การเมืองกับเด็กและเยาวชน


ลงทุนเพื่อเด็ก

 

 

 

การเมืองกับเด็กและเยาวชน

              ในทัศนะของผู้เขียน  การเมืองไทยสามารถจำแนกออกให้เห็นเป็นรูปธรรมง่ายๆ 2 ลักษณะด้วยกันคือ การเมืองในระบบรัฐสภาและการเมืองนอกระบบรัฐสภา การจำแนกออกเช่นนี้จะทำให้เข้าใจและยอมรับปรากฎการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยได้ดีขึ้น นั่นคือยามใดที่การเมืองในระบบรัฐสภาไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้  การเมืองนอกระบบรัฐสภาก็จะขับเคลื่อนบทบาทออกมา ทั้งในรูปแบบการประท้วงด้วยตนเอง  การรวมกลุ่มเรียกร้องในพื้นที่ การขอมีส่วนร่วมปกป้องหรือแก้ไขปัญหา  จนถึงการชุมนุมเดินขบวนเช่นปัจจุบัน ฯลฯ

               แต่ในยามนี้ น่าปริวิตกเป็นอย่างยิ่งว่า การเมืองใน 2 ลักษณะนี้ กำลังก้าวเดินไปในทิศทางที่ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาลงไปเรื่อยๆ  เช่น

               1.การเมืองในระบบรัฐสภา  ที่ยังวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์ของการทุจริตคอรัปชั่น ที่พรรคร่วมรัฐบาลพยายามไม่แตะต้องกัน ผนวกกับข่าวฉาวโฉ่ของผู้ที่พยายามยกตนเป็นผู้ทรงเกียรติ์ ได้ลุกขึ้นประกาศศักดาท้าต่อยและชกตีกันในสภา อีกทั้งตวาดด่าทอกันด้วยถ้อยคำรุนแรงหยาบคาย    มีการโวยวายประท้วงกันในที่ประชุมด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล  มีการให้สัญลักษณ์ทางเพศต่อกัน โดยสมาชิกเหล่านั้นไม่รู้สึกรู้สาว่าพฤติกรรมเช่นนั้นน่าอับอายเพียงใด  ซึ่งไม่เหมาะสมต่อประโยคสำคัญที่ว่า “ผมมาจากประชาชน”

              2.การเมืองนอกระบบรัฐสภา  พิจารณาเฉพาะรูปแบบการชุมนุมเดินขบวน ที่ได้ก้าวล่วงเกินเลยจนรับไม่ได้  ตั้งแต่พฤติกรรมของผู้ชุมนุมที่ใช้ก้อนหิน ไม้ท่อนรุมตีกระหน่ำใส่รถผู้นำประเทศจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด หรือกรณีเลขาธิการนายกฯ ที่ถูกรุมตีถึงกับหัวร้างข้างแตก หรือการบุกทำลายการประชุมผู้นำอาเซียนที่พัทยาจน หรือการปิดล้อมสนามบิน

              ครั้นนำภาพนี้มาโยงเข้ากับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนุชนรุ่นหลังที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต  สิ่งที่ควรพิจารณาตามมาก็คือ การเมืองในระบบรัฐสภายังเต็มไปด้วยการโกงกินคอรัปชั่น ประการนี้ตอกย้ำสิ่งผิดให้แก่เด็กและเยาวชนว่า “โกงไม่เป็นไร หรือโกงแล้วรวยขึ้น มีเกียรติ์มีคนยกย่องในสังคม” ส่วนความรุนแรงที่มาจากพฤติกรรมผู้แทนราษฎรบางคนและความรุนแรงที่เกิดจากผู้ชุมนุมเดินขบวน ได้ตอกย้ำให้พวกเขาเข้าใจผิดว่า “การใช้ความรุนแรงคือการแก้ไขปัญหาได้มากกว่าการใช้เหตุและผล”

          ที่น่าห่วงใยต่อมาก็คือ “การนำเด็กเข้ามาร่วมชุมนุมเดินขบวน” ซึ่งนอกจากจะทำให้

เด็กซึมซับรับเอาสิ่งที่หยาบคายของบางคนเข้าไว้แล้ว ยังมีปัญหาสุขภาพที่มาจากการพักผ่อนไม่พอ แดดที่ร้อนจัด การติดโรค และเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดขึ้นจากอุบัติการณ์ที่คาดไม่ถึง

                นำเสนอเช่นนี้ ไม่ได้มุ่งหมายอะไรมากไปกว่าการย้ำเตือนมายังผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทั้งหลายว่า จะทำอะไร “คิดถึงเด็กและเยาวชน”ของเราบ้าง

                                           27  มีนาคม  2553

 

หมายเลขบันทึก: 348225เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2010 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ ขณะที่ผู้ใหญ่ (ส่วนน้อย) ใช้ความถ่อย คำไม่สุภาพ ข่มขู่ รุนแรง ขาดระเบียบวินัย ซึ่งเป็นภาพที่เด็กและเยาวชนเห็นในข่าว และบนท้องถนนแทบทุกวัน ไม่เพียงแต่เด็กๆ ที่ยังด้อยวุฒิภาวะ แต่ได้ทำให้ผู้ใหญ่หลงเชื่อเข้ามาร่วมกระทำสิ่งเหล่านี้ไปแล้วด้วย โดยลืมที่ใช้สติ สามัญสำนึก ในการแยกแยะ

แม่ลูกสาม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท