patchy
นางสาว พัชรา ทองสวัสดิ์

รากแก้วแห่งปัญญา


"ครูไทยน่ะเก่งนะ"

เหตุการณ์เมื่อเจ็ดปีที่แล้ว
       
       ครูท่านหนึ่ง: อาจารย์อย่าแทงกั๊กเลย พวกเรารอฟังมาเป็นเดือนแล้ว บอกพวกเรามาเถอะว่าจะให้พวกเราทำอะไร ครูไทยน่ะเก่งนะ พวกเราทำอะไรๆก็ได้ทั้งนั้น
       
       ผู้เขียน: ผมอยากให้พวกเราคิดเองว่าพวกเราอยากทำโครงการเรียนรู้เรื่องอะไร
       
       ครูท่านเดิม (หันไปมองดูหน้าเพื่อนๆ): คิด! ... นั่นเป็นอย่างเดียวที่พวกเราไม่ทำ
       
       บทสนทนาระหว่างผมกับครูในโครงการวิจัยปริญญาเอกที่ผมได้ทำเมื่อหลายปีก่อนในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน เป็นบทที่ผมจำได้อย่างแม่นยำ มันแสดงถึงความท้าทายอย่างยิ่งในการทำงานกับครูผู้ที่สังคมฝากความหวังไว้ให้ดูแลอนาคต
       
       จะว่าไปแล้วก็น่าเห็นใจครูท่านนั้นและเพื่อนๆนะครับ เพราะท่านเกิด เติบโต และเล่าเรียนมาในระบบการศึกษา "กระแสหลัก" ที่เรายืมแบบมาอย่างครึ่งๆกลางๆมาจากฝรั่ง เมื่อครั้งปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่สมัยล่าอาณานิคมโน่น ไม่เพียงแต่ระดับประถม-มัธยมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวิทยาลัยครู การศึกษาระบบเดิมบอกว่าความรู้อยู่ในหนังสือ ครูๆเหล่านี้เมื่อครั้งอยู่ในโรงเรียนและวิทยาลัยครูก็มีหน้าที่ท่องไปสอบ พอจบออกมาก็ยังอยู่ในระบบการสั่งการแนวดิ่ง ที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์เท่าใดนัก
       
       เมื่อครั้นมาสอนนักเรียนจะให้ครูๆเหล่านี้สอนให้ลูกหลานของเรา "คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น" ได้อย่างไรละครับ หากเขาไม่มีประสบการณ์ตรง การอบรมที่ผ่านๆมาโดยมากก็เป็นการอบรมในห้องประชุม ไม่กี่วัน ให้เครื่องมือหรือวิธีสำเร็จ "รับประทานด่วน" ประเภทให้ครูฉีกซอง ใส่น้ำ แล้วพร้อมเสิร์ฟ ทำให้สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริงได้อย่างจำกัด
       
       ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เล็งเห็นความสำคัญของกระบวนการสร้างความรู้ ด้วยตนเอง โดยใช้กระบวนการวิจัย ที่มีต่อกระบวนการพัฒนาครูไทย จึงได้ริเริ่ม "ชุดโครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น" ขึ้น โดยหวังว่าจะช่วยพัฒนารูปแบบกระบวนการสร้างความรู้ของครูขึ้น
       
       ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาโครงการได้จัดกระบวนการสนับสนุนโครงการที่ทำโดยครูไทยธรรมดาๆ จำนวน ๔๙ โครงการ เราพบตัวอย่างความสำเร็จมากมายทั่วประเทศ
       
       อาจารย์อัจฉรา ใจปลื้ม จากโรงเรียนทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เหมือนครูทั่วไป เมื่อเริ่มต้นโครงการนั้นกลัวมาก เพราะ "สำหรับฉันแล้ว คิดว่างานวิจัยเป็นงานที่ยากมาก เพราะความรู้ของฉันเหลือแค่ระดับ ม. ๓ เพราะสอนนักเรียนระดับนี้มา ๒๐ ปี ไม่ได้เพิ่มพูนความรู้ใดๆที่พอจะนำไปใช้ทำงานวิจัยได้" แต่พอได้เข้ากระบวนการเรียนรู้ อาจารย์อัจฉราสามารถทำวิจัยเกี่ยวกับสายน้ำน้ำตกปลิว ที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำกันตัง และร่วมกับนักเรียนนักวิจัยน้อยทำแผนที่ตลอดสายน้ำระยะทาง ๒๔.๓๓๗ กม. ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน อาจารย์ทราบว่าสายน้ำนี้ไหลผ่าน ๓ อบต. ช่วงที่ลึกที่สุดลึก ๔ เมตร และที่ตื้นที่สุด คือ ๕ ซม. ขณะนี้มี อบต. หลายแห่งมาขอใช้แผนที่นี้ในการวางแผนการจัดการน้ำแล้ว
       
       เหตุการณ์วันนี้
       
       อ.อัจฉรา ใจปลื้ม: หลังจากการพัฒนาการเขียนข้อเสนอโครงการสิ้นสุดลง ฉันเหลียวกลับมาดูแฟ้มงานการพัฒนาโครงการซึ่งมี 2 แฟ้มแทบไม่น่าเชื่อ นี่คือร่องรอยของการพัฒนางานที่มีคุณค่าและมีความหมาย ฉันคิดว่าผู้ที่ประเมินการทำงานของคุณครูได้เห็นแล้วควรเก็บไปคิด แล้วหาทางส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของครูโดยวิธีการอย่างนี้บ้าง ไม่ใช่แค่จัดอบรมอย่างเดียว
       
       ครูศิริพงษ์ สิมสีดา "ครูปิยะ" แห่งโรงเรียนบ้านกระทุ่ม บุรีรัมย์ ทำวิจัยและผลิตชุดการเรียนรู้เรื่อง "แมลงหกขา ... พาสนุก" เอาความสนใจของตนเองและเด็กเป็นตัวตั้ง เอาธรรมชาติและความจริงเป็นครูผู้สอน เอาภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นและความรู้ที่นักกีฎวิทยาสะสมมาเป็นส่วนประกอบ ในช่วงหนึ่งปีได้ฝึกหัดการสังเกต การบันทึก (ครูพงษ์เริ่มจาก "เขียนอะไรก็ได้ที่อยากเขียน" ตอนนี้บันทึกกันเก่งจดเป็นเล่มๆ ทั้งเด็กทั้งครู) ฝึกการเก็บข้อมูล ตอนนี้เปลี่ยนทุกอย่างเป็นแบบฝึกหัดให้เด็กฝึกสร้างความรู้ได้หมดทั้งแมลงกินได้ แมลงสวยงาม แม้กระทั่งกองขี้ควาย ครูศิริพงษ์พาตัวเองและคาราวานนักวิจัยน้อยไปพบกับควาามตื่นเต้นอันยิ่งใหญ่ ไม่เพียงแต่ตื่นตาตื่นใจกับความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงพื้นบ้านของไทย แต่ยังตื่นตะลึงในความสามารถของตนเองและเด็กๆ ครูพงษ์พบว่าเด็กสร้างความรู้เองเป็นหากเราให้โอกาสเขาสร้างความรู้ ตอนนี้ครูพงษ์ เรียกตัวเองว่าเป็น "นักวิจัยสมัครเล่น แต่เอาจริง" พูดอย่างมั่นใจว่า "ได้คิด ได้ทำ และทำได้" บอกว่าครูก็เหมือนกับ ครูก็สร้างความรู้เองเป็นถ้าให้โอกาสกับครู ยิ่งกว่านั้นครูเองต้องเรียนรู้ก่อนด้วย
       
       ครูไทยธรรมดาอย่างอาจารย์อัจฉรา ใจปลื้มและครูศิริพงษ์ สิมสีดา เป็นเพียงสองตัวอย่างใน "ครูนักวิจัยฝึกหัด" ร้อยกว่าคนที่ร่วมกระบวนการฝึกฝนตนเองกับการเดินทาง "วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น"
       
       ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลง พัฒนาในทางที่ดีขึ้นของครูจำนวนมาก ทั้งชายทั้งหญิง จากทุกภาคของประเทศ ทั้งจากโรงเรียนรัฐและเอกชน ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ โรงเรียนในเมืองตลอดจนติดชายแดน จากหลากหลายสาขาวิชา ทั้งครูวิทยาศาสตร์ ครูภาษาไทย ครูพละ ครูศิลปะ ครูสังคม ครูภาษาอังกฤษ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่บอกว่าสิ่งที่เราประสบอยู่นี้ไม่ใช่ "เรื่องฟลุ้ค" แต่เกิดได้กับครูธรรมดาๆทั่วไป เป็นเรื่องที่มีเหตุที่มาที่ไปที่ชัดเจน สามารถทำซ้ำ และขยายผลได้
       
       งานวิจัยของ สกว. ที่ทำควบคู่กันไปกับการเดินทางเพื่อค้นหาและพัฒนาตนเองของครูเหล่านี้ ได้บันทึกเรื่องราวอย่างชัดเจนว่าครูเหล่านี้ เปลี่ยนจาก "ครูผู้เสพ(ข้อมูล) มาเป็น ครูผู้สร้าง(ความรู้)" โดยผ่านกระบวนการสี่ขั้นตอน คือ
       ๑. ครูเห็นความสำคัญของการสร้างความรู้ด้วยตนเอง
       ๒. ครูมีฉันทะ อยากจะลองสร้างความรู้ด้วยตนเอง
       ๓. ครูได้ลอง ได้ลงมือปฏิบัติจริง ในการสร้างความรู้ด้วยตนเอง และ
       ๔. ครูสามารถสร้างความรู้ด้วยตนเองเป็น และนำความรู้ ประสบการณ์ ทักษะในกระบวนการที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับชั้นเรียนของตนเอง
       
       โดยงานวิจัยได้คลี่กระบวนการทำงานของทีมสนับสนุนการเรียนรู้ของครูออกมาอย่างชัดเจน ผลงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าคำพูดที่คุณครูท่านหนึ่งเคยกล่าวกับผมว่า "ครูไทยน่ะเก่งนะ" เป็นคำพูดที่ไม่ผิดเลย เราสามารถส่งเสริมให้ครูไทยสร้างความรู้เองได้ หากให้การสนับสนุนที่เหมาะสม ต่อเนื่องและเพียงพอ

 

 


       วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น: เส้นทางครูผู้เสพ สู่ครูผู้สร้าง (1) ดร. สรยุทธ รัตนพจนารถ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

คำสำคัญ (Tags): #นักศึกษา
หมายเลขบันทึก: 34924เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2006 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท