เปิดตลาดนัดที่จังหวัดฉะเชิงเทรา (๑)


ความสำเร็จที่ทุกคนนำมาเสนอเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่ใช่ความสำเร็จในแง่ที่ผู้ป่วยคุมน้ำตาลได้สุดยอด แต่เป็นความสำเร็จอันเป็นผลมาจากการใช้ความพยายามของคนทำงาน

วันที่ ๑๙-๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ ดิฉัน คุณธวัช หมัดเต๊ะ คุณอาฬสา หุตะเจริญ และคุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน ไปช่วยกันจัดตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่โรงแรมแกรนด์ รอยัล พลาซ่า งานนี้มีคุณศุภลักษณ์ มิ่งไทยสงค์และทีมงาน รพ.บางน้ำเปรี้ยว ร่วมกับคุณแสงเดือน บุญเจริญ รพ.บ้านโพธิ์ เป็นแม่งาน กว่าจะมาเป็นงาน ๒ วันนี้ เรามีการพูดคุยและเตรียมการมาหลายเดือน

พ่อค้า-แม่ขายในงานนี้คือทีมสหสาขาวิชาชีพที่ให้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานจากโรงพยาบาล PCU และสถานีอนามัย ๙ อำเภอ ประมาณ ๕๐ คน มีผู้สังเกตการณ์จากสำนักบริหารจัดการโรคเฉพาะ สำนักวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน กระทรวงสาธารณสุข สสจ.นครสวรรค์ รพ.ศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรีและบุคลากรในแปดริ้วเองอีก ๑๐ กว่าคน นอกจากจะใช้งบประมาณของเจ้าภาพเองแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนมาจากมูลนิธิเพื่อพัฒนาการบริบาลผู้ป่วยเบาหวาน บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) และบริษัทโนโว นอร์ดิสก์

เราเริ่มงานตั้งแต่เช้า ๐๘.๐๐ น. ดิฉันและคุณธวัช ช่วยกันอธิบายบทบาทให้ “คุณอำนวย” และ “คุณลิขิต” พร้อมยกตัวอย่างบรรยากาศกิจกรรมกลุ่มย่อยที่เราเคยประสบมาแล้วประกอบเพื่อให้เห็นภาพ จะได้เตรียมรับมือได้ จริงๆ เราได้ส่งเอกสารให้อ่านมาล่วงหน้าแล้ว แต่ทุกคนก็สนใจฟัง จดบันทึกและซักถาม บางคนอยากเห็นตัวอย่างก่อนด้วย

๐๘.๓๐ น. ประธานคือ นพ.วัฒนา กาญจนกามล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา ติดภารกิจในช่วงเช้า เราจึงเปิดงานด้วยกิจกรรมเปิดตัวเปิดใจ นำโดยคุณอาฬสาและคุณสุภาพรรณ ที่คราวนี้ใช้ “เกมส์หาหัวใจ” และ “ฝาเปลี่ยนหอย หอยเปลี่ยนฝา” ปิดกิจกรรมด้วยการย้ำว่าอย่าลืมทำความรู้จักกันในกลุ่ม

ชาวเสื้อเหลืองกำลังเล่นเกมส์หอยกับฝา

ช่วงที่ ๒ ดิฉันแนะนำเครือข่ายเบาหวานของเราสั้นๆ ก่อนเข้าสู่เรื่องของการจัดการความรู้ บอกภาพรวมของกิจกรรมในตลาดนัด พร้อมทั้งอธิบายกิจกรรมกลุ่มย่อย “หาหัวใจของตัวเดินเรื่อง” เน้นวิธีการเล่าเรื่อง การฟังอย่างลึก การสกัดขุมความรู้ คุณธวัชช่วยเพิ่มเติมเรื่องสำคัญๆ เช่น ขณะฟังเพื่อนเล่าให้เอาความคิดของตนเองวางไว้ก่อน......ยกตัวอย่างเรื่องเล่าความสำเร็จเล็กๆ จากตลาดนัด ครั้งที่ ๒ มาเป็นตัวอย่างให้ทุกคนลองสกัดขุมความรู้ เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

กำลังทำความเข้าใจเรื่อง KM

หลังพักรับประทานอาหารว่าง ก็แบ่งกลุ่มใช้เวลาช่วง ๑๐.๓๐-๑๒.๐๐ น.ในการเล่าเรื่องความสำเร็จและสกัดขุมความรู้ ทุกกลุ่มทำงานกันอย่างตั้งอกตั้งใจ บางกลุ่มมีเสียงหัวเราะดังออกมาเป็นระยะ คุณลิขิตทุกกลุ่มขยันเขียน flip chart กันตั้งแต่ต้น (กลุ่มย่อยมีแต่เก้าอี้ไม่มีโต๊ะ) เรามีแมวมองไปสอดส่องหา “ยอด” คุณอำนวยและคุณลิขิต เตรียมไว้ให้รางวัล

หาหัวใจของตัวเดินเรื่องจาก success story

๑๓.๐๐ น. นายแพทย์ สสจ.มาเปิดงานอย่างเป็นทางการ คุณอาฬสาเป็นผู้ประกาศชื่อผู้ที่ได้รางวัลให้“ยอดคุณอำนวย” ๒ คนคือ พญ.วิมล จังสมบัติศิริ และคุณจินตนา กุลละวณิชย์ “ยอดคุณลิขิต” ๒ คนคือคุณกัลยา เพียรแก้ว และคุณกิ่งแก้ว ดียิ่ง เรายังมีรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ให้แก่คุณอำนวยและคุณลิขิตคนอื่นๆ เป็นการขอบคุณด้วย

ประมาณ ๑๓.๒๐ น.แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนมานำเสนอขุมความรู้ ไม่น่าเชื่อว่ามีเรื่องเล่าการปฏิบัติดีๆ หลายเรื่องที่สร้างความประทับใจให้แก่ทุกคน เรื่องเล่าความสำเร็จบางเรื่องแสดงให้เห็นถึงการใช้ความพยายามอย่างน่าชื่นชมของเจ้าหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน บางคนต้องไปดักรอชาวบ้านตั้งแต่เช้ามืด ๐๕.๓๐ น. ก่อนที่ชาวบ้านจะออกไปทำไร่ เพื่อชักชวนให้มาตรวจคัดกรองเบาหวาน  บางคนพยายามนำหลักวิชาการ Pharmacokinetic มาทำนายความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยที่เกิด hypoglycemia จากยารับประทาน บางรายคิดประยุกต์อุปกรณ์เครื่องใช้เพื่อให้ผู้ป่วยดูแลตนเองได้ เราได้ฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับการให้ความรู้ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ที่แตกต่างจากการสั่งสอน บางแห่งให้ผู้ป่วยสอนฉีดอินซูลินกันเอง ความสำเร็จที่ทุกคนนำมาเสนอเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่ใช่ความสำเร็จในแง่ที่ผู้ป่วยคุมน้ำตาลได้สุดยอด แต่เป็นความสำเร็จอันเป็นผลมาจากการใช้ความพยายามของคนทำงาน ความภูมิใจไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ

ผู้นำเสนอเร่งทำเวลากันจนหอบ เพราะอยากเล่าถึงเรื่องดีๆ เหล่านั้นให้เป็นที่รู้ ลีลาการนำเสนอของ ภก.สุวิทย์ พจนโสภณากุล จาก รพ.บางน้ำเปรี้ยว ช่วยสร้างสีสันได้ดีทีเดียว เราพอมองเห็น “แก่นความรู้” ได้เลาๆ ขุมความรู้ที่กลุ่มสกัดได้จากเรื่องเล่าถูกเขียนใน card จำนวนมากหลายสิบใบ ถูกบ้างผิดบ้าง เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้ลองทำ

เราใช้เวลาต่อจากนั้นให้ตัวแทนจากแต่ละกลุ่มคัดเลือกจัดหมวดหมู่ สังเคราะห์ “ขุมความรู้” เป็น “แก่นความรู้” คนที่เหลือให้ชมนิทรรศการที่จัดอยู่ท้ายห้องประชุม การดำเนินการตรงนี้จะดูแต่ข้อความใน card ไม่ได้ ต้องนึกย้อนไปถึงเรื่องเล่าด้วย เพราะ card บางใบไม่ได้เขียนความรู้ที่เป็นวิธีการปฏิบัติ แต่เขียนเป็นผลที่เกิดขึ้นก็มี หากไม่นึกย้อนกลับไปถึงเรื่องเล่า เราก็จะเดินไปคนละทาง ในที่สุดก็ได้ “แก่นความรู้” ทั้งหมด ๙ เรื่องได้แก่
๑. ให้บริการโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (เอาวิถีชีวิต ความสะดวก ความต้องการของผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง)
๒. ทำงานเป็นทีม
๓. ติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง
๔. ใช้แหล่งประโยชน์จากกลุ่มและชุมชน (ชมรม เครือข่าย องค์กรท้องถิ่น)
๕. สนับสนุนการดูแลตนเอง
๖. ให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแล
๗. ให้ความรู้ที่นำไปสู่การปฏิบัติ
๘. ป้องกันและรักษาโรคแทรกซ้อน
๙. ค้นหาผู้ป่วย/กลุ่มเสี่ยงให้ได้โดยเร็ว

จัดหมวดหมู่ หาแก่นความรู้

ใกล้เวลา ๑๕.๐๐ น. นพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร มาเล่าเรื่องงานการดูแลผู้ป่วยเบาหวานของจังหวัดที่ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ ทั้งการพัฒนาบุคลากร การปรับปรุงระบบบริการ การบริหารจัดการ คุณหมอปรเมษฐ์บอกให้รู้ถึงงานเด่นของจังหวัดและงานเด่นของแต่ละอำเภอ ในการทำงานยังเน้นเรื่องการให้รางวัล ยกย่อง ชมเชยผู้ที่มีผลงานดี

๑๖.๐๐ น. ดิฉันสรุปแก่นความรู้ที่ได้ ๙ เรื่อง แล้วทำตารางแห่งอิสรภาพที่มีแต่ระดับความสามารถ ๕ ระดับ แต่ไม่มีรายละเอียด ลองให้แต่ละ รพ.ประเมินตนเองและเขียนอธิบายว่าเหตุใดจึงประเมินตนเองอยู่ในระดับนั้น ได้เห็นวิธีคิดหลากหลายรูปแบบ บางแห่งก็ติดขัดบอกว่าถ้าจะให้ประเมินต้องสร้างเกณฑ์ก่อน บางแห่งยังเขียนเหตุผลการประเมินได้ไม่ถูกใจ ขอเอากลับไปทำเป็นการบ้าน

คุณหมอจำเนียรและทีมพนมสารคามช่วยกันประเมินตนเอง

เราจบการประชุมวันแรกประมาณ ๑๖.๓๕ น.

๑๖.๔๕-๑๗.๓๐ น. AAR ของทีมจัดงาน
๑. โดยภาพรวมของการประชุมเป็นไปตามความคาดหวัง เพราะผู้เข้าประชุมได้แลกเปลี่ยน ได้รู้จักกันข้ามวิชาชีพ ข้าม รพ. ได้แสดงความคิดเห็น ทุกคนมีความตั้งใจ
๒. สิ่งที่เกินความคาดหวังคือการรักษาเวลาของผู้เข้าประชุมที่มาเข้าประชุมตรงตามเวลาแต่เช้า อยู่กันครบ ไม่หลบออกไปนอกห้อง บรรยากาศการประชุมจากที่ผ่านๆ มาการประชุมมักมีข้อโต้แย้ง หาข้อสรุปกันไม่ได้ แต่วันนี้ทุกคนพูดกันแต่เรื่องดีๆ
๓. สิ่งที่น้อยกว่าที่คาดคือในช่วงเวลาของคุณหมอปรเมษฐ์ ไม่มีคนซักถามทั้งๆ ที่เป็นเรื่องน่าสนใจ ซึ่งอาจเป็นเพราะเวลาที่ดูเหมือนมีจำกัด (เพราะต้องรีบเดินทางกลับ) ผู้สังเกตการณ์หลายคนมาช้า มาไม่ครบตามจำนวนที่แจ้งไว้
๔. ครั้งต่อไปควรปรับปรุงการนำเสนอพิเศษ (แบบรายการของคุณหมอปรเมษฐ์ ) ให้เป็นไปแบบ interactive ให้ลงรายละเอียดในเรื่องเล็กๆ มีหน้าม้าเริ่มถามนำ มีข้อตกลงล่วงหน้ากับผู้ที่จะมาสังเกตการณ์ว่าต้องตรงเวลา อยู่ตลอดการประชุม และมีการมอบหมายหน้าที่ให้ด้วย

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๙

ปล.ตั้งใจจะบันทึกตั้งแต่เมื่อวานช่วงบ่าย แต่ gotoknow มีอาการผิดปกติคือช้าและบันทึกไม่ได้

หมายเลขบันทึก: 35023เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2006 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 12:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท