เรียนรู้จาก ประสบการณ์ CEO คนเก่ง วิกรม กรมดิษฐ์ (ตอนที่ 9-10)


ก่อร่างสร้างธุรกิจ วิกรม กรมดิษฐ์ (ตอน 9)

 
คนเราคงเคยมีสักครั้งที่ลองตั้งคำถามถามตนเองว่าเราคือใคร, เกิดมาทำไม, เพื่ออะไร, ที่แท้จริงแล้วเราต้องการอะไร และจะเดินไปสู่หนไหน  วิกรม  กรมดิษฐ์เองก็เป็นคนหนึ่งที่มักจะตั้งคำถามในแบบเดียวกันนี้เพื่อถามตัวเอง ในทุกวันครบรอบวันเกิดของเขา  ซึ่งมันเป็นคำถามที่เขาใช้ทบทวนแผนการดำเนินชีวิตด้วยตนเองที่ผ่านมา  ดังนั้นด้วยวิธีนี้ทำให้เขามองและขีดเขียนวาดภาพตัวเองในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างชัดเจนอย่างมีเหตุและผล

 
เขาเคยวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีต เพื่อตอบคำถามที่มักถามตัวเองเสมอว่าอะไรที่เป็นปัจจัยทำให้เขาได้ขึ้นมาถึง จุดนี้ในวันนี้ และคำตอบหนึ่งที่ได้รับคือความมีวินัย ตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็นเด็ก  เขาได้รับการสั่งสอนให้มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมายจากพ่อแม่ การเป็นลูกชายคนโตที่ต้องดูแลน้อง ๆ ดูแลคนในครอบครัว ดูแลคนงานในไร่  และปัจจัยปลีกย่อยเช่น ความทะเยอทะยานส่วนตัวและความกระตือรือร้นที่ชอบการเก็บหอมรอมริบ ชนิดที่เรียกว่าตามคำสอนเตือนใจที่ผู้ใหญ่มักเฝ้าสอนว่า “มีสลึงค์พึงบรรจบให้ครบบาท  อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์...”   รวมไปถึงการไปใช้ชีวิตวัยรุ่นที่ต้องดูแลตัวเอง จัดสรรการเงินอย่างมีระเบียบวินัย ไม่สุรุ่ยสุร่ายหรือทำตัวเรื่อยเปื่อย เพราะ การไปอยู่ต่างแดนเพียงคนเดียวนั้นทำให้ต้องระมัดระวังเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เพิ่มขึ้นกว่าการอยู่บ้านพ่อแม่หลายเท่าตัวนัก

เมื่อเติบใหญ่พอที่จะบริหารธุรกิจของตนเองก็ต้องมีวินัยทางการเงินมากยิ่งขึ้นกว่าตอนเป็นนักเรียนนักศึกษาเสียอีก  ต้องรู้จักควบคุมความต้องการ เรียนรู้ว่าอะไรควรและอะไรไม่ควร ด้วยวิจารณญาณของตัวเองได้จะทำให้การดำเนินชีวิตอย่างมีระบบระเบียบมากขึ้น  ด้วยเหตุนี้พื้นฐานการเติบโตของอมตะจึงเป็นแบบทีละขั้นอย่างมั่นคงและเส้นทะแยงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ผู้ถือหุ้นที่ลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรมอมตะกับเขาต่างก็ประสบความสำเร็จกันเป็นอย่างดี

 

เมื่อเขาอายุได้ 48 ปี เขาก็เริ่มวางแผนถอยฉากทีละเล็กทีละน้อยออกมาจากองค์กร “อมตะ” ที่เขาเป็นผู้ก่อร่างสร้างขึ้นมาพร้อมกับค่อยๆ โอนถ่ายงานให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ผู้ถือหุ้น  พนักงาน  รวมทั้งส่วนของครอบครัวและน้อง ๆ โดยวางเป้าหมายในการทำงานอย่างเด่นชัด ว่าตนเองจะทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย และเป้าหมายให้กับองค์กรเท่านั้น  สำหรับองค์กรแล้ว คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถสูง  เมื่อก้าวลงสนามทำงานถ้าเรารู้จักถ่ายทอดความคิดและประสบการณ์ถูกต้องและมีประโยชน์ที่มีให้และกำหนดเป้าหมาย นโยบายให้ดีพร้อมตัวเราวางตัวเป็นที่ปรึกษาที่ดีและคอยติดตามงานให้เหมาะสม ก็จะทำให้งานนั้นมีสองวัยในตัวคือ คนหนุ่มเป็นคนลงมือทำงาน ส่วนเถ้าแก่เป็นเหมือนกล้องส่องทางไกลและคอยช่วยบอกทิศทางอยู่ข้างหลัง ดังนั้นอมตะจึงโตขึ้นตามลำดับ และหนี้สินลดลงเรื่อย ๆ

 
เชคสเปียร์ เคยเปรียบโลกมนุษย์ว่าเป็นเช่นโรงละครโรงใหญ่ ที่มีมนุษย์เป็นตัวละครแสดงบทบาทต่างๆ ทั้งรัก โศก ทุกข์ สุข และดีชั่วโดยถ้วนหน้า และต่างก็หมุนเวียนกันแสดงบทโน้นบทนี้ไปตามเนื้อเรื่อง ซึ่งทำให้เราสามารถมองเข้าใจถึงความจริงของโลก และการเปลี่ยนแปลงอันเป็นนิรันดร์ได้ถ่องแท้ขึ้น โดยไม่ติดยึดอยู่กับสถานะหรือบทใดบทหนึ่ง ทั้งใช้ชีวิตอย่างมีสติ รอบคอบ ไม่หลงระเริงไปกับลาภยศสรรเสริญชั่วครู่ชั่วยาม


William Shakespear นักประพันธ์ชาวอังกฤษ


สิ่งที่อยู่คู่โลกมาทุกยุคทุกสมัยคือความชั่วและความดี  ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลศและนิสัยและจิตใจส่วนลึกที่ร้างการกล่อมเกลา  กับการมีปัญญาระลึกรู้สิ่งอันพึงประพฤติและหิริโอตัปปะหรือการละอายต่อบาป  ซึ่งพฤติกรรมจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่ที่มนุษย์เป็นฝ่ายเลือกเองว่าต้องการ จะดำเนินไปในหนทางใด ทั้งความชั่วและความดีล้วนเป็นความจริงแท้ ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้ขาวเป็นดำหรือดำเป็นขาวได้ และเป็นสิ่งซึ่งพิสูจน์ได้ด้วยกาลเวลา ไม่เสื่อมสูญไปไหน แม้ว่าเขาคนนั้นจะลาจากโลกนี้ไปนานเพียงไรก็ตาม ดังนั้นข้อสำคัญคือเราจะเลือกเป็นที่จดจำหรือครหาจากคนรุ่นหลัง

ในระยะหลังมานี้วิกรมได้มีโอกาสอยู่กับตัวเองและความสงบมากขึ้น ทำให้เขามีเวลาที่จะครุ่นคิดใคร่ครวญเรื่องต่างๆ และเปิดโลกทัศน์จากการอ่านหนังสือหลากหลายขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เขามองเห็นตัวเองแจ่มชัดมากขึ้น  และที่สำคัญกว่านั้นก็คือเห็นความเป็นไปและความผิดพลาดของตนเองและคนอื่น ๆ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมากขึ้นด้วย

“มูลนิธิ อมตะ” ได้ถือก่อตั้งขึ้นเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว  เพื่อเป็นสะพานที่เชื่อมต่อจากการทำงานนิคมอุตสาหกรรม  ด้วยจุดมุ่งหมายที่ว่า เขาได้ทำในสิ่งที่สนใจและภูมิใจว่าจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองหรือต่อสังคมและโลก โดยเอาเวลาส่วนที่เหลือของชีวิตที่เหลือมาดำเนินการไปเรื่อยๆ โดยใช้เงินของเขาและครอบครัวทั้งหมด ซึ่งเป็นโอกาสที่เขาจะทำแต่ความดีให้กับชีวิตของตนเองบ้าง  เขาตั้งใจที่จะให้การสนับสนุนกับศิลปิน นักเขียนหรือนักเรียนที่เรียนเก่งและมีแววความเป็นอัจฉริยะแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์  เขาอยากให้เวทีอมตะเป็นเวทีสำหรับคนดี คนเก่งและมีคุณธรรม

 
เขาจึงได้ใช้เงินส่วนเกินที่เหลือทั้งหมดจากการจับจ่ายใช้สอยส่วนตัวไปในกิจการของมูลนิธิ เพราะเขาคาดหวังว่าเงินเหล่านั้นจะสามารถสร้างประโยชน์ต่อผู้อื่นในสังคมได้อีกอย่างมากมาย  วิกรมมองว่าเงินทองที่เขามีหากไม่ได้ใช้ก็ไม่ใช่ของเขา และมันก็จะไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับเขาอีกต่อไปเมื่อตายไปแล้ว แต่มันจะมีค่าอย่างมากสำหรับคนที่ต้องการจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง  ดุจดังปณิธานว่า “ผู้ให้ที่ไม่หวังผลตอบแทน”

 
คนไทยเราควรที่จะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญเพื่อความสุข ความร่มเย็นของบ้านเมืองมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า 60 ปี และประพฤติปฏิบัติตนตามที่ทรงพระราชทานแนวทางและปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่าง  ไม่ว่าจะในเรื่องการทำความดี การประหยัด การเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อส่วนรวม การสมัครสมานสามัคคี และการรู้จักความพอเพียงให้เหมาะสมกับสถานภาพที่แท้จริงของตนเอง

 
สิ่งเหล่านี้หากเราสามารถปฏิบัติได้ย่อมจะสามารถสร้างความสุขแก่ทั้งตนเอง คนรอบข้างและสังคมไทยโดยรวมได้เป็นอย่างดีและอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งยังส่งผลดีและทำให้พระองค์ท่านทรงมีความสุขอย่างแท้จริง ด้วยการถวายความจงรักภักดี และทำงานในหน้าที่ต่างๆ ให้ดีที่สุดและ อย่างจริงใจโดยยึดแบบอย่างการกระทำของพระองค์เป็นแนวทางก็จะนำประเทศชาติไป สู่ความสงบสุข ยั่งยืน และนำความมั่นคงมาสู่ลูกหลานของเราตลอดไป

 
เมืองอมตะ ถูกวาดแผนตามความฝันที่จะให้เติบโตขึ้นเพื่อเป็นเมืองที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพ  เป็นทั้งศูนย์รวมแหล่งความรู้  ความทันสมัย  ทั้งยังคงความเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ของสิ่งแวดล้อมไว้ด้วย  เขาต้องการที่จะเห็นภาพของทุกสิ่งมีชีวิตในอมตะมีความสุขทั้งกายและใจ  และมีคุณภาพชีวิตที่ดี


http://www.amata.com/_admin/uploadfiles/amata-times_22.jpg

ที่มาภาพ http://www.amata.com/eng/publication_detail.php?view=previous&id=22

และวันนี้ความภาคภูมิก็บังเกิดในใจของเขา  เขารู้สึกว่าเขาเดินมาถูกทางการวางแผนไม่ทำตัวเป็นเถ้าแก่ช่วยทำให้ชีวิตของเขามีคุณค่าในอีกแง่มุมหนึ่งมากขึ้นและอย่างน้อย ๆ ก็ทำให้เขาตระหนักว่า “ชีวิตไม่ได้มีด้านเดียว”   แต่ยังมีมิติอื่นๆ ที่สวยงามและมีคุณค่าสำหรับการเกิดมาเป็นมนุษย์ที่ดีไม่น้อยไปกว่ากันเลย

 
ความฝันของวิกรม  กรมดิษฐ์ได้ดำเนินมาระยะเวลาหนึ่งของอดีตที่ผ่านมา  และทุกวันนี้เขาก็ยังไม่เคยหยุดฝัน  เขากำลังพยายามมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายเรื่อยๆ แบบเป็นขั้นเป็นตอนและมีระบบ  เขาเชื่อว่าในอนาคตไม่ไกลนี้ เราจะได้เห็นว่าประเทศไทยมีเมืองใหม่ที่ชื่อว่า “อมตะ” ที่สามารถอวดสายตาชาวโลกได้โดยไม่อายใคร  และเมืองนั้นคงจะเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมที่มากที่สุดในภูมิภาคเลยกระมัง

 

ก่อร่างสร้างธุรกิจ วิกรม กรมดิษฐ์ (จบ)

ในวันวานบริษัท อมตะ โฮลดิ้ง  จำกัด หรือชื่อเดิมว่า วี แอนด์ เค เริ่มนับหนึ่งบนเส้นทางธุรกิจด้วยเงินติดตัวของวิกรม  กรมดิษฐ์ที่ได้มาจากการทำธุรกิจที่มหาวิทยาลัยไต้หวันเพียง   20,000 บาท  ทุกอย่างในวันนั้นที่เขาใช้สร้างกิจการมีแต่เงินกู้ยืมทั้งสิ้น ทั้งจากแม่  เจ๊ตุ๋ย ลูกป้าเล็ก  ไถ่ลูกป้าเฮียง และคุณอนุชิต บุญทอง ฯลฯ จะเห็นได้ว่าชีวิตธุรกิจของวิกรมเริ่มขึ้นด้วยเงินทองของผู้คนรอบข้างทั้งสิ้น นั่นคือเงินลงทุนทั้งหมดที่เขาใช้ก่อการในธุรกิจอมตะ

 
การทำงานที่ขาดเงินจนท้อเสียแทบขาดใจนั้นเป็นของคู่กันมาเนิ่นนาน เพราะพื้นฐานที่เริ่มจากศูนย์ของเขา  ขาดทั้งความรู้  ประสบการณ์  ความเข้าใจ ตลอดจนเล่ห์เหลี่ยมในกลอุบายในการทำงาน  การเมือง  การซื้อขายที่ดิน ฯลฯ  เขาพยายามให้กำลังใจ  สร้างความหวังให้กับตัวเองเสมอไม่ว่าจะเป็นวันที่หม่นหมองเดียวดายหรือหดหู่สักเพียงใด   เพราะรู้ดีว่ารุ้งงามจะโผล่ผุดเมื่อหลังพายุกระหน่ำ  เขาใช้ความฝัน  ความทะเยอทะยานหล่อเลี้ยงตัวเองและใช้เป็นไฟในการส่งเสริมผลักดันให้ตนเองและผู้ที่ร่วมลงเรือ “อมตะ” มีความฝันและเป้าหมายเดียวกัน

 
จากนิสัยส่วนตัวของเขาทั้งความซื่อสัตย์และมีความรับผิดชอบ  รวมถึงการบริหารเงินอย่างมีระบบ  ใช้ให้ถูกประเภทและมีวินัย ทำให้เขาสามารถพา “อมตะ” ก้าวพ้นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจมาได้  โดยหลังจากวิกฤตนั้น วิกรมจึงกลายเป็นบุคคลที่มีเครดิตดีจนบรรดาธนาคารต่างๆให้ความไว้วางใจที่จะ ปล่อยเงินกู้ชนิดที่เรียกว่าแทบจะขนเงินมาให้ยืม  โดยไม่จำเป็นต้องมีอะไรมาค้ำประกันเลย  นิคมอมตะเริ่มใช้วงเงินสูงมากขึ้น จากที่เคยเป็นหนี้เพียงไม่ถึง 10 ล้าน ก้าวขึ้นเป็นร้อยกว่าล้านบาทในช่วงทำนิคมได้เพียงปีเดียว และกลายเป็นหลายร้อยล้านในอีก 2 ปีต่อมา  จนล่าสุด อมตะ คอร์ปอเรชั่น เป็นหนี้เกือบ 4,000 ล้านบาท และเงินกู้ภายนอกประเทศอีก 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนอมตะ พาวเวอร์ ก็มีหนี้ปาเข้าไป 2,000 ล้านบาท และเงินจากต่างประเทศอีก 150 ล้านเหรียญสหรัฐ  ทั้งนี้ก็เพราะเขาได้อิทธิพลจากคำพูดของคุณนงลักษณ์ ภัทรประสิทธิ์ ที่ว่า “นักธุรกิจที่ไม่มีหนี้ถือว่าไม่มีเครดิต” ตอนนั้นจึงมีหนี้สินทั้งหมดราวหมื่นกว่าล้านบาท

 
การทำงานซื้อที่ดินควบคู่ไปกับการใช้เงินจำนวนมากมายยังคงถือเป็นงานหินที่สุดและปวดหัวที่สุด  เพราะแม้ว่าจะเป็นความเหนื่อยยาก  แต่ทำให้วิกรมและคนที่ทำงานทุกคนมีความสุขและความภาคภูมิใจที่ทำงานยากให้ สำเร็จได้อย่างเหลือเชื่อ จาก 300 ไร่จนกลายเป็น 40,000 ไร่ในระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ล้มลุกคลุกคลาน จนเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้

 
และแล้วในวันที่ 24 ธันวาคม 2546  หนี้ก้อนสุดท้ายที่อมตะกู้มาจากธนาคารกสิกรไทยก็สามารถจ่ายคืนได้ทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย  นับได้ว่าวันนั้นเป็นวันแรกที่อมตะเป็นอิสระจากสถานะลูกหนี้  หลังจากนั้นวิกรมได้ให้เจ้าหน้าที่การเงินปรับเปลี่ยนระบบและการค้ำประกันของการกู้เงินของอมตะใหม่ทั้งหมดคือ  ต้องกระจายกู้เงินไปทุกธนาคารที่สนใจจะทำธุรกิจกับอมตะ  การกู้ใดๆ จะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอีกเด็ดขาด  และสัดส่วนการใช้เงินกู้นั้นควรอยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 50 ของทรัพย์สิน และที่ดีคือควรให้อยู่ในระดับร้อยละ 20 ของทุนจดทะเบียน  แต่ที่ดีที่สุดคือการไม่มีหนี้จากธนาคาร แต่ยังคงมีวงเงินกู้เผื่อไว้ใช้สำรอง

 
ทั้งหมดนี้ คือสูตรการบริหารการเงินการธนาคารของอมตะและครอบครัวกรมดิษฐ์ ที่ยึดหลักการเดียวกัน  ทั้งนี้เพื่อสร้างอนาคตในการดำเนินงานที่บริษัทจะต้องก้าวไปสู่ความมั่นคง แข็งแกร่งหากต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้ง  เป็นดั่งภูมิคุ้มกันภัยอันตรายแห่งอนาคต เพื่ออมตะจะได้อยู่ในโลกแห่งอิสระจากหนี้สินอย่างถาวร

 
นอกจากนี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้อมตะเป็นอิสระนั่นคือ  เรื่องการบริหารงานในองค์กรที่ปล่อยวางจากรูปแบบปิระมิดซึ่งยึดติดกับตัวบุคคล  ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา  เขาพยายามกระจายอำนาจการตัดสินใจให้หัวหน้าแต่ละส่วนไปจัดการกันเอง โดยเขาจะดูเฉพาะภาพรวมว่ามีหนี้เท่าไหร่ในไตรมาสนี้ และมีกำไรได้ตามเป้าที่ตั้งไว้หรือไม่ เขาเชื่อว่ากาลเวลาที่ผ่านมาสามารถหล่อหลอมให้ทุกคนมีความสามารถและความคิด ที่จะนำอมตะไปสู่ถนนแห่งความสำเร็จได้อย่างราบรื่นโดยไม่มีความจำเป็นต้อง ผูกติดกับตัวบุคคล  ซึ่ง ณ จุดนั้นสามารถเรียกว่าเป็นอมตะที่แท้สมบูรณ์แล้ว
 


วิกรม กรมดิษฐ์ กับ Amata Castle

ภาพจาก http://www.amata.com/


การขยายโครงการนิคมอุตสาหกรรมอมตะในประเทศไทยในปี 2549  จนถึงปี 2551 นั้นทำให้อมตะมีพื้นที่ดินดิบมีจำนวนกว่า 10,000 ไร่  ซึ่งจะใช้เงินซื้อที่ดินมหาศาล ถือได้ว่าเป็นการเสี่ยงในการลงทุนที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของอมตะ  และเนื่องจากการเติบโตของการลงทุนต่าง ๆ ที่ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยและอมตะมีสัดส่วนทางการตลาดเกือบ 40 % ของทั้งหมด รวมกับสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเสร็จสมบูรณ์เมื่อสิ้นปี 2549 ได้ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งทางอากาศให้กับโครงการต่าง ๆ ในภาคตะวันออก  ทำให้เขาตัดสินใจเสี่ยงอีกครั้งในการที่จะควักเงินก้อนมหาศาลเพื่อแผนการระยะยาวของความเป็น “เมืองอย่างแท้จริง” ในอนาคต ซึ่งจะครอบคลุมเมืองมหาวิทยาลัย เมืองอุทยานวิทยาศาสตร์ นิคมไฮเทก  เขตพาณิชย์ สนามกีฬา สวนสนุก และที่อยู่อาศัยพร้อมเขตอุตสาหกรรมทั่วไปซึ่งเติบโตและขยายตัวปีละกว่า 100 โรงงาน

 

วันนี้อมตะเป็นบริษัทมหาชน  การกระทำหรือการตัดสินใจของวิกรมในฐานะผู้ที่เป็นหัวหน้าในการกำหนดนโยบายครั้งนี้  จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องใช้ความละเอียดรอบคอบอย่างจริงจัง     เขาผ่านปัญหาต่างๆ ของการขาดที่ดินมาเสนอลูกค้ามากครั้ง  การต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงต่อบริษัทจึงเป็นสิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบใน ฐานะซีอีโอของบริษัท     เขาเดินหน้าโครงการดังกล่าวเพื่อนำอมตะไปสู่อนาคตซึ่งจะทำให้อมตะในประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมดรวมกัน 4 หมื่นไร่ที่อมตะนครและอมตะซิตี้ ส่วนที่เวียดนามอีกสองหมื่นไร่หรือรวมกันแล้วกว่า 100 ตารางกิโลเมตร จะทำให้อมตะมีโอกาสที่จะหาเงินลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือมีผลผลิตมูลค่า 1 ล้านล้านบาท เป็นสัดส่วน 10 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และจะมีความต้องการแรงงานถึง 3 แสนอัตรา  ถือว่าสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับคนที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโรงงานต่างๆในนิคมอีกหลายแสนคน


แผนที่อากาศอมตะนคร


เขานึกถึงการวางแผนในอนาคตระยะยาว   เมืองอมตะจะเป็นเมืองที่มีคุณภาพมากยิ่งๆขึ้นไปอีก เป็นศูนย์รวมของการศึกษาระดับมีชื่อเสียงแห่งภูมิภาคนี้ โดยมีคณะที่ดีที่สุดของมหาวิทยาลัยที่ดีของโลกมารวมกันอยู่ในเมืองมหาวิทยาลัยอมตะ  โดยหวังว่าเมืองมหาวิทยาลัยอมตะนี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการศึกษาของลูกหลานเราไปได้หลายร้อยล้านบาทในอนาคต  นอกจากนี้พื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้ก่อสร้างอาคารเกือบ 40 % เขาจะดำเนินการให้เป็นพื้นที่สีเขียวให้หมด โดยหวังจะให้ให้มีพันธุ์พืชทุกชนิดอยู่ภายในอมตะ เขาอยากให้ทุกชีวิตในอมตะเป็นชีวิตที่มีคุณภาพ  สามารถใช้ชีวิตในอมตะได้อย่างมีความสุข

 
ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ของชีวิตการทำงานด้านธุรกิจของวิกรม  กรมดิษฐ์ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ ณ จุดที่สูงสุดในโลกแห่งวัตถุ  เมื่อปี 2549-2551 นิตยสารฟอร์บส์ได้จัดให้เขาติดอันดับ 40 มหาเศรษฐีของเมืองไทย   และนิตยสารการเงินการธนาคารจัดให้เขามีหุ้นมูลค่าอันดับ 10 ของตลาดหุ้นเมืองไทย

 
นอกจากนี้ยังมีอีกโครงการ หนึ่งซึ่งวิกรม  กรมดิษฐ์ได้วาดฝันไว้ตั้งแต่ปี  2545  ออกแบบโดยม.ล.ท้าวเทวา  เทวกุลกับบริษัท นันทวัน จำกัด หรือที่รู้จักในชื่อ “โอบายาชิ”   นั่นคือ การสร้างอมตะ คาสเซิ่ล  ซึ่งเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2548  ฤกษ์งามครั้งนี้มีที่มาจากความต้องการที่จะขอขมาต่อความผิดพลาดในอดีตจนถึง ปัจจุบันที่ผมได้ล่วงเกินและคิดร้ายต่อพ่อซึ่งเป็นผู้ให้ชีวิตและเลี้ยงดูผมมา จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคมซึ่งเป็นวันพ่อและในปีที่ครบ 60 ปีแห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทยเป็นฤกษ์ดีในการก่อสร้าง  ที่แห่งนี้เขาถือว่าเป็นการสร้างเวทีแห่งประวัติศาสตร์สำหรับเหล่าศิลปินใน ภูมิภาคสุวรรณภูมิในการนำศิลปินที่น่าเชิดชูของโลกแต่ยังมีชีวิตอยู่  เป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งเก็บรักษา รวบรวมผลงานที่ศิลปินทั้งหลายในยุคนี้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสและ ภาคภูมิใจของศิลปะแห่งสุวรรณภูมิ


Amata Castle
 

และหากทุกอย่างดำเนินไปสู่เป้าหมาย  เขาก็มีความฝันที่อยากจะมีหนังชื่อ “ผมจะเป็นคนดี” สร้างในฮอลลีวู้ดเป็นโครงการสุดท้าย  ซึ่งถือเป็นอันจบสิ้นความฝันทั้งหมดของเขาแล้ว  หลังจากนั้นแล้วทรัพย์สินทั้งหมดที่เขาเหลือจากการใช้จ่ายในบั้นปลายชีวิตจะ ยกให้มูลนิธิทั้งหมดเพื่อใช้ประโยชน์ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้แต่แรก โดยที่ไม่เหลืออะไรที่เป็นชื่อส่วนตัวของวิกรมบนเส้นทางที่เขาจะต้องเดินไปสู่วาระอันเป็นศูนย์ที่ว่างเปล่าของชีวิต

 

ที่มา http://www.doohoon.com/smf/index.php?topic=23186.0

หมายเลขบันทึก: 351409เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2010 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท