รุกไปดูแลเด็กในชุมชน


การดูแลเด็กในชุมชน ทุนการศึกษา

รุกไปดูแลเด็กในชุมชน

                บ่ายเมื่อวาน ผมเชิญบรรดาครูของ"มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก"ที่ทำงานอยู่ในชุมชนแออัด 10 ชุมชน มาพบปะพูดคุยถึงการทำงานที่ผ่านมา ทำให้ได้ทราบถึงผลสำเร็จที่น่าดีใจหลายเรื่องที่อยากจะเล่าสู่กันฟัง ดังนี้
                1.สามารถรุกสร้างความสัมพันธ์กับเด็กและครอบครัว จนสามารถนำเด็กเข้าไปเรียนหนังสือตามโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ละแวกชุมชนนั้นๆ ได้มากถึง 291 คน ในจำนวนนี้ได้สนับสนุนทุนการศึกษาให้ 26 คน สงเคราะห์อุปกรณ์การเรียนครบถ้วนให้ 74 คน จำนวนที่เหลือเหล่านั้นได้ช่วยเหลือไปตามความจำเป็นและที่ขาดแคลน
                2.ได้นำผู้แทนชุมชนทั้ง 10 ชุมชนไปศึกษาดูแลในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพึ่งตนเองและการทำอาชีพเสริม ผลสำเร็จที่ตามมาคือมีหลายครอบครัวได้เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงกบ เลี้ยงปลาในกระชัง บางครอบครัวทำถั่วงอก ทำน้ำเต้าหู้ขาย หลายครอบครัวทำแปลงผักสวนครัวเพื่อลดค่าใช้จ่าย
                3.ได้ประสานพาเยาวชนจำนวน 18 คนไปรักษาบำบัดการติดยาเสพติด เพื่อจะได้กลับมาศึกษาเล่าเรียนและทำงานต่อไป
                4.เปิดห้องสมุดหรือมุมอ่านหนังสือภายในชุมชนขึ้นทุกชุมชนโดยเยาวชนในชุมชนเป็นผู้รับผิดชอบดุแล
                เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าการทำงานเชิงรุกนั้นมีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่เป็นจริง ได้พบเด็กทีป่ระสบปัญหาอยู่ ได้มีส่วนกระตุ้นให้ชุมชนร่วมคิด ร่วมทำและแก้ไขปัญหาในชุมชน
                ผมได้ให้กำลังใจและขอบคุณครูในชุมชนเหล่านั้น เพราะทราบว่าพวกเขากำลังขยายการดูแลไปยังชุมชนอื่นๆ อีกอย่างน้อย 10 ชุมชนรอบๆ กรุงเทพฯ  โดยมีเป้าหมายแรกที่จะค้นหาให้พบเด็กที่ยังไม่ได้เข้าเรียนซึ่งเชื่อว่ายังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ให้ได้เข้าเรียนทุกคน
                ผมเล่าเรื่องดีๆ ในสถานการณ์ร้อนๆ ทางการเมือง ก็เพื่อให้ทุกคนได้ทราบว่า ในท่ามกลางความกังวลร้อนใจ ก็มีความเย็นชื่นใจของคนกลุ่มเล็กๆ ที่กำลังขวนขวายช่วยเหลือเด็กๆ ที่ประสบปัญหาอยู่
                ร่วมเป็นกำลังใจให้พวกเขานะครับ   

 

หมายเลขบันทึก: 350785เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2010 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บ่ายนี้ผมได้พบกับ "ครูพงษ์"ครูที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กๆ ในชุมชนแออัด ซึ่งกำลังจะพาเด็กในชุมชนที่กระทำความผิดข้อหาลักทรัพย์( ถูกศาลท่านสั่งคุมประพฤติด้วยการมอบตัวของครูชุมชนของมูลนิธิสร้างสรรคืเด็กช่วยดูแลอีกทาง) ผมถามครูพงษ์ว่าจะส่งเด้กไปดูแลที่ใด เขาตอบผมว่าได้ประสานส่งตัวไปเรียนอยู่ประจำที่ "โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นางรอง" จ.บุรีรัมย์ เป็นการคุมประพฤติแบบให้โอกาส ผมยินดีด้วยที่แนวคิดเช่นนี้มีอยู่เพราะไม่ปิดโอกาสพัฒนาการเด็ก และก็หวังว่าเด็กจะเข้าใจถึงโอกาสที่ผู้ใหญ่มอบให้เพื่อให้สามารถกลับตัวเป็นคนดีต่อไป

นี่เป้นงานอีกลักษณะหนึ่งของครูชุมชน น่าสนใจมากนะครับ ผมจึงนำมาเล่าเพิ่มเติมประกอบไว้ ณ ที่นี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท