เจ้าภาพแก้ไขปัญหาสื่อลามก


สื่อลามก กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

เจ้าภาพแก้ไขสื่อลามก

             สถานการณ์ปัญหาทางสังคมประการหนึ่งที่ฮือฮาเป็นข่าวอยู่เสมอ  นั่นคือการแพร่หลายของ “สื่อลามกอนาจาร”ทั้งหลาย  ที่มีตั้งแต่สื่อพื้นฐานเช่นสื่อสิ่งพิมพ์ ได้แก่หนังสือที่มีเนื้อหาบรรยายการร่วมเพศ  หนังสือภาพการ์ตูนลามก  นิตยสารแพร่ภาพโป้และภาพการร่วมเพศ  ปฏิทินภาพโป้เปลือย  ภาพโฆษณาหลากหลายขนาดและข้อความส่อไปในทางลามกอนาจาร  ตลอดจนถึงการโหลดภาพลามกไว้หน้าจอมือถือ   การขายม้วนวีดีโอ วีซีดี ดีวีดีลามกอย่างโจ๋งครึ่ม  และที่น่ากังวลมากสุดคือการแพร่หลายในอินเตอร์เน็ต ทั้งโชว์เปลือย โชว์สำเร็จความใคร่ โชว์การร่วมเพศ ฯลฯ  ซึ่งมีมากมาย ค้นหาได้ง่ายและหาซื้อได้สะดวก ภายใต้ผู้ใหญ่ในสังคมไทยที่ต้องการหากินกับสื่อลามก  โดยไม่อินังขังขอบว่าสื่อนานาชนิดทั้งหลายนี้ จะชักนำผู้คนให้หมกมุ่นในทางเพศ จนก้าวล่วงไปถึงการทำทุกวิถีทางให้ได้บำบัดความใคร่แห่งตน ทั้งในรูปแบบการหลอกลวง  การข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น
             ถามว่าปัญหาการแพร่หลายของสื่อลามกดังกล่าวมีการจัดการป้องกันและแก้ไขหรือไม่  คำตอบก็คือ “มีอยู่บ้างตามจังหวะเวลาที่มีการร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน” โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นหน่วยงานแรกที่ระดมกวาดล้างจับกุมและแถลงข่าวว่าจับได้ที่โน่นที่นี่จำนวนเท่าไหร่ แต่จับและแถลงเป็นผลงานไม่กี่ครั้ง ปฏิบัติการดังกล่าวก็หยุดหายไป สื่อลามกก็แพร่หลายขายได้เหมือนเดิม ณ ที่เดิม โดยคนเดิม   
              ถามต่อว่า หน่วยงานที่ดูแลจัดการเรื่องนี้คือหน่วยงานใด  คำตอบคือมีอยู่หลายหน่วย เช่นตำรวจดูแลกวาดล้างจับกุม  กระทรวงไอซีทีดูแลปิดเว็บลามกที่ไม่เหมาะสม  กระทรวงวัฒนธรรมตรวจตราภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์และพฤติกรรมการโชว์ที่ขัดต่อวัฒนธรรมอันดีของชาติ  สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคดูแลการโฆษณาที่หมิ่นเหม่ต่อจริยธรรม  กระทรวงศึกษาธิการให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนได้เท่าทันต่อปัญหาสื่อลามกอนาจาร โดยหน่วยงานทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้มีกฎหมายมากมายให้อำนาจการปฏิบัติอยู่แล้ว  ขาดแต่เพียงการบังคับใช้อย่างเอาจริงเอาจังและต่อเนื่องเท่านั้น
              ถามต่ออีกว่า  หน่วยงานทั้งหลายเหล่านี้ทำงานร่วมไม้ร่วมมือกันเพียงใด  ตอบชัดๆ ตรงๆ ว่าต่างคนต่างทำ หนักกว่านั้นคือยังทำงานขัดกัน  โยนงานกันไปมาชนิดปัดความรับผิดชอบ  ที่จะมีทำร่วมกันอยู่บ้างก็จะเป็นระหว่างหน่วยงานบางหน่วยเท่านั้น  นี่จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่หลายของสื่อลามกไม่สำเร็จสักที
                คำถามทั้งหลายข้างต้น  เป็นคำถามนำที่ต้องการก้าวไปสู่ข้อเสนอในเบื้องต้นที่จะต้องมีขึ้นอย่างเร่งด่วนคือ  “เจ้าภาพหลักในการรวมพลังทุกส่วนเข้ามาทำงานร่วมกัน” ซึ่งผมขอเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีที่กล่าวย้ำอยู่เสมอว่าต้องการดูแลเด็กและเยาวชนของชาติเป็นสำคัญ โดยขอให้ได้ตั้งรัฐมนตรีท่านใดท่านหนึ่งเป็นเจ้าภาพและมีผู้แทนระดับสูงในหน่วยงานราชการและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านนี้มาทำงานร่วมกัน  โดยวางระบบพิจารณาเรื่องต่างๆ ดังนี้
                1.พิจารณากฎหมายให้ครอบคลุมปัญหาและเพิ่มโทษผู้กระทำผิดให้สูงขึ้น เช่นสามารถยีดแท่นพิมพ์ที่พิมพ์สื่อโป้เปลือยลามก
                2.พิจารณามาตรการแก้ไขปัญหาสื่อลามกแต่ละประเภทอย่างจริงจังและให้ทุกหน่วยงานทำงานร่วมกัน ประสานกันไปในทิศทางเดียวกัน
                 3.พิจารณาหาทางส่งเสริมให้มีสื่อที่ดีแพร่หลายสำหรับเด็กและเยาวชนเพิ่มมากขึ้น โดยลดภาษีกระดาษเพื่อทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ราคาถูกลง ให้เช่าเวลาในราคาถูกแก่ภาคเอกชนที่จัดทำสื่อทีวีที่ดีเพื่อเด็ก
                  ผลขอเสนอเบื้องต้นเพียงสามข้อเท่านี้แหละครับ ท่านผู้อ่านช่วยเพิ่มเติมด้วยนะครับ ช่วยกันเถิดครับเพื่ออนาคตที่ดีสำหรับเด็กและเยาวชนของเรา
                                   ..............................................

 

 
 
 
หมายเลขบันทึก: 356167เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2010 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมเพิ่งมีโอกาสพบกับเจ้าที่กระทรวงวัฒนธรรมและอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์บางท่าน ได้แจ้งให้ผมทราบว่าขณะนี้หลายส่วนกำลังผลักดันให้มี "กองทุนสื่อสร้างสรรค์" โดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรมที่ทั้งยกร่างกฎหมายและระเบียบประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเสร็จแล้ว เพื่อนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า จะมีกองทุนด้วยการมีกฎหมายเฉพาะหรือมีได้เพียงอาศัยระเบียบสำนักนายกก็เพียงพอ ไม่นานคงได้คำตอบครับแล้วผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท