ชุมชนคนขายขยะ


ชุมชนแออัด ซาเล้ง ขยะ

ชุมชนคนขายขยะ

                ถนนสายรัชดาภิเษกในกรุงเทพมหานคร  นับเป็นถนนสายเศรษฐกิจสายหนึ่งที่มีบริษัทห้างร้านและธุรกิจบันเทิงเปิดเต็มสองข้างถนน  จึงไม่แปลกตั้งแต่เช้าจรดค่ำในวันทำงาน รถราจะติดแน่นขนัด ส่วนในยามราตรีสองข้างทางจะเต็มไปด้วยแสงสีจากป้ายโฆษณาขนาดใหญ่เชิญชวนนักเที่ยวทั้งหลายให้เดินทางไปหาความสุข

               แต่จะมีสักกี่คนที่ล่วงรู้ถึงความจริงส่วนหนึ่งว่า  ด้านหลังฝั่งหนึ่งของถนนสายนี้คือด้านหลังมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม  จะมีเพิงพักจำนวนมากปลูกอาศัยกันมานานหลายสิบปีจนกลายเป็นแหล่งสลัมใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ  ย่านนี้จึงแออัดด้วยผู้คนหาเช้ากินค่ำ โดยเฉพาะอาชีพที่ทำกันแทบทุกครอบครัวคือ “หาเก็บหาซื้อของทิ้ง (ขยะ)ขาย”

               อดีตกว่าสิบปีมาแล้วที่ผมเคยตระเวณดูแลช่วยเหลือเด็กในชุมชนแห่งนี้ เมื่อมีเวลาเข้าไปเยี่ยมเยียนอีกครั้ง จึงเห็นพัฒนาการที่ชัดเจนอย่างน้อย 2 เรื่องคือ หนึ่ง...อาชีพใช้แรงจากสองขาถีบรถซาเล้งเร่หาขยะไปตามที่ต่างๆ ละแวกใกล้เคียง  มาสู่การมีซาเล้งติดเครื่องเร่งไปหาขยะในที่ห่างไกลได้   สอง...เกิดอาชีพพ่อค้าคนกลางรับซื้อและขายขยะขึ้นมากมายในชุมชนนั้น 

               รูปธรรมที่ชัดเจนคือเมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมา  ผมได้ติดตาม “ครูชุมชน”ของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เข้าไปเยี่ยมเยียนเด็กกลุ่มหนึ่งที่มูลนิธิฯให้การดูแลอยู่  พร้อมทั้งมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับชาวชุมชนจำนวนมาก  ทำให้รับรู้ถึงพัฒนาการเหล่านั้น คือ

               รถซาเล้งติดเครื่อง  มาจากการกู้เงินซื้อไว้ใช้เอง มีทั้งของใหม่และซื้อต่อมือสอง  แต่ที่มีมากคือเจ้าของโรงงานรับซื้อขยะ  จัดหาให้ผู้เก็บขยะใช้ในลักษณะเช่าซื้อด้วยเงื่อนไขสองประการคือผ่อนส่งค่ารถซาเล้งและต้องเอาขยะที่หามาได้มาส่งที่โรงงานนี้เท่านั้น  จึงไม่แปลกที่ชุมชนแห่งนี้จะเห็นซาเล้งขับขี่ขวักไขว่ไปมา  ประมาณกันว่าในชุมชนมีไม่น้อยกว่า 1,000 คัน

               โรงงานรับซื้อขยะ  จากการบอกเล่าของผู้นำชุมชนและตระเวนดู ทำให้ทราบว่าในชุมชนมีโรงงานรับซื้อขยะเกือบ 20 โรงงาน แต่ละโรงงานมีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 150 ตารางวา  เมื่อไปเยี่ยมดูที่โรงงาน ทำให้เห็นขยะมากมายที่รับซื้อไว้ แยกเป็นเศษเหล็ก  สังกะสี กระดาษ  พลาสติค ขวด  กระป๋อง  ไม้  ฯลฯ  ที่แต่ละโรงงานจะมีรถหกล้อ สิบล้อจอดรอเพื่อขนไปส่งยังโรงงานขนาดใหญ่อีกที

                แหล่งรับซื้อของเก่า  มีผู้คนจากภายนอกชุมชนและคนในชุมชนที่มีหัวในทางค้าขาย เปิดร้านรับซื้อของเก่าบางส่วน เช่นขวดสวยๆ แจกัน  เฟอร์นิเจอร์โต๊ะเตียงเก้าอี้  โทรทัศน์ วิทยุ รถจักรยาน พัดลม ฯลฯ  นำมาแก้ไข ซ่อมแซมหรือวางขาย  โดยจะมีผู้คนจำนวนไม่น้อยเข้ามาหาซื้อไปใช้หรือนำไปขายต่ออีกที

                กระนั้นก็ตาม  มีปรากฎการณ์ที่น่าห่วงใยอยู่ไม่น้อยเช่นกัน คือ “สภาพของเด็กๆ”ที่นั่น ที่ยังถูกปล่อยปละละเลย  ไม่ได้รับการดูแลที่ปลอดภัยเพียงพอโดยครอบครัวพาตระเวณขึ้นรถซาเล้งเร่ไปตามที่ต่างๆ  ทั้งต้องตากแดดตากลมตากฝนและอันตรายจากการขับขี่ไปตามถนนหนทาง  อีกทั้งยังขาดโอกาสได้รับการศึกษาเป็นจำนวนมาก

                ผมจึงได้หารือกับ “ครูชุมชน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก” ให้เคลื่อนที่ลงมาในชุมชนเหล่านี้ด้วย เพื่อทำงานช่วยให้เด็กๆ ได้เข้าโรงเรียนให้มากที่สุด  ซึ่งครูชุมชนได้รับปากและเร่งลงทำงานทันที ซึ่งเชื่อว่าเปิดเทอมนี้จะมีเด็กๆ จากชุมชนได้เข้าเรียนเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

หมายเลขบันทึก: 355570เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2010 15:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาเยี่ยมแล้วค่ะ และเอางานของนักศึกษาที่เขียนถึงพี่มาให้อ่านด้วย http://learners.in.th/blog/thann/366222

คลิกที่ link เลยค่ะ มีรูปการประชุมด้วยค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท