งานวิจัยเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์


วิทยานิพนธ์ สาขาโสตทัศนศึกษา
บทคัดย่อวิทยานิพนธ์ สาขาโสตทัศนศึกษา

    สำหรับงานวิจัยที่นำเสนอในโครงการกระดานดำออนไลน์ครั้งนี้ ได้มาจากห้องสมุด
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผมได้รับความช่วยเหลือด้านการพิมพ์จาก
คุณชุติมา พรหมรักษา และคุณสุนิสา อมรกิจสุนทร นิสิตปริญญาโท สาขาโสตทัศนศึกษา
ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย

     แนวคิดที่ทำในครั้งนี้ ถ้าผมรวบรวมงานวิจัยของจุฬาฯ และเพื่อนๆ ต่างสถาบัน
ได้จัดทำเช่นเดียวกัน เราก็จะมีงานวิจัยที่สามารถสืบค้นได้โดยที่ไม่ต้องยุ่งยากเหมือน
เมื่อก่อนอีกแล้ว ในระยะแรกอาจจะยังไม่เป็นรูปเป็นร่างสมบูรณ์เท่าใดนัก แต่แน่นอนที่สุด
ผมจะต้องปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ครับ

ด้วยจิตคารวะ
จักรพงษ์  เจือจันทร์

บทคัดย่อ


 

ดาเรส ทิวทัศน์ :
ผลของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ปรากฏและไม่ปรากฏกรอบพื้นที่ที่
นำเสนอที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
(EFFECT OF COMPUTER ASSITED INSTRUCTION LESSON WITH
AND WITHOUT THE PRESENCE OF FUNCTIONAL AREAS UPON
LEARNING ACHIEVEMENT OF PRATHOM SUKSA SIX STUDENTS )
อ . ที่ปรึกษา : อาจารย์ ดร. วิชุดา รัตนเพียร
80 หน้า. ISBN 974-633-434-4

    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระดับ
ประถมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนโดยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ปรากฏและไม่ปรากฏกรอบ
พื้นที่ในการนำเสนอ

กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนวันครู จำนวนทั้งสิ้น 120 คน
แบ่งนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม ด้วยการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย กลุ่มละ 60 คน กลุ่มทดลองกลุ่ม
แรกศึกษากับบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ปรากฏกรอบพื้นที่ที่นำเสนอ กลุ่มทดลองที่สอง
ศึกษากับบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ไม่ปรากฏกรอบพื้นที่ที่นำเสนอ เมื่อนักเรียนจบ
บทเรียนแล้วมีการทดสอบหลังเรียนทันที

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ t-test พบว่า
    นักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
ที่ปรากฏและไม่ปรากฏกรอบพื้นที่ที่นำเสนอ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่แตกต่างกันอย่าง
มีนัยสำคัญ

Top

ดุจแข นาคใหญ่ :
สภาพ ปัญหา และความต้องการเกี่ยวกับปัจจัยสนับสนุนการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนใน
โรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา กรุงเทพมหานคร
(STATE , PROBLEMS AND NEEDS CONCERNING SUPPORTING FACTORS
OF USING COMPUTER-ASSISTED INSTRUCTION IN SECONDARY
SCHOOLS UNDER THE JURISDICTION OF THE DEPARTMENT OF
GENERAL EDUCATION, BANGKOK METROPOLIS )
อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ดร. อรจรีย์ ณ ตะกั่วทุ่ง ,
208 หน้า . ISBN 974-634-543-5

    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจสภาพ ปัญหา และความต้องการ เกี่ยวกับปัจจัย
สนับสนุนการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนในโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา
กรุงเทพมหานคร ปัจจัยที่ศึกษา ได้แก่ ความรู้ นโยบาย งบประมาณ เครื่องคอมพิวเตอร์
และอุปกรณ์ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ห้องเรียน
คอมพิวเตอร์ช่วยสอน บุคลากรคอมพิวเตอร์ และแหล่งสนับสนุน กลุ่มตัวในการวิจัย ได้แก่
ผู้บริหารจำนวน 114 คน ครูผู้รับผิดชอบงานคอมพิวเตอร์จำนวน 114 คน และหัวหน้าหมวด
วิชาจำนวน 912 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ ได้แก่ ความถี่
และร้อยละ

ผลการวิจัยพบว่า :

  1. ผู้บริหาร ครู และครูผู้รับผิดชอบงานคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่มีความรู้เรื่องทั่วไปเกี่ยว
    กับคอมพิวเตอร์ การใช้โปรแกรมสำเร็จรูป และประโยชน์ของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
    โรงเรียนส่วนใหญ่มีนโยบายส่งเสริมการอบรมดูงานด้านคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
    มีงบประมาณจากสมาคมศิษย์เก่าผู้ปกครองและครู มีคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่
    จำเป็น แต่ยังไม่มี และยังไม่มีห้องเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน โดยเฉพาะบทเรียน
    คอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่มีมากที่สุด คือ แบบฝึกหัด ส่วนใหญ่ครูเป็นผู้สร้างบทเรียน
    เอง ครูหมวดวิทยาศาสตร์ใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน มากที่สุด ครูผู้รับผิด
    ชอบงานคอมพิวเตอร์ครึ่งหนึ่งไม่ทราบชื่อหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนคอมพิวเตอร์
    ช่วยสอน และโรงเรียนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการติดต่อประสานงานจาก
    ศูนย์นวัตกรรมและการนิเทศทางไกล
  2. ปัญหาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ที่สำคัญได้แก่ โรงเรียนมีนโยบายเกี่ยวกับ
    คอมพิวเตอร์ช่วยสอนไม่ชัดเจน ไม่ได้รับงบประมาณจากกรมสามัญศึกษา
    เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์มีจำนวนน้อย และมีขีดความสามารถจำกัด
    โรงเรียนจัดหาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไม่ได้ ครูไม่มีเวลาใช้บทเรียน
    คอมพิวเตอร์ช่วยสอนและไม่มีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ช่วยสอน นักเรียนส่วน
    ใหญ่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่เป็น ไม่มีห้องเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนโดยเฉพาะ
    มีบุคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ช่วยสอนน้อย และไม่มีหน่วยงานใน
    โรงเรียนให้ความช่วยเหลือแก่ครู
  3. ความรู้ที่เป็นที่ต้องการได้แก่ การใช้โปรแกรมสำเร็จรูป การซ่อมบำรุงและดูแล
    รักษาเครื่องคอมพิวเตอร์ การสร้างและการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
    วิธีการได้รับความรู้ที่ต้องการมากที่สุด คือ การฝึกอบรม ผู้บริหารต้องการให้หน่วย
    งานระดับกรมกำหนดนโยบายให้ชัดเจน ต้องการงบประมาณจากงบประมาณ
    แผ่นดิน และสมาคมศิษย์เก่าผู้ปกครองและครู ต้องการเครื่องคอมพิวเตอร์และ
    อุปกรณ์เพิ่มมากขึ้นกว่าที่มีอยู่ รวมทั้งต้องการ และ โรงเรียนต้องการให้มีบทเรียน
    คอมพิวเตอร์ช่วยสอน สำหรับวิชาคณิตศาสตร์มากที่สุด ต้องการห้องเรียน
    คอมพิวเตอร์ช่วยสอนโดยเฉพาะ และต้องการเจ้าหน้าที่ประจำห้องคอมพิวเตอร์
    ที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ต้องการการสนับสนุนจาก
    หน่วยงานระดับกรม ต้องการให้ศูนย์นวัตกรรม และการนิเทศทางไกลจัดอบรม
    เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และแจกบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

Top

นิภาพร จีวัลย์ :
ลักษณะที่เหมาะสมของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับเด็กอนุบาลตามความคิด
เห็นของครูอนุบาลในโรงเรียนเอกชน กรุงเทพมหานคร
(APPROPRIATE FEATURES OF COMPUTER-ASSISTED INSTRUCTION
LESSONS FOR KINDERGARTENERS AS PERCEIVED BY
KINDERGARTEN TEACHERS IN PRIVATE SCHOOLS ,
BANGKOK METROPOLIS )
อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ ดร. วิชุดา รัตนเพียร ,
157 หน้า. ISBN 974-633-542-1 

    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเห็นของครูอนุบาลเกี่ยวกับลักษณะ
รูปแบบที่เหมาะสมของการนำเสนอ และเทคนิคการออกแบบบทเรียนคอมพิวเตอร์
ช่วยสอนสำหรับเด็กอนุบาล กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย คือ ครูผู้สอนและผู้ควบคุมกิจกรรม
การเรียนการสอนด้วยคอมพิวเตอร์ในระดับอนุบาล จำนวน 108 คน ผลการวิจัยพบว่า

  1. ลักษณะรูปแบบที่เหมาะสมของการนำเสนอบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
    สำหรับเด็กอนุบาล ควรมีลักษณะดังนี้ ควรมีตัวอักษรหลายขนาดในบทเรียน
    รูปแบบตัวอักษรเป็นตัวหนา โทนสีตัวอักษรควรเป็นสีโทนเข้มบนพื้นสีโทนอ่อน
    และตัวอักษรภาษาไทยควรเป็นแบบหัวกลม ลักษณะภาพประกอบบทเรียนที่
    เหมาะสม คือ ภาพการ์ตูน ด้านการเคลื่อนไหวของภาพควรเป็นลักษณะที่เหมือน
    จริง และควรใช้เสียงประกอบในการนำเสนอบทเรียน
  2. เทคนิคการออกแบบบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับเด็กอนุบาลควรมี
    ลักษณะดังนี้ ใช้ภาพที่เคลื่อนไหวเร้าความสนใจของผู้เรียนก่อนเรียน ครูผู้สอน
    ควรเป็นผู้บอกวัตถุประสงค์ของบทเรียน และมีการทบทวนความรู้เดิมก่อนเรียน
    โดยวิธีกระตุ้นให้ผู้เรียนย้อนคิด ซึ่งผู้เรียนควรเป็นผู้ควบคุมบทเรียนเอง โดยบทเรียน
    ควรมีการนำเสนอด้วยภาพที่เคลื่อนไหวและใช้เกม ด้านการเสนอเนื้อหาบทเรียนควร
    ใช้สัญลักษณ์เป็นตัวชี้แนะแนวทางการเรียนรู้ ควรมีการ กระตุ้นให้ผู้เรียนตอบสนอง
    ต่อบทเรียน และให้ผู้เรียนโต้ตอบกับบทเรียนโดยใช้คีย์บอร์ด ควรใช้วิธีการสุ่มเลือก
    ให้ข้อมูลย้อนกลับต่อผู้เรียนและควรให้ทันที นอกจากนี้บทเรียนควรมีการประเมินผล
    ในช่วงก่อนเริ่มเรียนเนื้อหาใหม่

Top

วาสนา ศรีอัครลาภ :
การวิเคราะห์ลักษณะของโปรแกรมช่วยสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
(A FEATURE ANALYSIS OF COMPUTER-ASSITED INSTRUCTION
AUTHORING SYSTEM )
อาจารย์ที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุกรี รอดโพธิ์ทอง,
111 หน้า. ISBN 974-633-695-9

    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ลักษณะของโปรแกรมช่วยสร้างบทเรียน
คอมพิวเตอร์ช่วยสอนในด้านลักษณะทั่วไปของฮาร์ดแวร์ , ลักษณะในการใช้สร้างบทเรียน
และลักษณะในการติดต่อกับผู้ใช้ของโปรแกรมช่วยสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน 4
โปรแกรม ได้แก่ โปรแกรมไทยทัศน์ , จุฬา CAI , Authorware Professional และ
Multimedia Toolbook เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบวิเคราะห์ลักษระของโปรแกรม
ช่วยสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่พัฒนาโดยมีพื้นฐานจากงานวิจัย และ ทฤษฎีการ
ออกแบบการสอน

สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้

  1. ลักษณะทั่วไปของฮาร์ดแวร์ ทั้ง 4 โปรแกรมสามารถใช้งานได้กับเครื่อง PC ที่มี
    CPU 80386 ขึ้นไปได้ ใช้ได้กับเครื่องที่มีหน่วยความจำหลัก ( RAM) 4 MB ขึ้นไป
    ได้ ทำงานได้โดยอาศัยฮาร์ดดิสก์ และใช้กับจอภาพแบบ VGA และ SVGA ชนิดสี
    ได้, โปรแกรม Authorware และ Multumedia Toolbook ทำงานในระบบ
    Windows ส่วนโปรแกรม ไทยทัศน์ และจุฬา CAI ทำงานในระบบ DOS
  2. โปรแกรม Authorware และ Multumedia Toolbook มีลักษณะในการใช้สร้าง
    บทเรียนด้านตัวอักษร , ภาพและกราฟิก และการมีปฏิสัมพันธ์ มากที่สุดเท่ากัน
    และทุกโปรแกรมมีลักษณะในการสร้างบทเรียนด้านการประเมินผลพื้นฐานเท่ากัน
  3. โปรแกรม Authorware และ Multumedia Toolbook มีลักษณะในการติดต่อกับ
    ผู้ใช้มากที่สุดเท่ากัน
  4. โปรแกรม Authorware มีลักษณะสอดคล้องกับเกณฑ์การวิเคราะห์มากที่สุด เมื่อ
    เปรียบเทียบกับโปรแกรม Multumedia Toolbook ซึ่งทำงานในระบบ Windows
    เหมือนกัน โดยมีลักษณะที่ต่างกันในเรื่องของการทดสอบโปรแกรมการใช้งาน ,
    การใช้ภาพจากโปรแกรมอื่น และการเขียนสคริปต์เพื่อสร้างบทเรียนของโปรแกรม
    Multumedia Toolbook
  5. โปรแกรม ไทยทัศน์ และจุฬา CAI ซึ่งทำงานในระบบ DOS มีลักษณะที่ต่างกันใน
    เรื่องของชนิด และขนาดตัวอักษร การกำหนดการวางตำแหน่ง และการแสดง
    ข้อความ ขนาด และการเคลื่อนที่ของตัวอักษร และการสร้างภาพกราฟิก การใช้
    ภาพเคลื่อนไหวจากโปรแกรมอื่นๆ การใช้เสียงและการทดสอบโปรแกรม
    การใช้งาน

Top

ศิริพร หัตถา :
ผลของการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ให้การเสริมแรงด้วยเกมคอมพิวเตอร์
ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษเรื่องการใช้บุพบทของนักเรียนชั้นประถม
ศึกษาปีที่ 6 ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษต่ำ
(EFFECTS OF COMPUTER ASSIฆTED INSTRUCTION WITH COMPUTER
GAMES AS A REINFORCEMENT UPON ENGLISH LEARNING
ACHIEVEMENT ON PREPOSITION USAGE OF PRATHOM SUKSA SIX
STUDENTS WITH LOW ENGLISH LEARNING ACHIEVEMENT )
อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ.ดร. สุกรี รอดโพธิ์ทอง ,
92 หน้า. ISBN 974-633-463-8

    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียน
จากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ได้รับการเสริมแรงด้วยเกมคอมพิวเตอร์ กับนักเรียน
ที่เรียนจากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ไม่ได้รับการเสริมแรงด้วยเกมคอมพิวเตอร์

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนอุดม
ศึกษา ปีการศึกษา 2538 จำนวน 50 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เรียนจากบทเรียน
คอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ได้รับการเสริมแรงด้วยเกมคอมพิวเตอร์ กับนักเรียนที่เรียนจาก
บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ไม่ได้รับการเสริมแรงด้วยเกมคอมพิวเตอร์ เมื่อเรียนจบ
บทเรียนแล้วมีการทดสอบหลังการเรียน นำข้อมูลที่รวบรวมได้มาวิเคราะห์หาค่าที ( t - test )

ผลการวิจัยพบว่า
    นักเรียนที่ได้เรียนจากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ได้รับการเสริมแรงด้วยเกม
คอมพิวเตอร์กับนักเรียนที่ได้เรียนจากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ไม่ได้รับการเสริมแรง
ด้วยเกมคอมพิวเตอร์มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทาง
สถิติที่ระดับ 0.01

Top

สุพจน์ มงคลพิชญรักษ์ :
ผลของการกำหนดระดับการควบคุมความก้าวหน้าในการเรียนโดยโปรแกรมใน
บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์ต่ำ
(EFFECTED OF PROGRAM CONTROL DEGREE OF LEARNING PACE
IN COMPUTER-ASSITED INSTRUCTION LESSON UPON LEARNING
ACHIVEMENT IN SCIENCE SUBJECT OF MATHAYOM SUKSA THREE
STUDENTS WITH LOW LEARNING ACHIEVEMENT IN SCIENCE SUBJECT)
อ.ที่ปรึกษา : ผศ.ดร. สุกรี รอดโพธิ์ทอง ,
100 หน้า. ISBN 974-632-625-2

    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการกำหนดระดับการควบคุมความ
ก้าวหน้าในการเรียน โดยโปรแกรมในบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์
ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และเวลาที่ใช้ในการเรียน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนใช้วิชาวิทยาศาสตร์ต่ำ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้
เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2538 จำนวน 80 คน จากโรงเรียน
เสาไห้ “วิมลวิทยานุกูล” การกำหนดระดับการควบคุมความก้าวหน้าในการเรียนโดย
โปรแกรมที่ศึกษา คือ การกำหนดความก้าวหน้าโดยโปรแกรม และการกำหนดความ
ก้าวหน้าโดยโปรแกรมและกำหนดเวลาที่ใช้ในการเรียน

ผลการวิจัยพบว่า

  1. ผู้เรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์ต่ำ เมื่อเรียนด้วยบทเรียน
    คอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่มีการกำหนดระดับการควบคุมความก้าวหน้าในการเรียน
    โดยโปรแกรม ในบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนต่างกัน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
    ไม่แตกต่างกัน
  2. ผู้เรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์ต่ำ เมื่อเรียนด้วยบทเรียน
    คอมพิวเตอร์ที่มีการกำหนดระดับการควบคุมความก้าวหน้าในการเรียนโดย
    โปรแกรมในบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนต่างกัน ใช้เวลาในการเรียนแตกต่างกัน
    อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Top

สุเมธ หัตถา :
การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านพุทธิพิสัย “วิชาไฟฟ้า
“ระหว่างนักเรียนหญิงและนักเรียนชาย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนด้วยบทเรียน
คอมพิวเตอร์ช่วยสอนและการสอนแบบบรรยายประกอบสาธิต
(A COMPARISON OF COGNITIVE LEARNING LEARNING ACHIEVEMENT
IN ELECTRICS SUBJECT BETWEEN MALE AND FEMALE STUDENTS IN
MATHAYOM SUKSA TWO LEARNING BY COMPUTER-ASSITED
INSTRUCTION LESSON AND LECTURE WITH DEMONSRATION)
อาจารย์ที่ปรึกษา : รศ.สมเชาว์ เนตรประเสริฐ ,
161 หน้า. ISBN 974-633-443-3

    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้าน
พุทธิพิสัยในวิชาไฟฟ้า ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์
ช่วยสอนกับที่เรียนด้วยการสอนแบบบรรยายประกอบการสาธิต และเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์
ทางการเรียนด้านพุทธิพิสัยของนักเรียนชายและนักเรียนหญิง ที่เรียนด้วยบทเรียน
คอมพิวเตอร์ช่วยสอนกับที่เรียนด้วยการสอนแบบบรรยายประกอบการสาธิต กลุ่มตัวอย่างคือ
นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ที่มีผลการเรียนกระดับกลาง
จำนวน 60 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่มๆละ 30 คน ซึ่งประกอบด้วยนักเรียนชายกลุ่มละ 15 คน
และนักเรียนหญิงกลุ่มละ 15 คน

ผลการวิจัยพบว่า

  1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านพุทธิพิสัยของนักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์
    ช่วยสอนกับนักเรียนที่เรียนด้วยการสอนแบบบรรยายประกอบการสาธิตไม่แตกต่างกัน
  2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านพุทธิพิสัยของนักเรียนหญิงและนักเรียนชายที่เรียนด้วย
    บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไม่แตกต่างกัน
  3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านพุทธิพิสัยของนักเรียนหญิงและนักเรียนชายที่เรียนด้วย
    การสอนแบบบรรยายประกอบการสาธิตไม่แตกต่างกัน

Top

นายสุรพล บุตรศรีด้วง :
ผลของความเชื่อมั่นในตนเองและประเภทของผลย้อนกลับในบทเรียนคอมพิวเตอร์
ช่วยสอนที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชา คณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
( EFFECTS OF SELF-CONFIDENCE AND TYPES OF FEEDBACK ON
MATHEMATICS LEARNING ACHIEVEMENT IN COMPUTER-ASSISTED
INSTRUCTION LESSON OF MATHAYOM SUKSA ONE STUDENTS )
อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ.ดร. อรจรีย์ ณ ตะกั่วทุ่ง , 93 หน้า. ISBN 974-633-486-7

    การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อมั่นในเตนเองและ
ประเภทของผลย้อนกลับในบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
วิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองในครั้งนี้
เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากโรงเรียนอ้อมน้อยโสภณชนูปถัมภ์ ปีการศึกษา 2538
จำนวน 60 คน ระดับของความเชื่อมั่นในตนเองสร้างตามแนวความคิดของ Harisson G.
Gough, Alfred B. Heilbum, A.H. Maslow และ วินัย ธรรมศิลป์ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
ระดับสูง , กลาง และต่ำ ประเภทของผลย้อนกลับแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ แบบบอกข้อ
เท็จจริง และแบบให้กำลังใจ

ผลการวิจัยสรุปได้ว่า

  1. ไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างระดับความเชื่อมั่นในตนเองกับประเภทของผลย้อนกลับในบทเรียน
    คอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยม
    ศึกษาปีที่ 1
  2. ไม่มีความแตกต่างระหว่างความเชื่อมั่นในตนเองระดับสูง , ระดับกลางและระดับต่ำต่อผล
    สัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนจากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
  3. ไม่มีความแตกต่างระหว่างประเภทของผลย้อนกลับแบบบอกข้อเท็จจริงและแบบให้กำลังใจ
    ต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนจากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

Top

 

อำนวยพร เตชไกรชนะ :
ประเภทของการให้ผลย้อนกลับในบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบสถานการณ์จำลองที่มี
ผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาจิตเวชศาสตร์ของนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5
(TYPES OF FEEDBACK IN SIMULATION COMPUTER-ASSITED INSTRUCTION
LESSON UPON PSYCHIATRY LEARNING ACHIEVEMENT OF THE FIFTH YEAR
MEDICAL STUDENTS )
อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ. ดร. กิดานันท์ มลิทอง ,
111 หน้า. ISBN 974-633-656-8

    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประเภทของการใช้ผลย้อนกลับในบทเรียน
คอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบสถานการณ์จำลองที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาจิตเวช
ศาสตร์ของนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้ เป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5
จากคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย
ศรีนครินทรวิโรฒ ปีการศึกษา 2538 จำนวน 40 คน สุ่มตัวอย่างแบบง่าย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มละ 20 คน ศึกษาจากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบสถานการณ์จำลองที่มีผลย้อน
กลับ 2 แบบ คือ ผลย้อนกลับแบบธรรมชาติ และผลย้อนกลับแบบประดิษฐ์ นำคะแนนจากการ
ทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนของทั้งสองกลุ่มมาวิเคราะห์โดยใช้ค่า t – test

ผลการวิจัยพบว่า
    กลุ่มตัวอย่างที่เรียนจากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบสถานการณ์จำลองที่มีผลย้อน
กลับแบบธรมมชาติและแบบประดิษฐ์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่แตกต่างกันที่ระดับ
นัยสำคัญทางสถิติ 0.05

Top


next

หมายเลขบันทึก: 35303เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2006 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พำพาพาเเด้ดืดททด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท