ญี่ปุ่นคัดกรองงานและงบประมาณ 事業仕分け


การคัดกรองนี้เป็นการเปิดเผยข้อมูลสู่ประชาชนโดยตรง โดยให้มีการชี้แจงและซักถามเกี่ยวกับโครงการกันสดๆ ผลที่ได้จากการคัดกรองไม่ได้เป็นตัวตัดสินการจัดสรรงบประมาณ ... แต่อย่างน้อยประชาชนคนทั่วไปก็ได้รับทราบรายละเอียดโครงการต่างๆและงบประมาณที่ใช้ รวมทั้งได้รับฟังเหตุผลสนับสนุนและคัดค้าน เป็นการแสดงความโปร่งใสในการบริหารงบประมาณแผ่นดิน ที่ส่วนใหญ่ก็คือภาษีที่เก็บจากประชาชนนั่นเอง

   เลขาฯหลบไปพักร้อนที่ญี่ปุ่นช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้เห็นข่าวใหญ่ที่คนญี่ปุ่นสนใจกันมาก และรัฐบาลไทยในอนาคตน่าจะลองนำมาใช้ดูบ้าง (หากมีความจริงใจต่อประชาชน) กลับมาเมืองไทยแล้วเลยไปค้นคว้ารายละเอียดจากอินเตอร์เน็ตมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

   ระบบคัดกรองงานและงบประมาณ เป็นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาการบริหารงานภาครัฐในญี่ปุ่น เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2002 โดยเริ่มที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน มีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NPO) เป็นพี่เลี้ยง และเมื่อพรรค Democratic Party of Japan (DPJ) ชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลาย ได้ตั้งรัฐบาลในเดือนกันยายน ปี 2009  ก็ได้ประกาศ “ปฏิรูปการเมืองยุคเฮเซ” หนึ่งในเครื่องมือปฏิรูปก็คือการคัดกรองงานและงบประมาณส่วนกลาง

   หลักใหญ่ๆในการคัดกรองงานและงบประมาณ คือ

- ทำการคัดกรองในระดับโครงการ

- คัดกรองจากมุมมองบุคคลภายนอก

- คัดกรองอย่างเปิดเผย (ต่อหน้าสื่อและสาธารณชน)

- คัดกรองว่า  * โครงการนั้นๆมีความจำเป็นต้องดำเนินการหรือไม่

                 * หากมีความจำเป็นผู้ดำเนินการควรเป็นภาครัฐหรือเอกชน

                 * หากเป็นภาครัฐ ควรเป็นรัฐบาลกลางหรือรัฐท้องถิ่น (อปท.)

                 * หากเป็นรัฐท้องถิ่นควรเป็นระดับ อบจ. หรือ อบต. 

- กรณีโครงการสมควรดำเนินการโดยภาครัฐ งบประมาณที่ตั้งไว้เหมาะสมแล้วหรือไม่

- ให้ความสำคัญกับกระบวนการคัดกรอง

  

   การคัดกรองงานและงบประมาณส่วนกลางครั้งที่ 1 จัดไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2009 และครั้งที่ 2 รอบที่ 1 เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีคณะผู้คัดกรองประกอบด้วย สมาชิกรัฐสภาและผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน กระบวนการคัดกรองเปิดให้สื่อและประชาชนที่สนใจเข้าฟังในห้องประชุมได้ (อย่างจำกัดจำนวน จึงมีคนมาเข้าคิวกันแต่เช้าเป็นจำนวนมาก)  มีนักศึกษามหาวิทยาลัย หรือแม้แต่นักเรียน ม.ปลาย เข้าไปฟังด้วย มีการถ่ายทอดทางอินเตอร์เน็ต สื่อโทรทัศน์ทุกช่องพากันทำข่าวอย่างครึกโครม หนังสือพิมพ์ทุกฉบับพาดหัวหน้าหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการวิพากษ์และวิเคราะห์รายละเอียดงบประมาณโครงการต่างๆอย่างกว้างขวาง ในครั้งที่มีโอกาสเห็นผ่านทีวีนี้เป็นการคัดกรองงานและงบประมาณขององค์กรอิสระ

   ขั้นตอนในการชี้แจงและซักถามเป็นไปอย่างกระชับที่สุดเท่าที่จะทำได้ (เนื่องจากมีโครงการที่ต้องคัดกรองเป็นจำนวนมาก) คำถามมักพุ่งตรงเข้าสู่จุดที่คาดว่าเป็นปัญหา หลายครั้งอาจฟังเหมือนผู้ซักถามเห็นว่าหน่วยงานนั้นไม่มีความจำเป็นต้องมีอีกต่อไป จนต้องมีการย้ำกันอย่างต่อเนื่องว่าการคัดกรองนี้เป็นระดับโครงการ ไม่ใช่ระดับหน่วยงาน (การซักถามไม่ได้มุ่งจะล้มหน่วยงานนั้นๆ แต่ต้องการความกระจ่างด้านความจำเป็นของโครงการ ความโปร่งใสในการดำเนินงาน และความเหมาะสมของงบประมาณ)

   ตัวอย่างโครงการที่มีการซักถามและชี้แจงจนเป็นที่สนใจของสังคม เช่น วิทยาลัยการบินแห่งชาติ ที่รัฐให้งบประมาณอุดหนุนเป็นจำนวนมากเพื่อผลิตบุคลากรด้านการบิน ทั้งๆที่นักบินที่จบออกไปก็ได้รับเงินเดือนสูงมาก ขณะที่บริษัทการบินเอกชนหลายแห่งก็เปิดวิทยาลัยการบินอยู่แล้ว และในช่วงหลายปีหลังนี้วิทยาลัยการบินมีนักศึกษาไม่เต็มจำนวนรับ ทำให้งบประมาณอุดหนุนต่อหัวยิ่งสูงขึ้นไปอีก ผลสรุปการคัดกรองงานและงบประมาณโครงการนี้ คือ รัฐควรลดงบประมาณอุดหนุนการสร้างบุคลากรด้านการบิน

   อีกหนึ่งการซักถามเป็นเรื่องงบประมาณการวิจัยของสถาบันแห่งหนึ่ง ในส่วนของผู้ช่วย ที่พบว่ามีการจ้างภรรยาของนักวิจัยเป็นผู้ช่วยในตำแหน่งเลขาฯ มีเงินเดือนระดับที่ถือว่าไม่น้อยทีเดียว จึงมีการซักถามถึงกระบวนการคัดเลือกว่าเป็นการเปิดรับสมัครทั่วไปหรือนักวิจัยสามารถชี้ตัวได้เอง   ต่อคำถามนี้ผู้ชี้แจงตอบได้ไม่เต็มปากเต็มคำนัก การคัดกรองเรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในการตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารงาน เนื่องจากปัญหาการจ่ายเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญ ซ้ำซ้อนเป็นปัญหาสังคมใหญ่ประเด็นหนึ่งของญี่ปุ่นในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง

   อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าการคัดกรองนี้เป็นการเปิดเผยข้อมูลสู่ประชาชนโดยตรง โดยให้มีการชี้แจงและซักถามเกี่ยวกับโครงการกันสดๆ  ผลที่ได้จากการคัดกรองไม่ได้เป็นตัวตัดสินการจัดสรรงบประมาณ รัฐบาลก็ยังเป็นผู้เสนอร่างงบประมาณ และลงมติกันในรัฐสภาตามปกติ แต่อย่างน้อยประชาชนคนทั่วไปก็ได้รับทราบรายละเอียดโครงการต่างๆและงบประมาณที่ใช้ รวมทั้งได้รับฟังเหตุผลสนับสนุนและคัดค้าน เป็นการแสดงความโปร่งใสในการบริหารงบประมาณแผ่นดิน ที่ส่วนใหญ่ก็คือภาษีที่เก็บจากประชาชนนั่นเอง

   แน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงเสียงชื่นชม แต่ก็มีเสียงคัดค้านด้วยเช่นกัน ชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งเห็นว่าการคัดกรองงานและงบประมาณนี้เป็นเพียง “ละครฉากหนึ่ง” เพื่อหาความชอบธรรมว่าได้เปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนแล้ว แต่ถึงที่สุดในการจัดสรรงบประมาณรัฐบาลก็สามารถกำหนดให้เป็นไปตามต้องการได้ และการจี้งบประมาณรายโครงการแบบนี้ ดูเป็นความพยายามในการหั่นงบแบบเฉพาะหน้ามากกว่าจะพูดกันถึงแนวนโยบายในระยะยาว

   นอกจากนี้ยังมีการถามถึงความเหมาะสมของผู้คัดกรอง โดยเฉพาะประเด็นงบประมาณการวิจัยด้านเทคโนโลยีล้ำยุค ดังเช่นในการคัดกรองครั้งที่ 1 สว.สาว(สวย) หนึ่งในผู้คัดกรองเป็นผู้ซักถามโครงการพัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งบประมาณมหาศาล ผู้ชี้แจงงบประมาณกล่าวถึงการ .”เป็นที่หนึ่งในโลก”  แต่ สว.ท่านนี้แย้งเรียบๆว่า .”แล้วเป็นที่ 2 บ้างไม่ได้หรือ?” ทำให้นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลท่านหนึ่งถึงกับควันออกหู ว่าให้เด็กผู้หญิงที่ไม่รู้เรื่องอะไรมาทำหน้าที่นี้ อีกหน่อยประเทศญี่ปุ่นก็ไม่ต้องพัฒนาไปไหนอีกแล้ว  อย่างไรก็ตาม มีความเห็นต่างว่าการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ควรพึ่งพิงงบประมาณจากภาครัฐมากเกินไป

   แม้จะมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายในหลายประเด็น แต่โดยรวมแล้วระบบการคัดกรองนี้ได้รับการยอมรับในหลักการจากสื่อและประชาชนทั่วไปค่อนข้างมาก (จากการสำรวจหลังการคัดกรองครั้งที่ 1 ประชาชนกว่า 70% สนับสนุนให้มีการคัดกรอง)  แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเกิดจากความนิยม สว.สาวสวยที่ก้าวมาจากการเป็นผู้ประกาศข่าว เป็นดารา แต่เธอก็เป็นผู้คัดกรองที่ยิงคำถามได้อย่างเป็นตัวแทนประชาชนคนทั่วไป เป็นเหตุให้นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆต้องหัดพูดจาภาษามนุษย์ธรรมดาให้เข้าใจกันได้ มิเช่นนั้นก็ยากที่จะได้รับการยอมรับจากสังคม

   เลขาฯได้เห็นบรรยากาศสังคมญี่ปุ่นในช่วงของการคัดกรองงานและงบประมาณแล้วก็ติดใจ แม้ว่าคงจะต้องมีการปรับปรุงวิธีการและรายละเอียดอีกมาก ถ้าเมืองไทยเรามีระบบทำนองนี้บ้างก็น่าจะช่วยให้ประชาชนเกิดความสนใจการเมืองการปกครองในระบบ ทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นเป็นพลังกดดันรัฐบาลทางอ้อมโดยไม่ต้องปลุกมวลชนมาปะทะกันแบบตาต่อตาฟันต่อฟันเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

  

แหล่งค้นคว้าภาษาญี่ปุ่น

1. Japan Initiative (NPO)  http://www.kosonippon.org

 2. Wikipedia  http://ja.wikipedia.org/wiki/事業仕分け_(行政刷新会議)

3. 時事ドットコム http://www.jiji.com

 

หมายเลขบันทึก: 355697เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2010 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท