การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้


การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเียงไปใช้

บ้านหลังน้อยร้อยรับกับหลักฐาน                    ผลิตอาหารเลี้ยงชนคนอาศัย  

ความพอเพียงก่อสุขไม่ทุกข์ใจ                           สมดังในราชดำรัสขจัดจน

ที่หน้าบ้านกันแนวปลูกแถวถั่ว                         ทำเป็นรั้วกินได้ไม่ขัดสน

บวบชะอมผสมผสานให้ทานทน                     คอยหมุนวนผลัดเปลี่ยนเวียนเก็บกิน

มีที่ว่างข้างถนนเราก็ปลูก                                   ผักกินลูกกินใบได้ทั้งสิ้น

สร้างถนนให้กินได้บนพื้นดิน                         เหลือจากกินเราก็ขายเก็บไว้ออม

คือเศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงชีวิต                          นำแนวคิดปรัชญามาหล่อหลอม

เศรษฐกิจตกเพียงไหนไม่ตรมตรอม                เพราะเราพร้อมเป็นผู้รู้พอเพียง

เกริ่นนำ 

ผู้เขียนได้รวมเดินทางกับคุณพี่วิศฌุ    ธรรมถาวร นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ  เข้าสำรวจจุดเรียนรู้เพื่อดำเนินงานตามโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง  โดยการนำของกำนันนิพนธ์ กาวี กำนันตำบลชัยนาท  ได้นำพาดูรอบๆ หมูบ้านพร้อมบรรยายถึงความเป็นมา และภาพรวมของการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของตำบล

ต้องทำบัญชีครัวเรือนนะ จะได้รู้ช่องไหลออกของเงินจ้า (สาวสวยจากสำนักงานตรวจบัญชี มาสอนด้วย)

ศูนย์เรียนรู้ชุมชนวัดอรุณศิริวัฒนาราม

 ศูนย์เรียนรู้ชุมชนวัดอรุณศิริวัฒนาราม ตั้งอยู่ที่บ้านท่ากระยาง หมู่ที่ 5 ต.ชัยนาท อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท  เป็นจุดเรียนรู้ด้านต่างๆ รวม 10 ด้าน ดังนี้

  1. ครัวเรือนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง
  2. การทำไร่นาสวนผสม
  3. การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ
  4. กลุ่มอาชีพแปรรูปกล้วย
  5. กลุ่มอาชีพแปรรูปขนุน
  6. กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
  7. โรงงานผลิตน้ำดื่มสะอาดเพื่อชุมชน
  8. การทำขนมโบราณ
  9. กลุ่มทอผ้าด้วยมือ
  10. การจับผ้าในงานพิธีต่างๆ

กำนันนิพนธ์ กาวี  กำนันคนเก่ง(ชุดกากี)

แนวคิดสู่เส้นทางเศรษฐกิจพอเพียง

  1. การลดรายจ่าย

1)      การจัดทำบัญชีครัวเรือน

2)      การปลูกผักสวนครัว

3)      การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซิเมนต์

4)      ลด ละ เลิก อบายมุข

  1. การประหยัด

1)      กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

2)      กองทุนหมู่บ้าน

  1. การเพิ่มรายได้

1)      กลุ่มอาชีพสตรี ทอผ้า ทำขนม

2)      ร่านค้าชุมชน

3)      กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ

4)      จำหน่ายพืชผักสวนครัว

  1. การเรียนรู้

1)      สืบทอดและใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นจับผ้าในงานพิธีต่างๆ

2)      เรียนรู้การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใช้ในชีวิตประจำวัน

  1. การเอื้ออารีย์

1)      ชมรมผู้สูงอายุ

2)      ศูนย์สาธารณะสุขชุมชน

3)      กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก

  1. การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

1)      ปรับปรุงสภาพของดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์

2)      อนุรักษ์ต้นยางและส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้น

ผลสำเร็จตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

หลายครัวเรือนประสบความสำเร็จในการปรับปรุงตนเองและการประกอบอาชีพ จากเคยมีหนี้สิน หันมาละเลิก อบายมุข(สุรา บุหรี่) กำจัดป่าวัชพืช  ปลูกผักสวนครัว การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซิเมนต์  ทำบัญชีครัวเรือน เพื่อตรวจสอบสภาพการใช้จ่ายเงิน รับทราบช่องทางรั่วไหลของเงินที่ไม่มีประโยชน์ของตัวเองและครอบครัว มีรายได้หมุนเวียนจากการปลูกและจำหน่ายผักสวนครัว โดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้าน  อีกทั้งลดรายจ่ายจากการซื้อผัก มาประกอบอาหาร กองทุนหมู่บ้านเดิมมีเงินออมประมาณ 700,000 บาท หลังจากการดำเนินงานส่งเสริมให้ชุมชนดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ได้ 3 ปี ปัจจุบันมีเงินออมในกองทุนหมู่บ้านประมาณ 2,000,000 บาท

การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ในหมู่บ้านท่ากระยาง ม. 5  ต.ชัยนาท จ.ชัยนาท  นอกจากจะได้พบเห็นในพื้นที่บริเวณบ้านของแต่ละครัวเรือนปลูกไม้ผล และพืชผักกินได้แล้ว  สามารถเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านได้ ตัวอย่างเช่น

  1. จุดเรียนรู้ครัวเรือนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง

นางวรรณา เพ็ชรอำไพ กล่าวว่า ได้ให้ความสำคัญกับการลดรายจ่ายด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อบริโภคและจำหน่าย สามารถลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างดี ให้ความสำคัญกับการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อเป็นเครื่องมือกำกับดูแลรายลับ-รายจ่าย ของครอบครัว ส่งผลให้ไม่ได้ไปตลาดนัดเป็นประจำเช่นแต่ก่อน  ไม่ต้องเสียเงินซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็นอีก ถือคติว่า “ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขยึดหลักการขยัน ประหยัด อดออม เดี๋ยวนี้บ้านเราไม่กลัวจนอีกแล้ว”

  1. จุดเรียนรู้ด้านการทำปุ๋ยชีวภาพ 

นายรุ่งกิจ  สมัญสาริกิจ เกษตรกรต้นแบบและหมอดินอาสา มีความรู้ด้านการทำนา การปรับปรุงดิน และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์  ได้ขยายผลสู่การลดต้นทุนการทำนา ทำสวน ด้วยการแก้ปัญหาดินขาดความอุดมสมบูรณ์ จัดตั้งโรงผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด และโรงสีชุมชน   

  1. จุดเรียนรู้การทำสวนผสมปลอดภัยจาสารพิษ

นายรำพึง  แสงเจริญ กล่าวว่า ทุกคนในครอบครัวช่วยกัน ปรับเปลี่ยนจากพื้นที่นาเป็นสวนชมพู่ ฝรั่ง โดยปลูกแซมด้วยกล้วย และผักสวนครัวต่างๆ โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพเป็นหลัก มีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่าแสน การปฏิบัติยึดหลัก  “ทำเองขายเองทุกวัน”

  1. จุดเรียนรู้การแปรรูปกล้วย

นางชูทิศ  คำพันธ์  จุดเรียนรู้เพิ่มมูลค่ากล้วยทีมีมากในหมู่บ้าน เป็นกล้วยอบน้ำผึ้ง สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน อย่างต่อเนื่อง

การขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นายนิพนธ์  กาวี  กำนันตำบลชัยนาท กล่าวว่า มีความศรัทธาต่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมีความมุ่งหมายที่จะขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ทุกครัวเรือนที่เต็มใจมีการดำเนินงาน  ต่การพัฒนานั้นได้เตรียมการดังนี้

  1. มีความตั้งใจ ด้วยศรัทธาต่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  2. ประสานงาน ได้ประสานงาน หน่วยงานต่างๆ เพื่อประสานงบประมาณนำมาพัฒนาชุมชน  และสำนักงานชลประทาน เพื่อขอพื้นที่ข้างคลองชลประมาณปลูกผัก และได้รับความอนุเคราะห์อนุญาตให้ปลูกผัก
  3. การทำสัญญา ระหว่างชุมชน ผู้รับเมล็ดพันธุ์ผักและปัจจัยการผลิต จะต้องนำไปปลูกจริงถ้าไม่ปฏิบัติตามจะไม่ได้รับการสนับสนุนในหลายๆ ด้านที่เกี่ยวข้อง อีกต่อไป
  4. การสร้างความมั่นใจ  ด้วยการดำเนินงานทุกโครงการที่รับผิดชอบให้ประสบผลสำเร็จ เช่นโรงงานผลิตน้ำดื่มสะอาดเพื่อชุมชน ส่งผลให้ชุมชนเกิดความศรัทธา ในการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  5. การปลูกจิตสำนึก  โดยใช้เสียงตามสายประชาสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ  เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจ และมีความตั้งใจที่จะดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  6. การสร้างเครือข่าย จากการสร้างจิตสำนึกและประสานงานองค์กรและหน่วยงานต่างๆ  ส่งผลให้ผู้ใหญ่บ้านเข้าร่วมเป็นเครือข่าย  ประสานงานกับประชาชนในแต่ละหมู่บ้านพัฒนาหมู่บ้านตามแนว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และประสบผลสำเร็จหลายครอบครัวเข้าร่วมเกิดเครือข่าย เพื่อเรียนรู้  ต่อไป

 

คำสำคัญ (Tags): #พอเพียง
หมายเลขบันทึก: 355152เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2010 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอชื่นชมแนวคิดและแนวปฏิบัตินี้อย่างยิ่งค่ะ..และว่างๆชวนไปให้กำลังใจครูเพื่อศิษย์ในถิ่นทุรกันดารนะคะ..

http://gotoknow.org/blog/nongnarts/355172

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท