การดำรงชีวิตที่ถูกต้องตามธรรมชาติพื้นฐาน


ชีวิตควรมีอยู่โดยไม่ยึดเอาความทุกข์มาเป็นของตน

เรื่อง  การดำรงชีวิตที่ถูกต้องตามธรรมชาติพื้นฐาน

ของ  ท่านพุทธทาสภิกขุ

จาก  หนังสือการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง

ความว่า

      ความหมายของสิ่งที่เรียกว่าชีวิตตามแบบวิทยาศาสตร์หมายถึง ความที่ยังสดอยู่ได้ของใจกลางของเซลล์หนึ่ง ๆ   ส่วนชีวิตในแบบชาวบ้านหมายถึง ยังไม่ตาย ชีวิตในรูปคำบาลี ว่าอาชีโว อาชีวะ แปลว่าดำรงชีวิต เมื่อดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้องก็เรียกว่ามีชีวิตอันถูกต้อง การกระทำที่ให้ชีวิตรอดอยู่ได้ไม่ให้ตาย ท่านพุทธทาสได้ให้ความหมายว่า เป็นสิ่งที่มีปัญหาหรือมีความทุกข์  ตัวความทุกข์ในชีวิตนั่นแหละคือตัวชีวิต ซึ่งจะต้องจัดการให้มีการดำรงอยู่ในลักษณะที่พอทนได้ หรือไม่เป็นทุกข์ ในสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย  แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ตลอดจนขาดสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเช่นนี้ การได้นำหลักคำสอนทางพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้สำหรับดำเนินชีวิตน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดทางหนึ่ง

      ชีวิตควรมีอยู่โดยไม่ยึดเอาความทุกข์มาเป็นของตน  ให้มีชีวิตอยู่เป็นไปธรรมดาสามัญจะทำให้ไม่เป็นทุกข์เลยโดยเฉพาะพุทธศาสนาหรือพระธรรมมุ่งหมายที่จะทำความรู้สึกที่เป็นทุกข์ให้หมดไป ทุกชีวิตต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น  ซึ่งการไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นหลักพื้นฐานทั่วไป  ดังนั้นแม้แต่เด็กเล็ก ๆ ก็ควรจะมีความรู้เรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่นไว้เป็นพื้นฐาน  ให้ตั้งตนอยู่ในสภาพที่ถูกต้องหรือพอดี  ผู้ใหญ่ก็ยิ่งจะต้องมีความรู้เรื่อง  ในความไม่ยึดมั่นถือมั่น  การดำรงชีวิตชนิดมีหลักพื้นฐานถูกต้องเราจะต้องรู้จักจัด รู้จักทำให้ชีวิตนี้มีการพักผ่อน ซึ่งหมายถึงความสงบ  และจะต้องเป็นอยู่โดยยึดอริยมรรค 8  หากเราปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักที่บัญญัติไว้ จะทำให้เป็นหนทางการดำรงชีวิตถูกต้อง 

      อริยมรรค 8  คือความถูกต้อง 8 ประการก็คือสิ่งที่เรียกว่า ศีล  สมาธิ  ปัญญา  ซึ่งในทางปฏิบัติ  ปัญญามาก่อนศีลและสมาธิ เพราะปัญญารู้อะไรเป็นอย่างไร กระทั่งปัญญาสูงสุดที่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงยึดมั่นถือมั่นไม่ได้  และปัญญาก็จูง ศีล  สมาธิให้ได้ทำหน้าที่ยิ่ง ๆ ขื้นไปจนกระทั่งหลุดพ้น  แต่กว่าจะหลุดพ้นในเรื่องชีวิตมีการต่อสู้เหมือนกับการทำสงคราม คือทำสงครามระหว่างความทุกข์กับจิตที่มีปัญญา  นอกจากธรรมที่กล่าวก็ยังมีธรรมอื่น ๆ ซึ่งเป็นหลักดำรงชีวิตถูกต้องโดยพื้นฐานซึ่ง เราชินหู ชินตามานานแล้วได้แก่กายกรรม 3 อย่าง  วจีกรรม 4  อย่าง  มโนกรรม 3 อย่าง ที่เรียกว่ากุศลกรรมบถ 10 ก็คือความถูกต้องทางกาย  ทางวาจา  และทางใจ หากเราลองเจริญกุศลกรรมบถ 10 ให้ถูกต้องมันก็จะไปจนถึงสมาธิได้ด้วย

      ดังนั้นจึงขอฝากข้อคิดกับผู้ที่สนใจว่า จงมีชีวิตชนิดที่เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามหลักพื้นฐานของธรรมชาติ  อยู่โดยอริยมรรค 8,  อยู่โดย ศีล สมาธิ ปัญญา  และอยู่ในกุศลกรรมบถ 10 รวมทั้งปฏิบัติโดยหลักที่ถูกต้องคือปฏิบัติโดยวิธีไม่ต้องเกิดความรัก โกรธ เกลียด กลัว  วิตกกังวล อย่าให้ผิดกฎจะเป็นผู้ที่ได้ดีที่สุด และอยู่โดยไม่ต้องเป็นทุกข์   จึงขอให้ทุกคนได้ระวังกาย วาจา ใจให้ดี อย่าให้กิเลสเกิดขึ้นครอบงำได้ ก็จะมีความเย็น และมีการดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง ตามธรรมชาติพื้นฐาน

      ...................................................................................


                นางพิมพ์ชนก    ณ พัทลุง

                      ผู้อำนวยการ

เขียนใน GotoKnow โดย 
 ใน >
คำสำคัญ (Tags): #kmanw
หมายเลขบันทึก: 356907เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2010 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท