วราภรณ์
นางสาว วราภรณ์ (ดอกไผ่) ธรรมทิพย์สกุล

ก่อพระเจดีย์ทรายกันทำไม ?


            ช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลวันสงกรานต์มีกิจกรรมต่าง ๆ  ที่ส่งเสริมให้สร้างบุญสร้างกุศลมากมาย      กิจกรรมหนึ่งซึ่งมักนิยมทำกันก็คือการก่อพระเจดีย์ทราย 

            การก่อพระเจดีย์ทรายมีประวัติความเป็นมาอย่างไร   แล้วให้ข้อคิดปริศนาธรรมอย่างไรบ้าง  ผู้อ่านเคยสงสัยบ้างไหมคะ ?  จากการศึกษาข้อมูล  และมีโอกาสสนทนาธรรมกับผู้รู้   ท่านได้ชี้แนะ  จึงขออนุญาตนำมาบอกเล่าเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ

             ตำนานการก่อเจดีย์ทรายมีมา ตั้งแต่สมัยพุทธกาล   พระเจ้าปเสนทิโกศลพร้อมด้วยข้าราชบริพาร  เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า   ระหว่างทางเดินเห็นทรายสวยงาม  จึงก่อเจดีย์พร้อมกับบริวารได้แปดหมื่นสี่พันองค์   ถวายเป็นพุทธบูชา     ธรรมบูชา  และสังฆบูชา

             จากนั้นก็เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเล่าเรื่องนี้ให้พระองค์ฟัง     และถามถึงอานิสงส์     ทราบว่า  "...การที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาก่อเจดีย์ทรายถึง ๘ หมื่น ๔ พันองค์หรือเพียงองค์เดียวก็ได้อานิสงส์มาก คือ จะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ      ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเพียบพร้อมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ มีบริวารและเกียรติยศชื่อเสียง หากตายก็จะได้ขึ้นสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติและมีนางฟ้าเป็นบริวาร ด้วยอานิสงส์ดังกล่าวจึงทำให้คนโบราณนิยมก่อเจดีย์ทรายเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้..."
 (อ่านเพิ่มเติมhttp://www.madchima.org/forum/index.php?topic=373.0 )

หนูน้อยคนนี้อายุ ๑๐ เดือนค่ะ ยังมาสร้างกุศลกับคุณแม่


บรรยากาศการก่อพระเจดีย์ทรายที่วัดลาดปลาเค้า  นครปฐม

                ในส่วนมุมมองทางวัฒนธรรม  สมัยก่อนเมื่อเราเข้าวัดเราขณะที่เราเดินทางเข้าออกจากวัด  อาจมีเม็ดทรายที่ติดไปกับรองเท้า   การที่ก่อพระเจดีย์ทรายส่วนหนึ่งเพื่อให้เราได้ทำบุญด้วยการขนทรายเข้าวัด  เพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อพระพุทธศาสนา
นอกจากนั้นแล้วยังเพิ่มความรักความอบอุ่นในครอบครัวที่ร่วมมือร่วมใจกันประกอบกิจอันเป็นกุศล  


                หันมามองทางปริศนาธรรมกันบ้าง    พระเจดีย์ทรายที่ก่อเสร็จแล้วย่อมตั้งอยู่ไม่นาน   เมื่อถูกกระแสน้ำกระแสลมพัดพาย่อมเสื่อมสลายพังพินาศในที่สุด  เปรียบเสมือนชีวิตเราไม่ต่างจากพระเจดีย์ทรายที่เกิดขึ้น  ตั้งอยู่ และดับไป   มีพระเจดีย์ทรายองค์ใดที่ตั้งอยู่ได้นาน   มีชีวิตใครบ้างที่ไม่เสื่อมสลาย   ดังนั้นเราจึงควรระลึกถึงคำกล่าวที่ว่า  "การมีชีวิตอยู่แม้เพียงวันเดียว แต่ตั้งมั่นอยู่ในความเพียร  ย่อมประเสริฐกว่าผู้มีอายุอยู่ร้อยปีโดยไม่ได้ทำอะไร"

                 การก่อพระเจดีย์ทรายอาจมีมุมมองและจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน  แล้วท่านผู้อ่านละคะ ?  ก่อพระเจดีย์ทรายกันทำไม ?

หมายเลขบันทึก: 351714เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2010 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะ

  • ขอขอบคุณค่ะ
  • กับความรู้และแนวคิดเชิงปริศนาธรรม
  • พี่คิมเพียรพยายามจัดการกับความคิดค่ะ 
  • ยิ่งได้อ่าน ได้เรียนรู้  ทำให้ระลึกรู้ทันความคิดบ้างเล็กน้อยค่ะ
  • สวัสดีค่ะ พี่คิมP
  • ขอบพระคุณพี่คิมที่เข้ามาทักทายค่ะ
    ...พี่คิมเพียรพยายามจัดการกับความคิดค่ะ ...
  • จัดการความคิด...เข้าใจใช้คำค่ะ  ความคิดสำคัญที่สุด
    นักวิจัยบอกว่าวันหนึ่งเราคิดประมาณห้าหมื่นครั้ง
    ต้องจัดการด้วยการเจริญสติให้รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา
    หรือท่านอื่นว่าอย่างไรคะ ?

...อ่านบันทึกนี้แล้ว คิดถึงวัยเด็กอันอบอุ่นจัง

ซึ่งชีวิตที่กรุงเทพหาบรรยากาศแบบนี้ยาก...

ขอบคุณ ธรรมทิพย์

  • สวัสดีค่ะ  คุณพ.แจ่มจำรัส P
  • ...อ่านบันทึกนี้แล้ว คิดถึงวัยเด็กอันอบอุ่นจัง
    ซึ่งชีวิตที่กรุงเทพหาบรรยากาศแบบนี้ยาก...
  • วิถีชีวิตในเมืองย่อมต่างกันไป  อยากเห็นบรรยากาศเก่า ๆ
    ต้องคืนถิ่น  ชวนครอบครัวไปก่อพระเจดีย์ทรายย้อนอดีตเก่า ๆ นะคะ
  • ขอบพระคุณที่มาบอกเล่าความรู้สึกดี ๆ ค่ะ
  • มีความสุขในช่วงวันหยุดยาวนะคะ

มาชม

มีสาระดีจังนะครับ

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์ยูมิP
  • ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ที่ชมว่า "มีสาระ"
    เอ...ปกติไม่ค่อยมีสาระหรือเปล่าค่ะ  อิอิ...
  • สุขสันต์เทศกาลสงกรานต์นะคะ
  • มหา ก้รณรงค์ให้ชุมชนร่วมกิจกรรมก่อเจดีย์ เพื่อน้ำดินเข้าวัด และได้ทำบุญ
  • โดยของปประมาณจากเทศบาล ตั้งลางวัลประกวดเจดีย์ สวยงาม
  • คนหนุ่มสาวไม่ค่อยสนใจ แต่เด็ก ๆ กับตื่นตัว
  • สวัสดีค่ะ พี่มหาเหรียญชัยP
  • มีกิจกรรมดี ๆ ที่สร้างสรรค์เสมอนะคะ
    คงจริงอย่างที่ว่าคนหนุ่มสาวไม่สนใจ  แต่ยังดีที่มีเด็ก ๆ ตื่นตัวอยู่บ้างนะคะ
  • เรื่องของวัฒนธรรมดีงามต้องปลูกฝังตั้งแต่เยาว์วัยนะคะ
  • ขอบพระคุณที่มาทักทายค่ะ

คิดถึงเพลงงานวัด ค่ะครูพี่ ...

... เราไปงานวัด ก่อพระเจดียร์ทรายร่วมกัน ภาวนาๆ ต่อหน้าหลวงพ่อ

ขอพรจากหลวงพ่อ ขอให้เมืองไทยสุข สงบ ยั่งยืน ... ขอบคุณค่ะ

ผมชอบ(เล่น)เจดีย์ทราย ผมฮักบ้านเฮากั๊บ

  • สวัสดีค่ะ น้องปูP
  • คิดถึงเพลง "งานวัด"  แสดงว่าร่วมสมัยดีจังนะคะ
  • อยากให้บ้านเมืองสงบเร็ว ๆ จังค่ะ "อายต่างชาติค่ะ"
นายสุขว์ธน ขิมทอง

ผมอ่านเรื่องการก่อเจดีย์ทรายที่ท่านผู้เขียนได้เขียนไว้ ก็รู้สึกได้ความรู้เพิ่มเติมมาก

ส่วนกระผมนั้นเคยได้รับคำเล่า จากคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย นั้น จะอีกแบบหนึ่ง แต่ก็คงไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก  และอาจเป็นกลอุบายของพรรพบุรุษ ของท้องถิ่นนำมาใช้ให้ลูกหลานเกิดความสามัคคีกันก็ได้

เนื่องจากเมื่อผมเป็นเด็ก เมื่อถึงเดือน ห้าชาวบ้านจะมีการหยุดทำงานกันสองช่วง เขาเรียกกันว่าตอม ความว่าหยุดงาน เขาตอมเล็ก หยุด เจ็ดวัน ตอมใหญ่เขาหยุดสิบห้าวัน ที่หยุดนี้ เนื่องมาจากสาวๆในหมู่บ่านเวลาหมดหน้าทำนา เขาจะเลี้ยงไหมทอผ้ากัน ตลอดทั้งปี ก็จะใช้ ตอมเดือนห้านี้และเป็นวันหยุด ก็จะมีการละเล่นแบบประเพณี ก็คือ ตอนเช้าจะรวบรวมหนุ่มสาว มารำตรุตไปตามบ้านต่างๆเพื่อรับเงินบ้านละเล็กบ้านละน้อยมารวมกัน

พอตอนบ่ายก็จะมีผู้ที่มีอายุมากที่สุดประจำหมู่บ้าน ได้เชิญชวนให้แต่ละบ้านได้ให้ลูกหลานของตนเองไปร่วมขนทรายมาจากริมห้วย โดยท่านผู้อวุโสท่านนั้นจะต้องนุ่งขาวห่มขาว แล้วทำพิธีขุดดทรายใส่ให้ทุกคนขนกลับไปที่บริเวณกำหนดจัดงาน เมื่อขนทรายมาถึงแล้วทุกคนจะต้องกำทรายทีละกำ แล้วก็เอ่ยชื่อทุกคนในบ้านว่ากำนี้เป็นของใครกำนี้เป็นของใคร เพระคนแก่จะบอกว่านี่เป็นต่อรองกับยมพบาลไม่ให้เอาชีวิตของทุกในบ้านไป จะเอาชีวิตใครคนใดคนหนึ่งไปได้นั้น ยมพบาลต้องนับเม็ดทรายให้ได้ครบทุกเม็ดก่อนจึงจะเอาชีวิตผู้นั้นไปได้ ตอนเย็นก็มีการสวดมนต์ ตอนเช้าใส่บาตร แล้วก็เอาเงินที่หนุ่มสาวรำตรุตได้มาถวายพระ

ประเพนี นี้อาจจะเป็นกลอุบายให้ทุกคนมีความสามัคคีก็ได้ และอย่าคิดว่ากระผมมาอวดรู้อวดฉลาดอะไรเลยขอให้ถือเสียว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก็แล้วนะครับ

 

สุขว์ธน  ขิมทอง 083-4641744

  • สวัสดีค่ะ คุณสุขว์ธน
  • ขอบพระคุณค่ะ สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์อ่านแล้ว
    เห็นภาพ    ไม่ทราบว่าเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นใดคะ....ดูงดงามและมีคุณค่า
    มากจริง ๆ   เชื่อมโยงให้เห็นความรักใคร่กลมเกลียวในชุมชน   ปัจจุับัน
    ภาพเหล่านี้คงเลือนหาย  น่าเสียดายนะคะ
  • ดีใจที่คุณสุขว์ธนแวะมาทักทายให้ความรู้ทำให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์อย่างยิ่งค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท