เจาะเบื้องหลัง สติกเกอร์ ‘ประธานาธิบดี…’


ความต่างระหว่างพระมหากษัตริย์กับประธานาธิบดี

เจาะเบื้องหลัง สติกเกอร์ ‘ประธานาธิบดี…’

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน

22 เมษายน 2553 18:55 น.

เหตุเกิดจากมีมือดีนำเอาสติกเกอร์ ‘ประธานาธิบดี (.........)ประมุขของรัฐไทยใหม่’ ไปติดตามที่สาธารณะแบบไม่รู้จักกาลเทศะ ซึ่งคงไม่อาจฟันธงได้ว่าเป็นฝีมือของใคร แต่ชัดเจนว่าผู้กระทำหวังผลทางการเมืองบางอย่างและมุ่งหมายให้เกิดความแตกแยก ซึ่งดูเหมือนจะได้ผล เพราะแรงสะบัดที่ตามมาจุดชวนวนความรู้สึกของคนไทยได้ไม่น้อย
       
       เพราะหากผู้กระทำคิดและเชื่อเช่นนั้นจริง มันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศ ถึงขั้นพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ซึ่งแน่นอนว่าคนไทยคงมิอาจยินยอมให้เกิดขึ้น
       ความเชื่อทางการเมืองที่ฝังหัวอยู่ในกลุ่มซ้ายสุดโต่งอาจยิ้มย่องกับสติกเกอร์ทำนองนี้ โดยไม่สนใจบริบททางประวัติศาสตร์ของประเทศใดๆ ทั้งสิ้น ขณะที่รูปแบบการปกครองที่มีประธานาธิบดีเป็นผู้นำประเทศก็ไปด้วยกันไม่ได้กับสังคมไทยที่ระบบการถ่วงดุลและตรวจสอบย่ำแย่
       
       คนในสังคมไทยจำนวนมากยังไม่รู้แน่ชัดด้วยซ้ำว่า ประธานาธิบดีคืออะไร มิพักต้องพูดว่ามันมีจุดเปราะบางตรงไหนบ้าง ดังนั้น การทำความรู้จักรูปแบบการปกครองแบบประธานาธิบดีจึงเป็นภูมิคุ้มกันอันแข็งแรงอย่างหนึ่ง เพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดี ไม่ว่าฝ่ายนั้นเป็นใครก็ตาม
       
       เพราะแม้ว่ามันจะเป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสำหรับบางพื้นที่หรือบางประเทศ…แต่ไม่ใช่กับประเทศไทย
       
       ประธานาธิบดีคืออะไร?
       
       หากจะว่าไปแล้ว รูปแบบการปกครองของประธานาธิบดีนั้น ถือเป็นรูปแบบหนึ่งซึ่งประเทศทั่วโลกนิยมกันมากกว่า ไม่ว่าประเทศนั้นจะปกครองในระบอบประชาธิปไตย เผด็จการทหาร หรือคอมมิวนิสต์ก็ตาม
       
       เพราะจากข้อมูลประเทศ 193 ประเทศ พบว่ามีประธานาธิบดีถึง 103 ประเทศ โดยมีประเทศเนปาล เป็นประเทศล่าสุดที่มีการปกครองในระบบประธานาธิบดี ขณะที่ระบบกษัตริย์นั้นมีเพียง 29 ประเทศเท่านั้น
       
       ส่วนที่เหลือนั้น ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อน เลยยกเอา สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรเป็นประมุขของประเทศไปเลย
       
       ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล่าว่า ประเทศที่ถือเป็นต้นแบบของการปกครองเช่นนี้เลย คงต้องยกให้แก่ 'สหรัฐอเมริกา' ซึ่งสถาปนาตำแหน่งนี้ขึ้นมา ตั้งแต่ปี ค.ศ.1789 หลังจากปลดแอกตัวเองจากกษัตริย์อังกฤษสำเร็จ และ 'ฝรั่งเศส' ที่ก่อตั้งตำแหน่งนี้ พร้อมกับการปฏิวัติโค่นล้มพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในปีเดียวกัน
       
       “รูปแบบการปกครองที่มีประธานาธิบดีเป็นผู้ปกครองประเทศมีหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความคิดเห็นที่เป็นการต่อต้านสถาบัน เพราะฉะนั้น หลักๆ ก็คือว่ามันเป็นอะไรที่ขึ้นมาแทนสิ่งที่เรียกว่า ระบบสถาบันพระมหากษัตริย์
       
       “โดยรูปแบบที่เราจับต้องได้มากๆ ก็คือ ฝรั่งเศสกับอเมริกา เพราะถามว่ารัฐธรรมนูญของอเมริกาเป็นรัฐธรรมนูญที่ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์หรือเปล่า คำตอบคือใช่ ดังนั้น อำนาจทั้งหลายทั้งปวง สิ่งที่ถกเถียงกันระหว่างโธมัส เจฟเฟอร์สัน กับ อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน (สองบุคคลสำคัญในคณะผู้ก่อตั้งและประกาศเอกราชประเทศสหรัฐอเมริกา) ท้ายที่สุดก็ผนวกอำนาจลงไปอยู่ที่ประธานาธิบดี ในกรณีของฝรั่งเศสก็พบว่าคล้ายกัน ขณะเดียวกันก็มีระบบรัฐสภา มีนายกรัฐมนตรีรองรับ แต่อำนาจสูงสุดทั้งหมดไปอยู่ที่ประธานาธิบดี หลักๆ มันมาจากระบบนี้”
       
       อย่างไรก็ตาม การปกครองในรูปแบบประธานาธิบดีก็มีความหลากหลายค่อนข้างสูง เพราะบางประเทศ ประธานาธิบดีเป็นประมุขหรือสัญลักษณ์ของประเทศเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการบริหาร เช่นประเทศอินเดียหรือสิงคโปร์
       
       ขณะที่อีกหลายประเทศ ประธานาธิบดีก็มีอำนาจหน้าที่เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารประเทศ หรือแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี อย่าง ประเทศรัสเซีย
       
       “ถ้าเราดูอินเดีย ปี ค.ศ.1947 เราจะพบว่าอินเดียมีเจ้าผู้ปกครองตามมลรัฐ ขณะเดียวกันอินเดียก็มีสิ่งที่เรียกว่าการปกครองโดยอังกฤษ 180 กว่าปีอย่างเป็นทางการ เพราะฉะนั้นประธานาธิบดีก็ขึ้นมาแทนสิ่งที่เรียกที่เรียกว่าคิงหรือควีน ในนามของเฮ้าส์ ออฟ วินเซอร์ แต่อำนาจทั้งหมดไปขึ้นอยู่กับนายกฯ เพราะนายกฯ เป็นผู้แต่งตั้งประธานาธิบดี ดังนั้น ของอินเดียก็จะกลับไปเป็นอีกแบบเลย
       
       “แต่หลักๆ ที่เราจะถือว่าเป็น Presidential System แล้วเราไปเรียนกันในวิชาการเมืองเปรียบเทียบ เราก็จะเน้นหนักที่สหรัฐอเมริกาเมื่อเปรียบเทียบกับสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นระบบรัฐสภา”
       

       
       ระบบเดิมเหลว ก่อร่างสู่ระบบใหม่
       
       เมื่อพูดถึงรูปแบบแล้ว คราวนี้ก็หันมาพูดถึงสาหตุที่ทำให้รัฐหนึ่งมีการปกครองในรูปแบบประธานาธิบดีกันบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ ผศ.สุรัตน์ ก็อธิบายในเชิงประวัติศาสตร์ว่า เรื่องเช่นนี้มีต้นตอมาจาก การที่สถาบันกษัตริย์ของประเทศเหล่านั้น มีข้อบกพร่องและไม่สามารถตอบคำถามปัญหาให้แก่สังคมได้
       
       อย่างกรณีฝรั่งเศสที่ประชาชนอดอยาก ไปยืนเกาะรั้วขอขนมปัง แต่กษัตริย์กลับให้ลูกปืนแทน จึงเป็นเหตุให้ประชาชนลุกฮือขึ้นโค่นล้ม
       
       “ถ้าในกรณีที่กษัตริย์ไม่ได้เลวร้าย แต่กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบ เช่น ในยุโรป สถาบันกษัตริย์ก็ถือเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลประเภทหนึ่ง สมมติว่ากษัตริย์ออกมาพูดในเรื่องนั้นเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะถูกนะ สังคมเชื่อไม่เชื่อ ขอกลับไปคิดแล้ว กรณีแบบนั้นเราก็เห็นชัดเจนว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ค่อนข้างปรับตัวไปกับประชาชน และที่สำคัญไม่ได้มีประวัติอะไรที่เลวร้ายในลักษณะแบบนั้น
       
       “ในกรณีของอังกฤษ สถาบันพระมหากษัตริย์ ชอบไม่ชอบ ไม่รู้ แต่เป็นที่ชื่นชมของคนอังกฤษนะ เพราะยังไงก็ยังอยู่ อย่างเช่นตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 กษัตริย์ของอังกฤษบอกว่าใครจะไปไหนก็ไป ฉันจะอยู่ที่นี่ เป็นตายร้ายดียังไงก็จะอยู่กับคนอังกฤษ อย่างนี้มันก็ซื้อใจกัน ผมว่าท้ายที่สุดมันก็ขึ้นอยู่กับคุณงามความดีด้วย”
       
       ชาวบ้านเข้าใจแค่ไหน?
       
       เล่าถึงที่มาที่ไปกันแล้ว คราวนี้ลองไปพูดคุยกับบรรดาประชาชนทั่วไปกันบ้างดีกว่าว่า พวกเขาเข้าใจหรือไม่ว่า ประธานาธิบดี เริ่มต้นจาก จิรถา การะปักษ์ พ่อค้าขายขนมหน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกันเลยดีกว่า
       
       โดยเขาอธิบายความเข้าใจของตนเองอย่างช้าๆ ว่าประธานาธิบดี น่าจะหมายถึงประมุขของประเทศ ซึ่งมีหน้าที่บริหารงานบ้านเมืองทุกด้าน แต่จะเป็นภารกิจอะไรนั้น ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน
       
       “อย่างนายกรัฐมนตรีของบ้านเราก็ทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองเช่นกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ใช่ไหม แต่หากเป็นประธานาธิบดีแล้ว ก็น่าจะมีอำนาจหน้าที่ใหญ่กว่านายกฯ นะ อย่างโอบามา (บารัค โอบามา) ที่ปกครองสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่มาก เขาก็ยังมีความสำคัญมากที่สุดของโลกเลย เป็นมหาอำนาจ
       
       “แต่นอกจากสหรัฐฯ แล้ว ผมไม่รู้ว่ามีประเทศไหนอีกบ้างที่มีประธานาธิบดีปกครองประเทศบ้าง”
       
       เช่นเดียวกับ เพ็ญศรี ผาชัย แม่บ้านที่อธิบายไม่ได้ว่า แท้ที่จริง ประธานาธิบดีคืออะไรกันแน่ และถามกลับมาแบบไม่ค่อยเข้าใจว่า ตกลงหน้าที่หลักคือคอยบริหารประเทศใช่หรือไม่
       
       “ถ้าจะให้อธิบายให้ละเอียดกว่านี้ก็คงจะไม่ได้เพราะอธิบายเป็นคำพูดได้ยาก ต้องศึกษาข้อมูล อ่านข่าวให้มากกว่านี้จึงจะบอกได้ว่าประธานาธิบดีคืออะไร มีหน้าที่อะไรบ้าง
       
       “แต่ที่เห็นๆ ของอเมริกา เขาก็มีโอบามาใช่ไหม ที่ต้องดูแลประชาชน ดูแลเรื่องภาษี เศรษฐกิจ และคิดว่าประเทศที่ปกครองโดยประธานาธิบดีคงเป็นประเทศที่ไม่มีกษัตริย์ปกครอง อย่างของไทยที่ปกครองโดยนายกฯ ที่จะบริหารงานในประเทศเท่านั้น แต่ถ้าเป็นประธานาธิบดีก็จะมีหน้าที่ทั้งบริหารในประเทศและต่างประเทศด้วย ตัวอย่างก็สหรัฐฯ เป็นต้น เพราะอย่างที่รู้กันประเทศนี้เป็นธนาคารของโลก หรืออีกแง่หนึ่งคือควบคุมโลกด้วย”
       
       ส่วน ปอยปิติ อมตธรรม อาชีพอิสระ ก็มองว่า ตำแหน่งประธานาธิบดี น่าจะเทียบได้กับตำแหน่งกษัตริย์ แต่เป็นกษัตริย์รูปแบบใหม่ โดยมีจุดต่างตรงที่กษัตริย์นั้นเป็นการสืบทอดกันภายในครอบครัว ส่วนประธานาธิบดีนั้น มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
       
       “ประธานาธิบดีน่าจะเป็นบุคคลที่มีอำนาจใหญ่มากๆ สามารถสั่งการทุกอย่างในประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม หรือความมั่นคง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสภา หรือศาล ที่คอยจำกัดอำนาจของประธานาธิบดีไม่ให้มีมากเกินไป”
       
       มือที่มองเห็น (แต่ตรวจสอบยาก)
       
       จากถามไถ่ความเห็นของพี่น้องชาวไทยจำนวนหนึ่ง ก็คงเห็นแล้วใช่ไหมว่า แต่ละคนเห็นมองว่า อำนาจของประธานาธิบดีนั้นใหญ่โตขนาดนั้น ซึ่งในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญอย่าง ผศ.สุรัตน์ เองก็มองคล้ายๆ กันว่าจริง
       
       เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว ระบอบนี้อำนาจมักจะไปกระจุกอยู่ที่ตัวประธานาธิบดีเอง อย่างกรณีของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐอเมริกา ที่โกหกเรื่องอาวุธร้ายแรงในอิรัก จนนำพาประเทศเข้าสู่สงคราม ขณะที่ประชาชนทำอะไรไม่ได้ ต้องรอจนกว่าจะครบวาระ
       
       “การตรวจสอบมันไม่ได้ยากนะ แต่เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงด้วยว่า อำนาจหลายสิ่งหลายอย่างมันกระจุกอยู่ที่ประธานาธิบดี แม้จะมีการถ่วงดุลโดยระบบสภานิติบัญญัติและตุลาการก็ตาม แต่กระบวนการอิมพีชเมนต์ (ถอดถอน) เคยทำกันได้ไหม ถ้าได้จะต้องมีเสียงเท่าไหร่ ยังไง แต่มันไม่ใช่เล่นๆ มันต้องขาดเลย ต้องชัดเจน แล้วไม่ได้ใช้แค่กับประธานาธิบดี ใช้กับผู้พิพากษา กับ ส.ส. ด้วย แต่ต้องระวังให้ดีเพราะประธานาธิบดีสังกัดกับพรรคใดพรรคหนึ่งอยู่แล้ว ถ้ามันไม่เลวร้ายเกินไป และอยู่ในพรรคเดียวกันด้วย เสียงก็ไม่ถึง ซึ่งถ้าอย่างนั้นก็ต้องไปว่ากันอีกทีในศาล
       
       “ที่สำคัญคือประธานาธิบดีคนใหม่ที่เข้ามาก็อาจไปรับรองคนเก่าได้ เช่นในกรณีที่ ริชาร์ด นิกสันผิด (จากกรณีดักฟังข้อมูลของคู่แข่งทางการเมือง) นิกสันลาออก แม้ไม่ได้ถูกอิมพีชเมนต์ แต่ก็รับโทษ พอคนที่เป็นรองประธานาธิบดี อย่าง เจอร์รัลด์ ฟอร์ด ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทน เขาเป็นคนใช้อำนาจในการอภัยโทษให้นิกสัน ประชาชนก็เลยไม่ลงคะแนนเสียงให้เขาครั้งต่อไป”
       
       'เหมาะไม่เหมาะ' สำหรับไทยแลนด์
       
       เมื่อประเด็นประธานาธิบดีนี้ถูกพูดถึงกว้างขวางในประชาชนบางกลุ่มมากยิ่งขึ้น คำถามที่ตามมาก็คือ ตกลงแล้วประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐใหม่หรือรัฐเก่านั้น เหมาะสมกับการปกครองเช่นนี้หรือไม่
       
       สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนชั้นแนวหน้าของสยาม ได้อธิบายในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ว่า หากให้เลือกก็ขออยู่ฝั่งรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่า เพราะถึงแม้สถาบันจะไม่ใช่ยาวิเศษและมีข้อบกพร่องมากมาย แต่ก็ถือเป็นต้นไม้ใหญ่ที่สามารถพึ่งพิงได้เสมอ และเมื่อเทียบกับประเทศที่ไม่มีสถาบันอย่างอินโดนีเซียแล้ว ก็จะพบได้เลยว่า มีความยุ่งเหยิงมากถึงขนาดไหน
       
       ขณะที่ ผศ.สุรัตน์ ก็ฟันธงทันทีว่า ระบบประธานาธิบดีไม่เหมาะกับสภาพสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง
       
       “ระบบนี้มันไม่ใช่วัฒนธรรมของเรา ไม่ใช่ว่าคนอื่นมี แล้วเราต้องมี เราต้องดูด้วยว่าเราเป็นยังไง แบบไหน เรามีกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เรามีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง เวลาเกิดสุญญากาศทางการเมือง พระองค์ก็ลงมาแก้ปัญหาให้ แล้วก็ต้องรีบขึ้นไปใหม่ ระบบเป็นอย่างนั้น เวลาที่เรายากลำบาก มีปัญหาเรื่องสงครามมากมาย พระองค์ก็พาประคองประเทศชาติให้ไปได้ ทำยังไงจะคุยกับมหาอำนาจ จะดุลอำนาจยังไง ก็มีอะไรหลายอย่างที่เป็นกาวใจของประชาชน เป็นตัวแทนความเชื่อ ความรักของประชาชน โลกนี้มันมีหลากหลาย จะไปสรุปว่าทุกอย่างต้องเป็นระบบนี้ๆ มันไม่สมเหตุสมผล มันต้องแล้วแต่วัฒนธรรมของแต่ละประเทศ”
       
       ครั้นถามต่อไปว่า ภายใต้สภาพบ้านเมืองเช่นทุกวันนี้ ที่โครงสร้างสังคมเกิดการเขย่าอย่างรุนแรงและเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย อีกทั้งยังต้องเผชิญความท้าทายใหม่ๆ สถาบันกษัตริย์ควรจะปรับตัวอย่างไร ผศ.สุรัตน์ บอกว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่ มีวิถีและแนวคิดที่ถูกทำนำเสนอหลากหลาย ซึ่งสถาบันก็รับฟังอยู่แล้วว่าควรจะปรับตัวแบบไหน อย่างไร
       
       “ผมคิดว่ายังไม่ใช่ประเด็นที่จะเอามาคุยกันภายใต้บริบทที่มีทักษิณอยู่ เพราะการพูดคุยภายใต้บริบทนี้ อาจนำไปสู่เจตนาที่ไม่ถูกต้อง เพราะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้คิดดี อย่างนี้จะทำให้พัง ไม่ได้ช่วยให้แก้ไขอะไรขึ้นมาได้”
       ..........
       
       แม้ว่าประธานาธิบดีจะถูกกล่าวขานขึ้น แต่ก็อย่างที่ ผศ.สุรัตน์กล่าวว่า ของแบบนี้ไม่ใช่จะเหมาะไปกับทุกที่ ยิ่งในช่วงที่ประชาชนทุกวันนี้กำลังถูกท้าทายด้วยวาทกรรมใหม่ๆ เต็มไปหมด ก็ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้หวังดีจะลวงหลอกผู้มิรู้อีโหน่อีเหน่อีกจำนวนมากให้ตกหลุม
       
       เพราะฉะนั้นทางที่ดี การศึกษาในเรื่องประชาธิปไตยที่แท้จริง จึงไม่ใช่แค่การดูปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าเท่านั้น แต่ต้องดูไปถึงรากเหง้าของปัญหาในอดีตว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร ไม่เช่นนั้นคุณอาจจะตกเป็นเหยื่อของใครบางคนที่กะจะเหยียบหลังเพื่อไปถึงดวงดาวก็เป็นได้

หมายเลขบันทึก: 353416เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2010 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอให้ทุกการต่อสู้อยู่บนพื้นฐานของคุณธรรมนะครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท