มองข้างหลังภาพ (ตอนที่ 2 : การพัฒนาคน ด้วยกระบวนการ KM)


ตอนที่ 2 : การพัฒนาคน ด้วยกระบวนการ KM

             ผู้เขียนตื่น ตีสี่  ออกเดินทางจากบ้านรามอินทรา  ขึ้นรถแท็กซี่ ก่อนตี 5 ครึ่ง  ไปที่จุดนัดหมาย (สถาบันครอบครัวรักลูก)  รัชดาภิเษก 35  แถวประชาชื่น   เวลานัด คือ รถออก 06.00 น. จำได้ว่า บอกคนขับ "ช่วยเร่งให้ด้วย"  เขาตอบกลับมาว่า  "15 นาที"  

             เมื่อใกล้ถึงจุดหมาย เขาให้ ผู้เขียนช่วยมองหาซอย  แต่ผู้เขียนบอกว่า "ไม่ต้องเร่งแล้ว  เรายังมีเวลาเหลือ"  เมื่อถึงปากซอย  เขาวิ่งชะลอและตั้งคำถาม "พี่รู้ได้อย่างไร? ว่าผมจะใช้เวลา  15 นาที จริงๆ พามาถึง รถก็เก่าอย่างนี้   "  ผู้เขียนตอบกลับไปว่า “จากบุคลิกภาพ” :  เขาจับพวงมาลัยมือขวา มือซ้ายจับพนักเบาะด้านซ้าย โกนหัวจนไม่มีผมซักเส้น  พูดน้อย  ดูมั่นใจ  ยูเทอร์นรถอย่างคล่องแคล่ว    ผู้เขียนไม่สนใจว่า เขาเป็นใคร? เป็นนักแข่งรถหรือไม่?  รู้แต่เพียงว่า  การเรียนรู้ในตัวคนของผู้เขียนเริ่มขึ้นแล้ว...  ตั้งแต่เช้า  เขามีทักษะการขับรถ และป็นCompetency เด่น เสียด้วย 

             ผู้เขียน เจอกับคุณอ้อ สคส. โค้ชของผู้เขียน ในการเดินทางเรียนรู้ครั้งนี้  เมื่อลงจากรถแท็กซี่คนละคัน พร้อมๆกัน เราพูดคุยกันเรื่องกำหนดการล่าสุดที่สรุป แบ่งความรับผิดชอบ  ผู้เขียนมีหน้าที่ถ่ายภาพนิ่ง และช่วยเหลือคุณอ้อเล็กๆน้อยๆ  เราได้ออกเดินทาง โดยรถตู้ ร่วมกับทีมงานรักลูก เวลาประมาณ 06.30 น. ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนา กับคุณอ้อ ในเรื่องของงานที่ผู้เขียนจะทำ หลังจบโปรแกรม Internship  ผู้เขียนชอบจุดเด่นของคุณอ้อที่ชอบซักถามหลายแง่มุม และมี stepในการนำเสนอเชิงวิชาการ 

             เธอเริ่มซัก ตั้งแต่ประสบการณ์ทำงาน  ความชอบ  ถามว่า "ชอบงานเลขาไหม? ทำได้ไหม?   งานวิจัยจะทำหรือปล่า?  จะกลับไปอยู่บ้านสวนต่างจังหวัดไหม?.." เป็นต้น    ผู้เขียนก็ไม่ใช่คนชัดเจนอะไรนัก  ทำอะไรก็ได้ที่อยู่ในขอบข่าย ทักษะความสามารถของตนเอง เพียงสรุปได้ว่า การทำเกษตรไม่ใช่วรรณะ ของผู้เขียน  ผู้เขียนปีนต้นไม้ไม่เป็น  ถอนหญ้า  จับจอบ  ก็มือแดงแล้ว แค่เล่นได้  เมื่อเราอยู่กับการทำสวน ปลูกผัก เราต้องมีทักษะที่จะคิดปรุงงานเหล่านั้นเป็นศาสตร์หนึ่ง   ผู้เขียนมีทิศทางชัดเจน ว่าจะใช้ความรู้ที่เกิดจากการให้ของสคส. ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม  ถ่ายทอด อย่างได้ประโยชน์ที่สุด  ภายใต้สิ่งที่ สคส. จำเป็น หรือ ต้องการเร่งด่วน เพราะ งานที่ผู้เขียนจะทำต่อไป ย่อมต้องตอบผลกลับมาที่ สคส. ด้วย  ผู้เขียนยังมีเวลาที่จะเปิดโอกาส ได้พบปะ กับความเหมาะสมที่สุด

             คนถัดมาที่ผู้เขียน ได้สัมผัสชัดเจน  คือ คุณตุ๋ย ในรูปแบบของการถูกสัมภาษณ์  เรื่องงาน HR ที่ผู้เขียนเคยทำ  ความคิด  อุดมการณ์ เหมือนตอนสมัครงาน    คุณตุ๋ยเป็นคนพูดน้อย    ผู้เขียนเจอเธอครั้งแรก ตอนมาพบ ทีมงาน สคส. ที่สำนักงาน เห็นแล้วว่า เป็นคนที่ไวต่อโจทย์ ตอนผู้เขียน ตั้งคำถาม 2 ข้อ ว่าจัดเวทีเล่าเรื่องดีๆ แล้วจะเอาไปทำประโยชน์อะไรต่อ?  และ จัดครั้งนี้แล้ว ทีมงานรักลูกเองควรจัดกระบวนการ KM ได้ ใช่หรือไม่?  เหมือนเธอปิ๊งขึ้นมาทันที และบอกว่า จะปรับกำหนดการใหม่ให้สอดคล้องรับลูก กับการบรรยาย KM ของคุณอ้อ  ผู้เขียนเห็น Copetency  Management ในตัวเธอ

            ในระหว่างการจัดเวที 2 วันที่ผู้เขียนร่วมด้วย  ได้เห็น ความมุ่งมั่น เอาใจใส่ ลุ้นตลอดรายการ เช่น ตอน Shopping Idea เมื่อเห็นว่าไปได้ดี เธอก็ดีใจ ยังเปรยว่า "เสียดายเวลาน้อย" แต่มองหน้าผู้เขียนกับคุณอ้อ ก่อนลาจากกัน  แล้วก็พูดใหม่ว่า "ไม่เป็นไรแค่นี้ก็พอดีแล้ว" คุณอ้อจึงบอกว่า "ทุกเวทีที่ดีๆ ก็มักจะคิดว่าเวลาน้อยไป"

            คุณตุ๋ยให้โอกาสลูกน้อง เช่น "อ๊อบ" หนึ่งในทีมงานคนเก่ง ที่ถูกหยิบยกมาว่าเด่นด้านสันทนาการ เธอก็จะสนับสนุนว่า เด็กหวังที่จะเป็นสันทนาการมืออาชีพ เขามีแฟ้มสะสมงานของตนเอง  และพร้อมให้เราขอยืมตัวไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้  ...นี่คือผู้บริหารที่พร้อมจะผลักดันลูกน้อง... ไปสู่จุดที่เป็นตัวตนของเขาเอง ตาม competency ของแต่ละคน

            "อ๊อบ" เด็กหนุ่ม วัย 31 ปี เป็นนักวิจัย และ Facilitator หนึ่งในทีมรักลูก ผู้เขียนเริ่มมองการเป็นพิธีกรนำ การนำเกม กิจกรรม  ที่เป็นไปตาม Step เนียนอย่างที่ผู้เข้าร่วมแทบไม่รู้สึก  เขาเดินมาถามผู้เขียนเป็นคนที่ 2 ในทีมรักลูก ว่าจะเอา VDO เข้า PowerPoint อย่างไร? เมื่อคุณอ้อ ใช้เทนิคการนำเสนอนี้ ผู้เขียนจึงแนะนำให้เขาเรียนรู้กับคุณอ้อ เมื่อบรรยายเสร็จ และแนะนำให้ถ่ายทอดเพื่อนอีกคนหนึ่งที่สนใจ เช่นกัน  เขาทำทันที 

             ต่อมาผู้เขียนมีโอกาสได้ซักถาม เรื่อง "วิธีการรวมเอากิจกรรมสันทนาการเข้ากับการทำสมาธิตั้งสติที่ดูเป็นธรรมชาติ"  ก่อนเริ่มเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้   อ๊อบตอบว่า "เขาคิด ทำอย่างไร? ให้กลมกลืน ผสมผสาน เรื่องสันทนาการ เข้ากับ เรื่องสมาธิที่เรียนรู้จากคุณติ่ง แล้วดูเนื้อหาวิชาการ ที่จะต้องดำเนินในเวทีต่อไปด้วย"  "บางทีความคิดออกมาปัจจุบันทันด่วน เปลี่ยนแปลงตรงหน้าเวทีเลย จนถูกเพื่อนต่อว่าบ่อย ว่าไม่มีแผน"  ผู้เขียนจึงให้กำลังใจจริงๆว่า "ผู้เขียนก็ไม่มีแผนเช่นกัน" 

             น่าแปลกที่เขาถามผู้เขียนว่า "คำถามอย่างที่ผู้เขียนซัก มันถามยากและตอบยากด้วย ต้องพลิกความคิดสักครู่หนึ่ง"  ผู้เขียนจึงตอบว่า "ใช่ เป็นการค้นหาTacit knowledge"  "อ๊อบ ลอง AAR ตัวเอง ทบทวนตัวเรา จากความสำเร็จ ที่เราถูกคนอื่นชมก็ได้ แล้วพัฒนาวิธีการ หรือเคล็ดลับในการสร้างงานนั้นไปสู่สิ่งที่ดีกว่า มันคือ Competency ในตัวเรา แล้วเราจะสนใจพัฒนาทักษะไหนอีก? เช่น การเป็น User ในระดับที่ดีขึ้น ก็ให้มองตนเอง แล้วไปเรียนรู้ ฝึกฝน..."

"แต่อย่าลืม ไม่หลงว่าเราเก่ง"

            ในทีมงานรักลูก 16 คน ผู้เขียนมองว่าเขาได้ทำงาน เพื่อค้นหาตนเองกันทั้งสิ้น เพียงแต่หยิบยกเป็นตัวอย่างเพียง 1  ในช่วงเวลาที่ผู้เขียนได้สัมผัส และความเหมาะสมของพื้นที่เขียน    การใช้ศิลปะและตรรกะผสมผสานกันในวิธีคิดของคนๆหนึ่ง ก็อาจเป็นเทคนิคหนึ่ง ของการจัดการความรู้ในตัวคน ...ผู้เขียนก็เคยเป็นเด็กเรียนที่กลัวศิลปะมาก่อน เมื่อปลดปล่อยได้  เรากลับรู้สึกเป็นตัวของตัวเองขึ้นอีกมากโข


การพัฒนาคน ด้วยกระบวนการ KM   น่าจะประกอบด้วยปัจจัย ดังนี้
• การแยกแยะระดับคนตามทักษะ Management
• คนสอน KM ควรจัดแบ่งความคิดคน จากการสัมภาษณ์หรือสนทนา เบื้องต้น คือ ความคาดหวัง  อุดมการณ์ และความสนใจพิเศษ  เพื่อจัดแบ่งกลุ่มสนทนา ประเด็น เพื่อเปิดการนึก การคิด ให้แก่ผู้เข้าร่วม
• การสร้างบรรยากาศ  cultureตามธรรมชาติของกลุ่ม

………………………………………………………………………………………

ต่อไปนี้ เป็นการเขียนเชิงปรัชญา อาจเป็นการยากสำหรับผู้อ่านที่เพิ่งฝึกทักษะ Management   เนื่องจาก ชะ-อำ เกิดเวทีที่เปิดจิตผู้เขียนได้มากพอสมควร (เข้าใจว่าเป็นการเรียนรู้ระดับหนึ่ง) จึงขอบันทึกไว้ เพื่อประโยชน์ โดยมิได้เฉพาะเจาะจง

• คนเปิดประตูกว้าง ใจเรา จิตเราก็เปิดประตูกว้างเท่ากัน เป็นกฎธรรมชาติ  เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในแนวปรัชญา  ช่วงเวลา 5-15 นาที  ผู้ฟังที่มิได้สนทนาก็ย่อมได้รับประโยชน์ และฝึกฝนการฟังไปโดยปริยาย  ไม่มีใครจัดเวทีให้  รู้แต่ว่าเราอยากคุยกัน  มีผู้อยากซัก อยากถาม  อยากฟัง และพร้อมตอบ  จึงกลายเป็นวงสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องง่ายๆ  เรื่องใกล้ตัว  นับว่ามีประโยชน์ไม่น้อย

            ช่วงเวลานั้นผู้เขียนนึกออกแบบ  อยากชวนคน เดินไปคุย บนเชิงเขา  หรือนั่งคุยที่ชายหาด  ช่วง  6-7 โมงเช้า  อาจใช้เวลา ไม่ถึงชั่วโมง หรือยาวนานกว่านั้น  คงได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ จะเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผล แค่ไหนหนอ?

• เมื่อผู้เขียนคิดจะสร้างกรรมดี  ย่อมต้องหลีกเลี่ยงการซึมซับพฤติกรรมไม่ดี  แต่ให้โอกาส การปรับปรุงพฤติกรรม  ไปสู่สิ่งที่ดี  ทำให้รู้สึกว่า  เราพยายามฝึกใช้ความนึกคิดในด้านหนึ่งของเหรียญ  เพื่อพัฒนาพฤติกรรมของตนเอง เช่นกัน   ดังนั้นการพิสูจน์จิตใจคน เป็นเรื่องจำเป็น สำหรับผู้เขียนก่อนจัดการถ่ายทอด  เพราะจะทราบว่า ควรมาก ควรน้อย แค่ไหน?  อย่างไร? กับใคร? จึงพอดี
• บางวิธีการทำงานก็ไม่ต้องเหนื่อย  แต่มีบ้างที่เหนื่อย  
• วิธีหนึ่ง ถ้าเราจำกัดวัย  เราอาจไม่เจอ หรือเจอคนแค่ 1-2 คน จาก 1000 คน ที่ควรถ่ายทอด  แต่มั่นใจว่า เขาจะยังคงมีจิตใจที่ดีงาม ใช้ประโยชน์ สิ่งเรียนรู้อันมีคุณค่า ในอนาคต ที่ผู้เขียนอาจชีวิตหาไม่แล้ว  อย่างนี้นับว่าสมควรที่จะเหนื่อย
• จึงเลือกวิธีไม่เหนื่อยดีกว่า   ไม่จำกัด  เพศ  อายุ  วัย  เชื้อชาติ   ศาสนา.....อย่างไรเสีย การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ บางเรื่องก็เป็นปัจจัย ในการตัดสินใจของผู้เขียน จากการได้เข้าร่วม KM ปฏิบัติ กับ สคส. เป็นระยะเวลา เกือบ 2 เดือน ผู้เขียนพบว่า มีคนจำนวนหนึ่งที่มีจิตใจดีงาม อาจจะมีระดับตื้นลึกต่างกัน รวมตัวกันเพื่อกิจกรรมบางอย่าง  อาจเรียกว่า กิจกรรมความดี  ซึ่งเขาอาจจะก้าวล่วงไปสู่การเข้าใจธรรมชาติมากน้อย ตื้นลึก ขึ้นกับการกระทำของเขาเอง คล้ายกับว่า  คนก็ปรับตัวตามธรรมชาติที่กำลังเปลี่ยนแปลง  คือ การทำดีนั้นยากในภาวะการณ์ปัจจุบัน  แต่ถ้าใครยังยืนหยัดทำอยู่ได้ ก็นับว่าเป็นของจริง ควรค่าแก่การได้รับสิ่งที่ดีงามตอบแทนกลับมา  ผู้เขียนนิยมไปทางคนเช่นนี้ แม้จะเป็นไม้ใกล้ฝั่งหรือไม่ก็ตาม

• นักจัดการความรู้ กับนักบริหารงานมืออาชีพ ในความเห็นของผู้เขียน อาจจะแตกต่างกัน นักบริหารอาจจะต้องใช้Trick การบริหารในกลุ่มคนที่หลากหลายรูปแบบในองค์กร   แต่นักจัดการความรู้แบบที่ผู้เขียนเข้าใจ  ต้องมุ่งเน้นไปที่การ เช็ค หรือ พิสูจน์ จิตใจ เนื้อแท้ ของคน  ว่าพร้อมรับ การจัดการความรู้ จริงหรือไม่?  ผู้เขียนโน้มเอียงมาทาง นักจัดการความรู้เชิงธรรมชาติ    ซึ่งอาจจะแยกแยะ ระดับความต้องการเรียนรู้ของกลุ่มคน ก่อนว่า  อยากเรียนรู้แต่ไม่เป็นทักษะManagement        อยากเรียนรู้ และเป็นทักษะManagement             ผู้เขียนเข้าใจว่าในระดับที่สูงขึ้นต้องเป็น Management  ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และสุดท้าย ต้องนำทักษะการจัดการความรู้ไปทำให้งานสำเร็จ

หมายเลขบันทึก: 35683เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2006 20:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ขอบคุณมากๆนะค่ะ  

ยินดีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนค่ะ โดยเฉพาะ เยาวชน

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท