ครูติดแผ่นดินชัยนาทแนะนำใช้มูลแพะใส่ในนาลดต้นทุนข้าวได้ครึ่ง


     สถานการณ์ปลูกข้าวของเกษตรกรเรา ต้องพบกับการแข่งขันเชิงการค้าภายใต้กฎระเบียบและการค้าระหว่างประเทศ เรียกสั้นๆ ว่าอาฟต้า หรือ เขตการค้าเสรีอาเซียน สินค้าเกษตรจะได้รับผลกระทบในส่วนที่เกี่ยวข้องและเสียงกับการเสียเปรียบในจังหวัดชัยนาท คือ ข้าว  เพราะหลายประเทศมีการผลิตข้าวเหมือนกับไทยแต่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติไม่มีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเช่นปัจจุบันจะมีต้นทุนการผลิตถึงไร่ละ  5,090  บาท(รวมค่าเช่านา)  ถ้าเกษตรกรสามารถผลิตข้าวได้ไร่ละ 1 ตันต้นทุนของเขาจะอยู่ที่ 5.09 บาท/กิโลกรัมข้าวเปลือก แต่ถ้าพบกับสถานการณ์เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดจะเพิ่มต้นทุนอีกประมาณไร่ละ 500-700 บาทและผลผลิตก็จะต่ำ ส่งผลให้ต้นทุนต่อกิโลกรัมข้าวเปลือกสูงถึง 7 – 8 บาท/กิโลกรัมข้าวเปลือก ทำให้เกษตรกรอาจขาดทุน เมื่อต้นทุนสูงขึ้นราคาก็ย่อมที่จะสูงขึ้นตามลำดับ ถ้าหากราคาเท่ากับในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ก็หมายถึงจะได้กำไรต่ำลง ในกลุ่มอาเซียนด้วยกันราคาของเราสูงตามต้นทุน สินค้าจากประเทศอื่นที่ราคาต่ำก็จะเข้ามาตีตลาดในประเทศไทย ทำให้ผลผลิตของไทยล้นตลาดราคาก็ต่ำลงมาอีกถึงตอนนั้นคงจะปลุกกันไม่ได้   ดังนั้นหนทางแก้คือต้องเน้นไปที่เกษตรกรให้พยายามลดต้นทุนในการเพาะปลูกและผลิตสินค้าให้ได้เพื่อความสามารถในการแข่งขัน ไม่เช่นนั้นอยู่ไม่รอด

      นายปราโมทย์ รัตนสัมฤทธิ์ หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์และสารสนเทศ  สนง.เกษตรจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า จังหวัดชัยนาท ได้รณรงค์ให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน และยึดหลักการปฏิบัติผลิตสินค้าปลอดภัยและได้มาตรฐาน  พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถลดต้นทุนการผลิตได้เฉลี่ยไร่ละ 1,500-2,000 บาท ในปี 2553 จึงดำเนินงานโครงการส่งเสริมการลดต้นทุนและผลิตข้าวปลอดภัยได้มาตรฐาน เพื่อ ลดต้นทุนการผลิตข้าวของเกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่เหมาะสม เช่น การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน และ พัฒนากระบวนการผลิตข้าวของเกษตรกรให้ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ตามระบบการจัดการผลิตข้าวตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม   ในพื้นที่ปลูกข้าว 8 อำเภอของจังหวัดชัยนาท เกษตรกร 800 ราย  การดำเนินงานโดยรวมเกษตรกรเป็นกลุ่ม ๆ ละ 20 คน จำนวน 40 กลุ่ม และจัดตั้งเป็นโรงเรียนเกษตรกร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับการถ่ายทอดความรู้การผลิตข้าวปลอดภัย และ ได้มาตรฐานตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร ผสมผสานองค์ความรู้วิชาการร่วมกับภูมิปัญญาชาวบ้าน  ซึ่งจังหวัดชัยนาทได้คัดเลือกเกษตรกรต้นแบบครูติดแผ่นดินข้าว ในพื้นที่อำเภอเมืองชัยนาท สรรคบุรี และหันคา จำนวน 9 ตน มีองค์ความหลากหลายในแต่ละรายที่คล้ายคลึงและแตกต่างกันไป

     นายทองอยู่  ปิ่นทอง ครูติดแผ่นดินอีกท่านหนึ่งของจังหวัดชัยนาท และรองประธานกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวนางลือ–ท่าชัย อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ได้ปรับปรุงพื้นที่นา 25 ไร่ ได้พยายามลดต้นทุนการผลิตเหลือไร่ละประมาณ 2,240 บาทจากเดิมมีต้นทุนไร่ละประมาณ 4,090 บาทกว่า โดยมีขั้นตอน ดังนี้

ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ก่อนเตรียมดิน  ก่อนเตรียมดินโดยไม่เผาตอซังและฟางข้าว ใส่ปุ๋ยอินทรีย์(ชนิดผง ไม่ได้อัดเม็ด)ตันละ 1 พันบาท ประมาณ 120 กก./ไร่ คิดเป็นเงินประมาณ  120 บาท  และใส่ปุ๋ยคอก(มูลแพะ) กระสอบละ 8 บาท จำนวน 4 กระสอบ/ไร่ คิดเป็นเงินประมาณ  32 บาท

ใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์  เมื่อข้าวอายุ 30 วัน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0  อัตรา 8-10  กก./ไร่  ประมาณ 160 บาท ใส่ปุ๋ยคอก(มูลเพาะ) 4  กระสอบ คิดเป็นเงินประมาณ  32 บาท หว่านให้ทั่วแปลงนา และใส่ปุ๋ยคอก(มูลเพาะ) 1 กระสอบ คิดเป็นเงินประมาณ  8 บาท รอบๆ แปลงนา เพื่อป้องกันหนูกัดกินข้าว ด้วยพบว่าใช้แล้วหนูไม่รบกวนข้าวอีก

ผลที่ได้รับ ข้าวเจริญเติบโตดี  ต้นข้าวแข็งแรงลดค่าใช้จ่ายกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ใบข้าวตั้งตรง ลดแหล่งสะสมโรคและแมลงศัตรูพืชได้มาก มีสีเขียวไม่มากนัก จากแนวคิดที่มั่นใจว่าปุ๋ยหมักและมูลแพะมีปริมาณของไนโตรเจนเพียงพอ และสังเกตจากใบของข้าวมีความสด เขียว ที่เพียงพอจึงไม่ต้องนำปุ๋ยยูเรียใส่เพิ่มเติมอีก ต้นทุนคำนวณจากต้นทุนเมื่อใช้ปุ๋ยหมักมูลแพะ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมประมาณ 2,240  บาท/ไร่ เปรียบเทียบจากเดิมใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 และ 16-20-0  และต้นทุนอื่นๆ รวมประมาณ 4,090  บาท/ไร่ (ไม่รวมค่าเช่านา) ตามตารางเปรียบเทียบ

รายละเอียดค่าใช้จ่าย

เดิม

ปัจจุบัน

ค่าเตรียมดิน
ค่าเมล็ดพันธุ์
ค่าสารเคมีกำจัดวัชพืช
ค่าปุ๋ยเคมี
ค่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
ค่าฉีดพ่น
ค่าเก็บเกี่ยว
ค่าแรงงาน

470

600

70

1,180

720

200

450

400

470

330

70

160

160

200

450

400

ค่าใช้จ่าย ( บาท/ไร่)

4,090

2,240

คำสำคัญ (Tags): #แพะ
หมายเลขบันทึก: 350861เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2010 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เข้ามาเยี่ยมชมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท