โรคไตเรื้อรังและไตวาย


อาการของโรคไตเรื้อรังและการตรวจเพื่อหาโรคไต

ท่านผู้อ่านทุกท่าน

         สวัสดีครับ  วันนี้หลายคนไม่ทราบอาการของโรคไต และความสูญเสียที่จะเกิดเมื่อเป็นโรคไต  ดังนั้น  เมื่อคนมีอายุมากกว่า  30  ปี  ไตจะเริ่มทำงานลดลงหรือเสื่อมอย่างช้า  ๆ  ตามอายุขัย  โดยเฉลี่ยจะลดลงประมาณ  1  %  ต่อปี  แต่เมื่อเกิดโรค   ไตจะเสื่อมลงเร็วกว่าปกติ  กรณีที่ไตเสื่อมลงอย่างรวดเร็วหรือหยุดทำงานทันทีเรียกว่า  "โรคไตวายเฉียบพลัน"  ซึ่งไตอาจจะฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ถ้าได้รับการรักษาที่เหมาะสม  แต่ถ้าไตเสื่อมลงอย่างช้า  ๆ  ต่อเนื่องทำให้ไตเกิดความผิดปกติถาวรเรียกว่า  "โรคไตเรื้อรัง"  กรณีที่ไตเกิดความเสื่อมอย่างมาก (ไตทำงานได้น้อยกว่า  15  %  ของไตคนปกติ )  จะเรียกว่า  "โรคไตวายระยะสุดท้าย" 

โรคไตเรื้อรังเกิดจากหลายสาเหตุ  ได้แก่

        1.  โรคเรื้อรัง  ได้แก่  เบาหวาน  ความดันโลหิตสูง  โรคเอสแอลอี (ภูมิคุ้มกันผิดปกติ)  โรคเก๊าท์  นิ่วในไต  ไตอักเสบ  การติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะซ้ำ ๆ  เป็นต้น

        2.  ผลข้างเคียงจากการใช้ยาและสารเคมีต่าง ๆ  ได้แก่  ยาแก้ปวดโดยเฉพาะยาที่เรียกว่า  "เอ็นเสด"  ยาลดความดันโลหิต  ยาปฏิชีวนะ  ยาลดความอ้วน  เป็นต้น

        3.  กรรมพันธุ์ หรือความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด  เช่น  เด็กที่มีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 2,500  กรัม  (สองกิโลครึ่ง)   โดยไตของเด็กเหล่านี้จะทำงานน้อยกว่าเด็กทั่วไป  เด็กที่มีความผิดปกติของไตโดยกำเนิด  เช่น  ไตมีขนาดเล็ก  มีการอุดตันของระบบทางเดินปัสสาวะ  หรือ  โรคถุงน้ำในไต  เป็นต้น

        ผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าไตทำงานผิดปกตินานติดต่อกันเกินกว่า  3  เดือนโดยไม่หาย  ถือว่าเป็น  "โรคไตเรื้อรัง"  ซึ่งสามารถแบ่งได่เป็น  5  ระยะคือ

        โรคไตเรื้อรังระยะที่   1   ไตยังทำงานปกติ  แต่ตรวจพบความผิดปกติของไต  เช่น   ปัสสาวะมีตะกอนผิดปกติ  อาจจะเรียกได้ว่า  "ไตเริ่มผิดปกติ" 

        โรคไตเรื้อรังระยะที่  2  ไตทำงานเหลือ  60 - 90  %  หรือ  "ไตเรื้อรังระยะเริ่มต้น"

        โรคไตเรื้อรังระยะที่  3  ไตทำงานเหลือ  30 -  60  %  หรือ  "ไตเรื้อรังระยะปานกลาง"

        โรคไตเรื้อรังระยะที่  4  ไตทำงานเหลือ  15 - 30  %  หรือ "ไตเรื้อรังเป็นมาก"

        โรคไตเรื้อรังระยะที่  5  ไตทำงานเหลือน้อยกว่า  15  %   หรือ  "ไตวาย" 

อาการของโรคไตเรื้อรังและการตรวจเพื่อหาโรคไต

        ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคไตเรื้อรังโดยเฉพาะในระยะแรก ๆ  มักจะไม่รู้ว่าตนเป็นโรคไตเรื้อรัง  เนื่องจากไม่ปรากฎอาการที่ชัดเจนให้รู้  หรือมีอาการแต่ไม่รู้ว่า  ไตเสื่อม  ดังนั้นจึงไม่สามารถจะวินิจฉัย  "โรคไตเรื้อรัง"  จากอาการได้โดยง่ายต้องอาศัยการตรวจเลือดและปัสสาวะ

        อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่ต้องสงสัยว่า  "อาจจะมีโรคไต"  หรือ  "เสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรัง"  ได้แก่  ผู้ป่วยที่มีโรคที่เป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรังดังได้กล่าวมาแล้ว  และผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางปัสสาวะทุกชนิด  เช่น  ปัสสาวะเป็นเลือด  ปัสสาวะมีฟองหรือโปรตีน  ปัสสาวะเป็นก้อนนิ่ว  ไม่สะดวก  ขัด  สะดุด  ต้องเบ่งนาน  ปัสสาวะแสบ  ขุ่น  ปัสสาวะออกน้อย  หน้าบวม  ความดันโลหิตสูง  ปัสสาวะบ่อย  หรือต้องตื่นมาปัสสาวะตอนดึก (ไม่ได้ดื่มน้ำมากก่อนนอน)  อาการเหล่านี้บ่งถึง  "โรคไต"  ทั้งสิ้น  ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวจะต้องได้รับการตรวจหาโรคไต  ก่อนจะบอกว่าไม่ใช่โรคไตก็ได้

       ในการตรวจหาโรคไตเรื้อรัง  ท่านอาจขอรับการตรวจสุขภาพไตง่าย ๆ    3  อย่างที่โรงพยาบาล  หรือคลีนิก  โดยท่านไม่จำเป็นต้องงดอาหาร  การตรวจทั้งสามอย่าง  ได้แก่  1.  การวัดความดันโลหิต    2.  การตรวจปัสสาวะ  3.  การตรวจเลือด  หาระดับสารที่เรียกว่า  "ครีอะตินีน-creatinine" 

ท่านที่มีสุขภาพไตปกติควรจะมีผลตรวจดังนี้

        1.  ความดันโลหิตต่ำกว่า  130/80  มม.ปรอท

        2.  ผลการตรวจปัสสาวะ  ปกติ

        3.  ระดับครีอะตินีนในเลือด  มีค่าต่ำกว่า  1.2  มก. %  อย่างไรก็ตาม  หมอจะต้องเป็นผู้อ่านผลตรวจและให้การวินิจฉัยโรคไตเรื้อรังแก่ท่านเอง

การดูแลรักษาโรคไตเรื้อรังระยะต่าง ๆ

        การดูแลรักษาโรคไตเรื้อรังมีหลายอย่าง  ซึ่งจะต้องรักษาตามระยะของโรคไตเรื้อรังต่าง ๆ  กันดังนี้

        -โรคไตเรื้อรังระยะที่  1  งดสูบบุหรี่  รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรัง

        -โรคไตเรื้อรังระยะที่  2  จำกัดอาหารเค็ม

        -โรคไตเรื้อรังระยะที่  3  จำกัดอาหารโปรตีน

        -โรคไตเรื้อรังระยะที่  4  จำกัดการกินผลไม้

        -โรคไตเรื้อรังระยะที่  5  เตรียมตัวรับการล้างไต  หรือ  ผ่าตัดปลูกถ่ายไต

       ท่านอ่านแล้วคงระวัง  และหมั่นตรวจดูแลสุขภาพให้ดี  อย่าเป็นโรคไตนะครับ

                สมพงษ์/พิมพ์/เผยแพร่

หมายเลขบันทึก: 352857เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2010 19:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณค่ะ พอลล่ากำลังจะจัด http://gotoknow.org/blog/paula-story/350040 ชวนไปร่วมกิจกรรมด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท