Training & Development ; T&D


การเรียนรู้มักจะมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เผชิญและพัฒนาบทบาททางสังคม

           การฝึกอบรม (Training) คือ การพัฒนาบุคลากรในด้านความรู้ ทักษะ ทัศนคติและพฤติกรรม ผ่านกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงการทำงานในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนการพัฒนา (Development) จะมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรสำหรับงานในอนาคต การฝึกอบรมมีขั้นตอนที่สำคัญอยู่ 4 ขั้นตอน คือ การประเมินความจำเป็นในการฝึกอบรม การออกแบบฝึกอบรม การดำเนินการฝึกอบรมและการประเมิน ซึ่งมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

          1.การประเมินความจำเป็นในการฝึกอบรม(Training Needs Assessment)

          สามารถประเมินได้สองแนวทางคือ การประเมินจากเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ขององค์กรและใช้การวิเคราะห์งานย่อยเป็นเกณฑ์ในการประเมิน การประเมินความจำเป็นในการฝึกอบรมในแต่ละครั้งจะใช้เวลาและสิ้นงบประมาณค่อนข้างมาก โดยทั่วไปจะทำการประเมินทุก 2 – 3 ปีหรืออาจมีความจำเป็นต้องประเมินทุกปีก็ได้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจอุสาหกรรม การเข้าออกของพนักงานหรือการเปลี่ยนแปลงแผนกลยุทธ์ขององค์กร

          2.การออกแบบการฝึกอบรม (Training Design)

          การออกแบบการฝึกอบรมต้องให้ความสำคัญกับผู้เข้าฝึกอบรมหรือผู้เรียนเป็นสำคัญ เพราะจุดประสงค์ของการฝึกอบรมคือ ต้องการเปลี่ยนแปลงผู้เรียนไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น การออกแบบการฝึกอบรมต้องเป็นแบบการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ การเรียนรู้มักจะมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เผชิญและพัฒนาบทบาททางสังคม แรงจูงใจในการเรียนรู้จึงต้องเกิดจากผู้เรียนเป็นสำคัญ นอกจากนั้นการตั้งจุดประสงค์ที่ชัดเจนและการสร้างความประทับใจแก่ผู้เรียนตั้งแต่เริ่มแรกก็เป็นเรื่องสำคัญในการฝึกอบรม

          3.การจัดการฝึกอบรม (Training Delivery)

          การฝึกอบรมที่จัดขึ้นจะต้องเป็นรูปแบบที่ดีและเหมาะสมที่สุดเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของการฝึกอบรม ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในขั้นตอนจัดการฝึกอบรมคือ วัฒนธรรมองค์กร งบประมาณ หัวข้อการฝึกอบรม  เวลา เทคโนโลยีและกลุ่มผู้เรียน วิทยากรที่ดำเนินการฝึกอบรมอาจเป็นบุคคลภายในหรือจากภายนอกองค์กรก็ได้ แต่ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม คือ ต้องมีความรู้ในหัวข้อของการฝึกอบรมอย่างลึกซึ้ง  มีความสามารถในการพูดเป็นอย่างดี มีเทคนิคการถ่ายทอดที่เหมาะสม มีทัศนคติในเชิงบวก และมีความกระตือรือร้นต่อการฝึกอบรม

          รูปแบบการฝึกอบรมมีหลายลักษณะ การเลือกรูปแบบขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังที่กล่าว บางครั้งอาจจัดในหรือนอกสถานที่ทำงาน ระหว่างปฏิบัติงานหรือนอกเวลางาน และอาจเป็นการฝึกอบรมแบบเห็นหน้า (face-to-face) หรือการเรียนรู้ผ่านทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Distance Learning) ก็ได้ขึ้นกับความเหมาะสม

         4.การประเมิน (Evaluation)

         การประเมินเป็นการวัดผลสำเร็จของการฝึกอบรม สิ่งสำคัญที่ต้องประเมินคือ พัฒนาการในด้านบทบาทและความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลที่เข้าฝึกอบรม ซึ่งวิธีการประเมินตามหลักของ Donald Kirkpatrick มี 4 ระดับคือ

            ระดับ 1 ด้านปฏิกิริยา (Reaction) เป็นการประเมินความคิด ความรู้สึกของผู้เข้าฝึกอบรมที่มีต่อการฝึกอบรม

            ระดับ 2 ด้านการเรียนรู้ (Learning) เป็นการประเมินผู้เข้าฝึกอบรม ในด้านการเพิ่มพูน ทักษะ ความรู้ หลังการฝึกอบรม

            ระดับ 3 ด้านพฤติกรรม (Behavior) เป็นการประเมินการถ่ายโอนสิ่งที่ได้จากการฝึกอบรมทั้งด้านความรู้ ทักษะ ทัศนคติและพฤติกรรมไปใช้กับงานที่ปฏิบัติ

            ระดับ 4 ด้านผลลัพธ์ (Results)  เป็นการประเมินผลที่เกิดขึ้นกับงานประจำที่ผู้เข้าฝึกอบรมปฏิบัติอยู่

        นอกจากการประเมินผู้เข้าฝึกอบรมแล้ว องค์กรยังมีการประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน (Return on Investment ;ROI) โดยคำนวณงบประมาณการฝึกอบรมกับประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับด้วย ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าการฝึกอบรมไม่ใช่กระทำเพียงเพราะเป็นข้อบังคับหรือตามความจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่การฝึกอบรมได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้ธุรกิจประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้

หมายเลขบันทึก: 349052เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2010 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท