ความเสี่ยงในงานเพื่อเด็ก


เด็กถูกละเมิด ข่มขืน

 

ความเสี่ยงในงานเพื่อเด็ก

              มีหลายครั้งที่ผมได้รับคำถามแปลก ๆ เมื่อไปบรรยายตามสถานที่ต่างๆ หนื่งในคำถามนั้นคือ การทำงานเพื่อเด็กนั้นมีความเสี่ยงหรือไม่   คำถามนี้น่าตอบมากครับ ผมขอถือโอกาสนำประสบการณ์โดยตรงของตนเองสรุปมาเล่าสู่กันฟังนะครับว่า “เสี่ยง”  ขยายความให้เห็นเป็นภาพๆ ที่ชัดเจนดังต่อไปนี้

              หนึ่ง...เสี่ยงต่อชีวิต  ตั้งแต่การรุกเข้าไปช่วยแด็กที่ถูกทำร้าย  มีโอกาสจะถูกทำร้ายกลับมาด้วยความรุนแรง  รูปธรรมที่ผมและคนทำงานหลายคนประสบคือถูกติดตามมาถึงที่ทำงาน หมายนำตัวเด็กกลับคืน จนต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วยคุ้มครอง  แต่บางคนเคยถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส  หรือบางองค์กรถูกคนที่ละเมิดเด็กพาคนจำนวนมากบุกเข้ามาเพื่อชิงเอาตัวเด็กคืน จนต้องหลบหนีและพาเด็กหลบหนีไปอยู่ที่อื่น (เหตุลักษณะนี้มักเกิดจากการพาเด็กถูกข่มขืนเข้ามาอยู่ในดูแล ฝ่ายจำเลยจึงต้องการตัวเด็กหนีไปเพื่อให้พ้นโทษ)

              สอง...ถูกข่มขู่มุ่งหมายเอาชีวิต  ที่มีมากคือโทรศัพท์เข้ามายังองค์กรเพื่อข่มขู่เอาเรื่อง  หรือขู่ว่าหากไม่หยุดการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว  จะเอาระเบิดมาวางหรือเผาองค์กร   ประการนี้วิธีที่พอจะช่วยแก้ไขได้ก็คือแจ้งความกับตำรวจและขอให้ช่วยส่งสายตรวจแวะมาเยี่ยมดูแลเป็นระยะๆ ตัวอย่างกรณีนี้คือครูข้างถนนของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กพาเด็กเร่ร่อนหญิงที่ถูกชักพาไปเต้นอาโกโก้ที่พัฒนพงษ์ พ้นออกมาจากวงจรนั้นจนตามถูกข่มขู่ไม่ให้เข้าพื้นที่และให้พาเด็กไปคืน)

               สาม...ถูกฟ้องด้วยข้อหาต่างๆ  เช่นข้อหาหมิ่นประมาททำให้เสียชื่อเสียง  ข้อหาบุกกรุก  ข้อหานำตัวเด็กไปไว้ในความดูแลโดยไม่ได้ขออนุญาตผู้ปกครองเด็ก (ส่วนมากเป็นคดีเด็กถูกข่มขืน ที่ต้องพาออกมาและฟ้องร้องกล่าวโทษผู้ละเมิดเด็ก)  ประการนี้ไม่มีทางเลือกอื่น  นอกจากต้องอาศัยทนายความช่วยดำเนินคดีให้ 

                สี่...ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือประชาชนเข้าใจผิด  โดยเฉพาะต่อคนทำงานที่ทำงานเชิงรุกไปพบเด็กๆ ที่ประสบปัญหาอยู่ตามที่ต่างๆ   ดังตัวอย่างของ “ครูข้างถนน”ที่เคยถูกตำรวจเข้าใจผิดว่าเป็นหัวหน้าแก้งค์เด็กข้างถนน จนถึงขั้นจับกุมตัวไปที่โรงพักก็เคยมี  หรือประชาชนที่หวังดีเกิดข้อสงสัยในวิธีการทำงานของคนทำงาน กระทั่งร้องไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานภาครัฐให้ตรวจสอบ   ก็มีให้เห็นปรากฏขึ้นเป็นระยะๆ  ประการนี้แก้ไขได้โดยการมีเครื่องแบบประจำองค์กร  มีบัตรแสดงความเป็นเจ้าหน้าที่และมีการทำงานประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน

                ปัญหาอย่างน้อย 4 ประการข้างต้น  ได้นำพาให้ผู้ใหญ่ในส่วนราชการและองค์กรพัฒนาเอกชน  ร่วมกันหาทางป้องกันและแก้ไข  จนเกิดมาตรการที่เด่นชัดปฏิบัติได้ในสองประการคือ

                1.กำหนดไว้ในกฎหมาย  ดังตัวอย่างเช่น พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี  พรบ.คุ้มครองเด็ก  พรบ.ยุติความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัว  ที่ได้บัญญัติให้รัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งบุคคลทั้งจากหน่วยงานรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน  เป็น “พนักงานเจ้าหน้าที่”ที่มีอำนาจเข้าดำเนินการช่วยหลือเหยื่อออกมาจากสถานที่ต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที

                2.กำหนดมาตรการทำงานเป็นเครือข่าย  วิธีการเช่นนี้ทำให้มีพลังมากขึ้น ไม่ต้องเสี่ยงรุกไปทำงานแบบโดดเดี่ยวเพียงลำพังหรือเพียงองค์กรเดียว  แต่เป็นการประสานงานเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อร่วมกัน  ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ  เจ้าหน้าที่ของรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน

                ทั้งสองประการนี้  ได้ช่วยให้ “ความเสี่ยง”ทั้งหลายลดน้อยลงและเด็กมีทางเลือกสำหรับการอยู่รอด การพ้นทุกข์และได้รับโอกาสเพิ่มขึ้น   แต่หากองค์กรใดยังประสงค์จะทำงานเพียงลำพัง  ก็คงต้องเสี่ยงกับภาวะการณ์ต่างๆ เหมือนเดิม 

                                   .......................................................

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 356189เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2010 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

  • เมื่อหลายปีก่อน ดิฉันได้ช่สยเหลือนักเรียนหญิงที่ถูกตาละเมิดทางเพศ  สามารถติดต่อกับพ่อแม่เด็กและแยกเด็กออกมาได้
  • ดิฉันได้รับการข่มขู่  แต่ได้นำเด็กไปสำนักงานสงเคราะห์จังหวัด  ลงบันทึกไว้ที่นั่น
  • ภายหลัง พ่อแม่เด็กต้องการให้เด็กไปแต่งงาน เพียงแค่อยากได้เงินจำนวนหนึ่ง ดิฉันต่อสู้เพื่อเด็กคนนี้อีกครั้ง 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท