การประชุมกลุ่มเภสัชกรสาขาโรคเบาหวาน ที่หัวหิน (2)


กิจกรรมในครั้งนี้ ผ่านโมเดลปลาทู ของ สคส. โดยวันนี้ได้กำหนดหัวปลาเป็น เภสัชกรกับการสื่อสารกับผู้ป่วยเบาหวาน โดยคุยกันถึงความสำเร็จ ความภูมิใจ ความสุข ของเภสัชกรที่ทำงานกับผู้ป่วยเบาหวาน ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำการใช้ยา การสอนสุขศึกษา การให้คำปรึกษาด้านยา เป็นต้น

(อ่านตอนที 1) 

วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม  2553

               วันแรกของการประชุม ผมมีนัดกับทีมวิทยากร จากโรงพยาบาลสมุทรสาคร  เพื่อไปเตรียมสถานที่ประชุมล่วงหน้า โดยกำหนดว่าจะให้ไปทันทานอาหารเที่ยงที่หาดชะอำ และเข้าไปที่โรงแรมที่หัวหินก่อนบ่ายโมง เนื่องจากกำหนดการกำหนดไว้ที่ บ่าย 2  ดังนั้นผมเลยเดินทางจากกรุงเทพแต่เช้าเลยครับ โดยมีรถตู้ของ sanofi มารับที่ดอนเมือง มีน้องปูน มาอำนวยความสะดวก  ผมกับน้องจ๊อช( ภญ.พัชริยา เสเนตร) ไปถึงที่ รพ.สมุทรสาครก่อนเวลานิดหน่อย จนถึงเวลานัดที่ 10 โมงเช้า  พี่มด (ภญ.ปราณี ลักคนาจันทโชติ) พร้อมๆกับทีมเภสัชกรอีก 3 คน คือ พี่เก๋ (ภญ.วนิชา ปิยะรัตนวัฒน์) น้องเอื้อม (ภญ.เอื้อมพร รักจิตร) น้องแนน (ภญ.สุพรรณิการ์ ธรรมกรสุขศิริ) และพี่ภาง (ภญ.สุภางค์ พิรุณสาร) ก็พร้อมขึ้นรถพร้อมกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ปริ้นเตอร์ โดยบอกว่าเอาไปก่อน เผื่อขาดเหลือ  ระหว่างทางในรถผมเล่ากิจกรรมคร่าวๆ ให้ทีมฟังว่าจะทำอะไรบ้าง คือ กิจกรรม BAR กิจกรรมแนะนำตัว และกิจกรรมเรื่องเล่าของเภสัชกร และมีการแวะซื้ออุปกรณ์เครื่องเขียนที่ร้านข้างทางเป็นระยะ ตอนที่นึกออกว่าน่าจะใช้อะไร เช่น กระดาษสี ดินสอสี

            เรามาถึงโรงแรม Marriott Courtyard หัวหิน ที่บ่ายโมงตรง หลังจากเก็บของเข้าห้องพักก็รีบมารวมตัวกันที่ห้องประชุม เพราะใกล้เวลามากแล้ว ผมต้องการดูว่าโรงแรมจัดห้องประชุมได้อย่างที่แจ้งไว้หรือเปล่า ห้องประชุมที่จัดชื่อลีลาวดี อยู่หน้าหาดติดสระว่ายน้ำที่เวลานั้นแดดร้อนจัดมาก แต่พบว่าภายในห้องประชุมแอร์เย็นฉ่ำ มีผ้าขาวปูพื้นพรม และหมอนหนุนของโรงแรมกองอยู่ตรงกลาง จึงเริ่มยิ้มออกว่าเป็นบรรยากาศสบายๆ อย่างที่ต้องการเลย พอได้ลองเครื่องเสียงกับสไลด์นำเสนอก็ลงตัว จึงได้พากันนั่งนอนเล่นสบายๆ  

             ทีมผู้จัดแจ้งว่าได้เลื่อนเวลาเริ่มกิจกรรมเป็น บ่าย 3  เพราะคนมาประชุมยังมาไม่ถึงโรงแรมอีกหลายกลุ่ม  รวมทั้ง อ.เนติ (ภก.ดร.เนติ สุขสมบูรณ์) ที่แจ้งไว้แต่แรกว่าจะตามมาทีหลัง เนื่องจากติดภารกิจที่กรุงเทพในช่วงเช้า  แต่พอพวกเรากำลังเอนหลัง(ทดสอบความสบายของห้อง) อ.เนติ ก็มาถึงพอดี เลยได้ปรึกษาเรื่องกิจกรรม รวมทั้งความคาดหวังของทั้ง อ.เนติ และพี่มด ว่าต้องการให้เกิดการรวมกลุ่มกันของเภสัชกรที่ทำงานโรคเบาหวาน เป็น CoP ของเภสัชกรโรคเบาหวานที่เป็นรูปธรรมให้ได้ในครั้งนี้ แต่พี่มดก็ยังพยายามบอกว่า ขอนับเป็นการประชุมครั้งที่ 0 เพราะยังไม่ได้มีวาระประชุมชัดเจน รวมทั้งไม่แน่ใจว่าเภสัชกรที่มาจะมีใจร่วมมากน้อยแค่ไหน เพราะส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มเภสัชกรที่ต้องการมาพักผ่อนเพียงอย่างเดียว และอีกส่วนเป็นเภสัชกรที่พี่มดประสานการทำงานกันมาก่อนแล้วส่วนหนึ่ง  

             เราเริ่มกิจกรรมกันที่เวลา บ่ายสามโมงกว่าๆ โดยมีเภสัชกรจาก รพ.ต่างๆทั่งประเทศประมาณ 50 คน โดยพี่มดได้แนะนำตัวกลุ่มเภสัชกรสาขาโรคเบาหวาน หรือ DM CoP ว่ามีที่มาที่ไปตั้งแต่ปี 2548 จากกระตั้งคณะทำงานของสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล มีพี่มดเป็นประธานกลุ่ม และมี อ.เนติเป็นที่ปรึกษากลุ่ม

            หลังจากที่พี่มดแนะนำวัตถุประสงค์ ผมเริ่มต้นให้ทุกคนรู้จักกันโดยยืนเป็นวงกลมหลับตาจับมือกัน แล้วส่งผ่านความรู้สึกดีๆ ไปให้คนทางขวามือ เมื่อลืมตา ให้พูดสิ่งที่ดีที่สุดเป็นคำสั้นๆ เพื่อส่งความรู้สึกดีๆ ออกมาด้วยคำพูดที่ดีที่สุด ในกลุ่มเริ่มยิ้มเมื่อคนข้างๆ เอ่ยว่า สบายดีไม๊  ทำไมวันนี้สวยจัง  สดใสดี และสวัสดีครับ เป็นต้น เมื่อเริ่มต้นด้วยเรื่องดีๆ พี่มดเลยเริ่มโจทย์แนะนำตัวที่หินมากๆต่อทันที โดยท้าทายว่าต้องใช้ความจำให้สมกับเป็นเภสัชกรที่ท่องเก่งอยู่แล้วซะหน่อย พี่มดให้คนแรกแนะนำชื่อเล่น และคนต่อไปเอ่ยชื่อทุกคนเรียงไปเรื่อยๆจนถึงตนเอง ถ้าจำผิดหรือช้าให้ออกมาทำกิจกรรม เกมส์นี้ใช้ได้ผลทีเดียว เพราะเริ่มมีการส่งเสียงช่วยกัน เมื่อเริ่มนึกไม่ออก จนคนท้ายๆที่แนะนำสามารถจำเพื่อนได้ครั้งเดียวได้มากถึง 15 คนเลยที่เดียว ก่อนที่จะพบว่ามีอยู่ 3 คนที่มีอาการอ้ำอึ้งเล็กน้อย เลยได้แนะนำตัวเป็นภาษา อ.(อ่าง) เป็นการแก้ตัวอีกครั้งหนึ่ง

                 ผมเริ่มแนะนำกิจกรรมกลุ่ม โดยการแบ่งกลุ่มออกเป็น 8 คน ด้วยเกมส์ของการไว้วางใจ เริ่มจับคู่กันก่อนจากการให้เดินหลับตาโดยอิสระตามเพลงเย็นๆที่เปิดคลอ  เมื่อได้คู่แล้วก็ใช้ปลานิ้วแตะกันเดินต่อ จนจับกลุ่ม 4 คนและ 8 คน ในที่สุด  ในช่วงของการจับคู่  ทุกคนได้แสดงความเป็นศิลปิน โดยวาดภาพที่แสดงความเป็นตัวเองให้มากที่สุดลงในกระดาษรูปหัวใจ และระบายสีให้สวยงาม พร้อมๆกับให้คู่เป็นคนเขียนความคาดหวังและการเตรียมตัวในการร่วมกิจกรรมครั้งนี้ (before action review; BAR) และแนะนำตัวทำความรู้จักกันอีกครั้ง  

ตารางสรุป BAR ของทีม sanofi สรุปจากหัวใจกระดาษสี

             ผมใช้สไลด์เรื่องการทำกลุ่มผ่านเรื่องเล่าเร้าพลัง ตามรูปแบบที่เคยทำในหลายๆครั้ง ของการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านเรื่องเล่า ที่เครือข่ายจัดการความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน(DM KM) (คลิกอ่าน) ของ ดร.วัลลา ตันตโยทัย เป็นผู้ประสานเครือข่าย มาใช้ในการแนะนำกิจกรรมในครั้งนี้ ผ่านโมเดลปลาทู ของ สคส. โดยวันนี้ได้กำหนดหัวปลาเป็น เภสัชกรกับการสื่อสารกับผู้ป่วยเบาหวาน โดยคุยกันถึงความสำเร็จ ความภูมิใจ ความสุข ของเภสัชกรที่ทำงานกับผู้ป่วยเบาหวาน ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำการใช้ยา การสอนสุขศึกษา การให้คำปรึกษาด้านยา เป็นต้น โดยให้เวลากันที่ 1 ชั่วโมง ก่อนที่ผมและตัวแทนกลุ่มอีก 10 คนไปช่วยกันสรุปสิ่งที่คุยเป็นแก่นความรู้อีกครั้ง ได้ทั้งหมด 7 ประเด็นสำคัญ (รายละเอียดเรื่องเล่า จะตามมาลงblog อีกครั้ง)

 

   (ยกตัวอย่างเรื่องเล่า ซองยาที่ รพ.รามัน จ.ยะลา ใช้ในการสื่อสารกับผู้เป็นเบาหวานที่อ่านหนังสือไม่ได้ ด้วยสัญลักษณ์ง่ายๆ แต่ได้ผล และใช้ประโยชน์ได้จริง)

 

 

 

       ในระหว่างรอการสรุปแก่นความรู้ที่ได้  ทุกคนในห้องประชุมได้รับฟัง ภญ.ปิยวรรณ เหลืองจิรโณทัย นำเสนอเรื่องเล่าที่เร้าพลังอย่างยิ่ง ของการทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน รพ.ลำปาง ซึ่งทำให้ผู้ฟังถึงอาการ ปิ๊งแวป กันถ้วนหน้า และถามหารายละเอียดกันในเชิงลึกต่อกันเลยทีเดียว

 

ภก.เอนก ทนงหาญ เล่าเรื่อง

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 348668เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2010 01:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รูปแบบการประชุมทำให้ surprise แบบตั้งตัวแทบไม่ติด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท