณฑิตใหม่เข้าสู่โลกภายนอก  สำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอเมริกัน วันรับปริญญาอาจมีความหมายพิเศษกว่าวันรับปริญญาในบางประเทศ เพราะมหาวิทยาลัยอเมริกันจำนวนมาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยดังๆ เป็นแหล่งรวบรวมนักเรียนจากทั่วทุกสารทิศในประเทศ และนักเรียนนานาชาติอีกจำนวนไม่น้อย
นักเรียนส่วนใหญ่หอบสัมภาระ เดินทางไกลจากบ้านนับพันนับหมื่นกิโล มาใช้ชีวิตไกลบ้านสี่ปี ต้องเรียนรู้ทั้งวิชา และนิสัยใจคอของคนต่างเชื้อชาติต่างภาษา หลังจากเรียนจบ นักเรียนเหล่านี้ก็จะแยกย้ายกันไปทำงาน ทางใครทางมัน จะกลับมาเจอกันก็นานๆ ครั้งในงานเลี้ยงรุ่นเท่านั้น
วันรับปริญญาจึงเป็นวันสุดท้ายที่นักศึกษาปีสี่จะได้อยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เพราะวันพรุ่งนี้ จะเป็นวันเริ่มต้น“ชีวิตใหม่” อันเต็มไปด้วยคนแปลกหน้าอย่างแท้จริง
 
   ด้วยเหตุนี้ผู้กล่าวสุนทรพจน์จำนวนไม่น้อยจึงเน้นเนื้อหาไปที่การให้คำแนะนำบัณฑิตจบใหม่ เกี่ยวกับวิธีบริหารจัดการ “ชีวิตใหม่” ที่พวกเขายังมองไม่เห็นอย่างถนัดชัดเจนนัก หนังสือเล่มนี้รวบรวมบทแปลสุนทรพจน์วันรับปริญญาที่ผู้แปลคิดว่า “กินใจ” ผู้อ่าน สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ฟัง และมี “ความเป็นสากล” สูงพอที่จะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งนักศึกษาและผู้อ่านชาวไทยโดยทั่วไป สิ่งหนึ่งที่ผู้แปลคิดว่าน่าสนใจคือ ผู้กล่าวสุนทรพจน์ไม่ได้สอน “สูตรสำเร็จ” ของความสำเร็จให้กับนักศึกษา หลายคนเล่าถึงความล้มเหลวของพวกเขาอย่างสนุกสนานด้วยซ้ำไป ในภาวะที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยังชื่นชมกับใบปริญญาว่าสามารถบันดาลสุขให้กับผู้รับ สุนทรพจน์ที่เลือกมานำเสนอในเล่มนี้ อาจช่วยกระตุ้นให้ท่านผู้อ่านมองเห็น “กับดัก” ของใบปริญญา บทบาทของการศึกษาในบริบทของการใช้ชีวิต ทั้งในฐานะปัจเจกชน และในฐานะพลเมืองของสังคม และอาจช่วยทุกท่านในการตอบตัวเองว่า ความหมายของชีวิตอยู่ที่ใด เปรียบ “การกล่าวสุนทรพจน์” เป็นเหมือน “วิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน” ศาสตร์ที่เป็นความรู้ฝังลึกผ่านประสบการณ์ของบุคคลจึงเป็นเสมือนกุญแจไขประตูให้นักเดินทางที่เตรียมพร้อมจะเดินสู่โลกภายนอก ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของผู้กล่าวสุนทรพจน์ผ่านการเล่าความในระยะเวลาที่กำหนดไว้  เช่นในวันรับปริญญาได้เชิญ Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง ประธานกรรมการและซีอีโอ ของบริษัทแอปเปิ้ล ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่ Stanford University เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน   พ.ศ. 2548   สตีฟกล่าวว่า “ความสำนึกว่าผมจะต้องตายในไม่ช้าเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดที่ผมรู้จัก    ที่ผมใช้ในการตัดสินใจสำคัญ ๆ ของชีวิต เพราะเกือบทุกสิ่งทุกอย่าง...ล้วนไม่มีความหมายอะไรเลยเมื่อเทียบกับความตาย เหลือเพียงสิ่งสำคัญจริง ๆเท่านั้น มรณานุสติ เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ผมรู้” สตีฟ บอกถึงความเป็นจริงของชีวิตที่เราต้องยอมรับ ดังนั้นเราต้องก้าวไปข้างหน้า ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ทำตามที่ใจเราต้องการ สุดท้ายเขาฝากประโยคหนึ่ง      ที่เป็นคติประจำใจของเขามาโดยตลอด “อย่าทิ้งความกระหาย อย่าคลายความเชื่อ” (Stay Hungry. Stay Foolish.) และอวยพรให้น้อง ๆ ที่จะเดินออกนอกรั้วมหาวิทยาลัย

        สิ่งที่ได้จากการอ่านสุนทรพจน์ของสตีฟ คือวิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน เพราะท้ายที่สุดแล้ว การศึกษาของมนุษย์เราทุกคน ย่อมมิได้จบลงเมื่อเดินออกจากรั้วโรงเรียน หากดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้งจวบวันตาย และในหลายแง่มุม การศึกษาใน “โรงเรียนชีวิต” ของเราจะเริ่มต้นได้จริงก็ต่อเมื่อผ่านพ้นวันรับปริญญาไปแล้วเท่านั้น ดังที่นักเขียนเอก มาร์ค ทเวน เคยกล่าววาทะอมตะไว้ว่า “ผมไม่เคยยอมให้การไปโรงเรียนมาแทรกแซงการศึกษาของผม”

(I have never let my schooling interfere with my education.)

อาจารย์ธีราภรณ์  รัตนพงศ์

สาขางานการขาย

 

เขียนใน GotoKnow โดย 
 ใน >
คำสำคัญ (Tags): #kmanw
หมายเลขบันทึก: 356936เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2010 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2012 23:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท