อุทยานหลวงราชพฤกษ์กำลังจะได้รับ Baobab ต้นไม้ปฏิวัติอาหารโลก?


แต่ที่อัศจรรย์กว่านั้นก็คือทุกส่วนของมันไม่ว่าเปลือก ใบ เนื้อไม้ ผล มีคุณประโยชน์มาก จนผู้รักสุขภาพในโลกตะวันตกกำลังบ้าคลั่งนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา สารพัดสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจาก Baobab หลั่งไหลเข้าสู่ตลาด และเชื่อว่าอีกไม่นานนักคลื่น Baobab ก็คงจะมาถึงบ้านเรา

เมื่อวันศุกร์ที่  2 เมษายน 2553 คุณเวียนนารัตน์ ช่วงวิวัฒน์ จาก UNFPA ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นน้องที่รักกันมากได้แวะมาเยี่ยมที่อุทยาน และ ยืนยันเจตนารมณ์ที่เคยบอกไว้นานแล้วว่าจะมอบต้น  Baobab ให้อุทยานทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายพันธุ์ไม้ของเราดีใจกันมากเพราะเจ้าต้นบาปแบบเบาๆนี้ประเทศออสเตรเลียเคยนำมาจัดแสดงเมื่อครั้งงานพืชสวนโลกแต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว

คุณเวียนนาบอกว่าต้นที่บ้านที่จะให้สูงเกือบเท่าต้นในรูปตัวอย่างที่  Hyderabad ที่ India แล้ว (เข้าไปดูเองได้จาก wikipedia ) เป็นสายพันธุ์จาก Africa ส่วนต้นจากมาดากัสกาโตช้ามากสูงประมาณ 2 ฟุตเท่านั้น  (เป็นชนิดเดียวกับที่ประเทศออสเตรเลียนำมาัแสดงที่ทางเข้าพืชสวนโลก ) ที่จะให้นี้น้องสาวคุณเวียนนารัตน์เพาะชำไว้ที่สัตหีบมีทั้ง 2 สายพันธุ์ เข้าใจว่ามี 10 กว่าต้น  เขาจะแบ่้งให้สายพันธุ์ละ 2-3 ต้น แล้วก็ให้เมล็ดพันธุ์ไปเพาะเองด้วย  เรานัดกันว่าจะส่งคนไปรับเมื่อหลังสงกรานต์

คุณเวียนนารัตน์ส่งข้อมูลที่วรากรณ์ สามโกเศศ เขียนไว้ในมติชนรายวัน วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11408 เรื่อง Baobab ต้นไม้ปฏิวัติอาหารโลก? มาให้ด้วย ก็ขอนำมาลงเผยแพร่ไว้ด้วยนะคะ

Baobab ต้นไม้ปฏิวัติอาหารโลก?

ต้นไม้ใหญ่หน้าตาประหลาดมีชื่อว่า Baobab ซึ่งดูราวกับธรรมชาติทำงานผิดพลาดโดยเอารากกลับขึ้นมาอยู่บนดิน ส่วนลำต้นและใบทิ่มอยู่ใต้ดิน กำลังเป็นต้นไม้ดังทั่วโลก เพราะความมีประโยชน์ในเกือบทุกส่วนของมัน

Baobab เป็นชื่อตลาดที่รู้จักกันมากที่สุด ชื่อพันธุ์ (Genus) ของมันคือ Adansonia มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 8 species แหล่งดั้งเดิมของ 6 species อยู่ใน Madagascar (เกาะใหญ่อยู่ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา) และอยู่บนแผ่นดินใหญ่ของแอฟริกาและออสเตรเลีย (ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีป) อีกแห่งละหนึ่ง species

Baobab เป็นต้นไม้มหัศจรรย์โดยแท้มันสูงได้ถึง 5-30 เมตร ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 7-11 เมตร (ในจังหวัด Limpopo ประเทศ South Africa ต้นที่เชื่อว่าใหญ่ที่สุดในโลก ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 เมตร) เชื่อว่ามีอายุอยู่ได้นับพันปี

แต่ที่อัศจรรย์กว่านั้นก็คือทุกส่วนของมันไม่ว่าเปลือก ใบ เนื้อไม้ ผล มีคุณประโยชน์มาก จนผู้รักสุขภาพในโลกตะวันตกกำลังบ้าคลั่งนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา สารพัดสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจาก Baobab หลั่งไหลเข้าสู่ตลาด และเชื่อว่าอีกไม่นานนักคลื่น Baobab ก็คงจะมาถึงบ้านเรา คล้ายกับ "คลื่นน้ำลูกยอ" "คลื่นชาเขียว" ฯลฯ ที่ผ่านมา

ใครที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Lion King คงจำภาพต้นไม้ประหลาดนี้ได้ที่ตัวละครชื่อ Rafiki ใช้เป็นบ้าน และในหนังสือคลาสสิคแปลจากภาษาฝรั่งเศสที่เข้าใจว่าปัจจุบันนักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยไทยถูกบังคับให้อ่านคือ "Little Prince" (Le Petit Prince) โดย Antoine de Saint-Exup?ry กล่าวถึงต้น Baobab ว่าโลกที่ Little Prince อาศัยอยู่นั้นเล็กเกินกว่าที่จะให้ต้น Baobab อยู่

Baobab ไม่ได้ไร้ใบตลอดเวลาจนดูประหลาดเหมือนในภาพ สำหรับ Baobab สายพันธุ์ Adansonia digitata ในแอฟริกาไร้ใบประมาณ 9 เดือน ใน 1 ปี ในช่วงฤดูฝนมันจะดูดซับน้ำได้สูงถึง 120,000 ลิตร มาเก็บไว้ในลำต้นสู้กับความแห้งแล้งเพื่อมันจะสามารถอยู่รอดได้คงทน และมีอายุอยู่ได้นานกว่าต้นไม้อื่นๆ

คนแอฟริการู้จักประโยชน์ของต้น Baobab มานับพันปีก่อนที่คนตะวันตกจะมาตื่นเต้น คนแอฟริกาใช้ใบของมันที่มีลักษณะเป็นช่อใบเรียวมน 5 ใบ เป็นอาหารโดยบริโภคกันทั้งดิบ เป็นใบแห้งหรือเป็นผง

ในไนจีเรียใช้ใบ Baobab มาทำเป็นซุป ผลของมันยาวประมาณ 18 เซนติเมตร แต่ละลูกห้อยยาวลงมา ดูไกลๆ เหมือนหนูตายห้อยหัว (จึงมีชื่อเรียกว่า Dead-rat Tree ด้วย) ผลมีเปลือกแข็งหุ้ม ภายในเป็นเมล็ดๆ มีเนื้อขาวหุ้มคล้ายน้อยหน่า และมีเนื้อสีขาวเป็นปุยอยู่ด้วย

ส่วนที่เป็นปุยสีขาวนี้คนแอฟริกันเรียกว่าขนมปังลิง (monkey"s bread) เขาเอาไปผสมนม หรือข้าวต้ม ข้าวโพดต้มเละเป็นอาหาร บ้างก็เอาน้ำเชื่อมสีแดงราดลงบนเนื้อและนำมาขายเป็นขนม ส่วนที่เป็นเมล็ดก็เอามาตำเพื่อทำให้ซุปข้นขึ้น หรือเอามาคั่วเพื่อกินเล่น หรือบีบเอาน้ำมัน ลำต้นซึ่งชุ่มฉ่ำด้วยน้ำถูกกรีดมาใช้เป็นเชือก สีย้อมผ้า ตลอดจนเป็นยาพื้นบ้าน

หลายปีที่ผ่านมามีงานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของ Baobab มากพอควร พบว่าผลของมันนั้นในน้ำหนักเท่ากันมีวิตามินซีมากกว่าส้มถึง 6 เท่า อุดมด้วย Antioxidants (สารป้องกันโรคมะเร็ง) Potassium/ Phosphorus เหล็ก โซเดียม แมงกานิส Zinc แม็กนีเซียม และสารพัดวิตามินไม่ว่าจะเป็น B1/ B2/ B6 Niacine ฯลฯ อย่างไม่น่าเชื่อ

งานวิจัยยืนยันความเชื่อของคนพื้นเมืองแอฟริกาว่าเปลือกของลำต้นสามารถลดการอักเสบ แก้โรคท้องเสีย (โดยเฉพาะผล Baobab) การสูญเสียน้ำ ฯลฯ ได้เป็นอย่างดี

การศึกษาพบว่าผล Baobab มีเส้นใย (fibre) ซึ่งช่วยกระตุ้นการเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้ซึ่งช่วยในการย่อยอาหาร กระตุ้นภูมิต้านทาน ป้องกันโรคท้องเสีย ฯลฯ

ความจริงที่พบนี้ทำให้เกิดการผลิตผงแป้งจากเส้นใยของผล Baobab ในโรคตะวันตก มีการสกัดน้ำมันจากเมล็ด จากใบ จากลำต้น มาใช้ในการผสมน้ำผลไม้ นม นมเปรี้ยว บิสกิต ขนมเค้ก เครื่องดื่ม ซีเรียลสำหรับอาหารเช้า energy bars ช็อกโกแลต ไอศครีม ฯลฯ โดยอ้างสารพัดสรรพคุณ

อย่างไรก็ดี ทางการ EU และสหรัฐอเมริกายังมิได้อนุมัติการนำเข้าผล Baobab (เมื่อกลางปี 2008 EU ได้อนุมัติการนำเข้าเนื้อแห้งของผล) อีกไม่นานทั้ง EU และสหรัฐอเมริกาก็คงจะอนุมัติ และต่อไปคนยุโรปและอเมริกันก็คงจะได้บริโภคผล Baobab สดๆ กัน

Baobab เป็นต้นไม้ขึ้นตามธรรมชาติ ยังไม่เคยมีการปลูกกันเป็นสวนหรือเป็นไร่ เมื่อ Baobab เป็นที่นิยมมากขึ้น การปลูกเป็นสวนคงจะเกิดขึ้น ปัจจุบันไม่ทราบว่ามีการปลูก Baobab กันหรือไม่ในประเทศไทย แต่เชื่อได้ว่าในเวลาอีกไม่นาน คงจะเกิด "คลื่น Baobab" เหมือน "คลื่นต้นสัก, คลื่นกฤษณา, คลื่นตะกูยักษ์" ฯลฯ ที่เคยเกิดขึ้นในบ้านเรา

การไร้การควบคุมการนำเข้าต้นไม้ของทางการบ้านเรา ทำให้เกิดความกังวลว่าหาก Baobab เกิดติดอันดับมีการปลูกเป็นสวนเหมือนยูคาลิปตัส น้ำซึ่งเป็นทรัพยากรที่ขาดแคลนอยู่แล้วจะยิ่งหนักหนายิ่งขึ้นในบ้านเราในอนาคต เพราะ Baobab น่าจะเป็น "ตัวดูดน้ำ" ที่ร้ายกาจ แย่งชิงน้ำมาสะสมไว้ในลำต้น ได้เก่งกว่าต้นไม้อีกหลายพันธุ์

ถึงแม้ Baobab ให้คุณค่าแก่ชาวโลกในด้านโภชนาการ แต่ก็อาจสร้างต้นทุนมหาศาลได้เช่นกัน หากชาวโลกมีความต้องการผลิตภัณฑ์มากขึ้นจนต้องเกิดการปลูกเป็นสวนเป็นไร่ เข้าทำนอง "โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี" กล่าวคือชาวโลกต้อง "จ่าย" สำหรับผลิตภัณฑ์ด้วยการขาดน้ำสำหรับพืชอื่น

ในหนังสือ Little Prince ถึงแม้ว่าโลกจะไม่มีที่เพียงพอสำหรับ Baobab แต่ Little Prince ก็แนะนำว่าการดูแลโลกเป็นงานที่หนักและเหนื่อย แต่ก็เป็นงานที่ง่ายหากจัดการได้ดี

คำถามเชิง proactive (คือคิดป้องกันก่อนเกิดปัญหา) ก็คือหาก Baobab กลายเป็นต้นไม้สำคัญขึ้นมาจนมีคนปรารถนาปลูกกันมากมายในบ้านเรา เราจะเตรียมรับมือกับปรากฏการณ์นี้อย่างไร

หากได้รับมาแล้วจะนำเรื่องและภาพมารายงานต่อนะคะ

สำหรับทุกท่านที่มีไม้หายากและอยากจะบริจาคให้อุทยาน  ทางอุทยานหลวงราชพฤกษ์  ยินดีรับนะคะและจะติดป้ายชื่อผู้บริจาคไว้ด้วยค่ะ




หมายเลขบันทึก: 349768เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2010 14:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท