คอลัมน์: สังคม-วัฒนธรรมวิภัชช์ (Socio-Cultural Diversity) กับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร: ผู้นำท้องถิ่นกับยุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อพัฒนาชาติ


ผู้นำท้องถิ่นกับยุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อพัฒนาชาติ
 
คอลัมน์: สังคม-วัฒนธรรมวิภัชช์ (Socio-Cultural Diversity) กับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร: ผู้นำท้องถิ่นกับยุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อพัฒนาชาติ
Source - บ้านเมือง
Friday, Apr 23, 2010 09:35

ผศ.มณฑา วรรณทอง

วิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีสารพัดเทคโนโลยีเป็นแรงขับเคลื่อนขณะนี้นั้นทำให้การขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาที่เน้นการพัฒนาท้องถิ่นของประเทศมีความคึกคักมากเป็นพิเศษ สังคมได้เห็นพลวัฒน์ทางการศึกษา อย่างเช่น การทำความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างองค์กรการปกครองท้องถิ่น สังกัดกรมพัฒนาท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กับสถาบันการศึกษาในชุมชนต่างๆ มีมากมาย

มหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นหลายแห่ง ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยเอกชน ต่างก็เร่งทำความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพของผู้นำท้องถิ่น ด้วยการเปิดหลักสูตรสร้างผู้นำด้านบริหารการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ออกมาหลากหลาย

ที่สำคัญมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ดูเหมือนจะไม่พลาดโอกาสในการขยายฐานการศึกษาสู่ท้องถิ่นด้วยเช่นกัน เสียงตอบรับจากนักศึกษาที่เป็นผู้นำชุมชนขนานแท้ ดูมีทิศทางที่ดีอย่างเช่น กลุ่มนักศึกษาซึ่งเป็นผู้นำชุมชนกลุ่มนี้ที่ ชุมชน อบต.หนองบัว

นายสุจินต์ สุขเกิด อายุ 46 ปี นายกอบต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง นักศึกษาปี4 สาขาการพัฒนาชุมชน ศูนย์บริการการศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร อบต.หนองบัว ซึ่งเปิดการสอนมาตั้งแต่ปี 2549 กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกหากได้สัมผัสกับองค์กรพัฒนาท้องถิ่นในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศขณะนี้ จะมีภาพของผู้นำท้องถิ่นทั้งนายก อบต. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และนักพัฒนาชุมชน จำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจเพิ่มความรู้ให้กับตนเองด้วยการเสียสละความสุขที่จะอยู่กับครอบครัวหิ้วกระเป๋าหนังสือไปนั่งเรียนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในวันเสาร์-อาทิตย์ นอกจากภารกิจคือการออกเยี่ยมชุมชนเพื่อรับฟังปัญหาต่างๆซึ่งหนึ่งในกลุ่มผู้นำชุมชนที่ตัดสินใจหวนกลับมาสวมเครื่องแบบนักศึกษาอีกครั้งเหล่านั้นก็รวมถึงผมด้วย

ขณะที่นางสุนิมิตต์ โชติช่วง นักศึกษาปี 4 เพื่อนร่วมห้องเรียน กล่าวว่า เธอรู้สึกดีใจที่ได้เข้ามาเรียนหลักสูตรนี้ โดยเธอมองว่าการปกครองในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ มีส่วนช่วยให้สภาพแวดล้อมในชนบทดีขึ้น

สำหรับมุมมองว่าการศึกษาช่วยพัฒนาประเทศได้มากแค่ไหนนั้น เธอมองว่าเมื่อคนมีการศึกษามากขึ้นก็จะทำให้เข้าใจระบบการพัฒนาประเทศมากขึ้นไปด้วย ผลลัพธ์ที่เห็นชัดๆ ก็คือขณะนี้ผู้นำท้องถิ่นกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งนั้น ได้เข้ามามีส่วนกระตุ้นให้บรรยากาศการศึกษาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพในต่างจังหวัดมีสีสันสวยงามมากขึ้น

ขณะที่ข้อมูลเชิงลึกที่ ผ่องฉวี มณีรัตนพันธุ์ แห่งมหาวิทยาลัยบูรพา รายงานสถานการณ์การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น จากการสัมมนาเรื่องเป้าหมายและยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นไว้อย่างน่าสนใจมาก

โดยการสัมมนาครั้งนี้ศ.นพ.เกษม วัฒนชัยองคมนตรี กล่าวว่า การศึกษาจะเป็นกลไกที่ทำให้เกิดการพัฒนาทั้งในระดับประชาชน ครอบครัวและระดับชุมชน หากลงทุนการศึกษา 1 บาทประโยชน์จะเกิดกับประชาชนและชุมชนหลายบาทงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหากไปลงอย่างอื่นก็มีประโยชน์ แต่คุณค่าหรือประโยชน์จะไม่เท่ากับการลงทุนด้านการศึกษา ท่านเน้นว่าการศึกษานั้นมีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก กล่าวคือ

1.สนับสนุนให้ประชาชนมีสัมมาอาชีวะและทำให้เศรษฐกิจของชุมชนมั่นคง ช่วยแก้ไขหรือขจัดความยากจน โดยเฉพาะการศึกษาที่รวมการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาเข้าด้วยกัน เมื่อทุกครัวเรือนในชุมชนมีสัมมาอาชีวะ มีความมั่นคงในอาชีพ เศรษฐกิจชุมชนก็มั่นคง รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับด้วย เป็นวงจรที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน

2.ส่งเสริมความเป็นพลเมืองดีและประชาธิปไตยในชุมชน เพราะการศึกษาให้อุดมการณ์ประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนมีจิตสำนึกในสิทธิและหน้าที่ของตนเอง จึงเสริมพลังภราดรภาพบนฐานของเสรีภาพและความเสมอภาคตามหลักการประชาธิปไตยทั้งเรื่องเสรีภาพเสมอภาค ภราดรภาพ

3.ส่งเสริมสุขภาพและสร้างสุขภาวะในชุมชนการศึกษาจะให้พื้นฐานของการดูแลสุขภาพด้วย จึงทำให้ประชาชนดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้ดีขึ้น เป็นการสร้างสุขภาวะในชุมชนเพื่อให้ทุกคนอยู่เย็นเป็นสุข มีหลักในการดูแลตนเองและครอบครัว 4 ด้าน คือ ส่งเสริมสุขภาพการป้องกันโรค รักษาโรคอย่างถูกวิธี และฟื้นฟูร่างกายและจิตใจให้กลับเป็นปกติ

4.ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมในครอบครัวและนิเวศวิทยาในชุมชน การศึกษาสอนให้ประชาชนรู้จักส่งเสริมสภาพแวดล้อมในครอบครัว รู้จักส่งเสริมระบบนิเวศวิทยาในชุมชน เร่งเร้าให้ประชาชนร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนและอนุรักษ์พัฒนาให้คงอยู่สืบไป

5.ส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม ทั้งครอบครัวและชุมชน การศึกษาให้สติในการจัดการกับอบายมุข พัฒนาสติปัญญาให้มั่นคงในศาสนธรรมไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม

ในฐานะที่ดิฉันเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอยู่บ้าง คือในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์บริการการศึกษา ณ โรงเรียนเทคโนโลยีศรีราชาอยู่ตอนนี้ มองว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับนโยบายการจัดการศึกษาของชาติ ที่เน้นชุมชนเป็นศูยน์กลางตามนโยบายแห่งรัฐอยู่แล้วเพราะวิสัยทัศน์และพันธกิจของเราก็คือเป็นมหาวิทยาลัยไท เพื่อความเป็นไทย บริหารจัดการทรัพยากรของชาติด้วยการบูรณาการการศึกษาศาสนา และวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นหลักอยู่แล้ว

ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงเน้นยุทธศาสตร์สร้างเสริมภาวะผู้นำชุมชนด้วยหลักสูตรการพัฒนาชุนชนเพื่อทำให้องค์กรชุมชนท้องถิ่นก้าวไปสู่องค์กรที่มีธรรมาภิบาลอย่างเต็มรูปแบบ ผู้นำท้องถิ่นเป็นคนดีมีปัญญา มีจิตอาสาพัฒนาท้องถิ่นของตนเองอย่างแท้จริง ซึ่งแนวทางบริหารจัดการที่ศูนย์บริการการศึกษาแห่งนี้ ก็ยึดแนวทางของมหาวิทยาลัยคือยึดผู้นำชุมชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมทั้งมีการพัฒนาคนและสังคมควบคู่กันไป

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการศึกษาในมุมกว้างนั้นต้องเน้นกระบวนการเรียนรู้ เพื่อความงอกงามตลอดชีวิต ความเป็นคนไทยที่สมบูรณ์การสร้างสรรค์ ความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อมสังคม ความคิด ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม แหล่งความรู้ ภูมิปัญญาลักษณะและวิถีชีวิตของท้องถิ่น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นต่อไป

การศึกษานั้นมีคุณูปการมาก การศึกษาเป็นการสร้างคน เป็นการให้ปัญญากับคน ทั้งนี้จุดสำคัญของการศึกษาก็คือเพื่อให้คนมีปัญญาเพื่อไปสร้างชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าต่อไปนั่นเอง

แม้ว่าการศึกษาจะถูกมองว่าเป็นการลงทุนระยะยาวที่เห็นผลค่อนข้างช้า แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าผลตอบแทนที่ได้นั้นมากกว่าหลายเท่าตัว ดังคำกล่าวของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุลที่ว่า "กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด การศึกษาเป็นไปเช่นนั้น แต่ดอกออกคราวไร งามเด่น งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม"--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

หมายเลขบันทึก: 353433เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2010 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีความรู้สึกว่าถ้าสังคมไทยเปิดกว้างให้กับคนที่มีความสามารถมากกว่าคนที่มีวุฒิ น่าจะดีกว่านี้ เพราะการศึกษานอกระบบที่สอนการทำงานจริง ๆ ไม่ใช้ทฤษฏี ก็มีเยอะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท