เด็กเร่ร่อนหรือเด็กข้างถนน


เด็ก เร่ร่อน ข้างถนน เสี่ยงต่อการกระทำผิด

เด็กเร่ร่อนหรือเด็กข้างถนน

       ระยะหลังๆ มานี้ ผมมักจะถูกนิสิตนักศึกษาสอบถามอยู่เสมอว่า เด็กเร่ร่อนในประเทศไทยของเรามีจำนวนน้อยลงหรือเพิ่มมากขึ้น หรือไม่ก็ถามว่าเด็กเร่ร่อนกับเด็กข้างถนนเป็นเด็กกลุ่มเดียวกันหรือไม่ เข้าใจว่าที่ถามมานั้นคงต้องการข้อมูลไปทำรายงานหรืออาจจะสนใจเรื่องราวของเด็กเหล่านี้อย่างจริงจังก็ได้  แต่หากเป็นประชาชนทั่วไปแล้ว มักจะโทรแจ้งให้รู้ว่ามีเด็กๆ เร่ร่อนหรือขอทานอยู่ที่นั่นที่นี่ให้ช่วยไปดูแลด้วย ผมก็จะส่งเรื่องและประสานไปยัง "ครูข้างถนน"ในองค์กรต่างๆ ที่อยู่ละแวกนั้นๆ ให้รีบไปช่วยเหลือรับไปดูแลต่อไป
       สำหรับคำถามที่นิสิตนักศึกษาถามมานั้น ผมขอตอบเป็นข้อๆ โดยสรุป ดังนี้
       1.จะเรียกว่าเด็กเร่ร่อนหรือเด็กข้างถนน ความจริงเรียกอย่างไรก็ได้ เพียงแต่ประเทศต่างๆ ทั้งหลายจะยึดใช้คำภาษาอังกฤษ "street children"ที่แปลเป็นไทยว่า "เด็กข้างถนน"และให้ความหมายกว้างว่า หมายถึงเด็กทั้งหลายที่ใช้ชีวิตอยู่บนถนน เช่นขอทาน เช็ดกระจกรถ ขายของ เก็บขยะขาย คุ้ยขยะหาของกิน อาจจะหลับนอนข้างถนนหรือกลับไปหลับนอนที่บ้านยามค่ำคืนก็ได้  ดังนั้นสถิติเด็กข้างถนนของต่างประเทศจึงมีมาก ส่วนไทยเราจะใช้คำแคบลงมาว่า "เด็กเร่ร่อน"ที่หมายถึงเด็กที่หนีออกจากบ้านมาใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ทั่วไป ไม่กลับบ้าน จำนวนจึงไม่มาก เพราะไม่รวมเด็กที่ออกมาทำงานบนถนนแล้วกลับบ้าน โดยเฉพาะระยะหลังมานี้เด็กเร่ร่อนในไทยลดลงมาก ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นเด็กต่างชาติที่ถูกนำมาอุ้มเร่ขอทานหรือเร่ร่อนขอทานด้วยตนเอง เช่นเขมร พม่า ลาว ศรีลังกา
       2.ในกรุงเทพมหานคร มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องเด็กเร่ร่อนโดยตรง 6 องค์กรคือ
            1.มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก 2.มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล 3.กลุ่ม ซ.โซ่อาสา 4.กรุงเทพมหานคร  5.กรมพัฒนาสังคมฯ(ศูนย์ประชาบดี 1300) 6.ครูข้างถนน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  
       3.ในต่างจังหวัด มีหน่วยงานดูแลเด็กเร่ร่อนโดยตรง 6 องค์กรคือ
            1.มูลนิธิอาสาพัฒนาเด็ก (เชียงใหม่และเชียงราย) 2.มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก(ขอนแก่น)  3.มูลนิธิสงเคราะห์เด็กมหาไถ่(พัทยา) 4.สำนักการศึกษานอกโรงเรียน(นครราชสีมา)  5.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(ภูเก็ต) 6.กรมพัฒนาสังคมฯ (ศูนย์ประชาบดี 1300)
       4.องค์กรเร่ร่อนทั้งภาครัฐและเอกชนเหล่านี้ ผมได้พยายามนัดหมายจนสามารถรวมตัวทำงานเป็นทีมกันมานานหลายปีแล้ว เรียกว่า "เครือข่ายองค์กรทำงานเพื่อเด็กเร่ร่อน" ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนข้อมูล เรียนรู้การทำงานซึ่งกันและกัน ส่งต่อเด็กไปอยู่องค์กรที่เหมาะสม หรือสนับสนุนกันและกันในด้านต่างๆ
       5.มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเด็กเร่ร่อนมากมายหลายฉบับ แต่ที่ทันสมัย ครอบคลุมและครบถ้วนคือเรื่องเด็กเร่ร่อน ที่ศึกษาโดย รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และภาพรวมเด็กเร่ร่อน เล่มล่าสุดโดย นส.ทองพูล บัวศรี จากมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก  ติดต่อประสานขอรายละเอียดได้นะครับ
        ผมหวังว่าบทสรุปสั้นๆ นี้คงเป็นประโยชน์ตามสมควร  หากมีเรื่องใดใดที่ผมสามารถตอบคำถามหรือเป็นประโยชน์เพื่อเด็ก ๆได้ ก็ติดต่อมาได้นะครับที่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก 02-5741381 และ 02-5743753

 

หมายเลขบันทึก: 351295เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2010 16:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนคุณครูหยุย กำลังสนใจข้อมูลเกี่ยวกับเด็กเร่ร่อนและองค์กรที่เกี่ยวข้องสำหรับทำรายงานอยู่ ช่วยโพสต์รายงานวิจัยล่าสุดของอาจารย์ทองพูล ได้มั๊ยคะ

ขอบพระคุณมากค่ะ

ขอบคุณครูหยุยที่แนะนำงานวิจัย

ถึงครูไหว งานวิจัยที่ครูจิ๋วกำลังดำเนินการอยู่ คือ โครงการ "ถอดบทเรียนรูปแบบการช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน: ในกรณีของครูข้างถนนและบ้านพักสำหรับเด็ก" ในขณะนี้ ครูจิ๋วกำลังเขียนรายงานฉบับบสมบูรณ์อยู่ ส่วนการสรุปสาระสำคัญ ครูจิ๋วได้โพสต์ไว้ที่ Blog ทองพูล บัวศรี ใน Gotoknow และครูจิ๋วเองจะมีการจัดสัมมนา ในปลายเดือน พฤษภาคม 2553 และเชิญครูข้างถนน ทั่วประเทศ จำนวน 15 หน่วยงานที่ช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน ถ้าต้องการข้อมูลข่าวสาร เรียนเชิญน่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท