ประสบการณ์แสนดี...จาก Knowledge sharing...สู่การปฏิบัติ


ทำให้ผู้ใช้ยาเกิดความลังเลใจและพยายามให้เห็นความสำคัญของการเลิกยามากขึ้น วิธีการที่นิยมนำมาใช้ก็คือการทำ Balance bar แต่ในรายที่ยังมีอาการทางยาเสพติดอยู่หรือในกลุ่มที่ Cognitive ไม่ค่อยดี การใช้เทคนิคนี้คอนข้างยากลำบากเพราะผู้ใช้ยามักคิดไม่ออก บอกไม่ได้....

ตั้งแต่ทำงานด้านการบำบัดรักษาผู้เสพติดยาเสพติดมาประมาณ 8 ปี ได้มีประสบการณ์พบผู้ใช้ยาจำนวนมาก  ผู้ใช้ยาส่วนใหญ่ประมาณ 80% มักมองว่ายาเสพติดไม่เป็นปัญหาอะไร มองว่าตนเองไม่ได้ติดยา หากมียาก็ใช้ไม่มีก็ไม่ใช้  ซึ่งก็ไม่ได้ผิดหากพวกเขายังอยู่ในระยะของการเสพยาเริ่มต้น หรือเสพยาต่อเนื่อง ยังไม่ติดถึงระยะหมกมุ่นหรือวิกฤต เขาก็อาจจะยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจนจากการใช้ยามากนัก แต่หากติดยาแล้ว  ผลกระทบก็จะมีให้เห็นชัดมากขึ้น ในกรณีที่ผู้ใช้ยายังเมินเฉยกับปัญหาหรือจิตปฏิเสธปัญหาดังกล่าว นักบำบัดก็ต้องพยายามสะท้อน ให้ข้อมูล หรือใช้เทคนิควิธีการต่างๆที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจ และให้ผู้ใช้ยาเห็นถึงปัญหาและเกิดการทบทวนใหม่ว่ายาเป็นปัญหากับเขาและผู้ใกล้ชิดหรือไม่...ทำให้ผู้ใช้ยาเกิดความลังเลใจและพยายามให้เห็นความสำคัญของการเลิกยามากขึ้น วิธีการที่นิยมนำมาใช้ก็คือการทำ Balance bar หรือการทบทวนให้เห็นข้อดีข้อเสียทั้งของการติดยาและการเลิกยาว่าเป็นอย่างไรบ้าง โดยการใช้คำถามปลายเปิดกระตุ้นให้ผู้ใช้ยาทบทวนตนเองในแต่ละด้านว่าหากเขายังใช้ยาอยู่ ข้อดีข้อเสียของการใช้ยาเป็นอย่างไร และหากเขาเลิกยาข้อดีข้อเสียจากการเลิกยาจะเป็นอย่างไร ให้ผู้ใช้ยาได้ทบทวนตนเองใช้เทคนิค Self - talk วิธีนี้ได้ทำบ่อยมากและได้ผลดีสำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่หยุดยามาระยะหนึ่ง หรือในกลุ่มที่ Cognitive เริ่มดีขึ้นแต่ในรายที่ยังมีอาการทางยาเสพติดอยู่หรือในกลุ่มที่ Cognitive ไม่ค่อยดี การใช้เทคนิคนี้คอนข้างยากลำบากเพราะผู้ใช้ยามักคิดไม่ออก บอกไม่ได้....คิดอยู่นานเหมือนกันว่าจะทำยังดีหนอ.....จนเมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้พอมองเห็นทางออก เนื่องจากได้มีโอกาสไปดูงานที่โรงพยาบาลศรีธัญญา ได้พบกับอาจารย์ทัศนีย์      ตันทวีวงศ์ ท่านเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่แม้ว่าจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ท่านยังอุทิศตนมาทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชอยู่ อาจารย์นำแนวคิดทฤษฎีของ  Virginia Satir  มาใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วย อาจาย์ได้กรุณาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำงานว่า ผู้ป่วยจิตเวชจะมีปัญหาในเรื่องของการคิดบางครั้งการตั้งคำถามปลายเปิดผู้ป่วยจะคิดไม่ออกอาจารย์จึงนำเรื่องSelf Mandala (องค์ประกอบของมนุษย์) อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจว่า องค์ประกอบของมนุษย์มีด้วยกัน 8 ส่วน ได้แก่  อาหาร  ร่างกาย  สติปัญญา อารมณ์ ปฏิสัมพันธ์ สิ่งแวดล้อม  การรับรู้ตระหนักรู้  และจิตวิญญาณ ซึ่งมีพลังส่งผลถึงกันและกัน ถ้าส่วนหนึ่งเสีย ส่วนอื่นๆก็จะเสียหายไปด้วย  ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราใช้สารเสพติด จะเกิดอะไรกับตัวเราบ้าง การกินอาหารเป็นอย่างไร แล้วส่งผลให้ร่างกายเป็นอย่างไร   สติปัญญาเป็นอย่างไร....และถ้าแต่ละส่วนมีคะแนนเต็ม 10 ในช่วงที่เสพยา แต่ละส่วนจะได้คะแนนเท่าไหร่  เช่น หากสารเสพติดส่งผลต่อสุขภาพทำให้รับประทานอาหารตามปกติไม่ได้คะแนนอาจจะเหลือ 6 ในด้านอาหาร  ส่งผลให้ร่างกายทรุดโทรมคะแนนอาจจะเหลือ 5 ในด้านร่างกาย  สติปัญญาไม่ดีคะแนนอาจจะเหลือ 5 เพราะลืมง่าย เป็นต้น ซึ่งองค์ประกอบต่างๆเหล่านี้จะส่งผลกระทบถึงกันหมดทั้ง 8 ส่วน และถ้าต้องการให้คะแนนแต่ละส่วนเปลี่ยนแปลงจะต้องทำอย่างไร เริ่มเปลี่ยนจากจุดไหน  ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจและตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาเสพติดมากขึ้น ตลอดจนสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เป็นเหมือนการกระตุ้นให้ผู้ป่วยได้ทบทวนตนเองเช่นกัน หากแต่มีคำถามเป็นตุ๊กตาตั้งไว้ก่อน เพื่อช่วยเป็นแนวทางทบทวนตนเองของผู้ป่วยในรายที่คิดไม่ออกจะได้มีทิศทางในการทบทวนตนเองที่ง่ายขึ้น  จึงทดลองนำมาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วย/ผู้ใช้ยา ก็พบว่าสามารถช่วยให้ผู้ป่วยได้ทบทวนตนเองได้ง่ายขึ้นแม้ในรายที่มีปัญหาเรื่องระบบการคิดก็สามารถนำเทคนิคนี้ไปช่วยในการสร้างแรงจูงใจได้....ต้องขอขอบพระคุณประสบการณ์ดีๆจากอาจารย์ทัศนีย์ ประสบการณ์แสนดี...จาก Knowledge sharing...สู่การปฏิบัติ

หมายเลขบันทึก: 348651เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2010 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 01:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท