ชื่อพระราชทานอุทยานหลวงราชพฤกษ์


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อให้กับสถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ ราชพฤกษ์ 2549 ว่า”อุทยานหลวงราชพฤกษ์”ตั้งแต่วันที่23 มกราคม 2553

อุทยานหลวงราชพฤกษ์   ถือกำเนิดขึ้นมาจากงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ “ราชพฤกษ์ 2549” ซึ่งมีชื่อเต็มว่า “งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา”   การใช้ชื่องานว่า “ราชพฤกษ์” เนื่องจาก “ราชพฤกษ์” เป็นไม้ประจำชาติไทยที่มีความหมายว่า “ต้นไม้ของพระราชา” ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของงานที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่ทรงสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี พ.ศ.2549 และทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษาในปี พ.ศ. 2550 นับเป็นมหกรรมแห่งการเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่ที่คนไทยทั้งประเทศร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งนี้

  รูปแบบและกิจกรรม ของการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯราชพฤกษ์ 2549  เป็นการจัดงานในระดับ A1 ตามมาตรฐานของสำนักงานมหกรรมโลก (BIE) และสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (APIH) ภายใต้แนวคิด “นำความรักมาสู่มนุษยชาติ”  โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกในระดับนี้ ผลการจัดงานมีประเทศต่างๆเข้าร่วมจำนวน 30 ประเทศ จาก 4 ทวีป มีผู้เข้าชมงานรวม 3,848,791 คน จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ 2 ล้านคน คิดเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 90   ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติเข้าชมงาน 293,110 คน             การจัดงานได้รับการยอมรับและชื่นชมจากต่างประเทศ  ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal Award) จากสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (APIH) นับเป็นประเทศที่ 3 ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองในระดับ A1 และประเทศต่างๆที่เข้าร่วมการจัดงาน ต่างแสดงความประทับใจและชื่นชมกับความสำเร็จและความสามารถของคนไทยในการจัดงานครั้งนี้  ซึ่งเป็นการแสดงถึงสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างประเทศ และสร้างโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านพืชสวนอย่างยั่งยืน เนื่องจากการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ได้รวบรวมพันธุ์พืชเขตร้อนชื้นมากกว่า 3 ล้านต้น ที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมมาปลูกแสดงทั้งปลูกในร่มและปลูกกลางแจ้งในรูปแบบต่างๆนอกจากนั้นยัง มีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการพืชสวนระดับนานาชาติอย่างกว้างขวาง ในการประชุมวิชาการนานาชาติและการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ  ที่จัดขึ้นระหว่างงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ ราชพฤกษ์ 2549 ซึ่งมีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 3,000 คน  นอกจากนั้นยังได้ช่วย กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและชุมชน ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 23,000 ล้านบาท

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อให้กับสถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ ราชพฤกษ์ 2549 ว่า”อุทยานหลวงราชพฤกษ์”ตั้งแต่วันที่23 มกราคม 2553

ปัจจุบัน  ”อุทยานหลวงราชพฤกษ์”    อยู่ในความดูแลของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน)    ตั้งอยู่บนพื้นที่ 470 ไร่  แบ่งพื้นที่ส่วนแสดงออกเป็น 4กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มแรก หอคำหลวง เป็นสถาปัตยกรรมหลักของงานที่สวยงามตามแบบศิลปะล้านนา เป็นส่วนที่ได้รับความสนใจและประทับใจจากผู้ชมงานมากที่สุด

กลุ่มที่สอง สวนเฉลิมพระเกียรติฯ ประกอบด้วยสวนนานาชาตินอกอาคาร จาก 22 ประเทศ จำนวน 23 สวน และสวนองค์กรเฉลิมพระเกียรติในประเทศไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชน  จำนวน 22 สวน

กลุ่มที่สาม สวนไทย เป็นการจัดสวนเขตร้อนชื้นทั้งภายในอาคารและนอกอาคาร  เพื่อแสดงถึงศักยภาพของพืชสวนไทย ด้านความหลากหลายของชนิดพืช พันธุ์พืชชนิดใหม่และเทคโนโลยีการผลิตใหม่ 

กลุ่มที่สี่ อาคารนิทรรศการและอื่นๆ ได้แก่อาคารนิทรรศการถาวร 1 หลัง อาคารนิทรรศการชั่วคราว 2 หลังรวมทั้งส่วนการแสดงพิเศษ   ส่วนบริการและอำนวยความสะดวก

อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ได้รับเกียรติให้เป็นสถานที่จัดงาน มหกรรมพืชสวนโลก ครั้งที่2   ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 9 พฤศจิกายน 2554 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2555 โดยคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551 และ AIPH ได้ให้คำรับรองการจัดงานในระดับ A2B1 โดยมีวัตถุประสงค์ คือ  เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในปีมหามงคล 3 วโรกาส คือ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวฯ   ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 84  พรรษา ในปี พ.ศ.2554 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ในปี พ.ศ. 2555 และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา ในปี พ.ศ. 2555  เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ทั้งโครงการพระราชดำริ และโครงการส่วนพระองค์   เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาด้านพืชสวนของไทย ตลอดจนให้มีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและเทคโนโลยีด้านพืชสวนในระดับชาติ  และระดับนานาชาติ    เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ และเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งธุรกิจด้านการนำเข้า-ส่งออกผลิตผลการเกษตร ธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม และธุรกิจบริการด้านต่างๆ

หมายเลขบันทึก: 349536เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2010 12:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท