อินเทอร์เน็ตกับการสื่อสารทางการเมืองไทย


อินเทอร์เน็ต,การสื่อสารทางการเมืองไทย

อินเทอร์เน็ตกับการสื่อสารทางการเมืองไทย

บาว นาคร* 

 

ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางการเมืองและวิกฤติทางการเมืองในปัจจุบันนั้น ทำให้การสื่อสารทางการเมืองไทยได้มีกระบวนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น กระบวนการสื่อสารทางการเมืองที่เป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่และกลยุทธ์การสื่อสารแบบใหม่ คือการใช้อินเทอร์เน็ต มาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองของแต่ละฝ่ายไม่ว่าจะเป็น Facebook ,Twitter หรือแม้กระทั่ง Clip ทาง Youtube ที่ต่างฝ่ายก็นำเสนอมุมมองและข้อมูลที่สนับสนุนฝ่ายของตนเองว่าถูกต้อง รวมทั้งการใช้การ VDO Link, Phone-In ในการต่อสู้และโต้ตอบกันในการสื่อสารทางการเมืองในยุคปัจจุบัน ตลอดจนการสร้างวาทกรรมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น “ไพร่กับอำมาตย์” หรือ ศัพท์ที่สื่อความหมายทางการเมือง เช่น เหวง เป็นต้น ทำให้พื้นที่ทางการเมืองนอกจากเป็นพื้นที่บนท้องถนนแล้ว ยังมีพื้นที่สาธารณะทางอินเทอร์เน็ตซึ่งไม่จำเป็นต้องแสดงตัวตนที่แท้จริงของตนเองและสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่

กลุ่มการเมืองทางอินเทอร์เน็ตเป็นชุมชนเสมือนจริงที่ไม่มีการพบปะกัน แต่มีแนวความคิดหรือวัตถุประสงค์ที่เหมือนกัน และรวมตัวกันทางชุมชนออนไลน์ ทำให้มิติทางการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงมาสู่เครือข่ายทางสังคมรูปแบบใหม่ (New Social Network) หากย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่นำเอามือถือมาเป็นเครื่องมือในการรวมกลุ่มทางการเมือง หรือแสดงออกทางการเมือง ที่เรียกกันว่า “ม๊อบมือถือ” ก็มีพลังเป็นอย่างมากในสมัยนั้น ทำให้เห็นถึงพัฒนาการของการใช้เครื่องมือการสื่อสารทางการเมืองเป็นลำดับ

ปัจจุบันแม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการต่างๆ ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการในการเจรจาจนกระทั่งมาถึงเหตุการณ์ที่เกิดความสูญเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ทหารในวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่ผ่านมานั้น แต่รัฐบาลก็ยังไม่สามารถจัดการความขัดแย้งทางการเมืองและทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมืองได้

ดังนั้น กระบวนการทำความจริงให้ปรากฎว่าเหตุการณ์ในวันที่ 10 เมษายนนั้นว่าเป็นการกระทำที่เกิดจากกลุ่มใดที่ทำร้ายเข่นฆ่าประชาชน และเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้ง สถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ และอินเทอร์เน็ต ได้แก่ twitter, facebook, youtube มาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารทางการเมืองและการค้นหาข้อเท็จจริง และเป็นหลักฐานในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนเป็นข้อโต้แย้งระหว่างกัน ทำให้เกิดความสับสนแก่ประชาชนโดยทั่วไปว่า แหล่งข้อมูลจากที่ใดเป็นข้อเท็จจริง

อีกมิติหนึ่งทางการเมือง คือ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มออนไลน์ทาง facebook ที่มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองซึ่งมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน ได้มีการรวมกลุ่มกันเป็นชุมชนเสมือนจริงทางการเมือง ตลอดจนการนำข้อมูลข่าวสารมาใช้ในการสนับสนุนอุดมการณ์ความเชื่อของตนและหักล้างทำลายความเชื่อถือของข้อมูลอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเสมือนสงครามข้อมูลข่าวสาร (war of information)  ทำให้เห็นถึงพัฒนาการของการสื่อสารทางการเมืองของประเทศไทย ซึ่งเริ่มจากการสื่อสารแบบทางเดียวมาเป็นการสื่อสารแบบสองทาง และมีการโต้ตอบทางการสื่อสารมากขึ้น ทำให้เกิดการสร้างการเมืองแบบเสมือนจริง (virtual politics) มากขึ้นตามลำดับ และการสื่อสารทางการเมืองจากที่รัฐเป็นผู้กุมอำนาจเพียงผู้เดียวมาสู่การที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการสื่อสารมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การที่ประชาชนทั่วไปได้รับข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารทางการเมืองจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีการพิจารณาอย่างพินิจพิเคราะห์ถึงข้อมูลด้วยความมีเหตุมีผล และรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงทางการเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐบาล สื่อมวลชน ควรมีมิติการสื่อสารเพื่อสร้างความกระจ่างในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไขปัญหาข้อสงสัยต่างๆ รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงแก่ประชาชนอย่างเร่งด่วน

 

 

 


* บุญยิ่ง ประทุม [email protected]

หมายเลขบันทึก: 352446เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2010 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ส่วนใหญ่ที่เล่นเนตในระดับปัญญาชนมีการติดตามทางการเมืองในระดับหนึ่ง

เมื่อคอการเมืองเดียวกัน ก็ติดต่อพูดคุยตลอดเรื่อยมา

ยามที่บ้านเมืองมีปัญหา เมื่อมีผู้นำมาเป็นผู้ประสานก็ง่ายต่อการสื่อสารรวมตัวเพราะคอเดียวกัน

จึงมีภาพปรากฎเป็นข่าวว่ารวมตัวกันชุมนุมทุกๆเย็นเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมในแต่ละวัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท