การเสริมสร้างความสุขในการทำงาน (3)


 วิธีการเสริมสร้างความสุขในการทำงาน (ต่อ)

 

พัฒนาสิ่งแวดล้อมในสถานที่ทำงาน

 

                สถานที่ทำงานเปรียบได้กับบ้านที่สองของเรา  จึงควรดูแลให้น่าอยู่น่าทำงานอยู่เสมอ  เพื่อความสุขในการทำงาน  เช่น
-  การดูแลโต๊ะทำงานให้สะอาด  จัดของให้เป็นระเบียบ  เพื่อจะได้หยิบใช้ได้สะดวก  ไม่ต้องอารมณ์เสียเพราะหาของไม่พบ

 

-   หาของที่จะช่วยเตือนให้มีกำลังใจในการทำงานวางไว้ใกล้ ๆ ตัว  เช่น  ภาพครอบครัว  คนรัก  ของที่ระลึกเมื่อครั้งหน่วยงานส่งไปดูงานต่างประเทศ  ของขวัญที่ลูกค้าให้เพื่อตอบแทนน้ำใจที่ได้รับบริการที่ดี  บทกลอนเตือนใจ  เป็นต้น

 

 

 -   จัดวางกระถางต้นไม้  แจกันดอกไม้ไว้ในบริเวณที่ทำงาน  เพื่อสร้างความสดชื่นให้กับสถานที่ทำงาน

 

-   เปิดเพลงเบา ๆ ขณะทำงาน  เพื่อช่วยให้ผ่อนคลาย  และทำงานได้อย่างเพลิดเพลิน

 

-   ช่วยกันออกความคิด  และลงมือลงแรง  สละเวลาจัดสถานที่ทำงานให้น่าอยู่  น่าทำงาน  เพื่อความสุขร่วมกัน

 

ผ่อนคลายความเครียดทุกวัน

 
                ความเครียดในการทำงานเกิดขึ้นทุกวัน   ดังนั้น  การผ่อนคลายความเครียดก็ต้องทำเป็นประจำทุกวันเช่นกัน

 

                วิธีการผ่อนคลายความเครียดมีหลายวิธี  ได้แก่

 

-   การออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬากับเพื่อน ๆ  หลังเลิกงาน

 

-   การไปเสริมสวย  หรือไปช้อปปิ้ง

 

-   การไปพบปะสังสรรค์  รับประทานอาหารกับเพื่อนฝูง

 

-   การดูละครโทรทัศน์  ดูภาพยนตร์  ฟังเพลง

 

 

-   การเล่นกับลูก ๆ  หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง

 

-   การรดน้ำต้นไม้  ดูแลไม้ดอกไม้ประดับที่บ้าน

 

-   การทำการฝีมือ  เย็บปักถักร้อย

 

-   การซ่อมแซมของใช้ในบ้าน  ตกแต่งบ้าน

 

-   การอ่านหนังสืออ่านเล่น  หนังสือธรรมะ

 

-   การสวดมนต์ไหว้พระ  การทำสมาธิ   โดยการทำใจให้สงบ  หายใจเข้าออกเป็นจังหวะช้า ๆ และนับลมหายใจไปเรื่อย ๆ
 

มีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน

 
                การทำงานไปวัน ๆ  โดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน  อาจทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย  และมองไม่เห็นอนาคต  ทำให้ไม่มีความสุขในการทำงาน

 

                ดังนั้น  การวางเป้าหมายในชีวิตการทำงานให้ชัดเจน  มีกำหนดเวลาที่แน่นอน  มีวิธีปฏิบัติที่สามารถทำได้จริง จะช่วยให้เกิดความกระตือรือร้น  และสนุกกับการทำงานมากขึ้นได้

 

                การวางเป้าหมายในชีวิตการทำงานนั้น  เป็นได้ทั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว

 

 

                เป้าหมายระยะสั้น  ได้แก่  การกำหนดเวลาในการทำงานแต่ละชิ้นว่าควรจะเสร็จเมื่อใด  และควรพยายามทำให้ได้ตามนั้น  เมื่อทำได้ก็จะเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

 

                 เป้าหมายระยะยาว  ได้แก่  การมองอนาคตว่าอีก  5  ปี  10 ปี  เราจะอยู่ในตำแหน่งใด  ยังทำงานที่เดิมหรือไม่  ถ้าอยากเปลี่ยนงานจะเป็นงานอะไร  ต้องการคุณสมบัติอะไร  และเรามีคุณสมบัติตามนั้นแล้วหรือยัง  เราจะได้รู้ว่าจะต้องพัฒนาตัวเองอย่างไรต่อไป

 

                การมีความหวัง  การที่รู้ว่าตนเองมีอนาคตที่ดีรออยู่ข้างหน้า  จะช่วยให้สามารถอดทน  ฟันฝ่าอุปสรรคในปัจจุบันไปได้  และทำให้รู้สึกสนุกสนานกับการทำงานมากขึ้นกว่าเดิมด้วย
 
หมายเลขบันทึก: 347996เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2010 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

แวะมาเก็บเกี่ยวเอาสาระดีๆจากบันทึกค่ะ

ได้ไอเดียดีๆเยอะมากค่ะ....ขอบคุณบันทึกดีๆที่แบ่งปันนะคะ

ครูกระเเต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท