อิทธพลของหุ่นเงาในชุมชนวิถีพุทธ


หนังตะลุง หนังประโมทัย หนังเล็กหรืออายอง

อิทธิพลของหุ่นเงาในกลุ่มชนวิถีพุทธ  : กรณีศึกษาหนังตะลุงหนังประโมทัย

และหนังเล็กหรืออายอง

บทคัดย่อ

หุ่นเงา มหรสพทางการละเล่นเป็นเรื่องเป็นราวในชุมชนโดยใช้ตัวแสดงที่ทำจากวัสดุแผ่นเรียบ  เช่น หนัง กระดาษ  สังกะสี ฉลุลวดลายเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ สำหรับนำเสนอเรื่องราวในท้องถิ่นหรือชุมชนตามภูมิปัญญาของบรรพชน  หุ่นเงาในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันตามสภาพภูมิอากาศ ศิลปวัฒนธรรม และความเชื่อ ทั้งนี้หุ่นเงาในประเทศไทยเฉพาะอย่างยิ่งหนังตะลุง ได้รับอิทธิพลทางการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมของอินเดีย และได้แพร่กระจายเข้าสู่ภาคอีสานของประเทศไทยเรียกว่าหนังประโมทัย หรือหนังตะลุงอีสาน ส่วนหุ่นเงาของเขมรได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียผ่านทางชวาเช่นกัน เขมรมีรูปหนัง 3 ประเภท คือ หนังใหญ่หรือสแบกธม  หนังขนาดกลางและระบายสีหรือสแบกปัวร์ และหนังเล็กหรือสแบกตู๊จหรืออายอง จะเห็นได้ว่ากลุ่มชนที่นับถือพุทธศาสนาต่างก็มีการละเล่นที่ใกล้เคียงกัน โดยกำเนิดจากแหล่งที่มาด้วยอิทธิพลของพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมการละเล่นหุ่นเงาของกลุ่มชนนี้เมื่อได้พัฒนากระบวนการเล่นตามเอกลักษณ์ของท้องถิ่นตน ได้พัฒนารูปแบบตามองค์ประกอบที่ถนัด เช่น เครื่องดนตรี บทพากย์ บทเจรจา  เนื้อเรื่องหรือบทซึ่งสื่อแสดงให้เห็นถึงแนวคิดการทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วตามวิธีคิดของพุทธศาสนา 

อิทธิพลของหุ่นเงาในกลุ่มชนสามารถสร้างอิทธิพลให้เกิดในหลายประการ  อาทิ    รูปแบบความเป็นผู้นำ  รูปแบบการสอนสติของกลุ่มชน แฝงเร้นใน 2 ลักษณะคือ แฝงเร้นในพิธีกรรมเช่นพิธีแซนการ์(แต่งงาน) ของคนเชื้อสายเขมร และแฝงเร้นในเรื่องการสอนคติโลกและคติธรรม รูปแบบของการใช้สัญลักษณ์ในการสื่อสาร และรูปแบบอื่น ๆ เช่น รูปแบบของสื่อสารมวลชนเพื่อส่งข่าวสารให้กลุ่มชนรับทราบโดยผ่านทางศิลปะการเล่นหุ่นเงา จึงควรอนุรักษ์และพัฒนาศิลปะการเล่นหุ่นเงาให้ปรากฏคู่กับกลุ่มชนเพื่อความงดงามของวิถีชีวิตต่อไป

 

คำสำคัญ : อิทธิพล  หุ่นเงา   วิถีพุทธ  หนังตะลุง  หนังประโมทัย

 

 

 

 

อิทธิพลของหุ่นเงาในกลุ่มชนวิถีพุทธ  : กรณีศึกษาหนังตะลุง หนังประโมทัย

และหนังเล็กหรืออายอง

                                                                                                                              

บทนำ

         การละเล่นหุ่นเงา (Shadow play) ปรากฏในแหล่งอารยะธรรมเก่าแก่ของโลกมาแต่โบราณ เช่น อียิปต์  จีน อินเดีย และเกือบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปหนังที่ใช้เล่นมี 2 แบบ คือส่วนแขนที่ติดกับลำตัวมีขนาดใหญ่ เช่น หนังใหญ่ของไทยและหนังสแบก (Nang Sbek) ของเขมรและชนิดที่ส่วนแขนฉลุแยกจากลำตัวแต่ร้อยหมุดให้ติดกันเคลื่อนไหวได้ เช่น หนังอายอง (Nang Ayong) ของเขมร วายังกุลิต (Wayang Kulit) ของมาเลเซีย วายังวองของชวา หนังตะลุง และหนังประโมทัย ของไทย(ราตรี ศรีสุวรรณ. 2524 : 41-42) วัฒนธรรมอินเดียแพร่กระจายมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาเมื่อใดไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัดแต่น่าจะเป็นตอนต้นของคริสตกาล ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรต่าง ๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เจริญรุ่งเรือง วัฒนธรรมที่เข้ามามีอิทธิพลคือ ศาสนา การปกครอง อักษรศาสตร์ และศิลปกรรม การแพร่กระจายของการเล่นหุ่นเงาทั้งหนังตะลุง หนังประโมทัย และหนังเล็กหรืออายองกับรามเกียรติ์หรือมหากาพย์รามารยณะมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด โดยที่การละเล่นดังกล่าวเป็นเครื่องบอกเล่าเนื้อเรื่องมหากาพย์ และเป็นการเผยแพร่ความรู้คติธรรมทางศาสนา  และคติทางโลกรวมทั้งความบันเทิงแก่ผู้ชมควบคู่ไปด้วย(สุริยา สมุทคุปติ์ และคนอื่น ๆ. 2535 : 74)

               อิทธิพลคือสัมพันธภาพระหว่างบุคคลในลักษณะที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดกระทำการลงไป อันมีผลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของตนตามที่ตั้งใจไว้ อย่างที่ปรากฏในศิลปะการละเล่นหุ่นเงา ที่ต้องใช้องค์ประกอบ ทั้งนายหนัง(คนเชิดหนัง) ตัวหนัง โดยผ่านทางบทละครที่สอดแทรกความรู้ทางคติธรรมและคติโลก ยึดแนวทางพุทธศานาที่มุ่งสั่งสอนให้คนเป็นคนดี โดยใช้หลักทางพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและสิ่งที่ปรากฏในโลกมนุษย์เป็นแบบชี้แสดง และใช้สัญลักษณ์ของตัวหุ่นเงามาเป็นสื่อ ดังที่ทฤษฎีเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับการวิเคราะห์เชิงละคร  ก้อฟมั่นคิดว่ามนุษย์แต่ละคนกำลังแสดง (perform) อยู่บนเวที (audience) ซึ่งได้แก่ คนอื่นที่มนุษย์กำลังมีปฏิสัมพันธ์ด้วย  บนเวทีประกอบด้วย  หน้าฉาก (front stage) หลังฉาก (back stage) หน้าฉากคือการนำเสนอตัวตนของมนุษย์ตามที่อยากให้ผู้อื่นเห็นหรือรับรู้  เลือกใช้ถ้อยคำที่เหมาะสมกับสถานภาพ  มีกริยาท่าทีและแต่งกายตามบทบาทฯลฯ เป็นตัวตนที่มนุษย์ต้องการนำเสนอให้ผู้อื่นเห็น อย่างไรก็ตาม มนุษย์แต่ละคนก็มีหลังฉาก คือ  ความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ต้องการเปิดเผยหรือนำเสนอให้ผู้อื่นรับรู้  เป็นส่วนที่มีความเป็นส่วนตัว  เรียกว่า ตัวตนที่ซ่อนเอาไว้ (สุภางค์ จันทวานิช.2551: 131-133)ระบบสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดนั้น Geertz (1960) ได้สาธิตให้เห็นจากระบบศิลปะการฟ้อนรำของชาวบาหลีในอินโดนีเซีย แนวคิดทฤษฎีดังกล่าวนี้ใกล้เคียงกับพฤติกรรมการแสดงออกของการละเล่นหุ่นเงา เพราะทุกสิ่งที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นตัวหนังที่ใช้ประกอบการแสดงล้วนเป็นสัญลักษณ์ทั้งหมด กล่าวคือ รูปฤาษี หรือผู้ทรงศีล นักบวชผู้มีความพร้อมในเมตตาธรรม เป็นสื่อให้เห็นสภาพความเป็นจริงของมนุษย์ว่าสรรพสัตว์ที่เกิดมาบนโลกมนุษย์นี้พกพามาด้วยความกลัว อาจแอบแฝงแบบไม่แสดงออกมาอย่างเด่นชัด พระอิศวรทรงโค เป็นสื่อแสดงให้เห็นถึงความดีย่อมชนะความชั่ว เป็นต้น 

         บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอิทธิพลของหุ่นเงาทั้งหนังตะลุง หนังประโมทัย ของกลุ่มชนวิถีพุทธในประเทศไทย และหนังเล็กหรืออายองของกลุ่มชนวิถีพุทธในประเทศกัมพูชา เพื่อสร้างกระแสความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสอดแทรกคติธรรมและคติโลก สำหรับเป็นอิทธิพลในการสั่งสอนคนในกลุ่มชนให้เป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรมที่งดงาม พร้อมทั้งอาจเป็นแรงจูงใจสำหรับสร้างกระแสการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น  อีกทั้งอาจจะเป็นแรงกระตุ้นสำหรับสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่กำลังเป็นที่ต้องการของบุคคลทั้งภายในและภายนอกประเทศ นอกจากนี้อาจเป็นแหล่งนวัตกรรมทางวิชาการของชุมชนทางวัฒนธรรมต่อไป

 อิทธิพลของพุทธศาสนาในกลุ่มชน

ศาสนาพุทธ Buddhism เป็นศาสนาที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดา เป็นศาสนาอเทวนิยม คือสอนว่าไม่มีพระเจ้าผู้สร้างโลกผู้ทำลายโลก ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ว่าทุกคนสามารถพัฒนาจิตใจไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ด้วยความเพียรของตน สิ่งเคารพสูงสุดเป็นที่พึ่ง อันประเสริฐของพระพุทธศาสนาเรียกว่า พระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ พระธรรม แล้วทรงสั่งสอนให้พระภิกษุได้รู้ธรรมจนหลุดพ้นตามในที่สุด ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่มุ่งเน้นเรื่องการพ้นทุกข์ และสอนให้รู้จักทุกข์และวิธีการดับทุกข์ ให้พ้นจากความไม่รู้ความจริงในธรรมชาติ อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์จากกิเลสทั้งปวงคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทั้งนี้มุ่งประเด็นสั่งสอนให้ทุกคนมีหลักจริยธรรม  ได้แก่  ความกตัญญูกตเวที คือการรู้จักบุญคุณและตอบแทน อันเป็นหลักธรรมพื้นฐานทั่วไปของมนุษย์เพื่อการดำรงอยู่อย่างปกติสุข  และจะต้องมีหลักคุณธรรม  เช่น พรหมวิหาร 4 เป็นหลักธรรมประจำใจเพื่อให้ตนและสังคมดำรงชีวิตด้วยการเอื้อเพื่อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ไม่มุ่งร้ายต่อกันด้วยความรักที่บริสุทธิ์ต่อเพื่อนร่วมโลก ประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ประการ คือ เมตตา (ความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นมีความสุข) กรุณา (ความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์) มุทิตา (ความยินดีที่ผู้อื่นประสบความสุขในทางที่เป็นกุศลหรือประกอบเหตุแห่งสุข) อุเบกขา (การวางจิตเป็นกลาง การมีเมตตา กรุณา มุทิตา เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าตนไม่สามารถช่วยเหลือผู้นั้นได้ จิตตนจะเป็นทุกข์ ดังนั้น ตนจึงควรวางอุเบกขาทำวางใจให้เป็นกลาง และพิจารณาว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมที่ได้เคยกระทำไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม กรรมนั้นย่อมส่งผลอย่างยุติธรรมตามที่เขาผู้นั้นได้เคยกระทำไว้อย่างแน่นอน รวมถึงการให้อภัยผู้อื่น) และการปราศจากอคติ

พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทย เมื่อประมาณ พ.ศ. 236 สมัยเดียวกันกับประเทศลังกา ด้วยการส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ 9 สาย โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย ในขณะนั้นประเทศไทยรวมอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวาง มีประเทศรวมกันอยู่ในดินแดนส่วนนี้ไม่น้อยกว่า 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า ศรีลังกา ญวน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ซึ่งสันนิษฐานว่ามีใจกลางอยู่ที่จังหวัดนครปฐมของไทย เนื่องจากได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่นพระปฐมเจดีย์ และรูปธรรมจักรกวางหมอบเป็นหลักฐานสำคัญ แต่พม่าก็สันนิษฐานว่ามีในกลางอยู่ที่เมืองสะเทิม ภาคใต้ของพม่า พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่สุวรรณภูมิในยุคนี้ นำโดยพระโสณะและพระอุตตระ พระเถระชาวอินเดีย เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาในแถบนี้ จนเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ ((ทรงวิทย์ แก้วศรี. 2530 : 12) สิ่งแสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของกลุ่มชนในประเทศไทยดังปรากฏในการเทศก์มหาชาติซึ่งถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของคนไทยเรื่องทศชาติชาดก ที่กล่าวถึง 10 ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะเสวยพระชาติมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า มีรายละเอียดพอสังเขปคือชาติที่ 1 เตมียชาดก พระองค์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี หมายถึง การละทิ้งจากกามคุณทั้ง5 ชาติที่ 2  มหาชนกชาดก ทรงบำเพ็ญ วิริยะบารมี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระชนกกุมาร โอรสพระเจ้าอริฏฐชนก กษัตริย์เมืองมิถิลา ขณะที่เสด็จลงสำเภาไปค้าขาย เกิดพายุใหญ่เรือแตกกลางมหาสมุทร พระมหาชนกทรงว่ายน้ำโต้คลื่นอยู่ในมหาสมุทรถึง 7 วัน นางเมขลาเห็นจึงพูดลองใจว่าให้พระองค์ยอมตายเสียตามบุญตามกรรม แต่พระองค์ก็ไม่ทรงฟัง ยังพยายามว่ายน้ำโต้คลื่นอยู่ตามเดิมนางเมขลาเกิดเลื่อมใสในความพยายาม จึงอุ้มพระองค์เหาะไปส่งที่ฝั่ง ชาติที่ 3 สุวรรณสามชาดก ทรงบำเพ็ญ เมตตาบารมี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพรหมฤๅษี ต้องรับภาระเลี้ยงดูบิดามารดาผู้ตาบอด วันหนึ่งกบิลยักษ์แผลงศรมาถูกได้รับบาดเจ็บแสนสาหัส แต่ก็ไม่ได้โกรธกลับแสดงเมตตาจิต และเทศนาทศพิธราชธรรมให้กบิลยักษ์ฟัง ด้วยอำนาจแห่งเมตตาธรรมทำให้พระสุวรรณสามหายเจ็บปวดรอดชีวิตมาได้ และบิดามารดาก็กลับมีจักษุดี ชาติที่ 4 เนมิราชชาดก ทรงบำเพ็ญ อธิษฐานบารมี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเนมิราช โอรสเจ้าเมืองมิถิลา โปรดการบริจาคทานและรักษาพรหมจรรย์ พระอินทร์ทรงพอพระทัย ถึงกับให้พระมาตุลีนำทิพยรถมารับไปเที่ยวเมืองสวรรค์ และเมืองนรก แล้วเชิญให้ครองเมืองสวรรค์ พระเนมิราชไม่ทรงรับและเสด็จกลับบ้านเมืองของพระองค์ พอทรงชราก็ออกผนวช ชาติที่ 5 มโหสถชาดก เพื่อบำเพ็ญปัญญาบารมี ชาติที่ 6 ภูริทัตชาดก เพื่อบำเพ็ญศีลบารมี ชาติที่ 7 จันทชาดก  เพื่อบำเพ็ญขันติบารมี ชาติที่ 8 นารทชาดก เพื่อบำเพ็ญอุเบกขาบารมี ชาติที่ 9 วิทูรชาดก  เพื่อบำเพ็ญสัจจบารมี และชาติที่ 10 เวสสันดรชาดก เพื่อบำเพ็ญทานบารมี สำหรับชาติสุดท้าย เป็นชาติที่สำคัญ และบำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่ คือการให้ทานลูกและเมีย จะเห็นได้ว่าชาดกทั้ง 10 ชาติ ล้วนแล้วแต่เป็นวิถีพุทธในการให้ความรัก  ความเมตตา ให้ศีล ให้ทาน เพื่อให้เกิดบารมีสำหรับใช้สอนคนในกลุ่มชน

ในประเทศกัมพูชาเมื่อร่วม 1,000 ปี มีหลักฐานสื่อแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน ดังปรากฏสาระสำคัญไว้ในจำหลักผนังปราสาทบายน มีสาระดังสังเขปว่า มีสงครามเขมรกับจามสู้รบกัน เขมรได้รับชัยชนะและสร้างบ้านสร้างเมือง หลังจากนั้นเมื่อประชาชนประกอบอาชีพอย่างสงบสุข ก็จะมีกิจกรรมของคนในกลุ่มชน ซึ่งปรากฏเป็นวิถีชีวิตเกษตรอย่างเห็นได้ชัดเจน เช่น มีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างเพื่อนหลังจากปฏิบัติกิจกรรมการทำมาหากินเพื่อความอยู่รอด ได้พบปะพูดคุยกันในสถานการณ์ต่าง ๆ  นอกจากนี้แล้วในภาพยังแสดงให้เห็นถึงความสุขที่ปรากฏว่ามีการร้องรำทำเพลงซึ่งถือเป็นศิลปวัฒนธรรมที่ดีในกลุ่มชนปรากฏขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

ตามภาพอาจจินตนาการได้ว่ามนุษย์พัฒนารูปแบบกิจกรรมเพื่อสร้างความสุข สร้างความสมานฉันท์ในกลุ่มชน ชี้ให้เห็นวิถีชีวิตของกลุ่มชนในคริสต์ศตวรรษที่12 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้ทรงเลื่อมใสพุทธศาสนามหายานและหลักการของพระโพธิสัตว์ตามแบบวิถีพุทธ ทรงพิจารณาว่า ความทุกข์ที่กล่าวไว้ในพุทธศาสนามิได้หมายเพียงความทุกข์ทางใจเท่านั้น แต่ยังหมายรวมความทุกข์ทางกายอีกด้วย พระองค์จึงทรงเร่งสร้างถนนหนทาง วัด ที่พักคนเดินทาง สระน้ำและโรงพยาบาล (โรคยาศาลา) เพื่อขจัดความทุกข์ของทวยราษฎร์ นับว่าพระองค์ทรงเป็นนักปฏิวัติสังคม ผู้ทรงนำหลักการ"ธรรมราชา" ในพุทธศาสนามาใช้แทน "เทวราชา" ตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เมื่อเป็นตามหลักการที่กล่าวนี้ทำให้ปรากฏให้เห็นเค้าสภาพความเป็นอยู่อย่างปรกติสุขตามวิถีพุทธ โดยพยายามสร้างกิจกรรมที่จะช่วยหลอมรวมเป็นหนึ่งในกลุ่มชน  เกิดเป็นศิลปวัฒนธรรมทางการแสดงขึ้น ภายหลังที่มนุษย์มีการรวมกลุ่ม และได้เริ่มมีปฏิสัมพันธ์ อีกทั้งต้องใช้จารีตประเพณีเป็นสิ่งบังคับเป็นกฎหมายเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขทั้งที่เป็นแบบแผนและไม่เป็นแบบแผน เมื่อกลุ่มชนมีความสุข  จึงได้พัฒนาสิ่งที่จะสร้างความรื่นรมย์ให้เกิดกับชีวิตตนเอง  เป็นต้น

 หุ่นเงาในกลุ่มชน

                หุ่นเงา มหรสพทางการละเล่นเป็นเรื่องเป็นราวในชุมชนโดยใช้ตัวแสดงที่ทำจากวัสดุแผ่นเรียบ  เช่น หนัง กระดาษ  สังกะสี ฉลุลวดลายให้เป็นรูปลักษณะต่าง ๆ ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ สำหรับนำเสนอเรื่องราวในท้องถิ่นหรือชุมชนตามภูมิปัญญาของบรรพชน  หุ่นเงาในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันตามสภาพภูมิอากาศ ศิลปวัฒนธรรม และความเชื่อ ทั้งนี้หุ่นเงาในประเทศไทยเฉพาะอย่างยิ่งหนังตะลุง  ได้รับอิทธิพลทางการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมของอินเดียแต่เข้ามาเมื่อใดไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัดแต่สาระที่เห็นจากการละเล่นพบว่าหนังตะลุงและรามเกียรติ์     หรือมหากาพย์รามายณะมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด  โดยที่หนังตะลุงเป็นเครื่องบอกเล่าเนื้อเรื่องมหากาพย์ และเป็นการเผยแพร่ความรู้คติธรรมทางศาสนา  และคติทางโลกรวมทั้งความบันเทิงแก่ผู้ชมควบคู่ไปด้วย หนังตะลุงของอินเดียมีมาก่อนพุทธกาล (สุริยา สมุทคุปติ์ และคนอื่น ๆ. 2535 : 74) หลักฐานการแสดงหนังที่เก่าแก่ในอินเดีย ปรากฏอยู่ในคัมภีร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในคัมภีร์พุทธศาสนาภาษาบาลีชื่อ “เภรีกถา” และคัมภีร์มหาภารตะ อินเดียเรียกการแสดงชนิดนี้ว่า “ฉายานาฏกะ” แต่เดิมการแสดงชนิดนี้ถือเป็นของสูง  พราหมณ์ใช้เล่นเพื่อบูชาเทพเจ้าเล่าเรื่องศักดิ์สิทธิ์และเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อเผยแพร่ความรู้ทั้งคติธรรมและคติโลก โดยแสดงเรื่องรามายณะเป็นพื้น ส่วนการเล่นหนังเพื่อความบันเทิง และแพร่หลายมาสู่กลุ่มชาวบ้านธรรมดาในระยะต่อมา จากนั้นได้แพร่กระจายเข้าสู่หมู่เกาะชวาของประเทศอินโดนีเซีย (สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. 2522 : 22)

ในกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยเคยมีปฏิสัมพันธ์กับชวาโดยผ่านทางประเทศมาเลเซียมาระยะหนึ่ง  ความรู้สึกนึกคิดและโลกทรรศน์แบบอินเดียชวาจึงได้รับการสืบทอดมาด้วยเป็นการเล่นหนังตะลุงชวาที่เรียกว่าวายังปูรวะ  สำหรับหนังตะลุงของภาคใต้ได้รับอิทธิพลหรือมีความเกี่ยวเนื่องกับหนังตะลุงชวา  แต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่ามีแต่เมื่อใด  หนังตะลุงภาคใต้มี  3 แบบ  คือ  หนังตะลุงภาคใต้ทั่ว ๆ ไป  หนังตะลุงวายังวองหรือวายังชวาซึ่งสูญหายไปหมดแล้ว  ยังเหลือเพียงตัวหนังเป็นหลักฐานสำคัญ และวายังเซียม(หรือSiam) เป็นหนังตะลุงที่ผสมผสานกันระหว่างวายังวองกับหนังตะลุงภาคใต้ (ชวน  เพชรแก้ว. 2543 : 23-24 ) ต่อมาได้มีคนจากภาคอีสานของประเทศไทยในอำเภอน้ำพอง ได้จัดตั้งคณะหนังประโมทัยขึ้นดัดแปลงมาจากการละเล่นหุ่นเงาภาคใต้นั่นเอง สิ่งที่ดัดแปลง คือ บทพากย์บทเจรจา เปลี่ยนจากภาษาใต้มาเป็นภาษาอีสานและนำเอาการลำของอีสานเข้าไปประกอบการละเล่นหนังประโมทัย ส่วนเรื่องที่นำมาแสดงนั้นนอกจากเรื่องรามเกียรติ์แล้ว  ได้นำเอาวรรณกรรมท้องถิ่น เช่น แก้วหน้าม้า สังข์ทอง และเรื่องอื่น ๆ มาแสดงอีกด้วย  สำหรับเครื่องดนตรีก็นำเอาดนตรีพื้นเมืองอีสาน คือ แคน ซึง ฉิ่ง ฉาบ กลอง มาบรรเลงประกอบการแสดง จากนั้นแพร่หลายไปยังจังหวัดต่าง ๆ เช่น ยโสธร ขอนแก่น ร้อยเอ็ด  มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และสกลนคร (รัถพร  ซังธาดา. 2526 : 11-21)

ประเทศกัมพูชานั้นมีการเล่นละเล่นหุ่นเงาหรือเรียกว่าหนังเล็กหรืออายองเช่นเดียวกัน จากการศึกษาพบว่าการละเล่นหุ่นเงาของเขมรได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียผ่านทางชวาเช่นกันน่าจะมีความเกี่ยวเนื่องกับหนังตะลุงของไทยเพราะเขมรกับไทยมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์มาเป็นเวลายาวนานการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมคงมีต่อกัน เขมรมีรูปหนัง 3 ประเภท คือ หนังใหญ่หรือสแบกธม  หนังขนาดกลางและระบายสีหรือสแบกปัวร์ และหนังเล็กหรือสแบกตู๊จหรืออายอง จะเห็นได้ว่ากลุ่มชนที่นับถือพุทธศาสนาต่างก็มีการละเล่นที่ใกล้เคียงกัน  เมื่อศึกษาประวัติที่มาก็มีความคล้ายคลึงในต้นแหล่งข้อมูลจึงน่าจะเป็นข้อยืนยันได้ในระดับหนึ่ง  อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมการละเล่นหุ่นเงาของกลุ่มชนนี้เมื่อได้พัฒนากระบวนการเล่นตามเอกลักษณ์ของท้องถิ่นตน ได้พัฒนารูปแบบตามองค์ประกอบที่ถนัด เช่น เครื่องดนตรี บทพากย์ บทเจรจา  เนื้อเรื่องหรือบทซึ่งสื่อแสดงให้เห็นถึงแนวคิดการทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วตามวิธีคิดของพุทธศาสนา  และรูปแบบลักษณะของตัวหนัง เป็นต้น  นอกจากนี้สิ่งที่เห็นเด่นชัดและแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงนั้นคือการเรียกชื่อ  เช่น  หุ่นเงาในภาคใต้ของประเทศไทย เรียกว่า หนังตะลุง  หุ่นเงาในภาคอีสาน เรียกว่าหนังประโมทัย หรือหนังบักแก้วบักเป๋อ  และหุ่นเงาในประเทศกัมพูชา  เรียกหนังเล็กหรืออายอง ดังที่ปรากฏเป็นการละเล่นมาแต่อดีตจนปัจจุบัน

 

แนวคิดแบบพุทธที่สอดแทรกในบทละครการเล่นหุ่นเงา

          บทละคร เป็นหัวใจสำคัญของการเล่นหุ่นเงาเพราะเป็นตัวกำหนดบริบทต่าง ๆ ที่จะนำเสนอเพื่อสื่อความบันเทิงจากนายหนังหรือผู้เชิดหนังถึงผู้ชมที่กำลังรอเสพความสุขความบันเทิงในขณะที่ตัวหนังกำลังโลดเล่นในจอหนังนำเสนอสาระเรื่องราวถ่ายทอดเพื่อความบันเทิงประมวลความได้เป็น 3 ระยะ กล่าวคือ ระยะแรกนั้นยังยึดแบบมหาภารตะของอินเดียโดยการเสนอเรื่องราวรามยณะหรือรามเกียรติ์ ระยะต่อมาได้พัฒนาโดยการนำเรื่องราวของนิทานธรรมะ นิทานชาดก และนิทานพื้นบ้านจักร ๆ วงศ์ๆ มานำเสนอ  และระยะที่สามหรือปัจจุบันนี้ได้มีการนำเสนอเรื่องราวที่เป็นนิยายจากชีวิตจริงมาสร้างเป็นเนื้อเรื่อง เป็นต้น  วิวัฒนาการของการเล่นหุ่นเงาที่กล่าวถึงจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตามแต่สิ่งที่ขาดมิได้นั้นคือการสอดแทรกคติโลกและคติธรรมตามแนวคิดของชาวพุทธที่สอนคนให้เป็นคนมีคุณธรรมจริยธรรมรู้จักรับผิดชอบชั่วดี  มีความกตัญญูรู้คุณต่อบิดามารดาและผู้มีอุปการคุณ  นอกจากนี้ยังชี้แสดงให้เห็นถึงสัจธรรมในโลกมนุษย์ในความเป็นอนิจัง คือ ธรรมะย่อมชนะอธรรม  เป็นต้น

           แนวคิดหรือกรอบของความคิดที่สอดแทรกในบทละครมีอิทธิพลอย่างยิ่งสำหรับการสั่งสอนผู้คนในกลุ่มชน  ดังตัวอย่างนิทานชาดกเรื่องพระมหาชนก ในบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  มีเนื้อความโดยสรุปคือพระเจ้ามหาชนกกษัตริย์แห่งกรุงมิถิลา มีพระราชโอรสสองพระองค์ พระนามว่า อริฏฐชนก และ โปลชนก เมื่อสวรรคตแล้ว พระอริฏชนกได้ครองราชสมบัติและทรงตั้งพระโปลชนกเป็นอุปราช อมาตย์ผู้ใกล้ชิดได้กราบทูลใส่ร้ายว่า พระอุปราชโปลชนกคิดไม่ซื่อ พระอริฏฐชนกก็หลงเชื่อ สั่งจองจำพระโปลชนก แต่พระโปลชนกตั้งจิตอธิษฐานและหลบหนีไปได้ ภายหลังได้รวบรวมพลมาท้ารบและเอาชนะได้ในที่สุด พระอริฏฐชนกสิ้นพระชนม์ในที่รบ พระเทวีที่กำลังทรงครรถ์จึงปลอมตัวหนีออกนอกเมือง ด้วยความช่วยเหลือของท้าวสักกเทวราชจึงเสด็จหนีไปจนถึง เมืองกาลจัมปากะ ได้พราหมณ์ผู้หนึ่งอุปการะไว้ในฐานะน้องสาว ต่อมาทรงมีพระประสูติกาล ตั้งพระนามพระโอรสตามพระอัยยิกาว่า "มหาชนก" จวบจนกระทั่งมหาชนกเติบใหญ่ และได้ทราบความจริง ก็คิดจะไปค้าขายตั้งตัว แล้วจะไปเอาราชสมบัติคืน จึงนำสมบัติกึ่งหนึ่งของพระมารดาไปขาย แลกเป็นสินค้าออกเรือไปยังสุวรรณภูมิ ระหว่างทางในมหาสมุทร เรือต้องพายุล่มลง ลูกเรือตายหมดยังแต่พระมหาชนกรอดผู้เดียว ทรงอดทนว่ายน้ำในมหาสมุทรด้วยความเพียร 7 วัน 7 คืน จนได้พบนางมณีเมขลา และสนทนาธรรมในเรื่องของความเพียร ในที่สุดนางมณีเมขลาได้อุ้มพระมหาชนกไปส่งยังมิถิลานคร ฝ่ายมิถิลานคร พระโปลชนกได้สวรรคตเหลือเพียงพระราชธิดานาม "สีวลีเทวี" ก่อนสวรรคตทรงตั้งปริศนาเรื่องขุมทรัพย์ทั้งสิบหกไว้สำหรับผู้จะขึ้นครองราชย์ต่อไป แต่ไม่มีผู้ใดไขปริศนาได้ เหล่าอมาตย์จึงได้ประชุมกันแล้วปล่อยราชรถ ราชรถก็แล่นไปยังที่มหาชนกบรรทมอยู่ เหล่าอมาตย์จึงเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์และอภิเษกกับสีวลีเทวี ทรงไขปริศนาต่างๆ ได้ และทรงครองราชย์สมบัติโดยธรรม  อยู่มาวันหนึ่งพระมหาชนก ทรงประทับบนคอช้างเพื่อทอดพระเนตรอุทยาน ใกล้ประตูอุทยานมีมะม่วง 2 ต้น ต้นหนึ่งมีผล ต้นหนึ่งไม่มีผล ผลนั้นมีรสหวานเหลือเกิน พระมหาชนกทรงเก็บมาเสวยผลหนึ่ง แล้วเสด็จเข้าอุทยาน คนอื่นๆ ตั้งแต่พระอุปราชลงมาต่างก็แย่งเก็บผลมะม่วง จนมะม่วงต้นนั้นโค่นลง พระมหาชนกทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็เกิดความสังเวชที่คนทั้งหลายหวังแต่ประโยชน์อย่างขาดปัญญา รำลึกได้ว่านางมณีเมขลาเคยสั่งให้พระองค์ตั้งมหาวิทยาลัย จึงได้ปรึกษากับพราหมณ์ ในที่สุดได้ตั้งมหาวิทยาลัยปูทะเลย์ขึ้น โดยรำลึกว่าขณะที่ทรงว่ายน้ำในมหาสมุทรทั้ง 7 วัน 7 คืนนั้น มีปูทะเลยักษ์มาช่วยหนุนพระบาท

        จากนิทานที่กล่าวอ้างนี้พบว่าได้สอดแทรกคำสอนแนววิถีพุทธหลายประเด็น อาทิ “ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว”  ดังปรากฏในตอนเริ่มต้นของเรื่องที่พระโปลชนกถูกใส่ร้ายโดยไม่มีความผิด และได้หลบหนีไป ภายหลังได้รวบรวมพลมาท้ารบและเอาชนะพระอริฏฐชนกได้ในที่สุด “ความเพียรส่งผลให้ได้รับสิ่งดีตอบแทน”  ดังปรากฏในตอน พระมหาชนกเติบใหญ่ และได้ทราบความจริง ก็คิดจะไปค้าขายตั้งตัว แล้วจะไปเอาราชสมบัติคืน ได้เดินทางไปสุวรรณภูมิ ระหว่างทางในมหาสมุทร เรือต้องพายุล่มลง ลูกเรือตายหมดยังแต่พระมหาชนกรอดผู้เดียว ทรงอดทนว่ายน้ำในมหาสมุทรด้วยความเพียร 7 วัน 7 คืน ด้วยความเพียรดังกล่าวนางเมขลาซึ่งเป็นนางฟ้าได้เหาะมาอุ้มพาไปส่งยังมิถิลานคร “การมีปัญญาย่อมฝ่าฟันอุปสรรค์ได้ดี”  ดังปรากฏ ในตอนที่พระมหาชนกทรงใช้ปัญญาแก้ปริศนาเรื่องขุมทรัพย์และได้ขึ้นครองราชย์สมบัติโดยธรรม  และ“มีสิ่งดีย่อมมีภัย เพราะหวังประโยชน์จนขาดปัญญา”  ดังปรากฏในตอนเปรียบเทียบเรื่องมะม่วง 2 ต้น ต้นหนึ่งมีผล ต้นหนึ่งไม่มีผล ต้นที่มีผลรสหวานที่ถูกแย่งกินจนถึงโค่นล้มต้นไม้ ขณะที่อีกต้นที่ไม่มีผลยังอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นต้น

แนวคิดแบบพุทธที่สอดแทรกในบทละครการเล่นหุ่นเงาดังกล่าวนี้ได้รับการถ่ายทอดโดยผ่านทางการเชิดตัวหนัง ที่ผู้เชิดหรือที่เรียกว่านายหนังใช้ประสบการณ์ความชำนาญ  พรสวรรค์ที่มีในตัวเอง  และจากการศึกษาเล่าเรียนมาจากแหล่งต่าง ๆ อีกทั้งเป็นนักกวีที่มีความเก่งกาจมาเสริมแต่งในบทพากย์และบทเจรจาที่เสริมความตลกคะนองของตัวละครสัญลักษณ์ต่าง ๆ กล่าวคือ  ตัวตลกตามพระ  ตัวตลกตามนาง  ตัวฤาษีซึ่งเป็นนักบวช หรืออาจใช้ตัวสัญลักษณ์อื่น ๆ อาทิ สัตว์  เทวดานางฟ้า  และอื่น ๆ มาเป็นสิ่งแสดง  เพื่อเพิ่มรสชาติของการชมให้มีความสนุกสนานคลายเครียดจึงเป็นอิทธิพลที่น่าสนใจตามลำดับ

 

อิทธิพลของหุ่นเงาต่อสภาพความเป็นอยู่ในชุมชน

                อิทธิพลของหุ่นเงาต่อสภาพความเป็นอยู่ในชุมชนปรากฏให้เห็นในหลายรูปแบบ  อาทิ  รูปแบบความเป็นผู้นำ  รูปแบบการสอนสติในพิธีกรรม   ดังนี้

                รูปแบบความเป็นผู้นำ

                รูปแบบความเป็นผู้นำนั้นพบว่าหัวหน้าคณะหุ่นเงามักเป็นผู้นำในชุมชน กล่าวคือ  อาจเป็นผู้ใหญ่บ้าน  กำนัน  หรือผู้นำทางด้านการประกอบพิธีกรรมเพราะในสมัยอดีตมักมีความเชื่อกันว่าคนที่จะฝึกหัดการเล่นหุ่นเงาได้ดีจะต้องมีสติปัญญา  มีเวทยมนต์คาถาที่ช่ำชอง  สามารถเป็นแพทย์ประจำบ้านได้  แก้ปัญหาเฉพาะหน้า  เช่น  การดูฤกษ์เวลาสำหรับการทำงานเป็นมงคล  ได้สารพัดอย่าง  และจากการสัมภาษณ์นายสุชาติ  ทรัพย์สิน  ศิลปินแห่งชาติ  สาขาศิลปะการแสดง  เล่าประสบการณ์ที่น่าสนใจว่า  ในอดีตสมัยที่ตนเองต้องนำคณะหนังตะลุงเดือนทางรอนแรมไปแสดงตามที่ต่าง ๆ จำเป็นต้องเดินเท้าไป  ระหว่างทางหากโดนงูมีพิษทั้งร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงกัด  ไม่ต้องตกใจให้รีบหาคางคกตัวโต ๆ มาถลกหนังเอาหนังประคบรอบเขี้ยวอสรพิษ  ประคบทิ้งไว้จนหนังคางคกหลุดออกจากบาดแผลเอง  ถ้าหากยังดูว่าในบาดแผลยังมีพิษอยู่ก็ให้ถลกคางคกตัวใหม่ประคบจนกว่าบาดแผนจะดีขึ้น  ซึ่งภูมิปัญญาที่กล่าวนี้ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ นอกจากนี้บางครั้งจะต้องทำหน้าที่ดูฤกษ์ยามสำหรับงาน

หมายเลขบันทึก: 348180เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2010 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 20:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท