การเจรจาระหว่างประเทศกับการค้าเสรี


รัฐเองก็ควรมีช่องทางที่น่าสนใจต่อการขยายตัวของธุรกิจ-อุตสาหกรรมในประเทศด้วย เพราะหากภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมของไทยแข็งแกร่งและมีรากฐานที่มั่นคงเพียงพอโดยรัฐไม่จำเป็นต้องให้การสนับสนุนอีกต่อไป เมื่อนั้นไม่ว่าเราจะเจรจากี่ฝ่าย สองฝ่ายหรือหลายฝ่าย ก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป


การเจรจาระหว่างประเทศกับการค้าเสรี 

ในการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศนั้น  แต่ละประเทศย่อมมีจุดมุ่งหมายเดียวกันนั้นก็คือผลประโยชน์สูงสุดที่ประเทศของตนจะได้รับจากการดำเนินการนั้นๆ  หากแต่รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศย่อมมีขั้นตอนและวิธีการดำเนินการที่แตกต่างกันออกไป  แล้วแต่บริบททางสังคมและเศรษฐกิจของโลกในขณะนั้นจะเอื้ออำนวย


การดำเนินการของประเทศไทยในขณะนี้มีความโน้มเอียงที่จะให้ความสำคัญกับการดำเนินการในลักษณะทวิภาคี  หรือการเจรจาสองฝ่าย  มากกว่าที่จะดำเนินการในลักษณะพหุภาคี  หรือการเจรจาหลายฝ่าย  ดังเห็นได้จากการเลือกเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าในทุกภูมิภาคของโลก

เหตุใดรัฐบาลไทยถึงเลือกดำเนินการเช่นนั้น...? 

การเจรจาการค้าในลักษณะพหุภาคีนั้นเป็นการเจรจาหาข้อตกลงร่วมกันในกลุ่มผู้เจรจาเพื่อหาผลประโยชน์สุดท้ายร่วมกันที่ทุกประเทศสามารถยอมรับและปฏิบัติตามได้  ดังนั้นเงื่อนไขต่างๆที่ประเทศหนึ่งเรียกร้อง  ประเทศคู่เจรจาประเทศอื่นๆก็ต้องให้การยอมรับข้อเรียกร้องนั้นทั้งหมด  หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องเจรจาต่อรองเพื่อหาผลประโยชน์สุดท้ายร่วมกันอันเป็นที่ยอมรับ  การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจึงค่อนข้างล่าช้าและหาข้อยุติได้ยาก  เพราะแต่ละประเทศมีความสามารถทางเศรษฐกิจที่ไม่ทัดเทียมกัน  การดำเนินการที่ผ่านมาจึงต้องกำหนดช่วงเวลาเพื่อให้ประเทศในกลุ่มที่เข้าเจรจาสามารถปรับตัวและพร้อมเข้าสู่การค้าร่วมกันได้  อย่างเช่นภายใต้กรอบ AFTA ที่ไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนต่างเป็นสมาชิกร่วมกัน  แต่ในการดำเนินการนั้นปรากฏว่าการเปิดเขตเสรีระหว่างกันกลับมีช่วงเวลาไม่เท่าเทียมกัน  สินค้าประเภทหนึ่งสามารถซื้อขายได้อย่างเสรีกับประเทศหนึ่งแต่ยังไม่สามารถดำเนินการในลักษณะเดียวกันได้กับอีกประเทศหนึ่ง  เพราะแม้จะเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนแต่ประเทศบางประเทศก็อ้างความสามารถทางเศรษฐกิจเพื่อหน่วงระยะเวลาออกไปจนกว่าตนเองจะมีความพร้อมหรือมีความสามารถเพียงพอ


แต่ในขณะที่การดำเนินการค้าแบบทวิภาคี  หรือโดยการเจรจาสองฝ่ายนั้น  ประเทศคู่ค้าสองประเทศสามารถจับมือมานั่งเจรจาหาข้อตกลงที่ต่างฝ่ายต่างต้องการได้อย่างตรงไปตรงมา  สิ่งใดที่ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นอุปสรรคแล้วอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าตนสามารถยกประโยชน์ดังกล่าวให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งได้เพียงเท่านี้การเจรจาก็เป็นผลสำเร็จแล้ว  ไม่จำเป็นต้องรอความเห็นพร้อมอย่างการเจรจาแบบพหุภาคี  การเจรจาการค้าแบบทวิภาคีนี้แม้จะดูว่ามีความสะดวกสบายคล่องตัวในการเจรจาเพื่อหาผลประโยชน์ร่วมกัน  แต่หากพิจารณาลงไปให้ลึกซึ้งจะเห็นได้ว่าการเจรจาแบบทวิภาคีเป็นตัวการสำคัญในการขัดขวางการรวมกลุ่มประเทศไม่ให้เกิดขึ้นได้  หลายครั้งที่สินค้าประเภทหนึ่งถ้าค้าขายกับประเทศในอาเซียนแล้วจะมีมาตรฐานภาษีหรือมาตรฐานทางศุลกากรที่ต่างกับการค้าขายกับประเทศคู่ค้าที่เจรจาเปิด FTA ไว้  เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วการเจรจาในรูปแบบทวิภาคีจึงควรตระหนักถึงผลเสียในระยะยาวที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย

แล้วเจรจาหลายฝ่ายกับเจรจาฝ่ายเดียว  ตกลง...อะไรดีกว่ากัน 

หากพิจารณาแล้วย่อมไม่มีคำตอบที่ดีพอจะชี้ได้ว่าการเจรจาประเภทใดจะให้ผลประโยชน์แก่ประเทศไทยได้ดีกว่ากัน  จะมีก็แต่ภาครัฐบาลเท่านั้นที่ควรกระตุ้นเตือนให้ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมทั้งปวงของประเทศตื่นตัวและพร้อมรับกับการแข่งขันเสรีที่นับวันจะทวีความสำคัญมากขึ้นภายใต้ข้อตกลง WTO  และรัฐเองก็ควรมีช่องทางที่น่าสนใจต่อการขยายตัวของธุรกิจ-อุตสาหกรรมในประเทศด้วย  เพราะหากภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมของไทยแข็งแกร่งและมีรากฐานที่มั่นคงเพียงพอโดยรัฐไม่จำเป็นต้องให้การสนับสนุนอีกต่อไป  เมื่อนั้นไม่ว่าเราจะเจรจากี่ฝ่าย  สองฝ่ายหรือหลายฝ่าย  ก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป


นรุตม์  เจียมสมบูรณ์

เสนานิคม

๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 35329เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2006 22:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
อ่านแล้วค่ะ น่าสนใจมากค่ะ เป็นงานที่อาจารย์ว่า เป็นการศึกษา "วิธีการ" มากกว่า "สาระ" ของเรื่อง

เห้อ...จะได้กี่คะแนนเนี่ย

งานเสร็จแบบกระชั้นชิดขนาดนี้

อาจารย์สั่งมาตั้งนาน รู้อย่างนี้ทำเสียแต่เนิ่นๆก็คงดีหรอก...ไม่น่าเลยเรา

ไม่เป็นไร แก้ตัวคราวหน้า

นอต

ยังมีเวลาตบแต่งอีกหลายครั้งตามความขยัน แต่ต้องมีการส่งงานครั้งแรกก่อนเที่ยงคืนวันศุกร์ หากอยากได้คะแนนดีที่สุด เป็นคะแนนของวินัย

เราคิดว่างานที่นรุตม์ทำ อ่านง่ายดีนะ และปัญหาที่สำคัญของประเทศไทยคือเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศไทยเอง

ขอบคุณครับสำหรับทุกความเห็น

"...และปัญหาที่สำคัญของประเทศไทยคือเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศไทยเอง"

อืม...ความจริงแล้วนอตว่าที่เด่นชัดเลยน่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจมากกว่า  การจัดการเศรษฐกิจของประเทศถ้าสังเกตแล้วจะเห็นว่าขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ  ประเทศที่เจริญแล้วส่วนใหญ่ให้ความสำคัฐกับกระทรวงที่เกี่ยวกับการเงิน  การพาณิชย์  การอุตสาหกรรม  หรือให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน  ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างระบบเศรษฐกิจที่ดี  ประเทศไทยเองเพิ่งจะมีแนวโน้มไปในทิศทางดังกล่าวเมื่อไม่นานมานี้เอง  ทั้งนี้ก็เพราะที่ผ่านมารัฐบาลส่วนใหญ่เลือกที่จะทุ่มเทความสำคัญกับกระทรวงหรืองานในด้านที่สามารถเอื้อผลประโยชน์ให้แก่รัฐบาลเสียมากกว่า  ดังนั้นฐานรากทางเศรษฐกิจของไทยที่ควรจะได้รับการดูแลจากรัฐจึงอ่อนไหว  และเมื่อเผชิญกับปัญหาครั้งใหญ่ในปี ๔๐ เศรษฐกิจไทยจึงไม่สามารถต้านทางปัญหาดังกล่าวได้

อ่านแล้วค่ะ  เห็นว่าไม่ว่าจะเจรจากี่ฝ่ายนั้น  จะได้ประโยชน์สูงสุดจากการเจรจา ย่อมต้องขึ้นอยู่กับอำนาจในการต่อรองระหว่างรัฐที่เข้าร่วมเจรจานั่นเอง ถ้าอำนาจทางเศรษฐกิจของรัฐดังกล่าวมีฐานรากอันมั่นคงแล้ว  เชื่อว่าไม่ว่าจะเจรจาแบบใดๆ หรือกี่ฝ่ายย่อมไม่เป็นปัญหาอยู่แล้ว....ขอบคุณที่มีบทความที่กระตุ้นต่อมคิดให้อ่านค่ะ พี่น๊อต

ขอบคุณมากครับกิ๊ก

เอาไว้บทความน่านะ  จะเป็นเนื้อหาที่ต่อเนื่องขยายความออกไปอีกในแง่ของศักยภาพและความพร้อมของไทยในการแข่งขันครับ

นอต

เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะทุกวันนี้เศรษฐกิจของประเทศเราจำเป็นที่จะต้องติดต่อ ค้าขายกับต่างชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความตกลงทางการค้าจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะผลกระทบที่ตามมาจากความตกลงนั้น ย่อมส่งผลถึงประชาชนในประเทศนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ฉะนั้น รัฐจึงควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นอันดับแรก และควรสอดคล้องกับความพร้อมของประเทศในการแข่งขันทางการค้ากับต่างชาติ

การแร่งรีบเจรจาทำข้อตกลงทางการค้า โดยที่ไม่ได้ศึกษาถึงผลดี-ผลเสียอย่างถี่ถ้วน ย่อมจะเกิดปัญหาตามมาได้ภายหลัง เพราะต้องไม่ลืมว่าการป้องกันปัญหาที่จะเกิดมา ย่อมง่ายกว่าการที่ต้องมาตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบเหมือนงูกินหาง

หวังว่า ข้อตกลงทางการค้าของเราคงยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนมาเป็นที่ตั้งสูงสุด....

อ่านง่ายดีคะ แยกออกเป็นหัวข้อโดยใช้คำถามง่ายๆ ทำให้เข้าใจดีคะ

 

อยากรู้ความหมายของ คำว่า "ทวิภาคี" "ไตรภาคี" ที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท