วารสารโรงเรียนวิถีพุทธ


วารสาร

วารสารโรงเรียนวิถีพุทธ : รู้ตื่นและเบิกบาน

         สถาบันอาศรศิลป์ ร่วมกับ สำนักนวัตกรรมการการจัดการศึกษา สำนักงาน
คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เชิญศึกษานิเทศก์ ผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ และบุคลากรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานวารสารในทุกเขตพื้นที่ไปประชุม เพื่อสร้างองค์ความรู้ ให้แนวทางในการผลิต ตรวจสอบ ประเมิน และคัดเลือกบทความที่เกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่เป็นแบบอย่าง เป็นเลิศในด้านวิถีพุทธ  ทั้งนี้เพื่อยกย่อง ชื่นชม เผยแพร่และประชาสัมพันธ์  เมื่อวันที่                       ที่โรงแรม                จังหวัดพิษณุโลก
         สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต ๓  ได้ประชาสัมพันธ์ และแจ้งโรงเรียนให้ส่งบทความ ๒ ช่วง คือ เดือนมีนาคม และเดือน เมษายน ๒๕๕๓  เพื่อให้ สพท.คัดเลือกแล้วส่งให้ สพฐ. (สถาบันอาศรศิลป์) ฉบับแรกภายในวันที่ ๓๐ มีนาคม ฉบับที่ ๒ ภายในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๓  โดยทั้ง ๒ ครั้ง สพท.ได้คัดเลือกบทความส่งไปแล้ว
         บทความที่ว่านั้น ได้นำมาเสนอให้ท่านได้ทัศนาต่อไปนี้  มีข้อเสนอแนะดีๆ ก็บอกมาด้วย  เชิญครับ

 

 “ครูคำสิงห์  นิ่งและ เบิกบาน”

“คำว่า ครูรู้ว่าหนักแต่หนักแน่น

เหมือนไม้แก่นแน่นเหนียวไม่เหี่ยวหด

ดั่งครูสอนสั่งศิษย์ไม่ผิดปด

ดั่งคำพจน์ให้ศิษย์ดีมีหลักเกณฑ์

บริหารงานน่าดู ครูคำสิงห์                 

ยึดมั่นจริงยิ่งพระพุทธเป็นจุดเน้น

เฝ้าสอนสั่งหวังให้ศิษย์คิดอ่านเป็น                   

ตรงประเด็นคุณธรรมนำความรู้”

 ครูคำ สิงห์  บุญศรัทธา คณะครูและคณะกรรมการสถานศึกษาที่ร่วมสร้างสรรค์โรงเรียนคุณธรรมชั้นนำ

ครูคำสิงห์  บุญศรัทธา   เป็นผู้บริหารโรงเรียนบ้านเค็ง   ตำบลจะกง   อำเภอขุขันธ์   สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษเขต   ๓ 

เคยผ่านการอบรมคุณธรรมและโรงเรียนวิถีพุทธจากสำนักต่างๆมามากมาย  เป็นต้นว่า วัดชล ประทานรังสฤษฏ์ จังหวัดนนทบุรี  วัดธรรมกาย  จังหวัดปทุมธานี  เสถียรธรรมสถาน  กรุงเทพมหานคร  วัดผาพยอม  จังหวัดมุกดาหาร  วัดเขาศาลา  จังหวัดสุรินทร์  และหน่วย งานสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ทำให้เกิดหลักแนวคิดและหลักปฏิบัติพร้อมสามารถนำประยุกต์ปรับใช้ใน การจัดการเรียนการสอนอบรมนักเรียนของโรงเรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ที่ว่า “เด็กดี  มีความรู้คู่คุณธรรม ดำรงตนอย่างมีคุณค่า”  พร้อมได้รับการยอมรับและได้รับเลือกเป็นโรงเรียนแกนนำวิถีพุทธ โรงเรียนคุณธรรมชั้นนำของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษเขต ๓  และได้รับโรงเรียนแบบอย่างแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของกระทรวงศึกษาธิการ

ครูคำสิงห์  บุญศรัทธา  เป็น ผู้มีบุคลิกภาพและคุณลักษณะที่ว่า “กายทะมัดทะแมง  วาจาแสดงสุนทรียะ  จิตตะอ่อนโยน”   ครูทุกคนที่ร่วมงานด้วยต่างทราบดีว่า ครูคำสิงห์  “เป็นคนนิ่งและ เบิกบาน”  คำว่านิ่งคือ  นิ่งในการทำงานให้สำเร็จละเอียดทุกขั้นตอน  คำว่าเบิกบาน  คือ  เบิกบานในการทำงาน ครูคำสิงห์จะเบิกบานทุก ครั้งเมื่อได้ทำงานเพื่อปลูกฝังให้ลูกศิษย์เป็นคนดีของสังคม   และ ยึดมั่นหลักในการทำงาน ๑๒ หลัก  คือ  ปฏิบัติหน้าที่ อย่างเคร่งครัด  จัดทำแผนการเรียนรู้  บูชาเทิดทูนสถาบัน  คิดสร้างสรรค์เพื่อเด็ก ไทย  ยิ้มแย้มแจ่มใสเบิกบาน  ร่วม กันทำงานเป็นทีม  เป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ที่ดี  รู้จักสามัคคี  บริการด้วยไมตรี ดั่งญาติมิตร รักลูกศิษย์เหมือนลูกหลาน  ทำงานด้วย ความเสียสละ   ยึดมั่นธรรมะ ดำรงตน  

สวดมนต์ เจริญ สมาธิ สร้างปัญญา                                                   

ครูคำสิงห์  บุญ ศรัทธา และมีหลักแนวคิดที่ถือปฏิบัติไม่เหมือนใคร กล่าวคือ “ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน”  จึงทำความดี ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับครู  นักเรียน   ได้ถือเป็นตัวอย่างในการทำงานที่ดี  ทำ ให้เป็นที่รักเคารพ ศรัทธา  ของนักเรียน และครูตลอดมา  ตลอดจนเป็นที่ศรัทธาของผู้ปกครองและ ประชาชนที่ได้ปฏิสัมพันธ์ด้วย ดั่งนามสกุลของคุณครูท่านนี้

 โรงเรียนบ้านเค็ง  เป็นโรงเรียนที่จัดอยู่ในขนาดกลาง บางคนอาจไม่ทราบว่าโรงเรียนบ้านเค็งตั้งอยู่แห่งหนตำบลใด  ซึ่ง ตั้งอยู่ในดินแดนทุรกันดารห่างไกลความเจริญ  การเดิน ทางคมนาคมไม่สะดวกทุกฤดูกาล  การประกอบอาชีพของ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นการทำนาปลูกข้าว  ชาวบ้านส่วน ใหญ่เป็นชาวกวยหรือชาวกูย(ส่วย)มีฐานะยากจน โรงเรียนตั้งอยู่กลางทุ่งนาไกลจากชุมชนเฉลี่ยประมาณ ๑ กิโลเมตรเป็นอย่างน้อย 

การปฏิสัมพันธ์ของโรงเรียนกับชุมชนเป็นงานที่ยากลำบาก  แต่ประชาชนก็ยึดมั่นหลักของพระพุทธศาสนาในการดำรงชีวิต  ท่ามกลางสภาพดังกล่าว  ครูคำ สิงห์  บุญศรัทธา  ได้ผลิกวิกฤตมาเป็นโอกาส  โดยการ พัฒนาให้โรงเรียนเป็นฐาน ชุมชนได้มีส่วนร่วมเป็น เครือข่ายในการบริหารสถานศึกษาโรงเรียนบ้านเค็ง  ตามหลักแนวคิดที่ว่า  “โรงเรียนเป็นของชุมชน”  เพื่อมุ่งเป้าให้เป็นดังคำขวัญของ โรงเรียนบ้านเค็งที่ ว่า “ศึกษาดี  มีวินัย  ใฝ่พัฒนา  มุ่งสัมมาชีพ”

            ครูคำสิงห์  บุญ ศรัทธา  บริหารจัดการโรงเรียนโดยมีนักเรียนและประชาชนเป็นเป้าหมาย  นิเทศติดตามและบอกย้ำกับครูว่า การดูแลเด็กจึงเน้นที่ว่า สอนให้รู้  ทำให้ดู  อยู่ให้ เห็น  และคำพูดจะได้ยินเสมอคือ  “การศึกษานำพาชีวิตและงาน  ลูก ของท่านคือลูกศิษย์ของเรา ”   ครูคำสิงห์  บุญศรัทธา  จึงมีผลงานด้านการ บริหารจัดการ  การนิเทศติดตามและการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  ที่ เป็นรูปธรรมมากมายดังคำกลอนที่ว่า

 “ชื่อโรงเรียนบ้านเค็งเล็งพอเพียง         สอนคู่เคียงวิถีพุทธจุดเน้นหนัก

ปลูกฝังศิษย์จิตอาสามาเป็นหลัก          เอกลักษณ์นักเรียนเพียรการงาน

ครูเป็นพิมพ์ยิ้มง่ายทักทายศิษย์           เป็น เหมือนมิตรชิดเชื้อเพื่อลูกหลาน

ครูคำสิงห์เน้นจริงจังดั่งจัดการ           บริหารแม่พิมพ์ดีมีศิษย์เก่ง

ครูคำสิงห์คนจริงจัง ดั่งราชสีห์             มุ่งสิ่งดีมีกำลังพลังเร่ง

สอนเด็กเป็นเน้นศูนย์กลางพลางรู้เอง                ศิษย์บ้านเค็งเก่งดีมีสุขเอย”

 

 
   

 

 

 

 

วารสารโรงเรียนบ้านเค็ง  ตำบลจะกง  อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ

วัตถุประสงค์

เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมของโรงเรียนและเผยแพร่ตัวอย่างของบุคคลในโรงเรียนบ้านเค็ง

ที่ปรึกษา   นายคำสิงห์  บุญศรัทธา  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเค็ง

ผู้เรียงร้อยและลำดับภาพ   นายพินิจ    คำดำ  ครูโรงเรียนบ้านเค็ง

โทรศัพท์  ๐๔๕ – ๖๖๓๐๖๖, ๐๘๗ - ๒๓๗๙๒๔๔

พลังแห่งธรรม 

              นางสาวเยาวนาฏ   แสงมาศ     เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม  พ. ศ. 2529 ตรงกับวัน พุธ  ปีขาล   รวมอายุ  23ปี 3 เดือนจบการศึกษาชั้นประถมปีที่  6 โรงเรียนบ้านตูมจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่   6   โรงเรียนตูมพิทยาปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนตูมพิทยานุสรณจบปริญญาตรี  เอกพุทธศาสตร์  สาขา ศาสนาและปรัชญาจากมหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย  ในพระสังฆราชูปถัมภ์มหาวิทยาลัยมหามงกุฏราชวิทยาลัย

            นางสาวเยาวนาฎ   แสงมาศ   เป็นนักเรียนศิษย์เก่า โรงเรียนตูมพิทยานุสรณ์  เมื่อหลังจากที่ศึกษาเล่าเรียนจบแล้ว ได้นำวิชาความรู้จากพระครู และอาจารย์ทั้งหลาย  มามอบวิชาความรู้ให้กับนักเรียน และเด็กทั้งที่โรงเรียนและเขตชุมชน พร้อมทั้งเป็นวิทยากร และพี่เลี้ยงให้กับเด็กเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการบวชบรรพชาอุปสมบทสามเณร และศีลจาริณีน้อย   เพราะนางสาวเยาวนาฏ ต้องการที่จะอบรมปลูกฝังเด็กเหล่านี้ให้เป็นเด็กดี มีคุณธรรม จริยธรรม พร้อมทั้ง สติ และปัญญาย่อมเกิดขึ้นกับนักเรียน   ดังนั้นทางโรงเรียนตูมพิยานุสรณ์ จึงมีหลักการแนวความคิดที่เกี่ยวกับการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนวิถีพุทธต้นแบบอย่าง โดยการยึดหลักที่ดำรงตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งหลักธรรมทั้งหมดนั้น  มี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์  มีมากเกินที่จะนำมาปฎิบัติตามทั้งหมด   จึงนำหลักธรรมที่เหมาะสมกับบุคคล เช่น  พละ ๕  อินทรีย์  ๕  พรหมวิหาร  ๔  เป็นต้น    คือ

 องค์ธรรม ทั้งสาม ข้างต้น  หน่วยงาน หรือ องค์กร ใดก็ตาม   สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตในหน้าที่การงาน   นางสาวเยาวนาฎ  มีอุดมการณ์ในตั้งใจที่การกระทำคือ  พัฒนาเด็กให้มีคุณธรรมจริยธรรม เชิดชูนำความรู้ควบคู่เยาวชน พัฒนาตนให้ดีมีคุณภาพด้วยศีลธรรม   

ปัจจุบัน นางสาวเยาวนาฏ  แสงมาศ เป็นบุคคลหนึ่งในร้อยที่ได้กลับที่โรงเรียนเดิมของตนได้มายืนอยู่ข้างนักเรียน  ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง   เนื่องด้วยทางโรงเรียนตูมพิทยานุสรณ์   และคณะครูอาจารย์ที่เปิดโอกาสให้กับ นักเรียนศิษย์เก่า ได้มาช่วยกันพัฒนา โรงเรียน และนักเรียนให้มีศักยภาพที่มั่นคงทั้งภายใน และภายนอก

 ฉะนั้นแล้ว โรงเรียนตูมวิทยานุสรณ์ มีวิธีการสอนโดยยึดหลักคุณธรรมพรหมวิหาร ๔  เมตตา  กรุณา มุทิตา   อุเบกขา  ครูเป็นต้นแบบแห่งความรัก  ความเมตตาที่ให้กับนักเรียนโดยไม่หวังผลตอบแทนสอนให้นักเรียนรู้จักการแบ่งปัน  การให้อภัย  และให้ความรัก  ด้วยจิตบริสุทธิ์   และการอบรมคุณธรรม   ความประพฤติ  มารยาท  วินัยและความรู้ให้แก่นักเรียน  โดยผ่านศิลปะ  วาดรูป  และวัฒนธรรม  เช่น เล่นกีฬา   การจัดดอกไม้  การปลูกผัก   นำนักเรียนเข้าวัดให้พระอบรม เพื่อทำจิตใจให้สงบ  

การศึกษากับเด็กเยาวชน  บุคลากรของโรงเรียนช่วยกันสังเกตอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับนักเรียน เช่นนักเรียนที่ขาดเรียนบ่อย  หรือนักเรียนที่ไม่อยากมาเรียนโรงเรียนมีวิธีการที่จะนำพานักเรียนเหล่านั้น มาเข้าค่ายร่วมกิจกรรมที่สนุกเพลิดเพลินไปกับความรู้  และทางโรงเรียนมีโครงการที่ให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับจิตอาสา ซึ่งโรงเรียนต้องการที่จะพัฒนาผู้เรียนให้คุณธรรม จริยธรรม   โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การสร้าง “คน” ให้เป็น “มนุษย์” คือผู้มีจิตใจสูง ไม่ใช่มุ่งสอนคนให้มีแต่ความเก่งเพื่อไขว่คว้าหาโอกาสที่เหนือคนอื่น

      ดังนั้น การจัดการศึกษาภายในโรงเรียนตูมพิทยานุสรณ์ ได้นำเอารูปแบบของการศึกษาวิถีพุทธนำเอาหลักธรรมพระพุทธศาสนามาใช้หรือประยุกต์ใช้ในการบริหาร และการพัฒนาผู้เรียนโดยรวมของสถานศึกษา มีจุดเน้นใช้หลัก”ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา พัฒนาผู้เรียนผ่าน “ ใช้ อยู่ ดู ฟัง ” ให้เป็น คือปัญญารู้เข้าใจคุณค่าแท้ ใช้กระบวนการทางวัฒนธรรมแสวงหาปัญญา และมีวัฒนธรรมเมตตาเป็นการดำเนินชีวิต โดยมีผู้บริหารและคณะครูเป็นกัลยาณมิตร  โดยเน้นการจัดสภาพทุกๆด้าน เพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนพัฒนาตามหลักพุทธธรรมอย่างบูรณาการ

 ด้วยพลังแห่งศรัทธา   ได้ศึกษาวิชาการพุทธปรัชญากาล      ในตำนานพระศาสนานำมาซึ่งหน้าที่    เป็นสิ่งดีให้กับสังคมธรรมะพัฒนาตน         ในชุมชนบ้านเกิดเอ๋ย       

                   

ผู้นำทาง

ว่าครูคือบุคคลที่ทรงค่า 

สร้างปัญญาสร้างสังคมอุดมสาร

สร้างเด็กไทยได้เรียนรู้วิชาการ

สร้างลูกหลานสู่คุณธรรมสำนึกดี

            ผอ.สมบูรณ์  อินทร์ดา  เป็นผู้บริหารโรงเรียนบ้านโคกสูง  ตำบลกันทรารมย์  อำเภอขุขันธ์  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต ๓   นักพัฒนาผู้ซึ่งไม่เคยย่อท้อต่อความอยากลำบาก  บริหารจัดการโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนวิถีพุทธ โดยจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ  เป็นต้นว่า  โครงการเข้าวัดฟังธรรมทุกวันพระ  สามารถกระตุ้นให้นักเรียน  มีคุณธรรม  จริยธรรม  เกิดจิตสำนึกที่ดีและเป็นแบบอย่างให้แก่โรงเรียนข้างเคียงได้

            ผอ.สมบูรณ์  อินทร์ดา  เป็นผู้บริหารโรงเรียนที่มีบุคลิกลักษณะที่ว่า  “แต่งกายเรียบร้อย  ถ้อยคำปราศรัย  น้ำใจล้ำเลิศ  ประเสริฐด้วยคุณธรรม ”  มีแนวคิดที่ทำให้ทุกคนเชื่อมั่น  ศรัทธา  ปฏิบัติตามโดยไม่มีใครกล้าปฏิเสธ  จึงถือได้ว่า  “ผู้นำทาง”  ท่านนี้  เป็นที่รักของ  นักเรียน  ครู  ผู้ปกครอง และบุคคลทั่วไป

            โรงเรียนบ้านโคกสูง  เป็นโรงเรียนขนาดกลางที่อยู่ใจกลางของสองหมู่บ้าน  คือบ้านโคกสูง  และบ้านศรีอุดม    ประชาชนส่วนใหญ่พูดภาษาถิ่นเขมร  มีฐานะยากจนแต่ชอบ  ทำบุญ  เข้าวัดฟังธรรม  จากสภาพดังกล่าว  ผอ.สมบูรณ์  อินทร์ดา  จึงใช้จุดเด่นเหล่านี้มาพัฒนา  ปลูกฝัง  และเสริมสร้างให้  นักเรียน  ครู  ผู้ปกครอง  และบุคคลทั่วไป  ได้ตระหนัก  เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา

            จะเห็นได้ว่า  ผอ.สมบูรณ์  อินทร์ดา  บริหารจัดการโรงเรียนเป็นแบบอย่างที่ดี  ได้มีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนทำความดีอย่างสม่ำเสมอ  อาทิ  โครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน กิจกรรมยิ้มไหว้ทักทายกัน  กิจกรรมทำความสะอาดบริเวณโรงเรียน  และกิจกรรมสวดมนต์ทุกเย็นวันศุกร์  กิจกรรมเหล่านี้สามารถสร้างความชัดเจนได้ว่า  ผอ.สมบูรณ์  อินทร์ดา  เป็นผู้นำทาง  นักพัฒนา  ที่มีแนวปฏิบัติยึดหลัก   “ค่าของคนอยู่ที่ผลงานประจักษ์  เพื่อเป็นหลักการันตีที่สร้างสรรค์”

 

คนบ้า...กล้าดี

แม้ใครเห็นว่าเป็นเช่นคนบ้า

ไม่ถือสาโกรธเคืองเรื่องของเขา

ยังทำดีต่อไปพอใจเรา

จะไม่เขลาหยุดคิดผิดตั้งใจ

        เพราะมุ่งมั่นทำดีเพื่อความดี

ไม่เคยมีหวังผลหรือหวั่นไหว

ยังมุ่งมั่นสร้างสรรค์ทำต่อไป

แม้มีใครมองว่า...เรากล้าดี

 สักครั้งหนึ่งของการเป็นครู นอกจากการเป็นผู้ให้ความรู้แก่ศิษย์แล้ว การได้เป็นแบบอย่างและการได้สร้างแรงบันดาลใจในการทำความดีทั้งแก่ศิษย์ เพื่อนครูหรือบุคคลอื่นนั้น นับได้ว่าเป็นความสุขและคุณค่าแก่ชีวิตของครูคนหนึ่งยิ่งนัก

ครูจำรูญ  ใจนวน  ครูสอนสังคมศึกษา โรงเรียนศรีตระกูลวิทยา ครูผู้มีอุดมการณ์ “กล้าดี” กล้าที่จะทำความดี

กล้าที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีแก่สังคม จุดเริ่มต้นอาจดูยากลำบากที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างมุมมองใหม่ให้เกิดขึ้นกับสังคม

แต่ครูจำรูญ ไม่เคยย่อท้อกลับมองว่าเป็นสิ่งที่ท้าทาย และจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการนำโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติเข้ามาแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียนโดยพยายามที่จะดึงศักยภาพของเด็กที่ใครๆ อาจมองว่าเกเรไม่เอาไหน

ให้กล้าคิดในสิ่งที่ดี กล้าที่จะเป็นคนดีมีจิตอาสา ให้เด็กเหล่านั้นได้รู้จักตัวเองมากขึ้นพร้อมทั้งสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง

แก่เด็กๆ ด้วยกลยุทธ์ที่คิดค้นโดยครูจำรูญเอง คือ

๑) กลยุทธ์ติดอาวุธความคิด คือการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องของวัยรุ่น โดยจัดกิจกรรมอบรมจิตวิทยาวัยรุ่น ค่ายคุณธรรมนำชีวิต

๒) กลยุทธ์พิชิตปัญหา เป็นกิจกรมแก้ปัญหาที่ตรงจุดเพื่อแก้ไขปัญหาการหนีเรียนโดยใช้กิจกรรมที่น่าสนใจได้แก่พี่น้องผูกพัน ระเบิดฝาเวลาเที่ยง ค่ายSEMATS กิจกรรมลานบัณฑิต  กิจกรรมสมาธิบำบัด และกิจกรรมอบรมนานาอาชีพเพื่อให้นักเรียนปรับเปลี่ยนทัศนคติในวิชาเรียน รู้จักการใช้เวลาว่าง

ให้เป็นประโยชน์ เพิ่มสมาธิการเรียน 

๓) กลยุทธ์จุดเทียนแห่งปัญญา เป็นการติดตาม ปรับปรุงพฤติกรรมรวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับวัยรุ่น โดยใช้

กิจกรรมการติดตามเยี่ยมบ้านน้องของรุ่นพี่ นักเรียนพี่น้องอาสาบริการความดี “ความดีเดลิเวอรี่”   กิจกรรมโมบายหนังสือเพื่อน้อง  กิจกรรมจิตอาสาซ่อมจักรยานให้น้องขี่  ซึ่งจากการดำเนินกิจกรรมตามกลยุทธ์ดังกล่าว ทำให้เด็กนักเรียนกลุ่มเสี่ยงปรับเปลี่ยนแนวคิดและมีพฤติกรรมดีขึ้น มีจิตใจที่อ่อนโยน ไม่เห็นแก่ตัว เห็นคุณค่าของตนเองและมีจิตอาสามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 ทั้งนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย นักเรียนคณะทำงานและครูจำรูญ มีกิจกรรมที่ประทับใจและสร้างพลังในการ

ทำความดีต่อไป คือกิจกรรมโมบายหนังสือเพื่อน้องและกิจกรรมซ่อมจักรยานให้น้องฟรีโดยไม่คิดเงิน นักเรียนกลุ่มเป้าหมายมีความสุขในการซ่อมจักรยานตามหมู่บ้านต่างๆ ระหว่างที่รอรับรถจักรยานกลับน้องๆ ที่นำจักรยานมาซ่อมก็มีพี่ๆ จิตอาสามาช่วยสอนหนังสือให้ น้องๆ บอกว่าถ้าพี่วัยซนไม่มาซ่อมจักรยานให้ หนูคงไม่ได้ขี่จักรยานอีกแล้วเพราะไม่มีเงินค่าซ่อมจึงไม่รู้ว่าจะเอาไปให้ใครซ่อม คงไม่มีใครใจดีซ่อมให้ฟรีเหมือนพี่ๆ จักรยานเหล่านี้ก็คงต้องทิ้งไว้เฉยๆ สุดท้ายคงต้องขายเป็นเศษเหล็กเก่าๆ ไปในที่สุด ส่วนผู้ใหญ่ใจดีหลายคนก็บริจาคเงินสมทบโครงงาน แม้เราจะบอกว่าไม่เอาเพราะเรามีธุรกิจคุณธรรมที่เราช่วยกันทำสิ่งของต่างๆ ยามว่างและนำไปจำหน่ายเมื่อมีโอกาสเพื่อนำรายได้มาใช้ในการดำเนินงาน แต่ท่านก็บอกว่าเต็มใจให้รวมทั้งน้ำหวานและขนมอีกมากมาย บางหมู่บ้านท่านผู้ใหญ่บ้านใจดีเลี้ยงอาหารกลางวันอิ่มหนำกัน

ทุกคน  นี่อาจเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยแต่เป็นพลัง อันยิ่งใหญ่ที่ทำให้ครูจำรูญและนักเรียนคณะทำงานมีความอิ่มเอมใจและมีกำลังใจทำงานต่อไป เพื่อให้คนทำความดีมีมากขึ้นครูจำรูญยังส่งเสริมให้เด็กได้ร่วมมือกันชวนเพื่อนๆ ในโรงเรียนทำโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติเพิ่มเติมขึ้นมาอีกถึง ๒๕ โครงงาน โดยหวังว่าความดีที่ทุกคนได้ทำจะนำให้สังคมเรามีความสงบร่มเย็นเจริญรุ่งเรืองต่อไป และที่สำคัญทุกคนต่างก็มีความสุขใจเมื่อได้ทำความดีถวายในหลวง

นอกจากนี้ครูจำรูญยังขยายแนวคิดไปสู่เพื่อนครูและบุคคลอื่นอย่างต่อเนื่อง แม้ต้องใช้ความพยายามและเวลาอย่างมากเพื่อให้เกิดการยอมรับ เพราะบางครั้งหลายๆ คนคิดว่าสิ่งที่ครูจำรูญบอกกล่าวให้ร่วมกันทำความดีเพื่อสังคมนั้น ทำไปเพื่ออะไร ทำไปแล้วใครจะเห็น เอาเวลาไปทำอย่างอื่นหรืออยู่เฉยๆ ยังดีกว่า แต่ครูจำรูญพยายามที่จะให้ใครๆ ได้เห็นว่าการที่เราจะทำความดีนั้นควรเป็นการ “ทำความดีเพื่อความดี” ไม่ควรหวังสิ่งตอบแทน

แม้ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็นก็ตามที แต่เมื่อเราทำด้วยใจที่บริสุทธิ์แล้วแม้เพียงกำลังใจเล็กๆ จากใครสักคน รอยยิ้มของเด็กๆ มันจะเป็นพลังและเป็นดอกผล

แห่งความดีอันยิ่งใหญ่ที่จะคงอยู่ในความทรงจำของเราตลอดไป  หลายครั้งที่เด็กๆ บอกว่า “ก็เห็นแต่ครูนี่แหละชอบทำอะไรบ้าๆ กล้าดี ครูไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยบ้างหรือไงครับ” รอยยิ้มของครูจำรูญคือคำตอบ...นี่แหละครูจำรูญ คนบ้า กล้า(ทำ)ดี

  สุพรรณี  ใจนวน

 ครู โรงเรียนศรีตระกูลวิทยา

 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต ๓

คำสำคัญ (Tags): #วารสาร
หมายเลขบันทึก: 355167เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2010 18:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 23:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท