บทกวีนิพนธ์



ห้องเรียนสีชมพู
  สมุดเยี่ยม  เรียนรู้ร้อยกรอง    วรรคทอง   

แหล่งเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ.

 

 

       กวีนิพนธ์หมายถึง คำประพันธ์ที่แต่งขึ้นอย่างมีศิลปะ และมีคุณสมบัติเป็นสื่อกลางของความเข้าใจระหว่างผู้แต่งกับผู้อ่านคำประพันธ์ที่มีศิลปะในการแต่งจะต้องใช้ภาษาที่งดงาม มีเสียงจังหวะ ใช้ถ้อยคำที่เป็นสัญลักษณ์ ทำให้ผู้อ่านนึกเห็นภาพอย่างสวยงาม มีจินตนาการ มีความรู้สึกสะเทือนใจลึกซึ้งสื่อกลางของความเข้าใจระหว่างผู้แต่งกับผู้อ่าน ก็คือแนวคิดเนื้อหาที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ตรงหรือสอดคล้องกับประสบการณ์ของผู้อ่าน

 

ลักษณะสำคัญของกวีนิพนธ์
       1. ความมีศิลปะหรือความงามและการสื่อความหมาย
       2. มีรูปฉันทลักษณ์ตามแบบแผนแต่เดิม หรือฉันทลักษณ์อิสระ เช่น กลอนเปล่า และวรรณรูป
 

องค์ประกอบของกวีนิพนธ์

       1. รูปแบบ หมายถึง รูปฉันทลักษณ์ เสียง จังหวะ คำและการเรียงคำ ภาพ โวหาร สัญลักษณ์
       2. เนื้อหา กวีนิพนธ์มิได้บอกเนื้อหาออกมาตรง ๆ หากใช้ภาษาที่ซ่อนสารให้ผู้อ่านคิดจินตนาการ
เชื่อมโยงออกไป


ประเภทของกวีนิพนธ์

       1. กวีนิพนธ์ที่มีรูปฉันทลักษณ์ตามแบบแผน ได้แก่ คำประพันธ์ประเภทกาพย์ กลอน โคลง
       2. กวีนิพนธ์ที่มีรูปฉันทลักษณ์อิสระ เช่นกลอนเปล่า และวรรณรูป


การอ่านพิจารณาบทกวีนิพนธ์

       1. จับใจความสำคัญของเรื่อง หาแนวคิดหรือแก่นสำคัญของเรื่องว่าผู้เขียนกำลังเสนอเนื้อหาหรือ       แนวคิดใด โดยใช้คำถามนำเบื้องต้นก่อนคือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร ผลเป็นอย่างไร
หรือกวีกล่าวถึงสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอย่างไร

 

       2. เข้าใจความหมายหลายนัย ผู้อ่านต้องใช้จินตนาการ ความรู้สึกนึกคิด เชื่อมโยงความ ตีความ โดยคำนึงถึงจุดประสงค์ในการเขียน สถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่สอดคล้อง


       
       3. จับน้ำเสียงที่ปรากฏอยุ่ในแนวคิดหรือแก่นเรื่องของกวีนิพนธ์ ว่าผู้เขียนแสดงอารมณ์อย่างไรเช่น เยาะเย้ย ประชดประชัน คร่ำครวญ เรียกร้อง ร่ำร้อง หรือ ชื่นชม เป็นต้น

 

       4. ศึกษาความหมายของคำ
              4.1 ความหมายโดยตรง(อรรถ) เช่น หมาป่า คือสุนัขชนิดหนึ่ง
              4.2 ความหมายโดยนัย ความหมายที่ซ่อนอยู่ เช่น หมาป่า มีความหมายแทนคนเจ้าเล่ห์ หมู        หมายถึงเหยื่อ ผู้อ่อนแอถูกหลอกง่าย
              4.3 ความหมายตามนัยประหวัด เป็นความหมายที่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์เดิมของผู้อ่าน

 

       5. ฟังเสียงและจังหวะ หมายถึงเสียงในคำประพันธ์ คือระดับความสูงต่ำ ลีลา และน้ำหนักของ       การออกเสียงอ่าน ซึ่งทำให้เกิดความไพเราะ ความรู้สึก จินตนาการ ความหมายและภาพที่แจ่มชัด        ส่วนจังหวะคือ ท่วงทำนองของกลุ่มคำที่จัดวางเป็นวรรคตอนตามรูปแบบของฉันทลักษณ์เพื่อเอื้อต่อการออกเสียง ให้เกิดความไพเราะ ความรู้สึก จินตนาการ ความหมาย และภาพในจินตนาการแจ่มชัด

 

ตัวอย่าง การเล่นเสียง  

 
ไผ่ซออ้อเอียดเบียดออด ลมลอดไล่เลี้ยวเรียวไผ่
ออดแอดแอดออดยอดไกว แพใบไล้น้ำลำคลอง

  ( คำหยาด : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

 

       6. จินตนาการให้เห็นภาพ หรือจินตภาพ หมายถึงการเขียนอย่างแจ่มแจ้ง โดยใช้คำที่มีความหมาย   อ่านแล้วมองเห็นภาพ โดยไม่มีการเปรียบเทียบ ผู้อ่านสามารถมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส ได้สัมผัส  ทางกาย อันก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ เช่น

 

              เฝ้าร้องครวญร้องขอจนคอขาด       หัวก็ฟาดพื้นพลิกระริกส่าย
              ส่งเสียงแว่ววิงวอนก่อนจะวาย         ต่อน้ำลายหวานลิ้มรอชิมเนื้อ

                         (คำร้องขอ : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

 

       7. ศึกษาโวหาร

              7.1 อุปลักษณ์ คือการเปรียบเทียบโยงความคิดอย่างหนึ่งไปสู่ความคิดหนึ่ง โดยใช้คำว่า "คือ" "เป็น"   อยู่ในประโยค เช่น


    คือน้ำผึ้งคือน้ำตาคือยาพิษ      คือหยาดน้ำอมฤตอันชื่นชุ่ม
 คือเกสรดอกไม้คือไฟรุม            คือความกลุ้มคือความฝัน…..นั่นแหละรัก

 

              7.2 อุปมาอุปไมย คือการกล่าวเปรียบเทียบความเหมือนกันสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง โดยใช้คำเชื่อมว่า   ดุจ เหมือน เฉก ดัง เหมือนกับว่า ราวกับ ประหนึ่ง คล้าย กล ถนัด เพียง แม้ ย่อม เปรียบ อย่าง เช่น


              ยิ้มไว้เถิดยิ้มไว้ใจแช่มชื่น               เมื่อพักตร์รื่นชนชมนิยมเสมอ
              ยิ้มงามเหมือนความฝันอันเลิศเลอ     ดุจเสนอผู้อื่นให้ชื่นชม

 

              7.3 คำกล่าวเกินจริง คือโวหารซึ่งกวีบรรยายออกมาแล้วจะนำเอาความจริงมาจับไม่ได้ เพราะ       เกินความจริง เป็นความรู้สึกที่วัยรุ่นปัจจุบันเรียกว่า เวอร์นั่นเอง เช่น


              มาดแม้จะหาดวง           วิเชียรช่วงเท่าคีรี
              หาดวงสุริย์ศรี               ก็จะได้ดุจดังใจ
              จะหาโฉมให้เหมือนนุช     จนสุดฟ้าสุราลัย
              ตายแล้วและเกิดใหม่       ไม่เหมือนเจ้านฤมล (กาพย์นางลอย)

 

       8. ตีความสัญลักษณ์
       สัญลักษณ์หมายถึงการนำคำหนึ่ง ๆ มาหมายความแทนอีกคำหนึ่ง โดยคำที่นำมานั้นเป็นที่รู้จัก       และเข้าใจกันทั่วไป เช่น สีทอง หมายถึง นิมิตหมายที่ดี ฤกษ์ดี หรือสง่างาม สีชมพู หมายถึง   ความรัก ความสุข ความปลาบปลื้ม ดอกหญ้า หมายถึง ความต่ำศักดิ์

 

       ตัวอย่าง
              ดอกหญ้าต้นข้างกายปลายหักพับ     ซบยอดกับโคนต้นคอยคนย่ำ
              เพราะอ่อนแอจึงเข็ญเป็นประจำ        ค่าความช้ำระหว่างเรามีเท่ากัน
                                          (ดอกหญ้า : เกษม บุณยมาลิก)


 


บทกวีนิพนธ์ ในสระน้ำใส


                  ลูกครอกออกว่ายกายสีสด         แดงจรดหัวท้ายว่ายเป็นกลุ่ม
              มีแม่ปลาช่อนว่ายต้อนคุ้ม              เกลื่อนกลุ้มหากินสินในน้ำ
              กิ๊วก๊าวกิ๊บก๊าบเป็ดทาบปีก.            ตีนพุ้ยลัดหลีกปีกรุ่มร่าม
              เหล่าลูกเป็ดน้อยเล่นลอยตาม        ไซ้แหนแผ่งามตามแม่มา
              พลิกพลิ้วริ้วครีบใต้กลีบก้าน           แย้มยั่วบัวบานว่ายผ่านหน้า
              ฝูงเป็ดตัวน้อยแม่ลอยพา               ว่ายหาอาหารหลีกก้านบัว
              ปลาแม่แผ่คุ้มไล่กลุ่มลูก                 กลับถูกลูกเป็ดที่เล็ดรั่ว
              กลุ้มกินสิ้นใจไปหลายตัว                แตกหายว่ายมั่วมุดบัวพลัน

              เย็นยอนใยแดดคลายแปดเปื้อน      สะเทือนวงน้ำทำเสียงลั่น
              ก่อนไล่ฝูงเป็ดไปบ้านนั้น                ฝูงเด็กร่วมกันโดดลั่นน้ำ
                                                  (โชคชัย บัณฑิต)

 

                                         แม่ตาปี
 

                  ๏ กลิ่นคาวทะเลหอม      เมื่อลมหอบกระไออวล
             หยดหยาดละอองนวล         ประมาณค่าแม่ตาปี
             ธงเรือสะบัดชาย                 อยู่ปลายเสากระโดงสี
             เขียวแดงน้ำเงินดี                ประดับล้วนประดาเรือ
                                                    

             เสาก่ายระกะก่อ                 เป็นตอโยงอยู่โครงเครือ
             คร่ำแข็งด้วยแรงเกลือ         แห่งน้ำกร่อยเป็นกำลัง
             เรือนโรงระโยงย่าน            ยังยืดยาวอยู่ยืนยัง
             คอบค้อมพอกำบัง              กระบวนชีพอันชินชาญ
                          

             ลำพูลำเพาราก                  และกอจากประจงจาร
             ร่ายร่ำดั่งตำนาน                แห่งลำน้ำชั่วกัลปา
             แขนซ้ายคือพุมดวง            แม่น้ำหลวงคือแขนขวา
             อุ้มลูกแนบอุรา                  ให้ดื่มนมแม่ตาปี ๚ะ๛


                          (เขียนแผ่นดิน : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)


                                  จันทร์เจ้าขา

                 จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้าขา     ฉันเกิดมาในเมืองหลวง
             จันทร์เด่นเห็นเต็มดวง         โชติช่วงอยู่รูหลังคา
             จันทร์จ๋าจันทร์เจ้าเอ๋ย         ฉันไม่เคยได้ศึกษา
             วันวันวิ่งไปมา                    ขายมาลัยให้รถยนต์
             จันทร์เอ๋ยพระจันทร์เจ้า        ฉันต้องเฝ้าอยู่บนถนน
             แดดร้อนไม่ร้อนรน             เท่าร้อนใจไม่มีกิน
             จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้าขา         ขอหลังคาคลุมแผ่นดิน
             ขอมุ้งกันยุงริ้น                   ขอผ้าห่มให้หายหนาว
             จันทร์จ๋าจันทร์เจ้าเอ๋ย         ฉันไม่เคยรู้เรื่องราว
             ก. ไก่ ข. ไข่ดาว                 ขอครูด้วยช่วยสอนฉัน
             จันทร์เอ๋ยพระจันทร์เจ้า        ขอคนเรารักผูกพัน
             ขอสิทธิเท่าเทียมกัน           ขอสักวันฉันมีกิน ฯ


                                       (ที่มา : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)


                               เสียเจ้า

      

 ๏ เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง     

มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า

มิหวังกระทั่งฟากฟ้า             

ซบหน้าติดดินกินทราย

 จะเจ็บจำไปถึงปรโลก           

ฤารอยโศกรู้ร้างจางหาย
 จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย          

อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ

  ถ้าเจ้าอุบัติบนสวรรค์            

ข้าขอลงโลกันตร์หม่นไหม้
 สูเป็นไฟเราเป็นไม้               

ให้ทำลายสิ้นถึงวิญญาณ

 แม้แต่ธุลีมิอาลัย                  

ลืมเจ้าไซร้ชั่วกัลปาวสาน
 ถ้าชาติไหนเกิดไปพบพาน    

จะทรมานควักทิ้งทั้งแก้วตา

 ตายไปอยู่ใต้รอยเท้า            

ให้เจ้าเหยียบเล่นเหมือนเส้นหญ้า
 เพื่อจดจำพิษช้ำนานา          

ไปชั่วฟ้าชั่วดินสิ้นเอย๚

(อังคาร กัลยาณพงศ์)

 

        วารีดุริยางค์


 แทบฝั่งธารที่เราเฝ้าฝันถึงเสียงน้ำ           

ซึ่งกระซิบสาดปราศจากเสียง

 จักรวาลวุ่นวายไร้สำเนียง                       

โลกนี้เพียงแผ่นภพสงบเย็น

 เพื่อชื่นชมรมณีย์กับชีวิต                          

 ที่จะคิดที่จะทำตามคิดเห็

 ระเรื่อยเรื่อยเฉื่อยฉ่ำลืมลำเค็ญ               

ลืมความเป็นปรัศนีของชีวิต

หางนกยูงระย้าเรี่ยคลอเคลียน้ำ              

แพนดอกฉ่ำช้อยช่อวรวิจิตร

 งามดั่งเปลวเพลิงป่ามานิรมิต                  

สร้อยโสภิตอภิรุมพุ่มหัวใจ

 เพรชน้ำค้างค้างหล่นบนพรมหญ้า       

เย็นหยาดฟ้ามาฝันหลงวันใหม่

 เคล้าเคลียหยอกดอกหญ้า                      

อย่างอาลัยเมื่อแฉกดาวใบไผ่ไหวตะวัน

 มโหรีจากราวป่ามาเรื่อยรี่                       

ราชินีแห่งน้ำค้างจะห่างหัน

 ฝักต้อยติ่งแตกจังหวะประชันกัน        

จักจั่นจี่เจื้อยรับเรื่อยร้อง

 ลมระเริงลู่หวิวพลิ้วระลอก                  

สัพยอกยอดไม้ไปลิ่วล่อง

 แล้วใบไม้ก็ไหวส่าย ขึงข่ายกรอง       

 ทอแสงทองทอดประทับซับน้ำค้าง

 ดอกไม้ป่าปรุงกลิ่นประทิ่นป่า             

อบบุหงามาลัยทั่วไพรกว้าง

 หอมจนหอบหัวใจไปเคว้งคว้าง         

เคลิ้มถวิลกลิ่นปรางอบกลางทรวง

 ผีเสื้อสวยแต้มสีที่กลีบแก้ม                 

ชมพูแย้มแดงระยับสลับม่วง

ก้านเกสรอ่อนฉ่ำน้ำผึ้งรวง                 

หยาดหยดพวงพุ่มระย้าจากคาคบฯ

 


เพลงชาติ
๏ ธงชาติไทยไกวกวัดสะบัดพลิ้ว
แลริ้วริ้วสลับงามเป็นสามสี
ผ้าผืนน้อยบางเบาเพียงเท่านี้
แต่เป็นที่รวมชีวิตและจิตใจ

 

ชนรุ่นเยาว์ยืนเรียบระเบียบแถว
ดวงตาแน่วนิ่งตรงธงไสว
"ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย"
ฟังคราวใดเลือดซ่านพล่านทั้งทรวง

 

ผืนแผ่นดินถิ่นนี้ที่พำนัก
เราแสนรักและแสนจะแหนหวง
แผ่นดินไทยไทยต้องครองทั้งปวง
ชีพไม่ล่วงใครอย่าล้ำมาย่ำยี

 

เธอร้องเพลงชาติไทยมั่นใจเหลือ
พลีชีพเพื่อชาติที่รักทรงศักดิ์ศรี
เพลงกระหึ่มก้องฟ้าก้องธาตรี
แม้ไพรีได้ฟังยังถอนใจ

 

แต่สิ่งหนึ่งซึ่งไทยร้าวใจเหลือ
คือเลือดเนื้อเป็นหนอนคอยบ่อนไส้
บ้างหากินบนน้ำตาประชาไทย
บ้างฝักใฝ่ลัทธิชั่วน่ากลัวเกรง

 

ทุกวันนี้ศึกไกลยังไม่ห่วง
แต่หวั่นทรวงศึกใกล้ไล่ข่มเหง
ถ้าคนไทยหันมาฆ่ากันเอง
จะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง! ๚

 

นภาลัย (ฤกษ์ชนะ)สุวรรณธาดา , ๒๕๑๐


 นกขมิ้น - เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เขาคลอขลุ่ยครวญเสียงเพียงแผ่วผิว
ชะลอนิ้วพลิ้วผ่านจากมานหมอง
โอดสะอื้นอ้อยอิ่งทิ้งทำนอง
เป็นคำพร้องพริ้งพรายระบายใจ

 

โอ้ดอกเอ๋ยเจ้าดอกขจร
นกขมิ้นเหลืองอ่อน จะนอนไหน
ค่ำลงแล้วแนวพนาและฟ้าไกล
เจ้านอนได้ทุกเถื่อนท่าไม่อาทร

 

แล้วหวนเสียงเรียงนิ้วขึ้นหวิวหวีด
เร่งอดีตดาลฝันบรรโลมหลอน
ถี่กระชั้นสั่นกระชากใจจากจร
ระเรื่อยร่อนเร่มาเป็นอาจิณ

 

โอ้ใจเอ๋ยอ้างว้างวังเวงนัก
ไร้แหล่งพักหลักพันจะผันผิน
เพิ่มแต่พิษผิดหวังยังย้ำยิน
ระด่าวดิ้นโดยอนาถแทบขาดใจ

 

ข้าเคยฝันถึงฟ้ากว้างกว่ากว้าง
ฝันถึงปางทับเปลี่ยวเรี่ยวน้ำไหล
ถึงช่อเอื้องเหลืองระย้าคาคบไม้
ในแนวไพรนึกเหมือนเป็นเพื่อนเนา

 

รู้รสแรงแห่งทุกข์และสุขสิ้น
บนแผ่นดินแผ่นเดียวเปลี่ยวและเหงา
จิบน้ำใจจนทั่วเจียนมัวเมา
ไร้ร่มเงารังเรือนและเพื่อนตาย

 

เขาเคลียนิ้วเนิบนุ่มเสียงทุ้มพร่า
เหมือนหวนหาโหยไห้น่าใจหาย
เจ้าขมิ้นเหลืองอ่อนนอนเดียวดาย
จะเหนื่อยหน่ายหนาวน้ำค้างที่กลางดง

 

เสียงฉับฉิ่งหริ่งรับขยับเร่ง
จะพรากเพลงเพื่อนยินสิ้นเสียงส่ง
เขาเบือนนิ้วผิวแผ่วแล้วราลง
เสียงนั้นคงเน้นครางอย่างห่วงใย

 

เจ้าดอกเอยดอกขจรอาวรณ์ถวิล
นกขมิ้นเหลืองอ่อนจะนอนไหน
เขาวางขลุ่ยข่มน้ำตาว้าเหว่ใจ
ตอบไม่ได้ดอกหนาข้าคนจร

 

 

                                          หวานคมเคียว...

                          เอนระนาบอาบน้ำค้างกลางแดดหนาว
                          ทอดรวงยาวยอดระย้าราน้ำใส
                          ละลานรอบขอบฟ้าคราพลิ้วใบ
                          เพียงพรมใหญ่ไหวระยาบทาบเปลวทอง

 

                          เพรียกเพลงเรือเมื่อสางหมอกจางสี
                          ระเรื่อยรี่เลียบลัดตัดชายหนอง
                          สาวเจ้าพายย้ายเยื้องชำเลืองมอง
                          หนุ่มก็พร้องเพลงเกี่ยวเกี้ยวแก้กัน

 

                          โอ้ช่อทิพย์รวงทองชะน้องเอ๋ย
                          พี่ควงเคียวเกี่ยวเกยไม่เคยหวั่น
                          หวาดแต่ใจเจ้าไม่จริงมิ่งแจ่มจันทร์
                          จะเกี่ยวค้างเสียกลางคันเท่านั้นเอย ฯ

 

                          สาวสะเทิ้นเอิ้นเอ่ยเผยโอษฐ์โอ้
                          ดอกโสนริมนาพี่ยาเอ๋ย
                          จะลดเลี้ยวเกี่ยวใจน้องไม่เคย
                          ที่ไหนเลยจะเชี่ยวเท่าคนเจ้าชู้ ฯ

 

                          เพลงรักแว่วแผ่วหวานกังวานหวิว
                          ทั้งทุ่งทิวทั่วใกล้ไกลเกินกู่
                          นกร่ายฟ้ามาเรียงเคียงริมคู
                          สาวหนุ่มคู่คลอแข่งร่วมแรงงาน

 

                          เขาเริงรื่นลงแขกแลกแรงเรี่ยว
                          ต่างจับหน้าคว้าเคียวเกี่ยวผสาน
                          ล้วนข้าวงามอร่ามกอคลอน้ำนาน
                          เขาขานบอกออกอุทาน ..หวานคมเคียว
                      ( คำหยาด : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

 

 

แวะอ่าน >>> บทกวีดอกไม้บาน

คำสำคัญ (Tags): #บทกวีนิพนธ์
หมายเลขบันทึก: 349033เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2010 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

*** แวะมาหาความเพลิดเพลิน ขอบคุณครูภาทิพค่ะ

“โตแล้ว
ไม่ต้องป้อนข้าว
อ่านกวีนิพนธ์แล้ว
ไม่ต้องอธิบาย” (บทชื่อ ‘ซึ้ง’)

http://gotoknow.org/blog/pomsa/261724

แวะมาแลกเปลี่ยนค่ะครูภาทิพ..คณุอ้อยเล็กครูศิลปะค่ะ..บ่แม่นครูภาษาไทยค่ะ...

สวัสดีค่ะ 

P
แนะนำบันทึกมาให้อ่านบ้างนะคะ จะได้ตามไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ
สวัสดีค่ะ ครูอ้อยเล็ก  ครูภาทิพชอบงานศิลปะมากค่ะ แต่ไม่มีฝีมือเลย
เห็นภาพแล้วน้ำลายไหลเชียวล่ะ    ชื่นชอบผลงานของครูอ้อยเล้กค่ะ
ไปอ่านบันทึกที่แนะนำมาแล้วนะคะ

สวัสดีค่ะ

แวะมาส่งความระลึกถึงค่ะ

และเชิญชวนร่วมสร้างหอสมุดเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ด้วยกันนะคะ

http://gotoknow.org/blog/rongkham/349984

ขอบคุณค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท