แผนสร้างเสริมสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน


แนวคิดใหม่นี้จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนกับนัก พัฒนาและนักวิชาการไปมากทีเดียว

แผนสร้างเสริมสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน

            วันที่ ๒๕ มิย. ๔๙ เป็นวันอาทิตย์ แต่ผมต้องไปร่วมประชุมปฏิบัติการของ สสส. คณะที่ ๓ เพื่อปรับปรุงแผนสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน และพื้นที่ ประจำปี ๒๕๕๐ - ๒๕๕๒ ผมเป็นรองประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ ๓ นี้ โดยมีคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมเป็นประธาน คน ที่มาประชุมส่วนใหญ่ (๙๐%) เป็นภาคีในพื้นที่ มีหลายคนสวมหมวกหลายใบ คือเข้ามาเป็นกรรมการของ สสส. ด้วย

            ที่จริงการประชุมนี้มี ๒ วัน คือวันที่ ๒๕ - ๒๖ มิย. แต่ผมร่วมประชุมได้วันเดียวเพราะวันจันทร์ผมไปดูงาน KM ที่ปูนซีเมนต์ไทยแก่งคอย และเอาเข้าจริงผมก็หนีกลับตั้งแต่บ่ายสามโมง ผมกำลังหัดออมแรง เพราะหมู่นี้ผมขายดีเกิน มีคนมาชวนไปทำโน่นทำนี่เพิ่มขึ้นมาก อย่าง วันนี้คุณสุนิตย์ก็มาชวนไปเป็น steering committee โครงการร่วมมือกับราชบัณฑิตในโครงการวิกิพีเดียเพื่อการเรียนรู้ของเยาวชน เชื่อมกับ โครงการสารานุกรมเพื่อเยาวชน ถือเป็นปิติสุขที่เวลาคนเขาจะทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม เขานึกถึงเรา แต่ไม่ว่าอะไร ถ้าเกินพอดี มันก็ตั้งอยู่ ไม่ได้นะครับ ผมจึงต้องมีสติ รู้จักประมาณตัว

             ผมกระซิบกับ อ. ไพบูลย์ ว่าในความเห็นของผม ยุทธศาสตร์สำคัญของการสร้างเสริมสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน คือการทำให้กลไก และ ทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน หันมาเอาใจใส่ และสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ สสส. ต้องไม่สื่อผิด ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าใครจะส่ง เสริมสุขภาพในชุมชนให้มาขอเงินที่ สสส.   จริงๆ แล้วเวลานี้ในชุมชนไม่ได้ขาดเงิน แต่ขาดการจัดการมากกว่า

              การสร้างเสริมสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน ต้องดำเนินการโดยชุมชน และทรัพยากรที่ใช้ส่วนใหญ่ควรมาจากชุมชน ไม่ใช่เน้นที่ทุนจาก สสส.    ทรัพยากรส่วนที่เป็นเงินส่วนใหญ่ควรมาจาก อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)

              คุณไพบูลย์กล่าวนำว่ากิจกรรมของฝ่ายต่างๆ ที่ไปลงพื้นที่ต้องบูรณาการหรือประสานเข้าด้วยกัน โดยกลไกประสานหรือบูรณาการในพื้นที่ โดยในการทำงานยึดหลัก ๔ ประการที่พระราชทานโดยในหลวงเมื่อวันที่ ๙ มิย. ซึ่งก็คือ สาราณียธรรม หรือธรรมะเพื่อความสามัคคีนั่นเอง แนวทางอื่นๆ ที่ควรยึดถือคือ GNH และเศรษฐกิจพอเพียง

           คุณปิยะ พวงสำลี ผู้ประสานงานโครงการชุมชนเป็นสุขภาคตะวันตก มีความเห็นว่า หัวใจคือ ศูนย์เรียนรู้ของชุมชน ที่ดำเนินการโดย แกนนำชาวบ้าน ได้รับการสนับสนุนจาก อปท. และเชื่อมโยงกับผู้ว่าฯ

           นพ. บัญชา พงษ์พานิช ผู้ประสานงานชุมชนเป็นสุขภาคใต้ มีความเห็นว่าหน่วยชุมชน น่าจะเป็นหน่วยตำบล

           ผศ. พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้ประสานงาน สวรส. ภาคใต้ เล่าว่า ทีม "ช่างเชื่อม" ประจำจังหวัด สงขลา ไม่เดิน  มาเดินเมื่อชักชวนกันทำแผนสุขภาพจังหวัด ลงขันกันหลายฝ่าย เป็นเจ้าของร่วม   ในพื้นที่มีความขัดแย้งกันอยู่ การจัดเวทีคุยเรื่องสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จนเกิด ความไว้วางใจกัน เป็นกลไกสำคัญ

           คุณณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ ผอ. สำนัก ๓ ย้ำว่า เรื่องสุขภาวะไม่ใช่จำกัดแค่ สสส. เป็นเรื่องของทุกฝ่าย ต้องการการหลอมรวมทำร่วมกัน ไม่ใช่ทำเดี่ยวๆ เป็นรายโครงการ

          คุณสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ มีความเห็นว่า ต้องเชื่อว่าในทุกชุมชน ทุกองค์กร ทุกที่ มีคนดีอยู่เสมอ เป้าหมาย หรือจุดสำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ การที่ราชการ วิชาการ ฟังชาวบ้าน การที่มีภาษา ที่ฟังกันรู้เรื่องโดยหลายฝ่าย

           ผมมองว่ากลไกที่ต้องการ คือ หน่วยจัดการเครือข่ายในพื้นที่ ทำกิจกรรม ลปรร. ระหว่างภาคีหลายฝ่ายในพื้นที่ เรียนรู้จากความสำเร็จของ แต่ละฝ่าย

           ภาคี สส.ไม่ใช่ภาคี สสส. ต้องมองภาคี ว่าเป็นภาคีสร้างเสริมสุขภาพ ไม่ใช่ภาคีของ สสส. 

          ต้องการช่างเชื่อมภายใน ทำให้ชาวบ้านเชื่อมกันติด ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ในหลายกรณี ชาวบ้านในพื้นที่เชื่อมกันไม่ติด เพราะมีปัจจัยภาย นอกเข้าไปแบ่งแยก เพื่อผลประโยชน์ของเขา

          สุขภาวะคือการจัดการตนเองได้ พึ่งตนเองได้

          สสส. ต้องทำความชัดเจนต่อประชาคมว่า คุณค่าของ สสส คืออะไรเป็นตัวหลัก เงิน หรือการจัดการ เวลาคนนึกถึง สสส. เขานึกถึงเงิน หรือนึกถึงการจัดการ

          ผมชอบศึกษาวิธีการจัดการประชุม ว่าวิธีการแบบใดได้ผลดี แบบใดไม่ค่อยดี     ผมมองว่าโจทย์ในการประชุมกลุ่มคราวนี้ไม่ค่อยดี เพราะเป็นการชวนให้เขาคิดให้ สสส. ว่า สสส. สำนัก ๓ ควรปรับแผนอย่างไร     ผมบอกตัวเองว่าถ้าผมเป็นคนตั้งโจทย์ ผมจะตั้งโจทย์ว่า ถ้า สสส. จะหนุนกลไก "ช่างเชื่อม" ในพื้นที่ ภาคีจะปรับวิธีทำงานของเขา ปรับแผนของเขา อย่างไร     ผมมองว่าคนเราจะสนุกและคล่องใจ ถ้าเขา คิดใหัตัวเอง ไม่ใช่คิดให้ผู้อื่น    และถ้าใช้โจทย์แบบที่ผมคิด ภาคีก็จะได้คิดไปถึงแนวปฏิบัติในบทบาทใหม่ เป็นการใช้การประชุมซักซ้อมบทบาท ใหม่ของภาคีในพื้นที่    ไม่ทราบว่าแนวคิดของผมถูกหรือผิด

          อ. ไพบูลย์ เขียนผังความคิดให้ผมดูว่า สสส. สำนัก ๓ น่าจะประกาศรับข้อเสนอโครงการ "ช่างเชื่อม" ในท้องถิ่น เชื่อมชุมชนระดับ ตำบลที่มีกลไก/กิจกรรม เพื่อสุขภาวะหลากหลายด้าน จำนวน ๖ - ๘ ตำบล (รวมเทศบาล) การเชื่อมโยงทำกิจกรรม networking และจัดการ ความรู้ เอาเรื่องราวของความสำเร็จมา ลปรร. กัน เป็น ๑ วง    ให้ภายในวงเขาไปจ้าง "คุณอำนวย" มาจัดกระบวนการ ลปรร. กันเองด้วยทุนสนับ สนุนที่ สสส. ให้      แล้วมีการเชื่อมหลายๆ วงเข้าด้วยกันโดยเครือข่ายการจัดการความรู้ซ้อนเข้าไปอีก     ผมให้ความเห็นต่อ อ. ไพบูลย์ว่า นอกจากนั้น ควรมีการวิจัยเชิงสังคมศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ภายในตำบล และภายในเครือ ข่าย เพื่อให้คนในชุมชนได้เข้าใจลึกขึ้นจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ว่าการที่จะเกิดสุขภาวะในชุมชนต้องการปัจจัยอะไรบ้าง    อ. ไพบูลย์บอกว่าก็ให้ เขาใช้เงินทุนของ สสส. นั่นแหละไปจ้างนักวิจัยมาทำ   น่าสนใจนะครับ    แนวคิดใหม่นี้จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนกับนัก พัฒนาและนักวิชาการไปมากทีเดียว

วิจารณ์ พานิช

๒๕ มิย. ๔๙



ความเห็น (2)
ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นนะครับ คือจากประสบการณ์ที่ผมเป็นนักวิชาการบ้านนอก คือ ผมลองศึกษาแล้วก็วิเคราะห์ผลจากนโยบายต่าง ๆ ที่ลงมาจากข้างบนแล้ว ผลออกมาว่า ทุกอย่างที่เป็นวิสัยทัศน์จากข้างบนส่วนใหญ่ค่อนข้างดีครับ 80-90% แต่ปัญหาตอนนี้อยู่ที่คนข้างล่างครับ คนที่ปฏิบัติโดยตรง ไม่ใช่ว่าเขาทำไม่เป็นนะครับ แต่เขาไม่ค่อยมีใจรักที่จะทำงานกันอย่างจริงจัง ทำให้วิสัยทัศน์ดี ๆ ที่มีมาจากข้างบนถูกแปรเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อลงมาถึงผู้ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติงานส่วนหน้า (Front Line) ที่ทำงานสัมผัสกับประชาชนในปัจจุบันแปรเปลี่ยนไปมากครับ อาจจะด้วยผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทุนนิยมก็ดี หรือภาวะเศรษฐกิจก็ดี ทำให้ทำเขางานอย่างไม่มีใจ ทำงานกินเงินเดือนไปวัน ๆ หรือพวกที่ทำโครงการขึ้นไปเสนอของบประมาณจากหน่วยงานต่าง ๆ ก็ทำเพื่อรายได้ซะมากครับ ยิ่งเป็นโครงการที่ทำงานกับชุมชนด้วยแล้ว ถ้าไม่รักและไม่มีเวลากับชุมชนจริง ๆ จะทำให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดีครับ ฝากคุณหมอช่วยสร้างคนเยอะ ๆ นะครับ เพราะคุณหมอมีโอกาสได้ไปพบปะ เสวนากับผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่าน ได้มีโอกาสได้บรรยายกับข้าราชการบุคลากรเกือบทุกวันครับ ฝากสร้างใจเขาแทนผมด้วยนะครับ ผมเห็นสภาพที่เกิดขึ้นข้างล่างแล้วได้แต่เห็นน่ะครับ แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้พูดครับ ฝากคุณหมอด้วยนะครับ

ยินดีครับ     และอยากให้ อ. ปภังกร ช่วยสะท้อนภาพจากท้องถิ่นอย่างที่ทำนี้   จะช่วยให้ผมเข้าใจได้ดีขึ้น    ผมไปชุมชนบ่อยแต่อยู่เดี๋ยวเดียว ไม่รู้จริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท