ลงข่าวเด็กถูกละเมิด ระวังติดคุก


แพร่ข่าวเด็กถูกข่มขืน

ลงข่าวเด็กถูกระเมิด ระวังติดคุก

             ระยะเวลา  4-5 ปีที่ผ่านมานี้  ข่าวเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนมักถูกนำมาเผยแพร่ประจานในหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์และบนจอโทรทัศน์อยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่

             หนึ่ง...เผยแพร่ผลการสำรวจ  ได้แก่การส่งคนออกไปสำรวจ  ออกไปสอบถามความคิดเห็นหรือที่เรียกว่าทำโพลส์  แล้วก็นำมาเสนอหรือแถลงต่อสื่อมวลชน  ซึ่งปรากฎว่าจะสะท้อนภาพเด็กและเยาวชนไปในทางที่เสียหายเกินกว่าความเป็นจริง   ตั้งแต่การนำเอาสถิติประเภทโคมลอยที่ว่า “เด็กมั่วเซ็กส์ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ” หรือ “เยาวชนหญิงตามล่าร่วมเพศ แล้วเก็บสถิติว่าใครได้นอนกับชายมากกว่ากัน” (สอบถามไต่ความกันแล้ว ก็ได้คำตอบเช่นเดียวกันคือ  ฟังเขาเล่าต่อกันมา)

             สอง...นำผู้เสียหายออกแถลงข่าวหรือแจ้งให้ผู้สื่อข่าวรู้ว่าจะพาไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ จะได้เป็นข่าว  กรณีเช่นนี้มักจะเกี่ยวกับ “เด็กถูกข่มขืนกระทำชำเรา”หรือ “ถูกหลอกมาค้าประเวณี”ซึ่งชีวิตนั้นเต็มไปด้วยความอับอายและปวดร้าวอย่างมาก  กลับต้องบากหน้ามานั่งให้ถ่ายภาพ  นั่งตอบคำถามมากมายจากผู้สื่อข่าว แม้เด็กจะสวมหมวกปิดใบหน้าหรือนั่งหันหลัง  แต่ผู้ที่เคยรู้จักเด็กนั้น  เห็นเพียงรูปร่างก็รู้แล้วว่าเป็นใครมิใช่หรือ

               การณ์เช่นนี้เอง ที่ทำให้คนทำงานด้านสตรี ด้านเด็กและด้านสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมกันวางหลักการสำคัญ คือป้องกันไม่ให้มีการกระทำเช่นข้างต้นขึ้นอีก เพราะเข้าข่ายเปิดช่องให้มีการ “ข่มขืนซ้ำ”จากภาพข่าว จากคำถามต่างๆ นานา  โดยผู้นำเด็กไปเปิดตัวนั้นไม่คำนึงถึงเลยว่าในวันข้างหน้าเด็กคนนั้นจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไรในชุมชนเดิมของเธอ  หรือจะเรียนในโรงเรียนของเธอได้อย่างไร ในเมื่อข่าวแพร่กระจายไปหมดแล้ว โตขึ้นในภายภาคหน้าจะมีใครนำเรื่องราวของเธอมาเปิดเผยอีกหรือไม่

              ถามว่า ทำไมทั้งสองกรณีเช่นนี้จึงชอบกระทำกันมาก  ตอบตรงไปตรงมาก็คือ“ได้ขึ้นเป็นข่าวหน้าหนึ่ง”และ “ออกโทรทัศน์ทุกช่อง”   เป็นการเดินทางลัดของงานข่าว ได้รับการกล่าวถึง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว  นักวิชาการประเภทชอบทำข้อมูลสถิติเกินจริงเหล่านี้  จึงถูกขนานนามว่า“นักวิชาการถ้ำมอง”คือแอบมองพฤติกรรมเด็กและเยาวชนแล้วนำไปวิพากษ์วิจารณ์เกินจริงให้เป็นข่าว  ในขณะที่ “นักการเมืองหรือรัฐมนตรี”นั้นได้เป็นข่าว มีผลงานว่าช่วยเหลือเด็กและเยาวชน  โดยที่คนทั่วไปขาดประเด็นหลักที่ต้องคิดและติดตามคือ ภายหลังที่เป็นข่าวไปแล้ว เด็กคนนั้นไปอยู่ที่ไหน ตกอยู่ในสภาพใด  เขาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องหรือไม่    ความจริงเหล่านี้ล้วนแต่ขาดการนำมาขยายผลให้ทราบในเวลาต่อมา

              บัดนี้  การป้องกันบรรลุผลขึ้นแล้ว เมื่อมี“พรบ.ขจัดความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550” ขึ้นมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน โดยเนื้อหาสำคัญอยู่ที่

              มาตรา 9  “เมื่อมีการแจ้งความหรือมีการร้องทุกข์แล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดลงพิมพ์โฆษณา หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วยวิธีใดๆ ซึ่งภาพ เรื่องราวหรือข้อมูลใดๆ อันน่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวหรือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวในคดีตามพระราชบัญญัตินี้

              ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

               ครับ  ที่เขียนขึ้นมาและนำกฎหมายมาชี้ให้เห็น เพื่อต้องการปรามให้ระมัดระวังการสื่อข่าวที่มีกระทบดังกล่าว  จะได้ไม่พลาดพลั้งถึงต้องติดคุกกัน

                                                 .............................

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 356191เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2010 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดี ครับ อาจาริย์

ผมรู้สึกดีใจมากเลย ที่มี พ.ร.บ. นี้ได้ เพราะเห้นข่าว ประเภทนี้แล้วไม่ควรนำเสนอจริงๆ

ผมคิดว่าข่าวอื่นๆ เช่น เด็กแว้น นักเรียนนักเลง ข่าวยิงกันตาย และอ่นๆ ที่รุนแรง ก็ไม่ควรนำภาพ หรือข่าวโดยละเอียดลง

ผมคิดว่ามันทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้

ขอบคุณครับ อาจาริย์ ที่ช่วยดูแลสังคมของเรา

สวัสดีค่ะ ครูหยุย

. ดีใจที่มีกฎหมายนี้

. มีข่าวเด็กและเยาวชนเมื่อไหร่น่าสงสารมาก ยิ่งเดี๋ยวนี้มีข่าวทุกชั่วโมง ข่าวข่มขืน จึงข่มขืนแล้วข่มขืนอีก เหมือนกับซ้ำเติม เด็กยังเจ็บไม่พอหรืออย่างไร ดิฉันว่า ทั้งข่าวและสังคมไม่สงสารเด็กและเยาวชนเลย ไม่รู้ว่าหลังจากนั้นชีวิตเด็กจะเป็นอย่างไร ต้องช่วยกันติติงค่ะครู

แม้กฎหมายนี้จะมีขึ้น แต่การนำเด็กที่เป็นเหยื่อมาเผยแพร่ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็พบว่าสื่อพยายามระมัดระวังตัวมากขึ้นเช่นกัน ตรวจตราและติดตามอย่างต่อเนื่อง คงดีขึ้นเรื่อยๆ ครับ

พ.ร.บ.นี้ดีมากๆเลยค่ะ

กว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านออกมาได้ สู้กันนานหลายยกครับ ใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท