กฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศกับการรวมตัวทางเศรษฐกิจ


การรวมตัวทางเศรษฐกิจเป็นประโยชน์หรือไม่

เศรษฐกิจระหว่างประเทศคำว่า "เศรษฐกิจระหว่างประเทศ" ตามหลักการขั้นพื้นฐานย่อมนึกถึงในเรื่องที่เกี่ยวกับ การค้า การลงทุน การส่งออก การนำเข้า หรือการดำเนินการต่างๆทางด้านเศรษฐกิจ ในระดับระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในเรื่องของสินค้าต่างๆหรือในด้านบริการก็ตาม ในปัจจุบันมีการรวมตัวกันเพื่อเปิดโอกาสให้มีการค้ากันได้อย่างเสรี หรือที่เรียกว่า เขตการค้าเสรี (Free Trade Area :FTA) ซึ่งเป็นขั้นต้นของการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่เปิดให้มีการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิก โดยยกเว้นหรือลดภาษีศุลกากรขาเข้าให้สำหรับสินค้าทุกประเภทหรือเฉพาะบางประเภทที่นำเข้าจากประเทศสมาชิกอื่นๆซึ่งทำให้ประเทศสมาชิกของเขตการค้าเสรีสามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายในประเทศสมาชิกอื่นๆในเขตการค้าเสรีเดียวกันโดยปลอดภาษีเหมือนกับการส่งสินค้าจากจังหวัดหนึ่งไปจำหน่ายในอีกจังหวัดหนึ่งในประเทศเดียวกัน  ซึ่งการที่จะยกเว้นภาษีให้ทั้งหมดหรือบางส่วน หรือจะยกเว้นให้หรือลดภาษีให้สำหรับสินค้าประเภทใดบ้างและจะลดให้มากน้อยเพียงไร ก็เป็นไปตามธรรมนูญก่อตั้งของเขตการค้าเสรีนั้นๆ  หรือตามที่ประเทศสมาชิกจะตกลงกันในภายหลังก็ได้ขึ้นอยู่กับว่าเขตการค้าเสรีน้ันมีระดับการรวมต้ัวทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงไรแต่สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากนอกเขตการค้าเสรี  ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศยังคงมีสิทธิที่จะเรียกเก็บภาษีได้ตามกฏหมายศุลกากรของตน ซึ่งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างรํฐสมาชิกเพราะหากอัตราภาษีศุลกากรของรัฐสมาชิกไม่เท่ากัน  พิกัดอัตราภาษีของรัฐสมาชิกใดที่ตำ่ำกว่ารัฐสมาชิกอื่น สินค้าจากนอกเขตการค้าเสรีก็จะหลั่งไหลเข้ามาทางรัฐสมาชิกนั้น ทำให้รัฐนั้นได้ประโยชน์จากการเก็บภาษีขาเข้าสำหรับสินค้าที่นำเข้าจากนอกเขตการค้าเสรีนั้นเพียงรัฐเดียว เช่นประเทศสิงคโปร์ มีพิกัดอัตราภาษีในเขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA)ต่ำกว่าประเทศอื่นที่เกือบจะเป็น Free Port หลายสินค้าจากนอกเขต AFTAก็จะหลั่งไหลเข้าไปในสิงคโปร์ทำให้สามารถเก็บภาษีขาเข้าได้มากประเทศเดียวจึงเกิดความลักลั่นขึ้น  ดังนั้นเพื่อจะไม่ให้เกิดความไม่เป็นธรรมเช่นนี้ขึ้นจึงต้องกำหนดเป็นเงื่อนไขด้วยว่าเฉพาะสินค้าที่มีแหล่งกำเนิด (Origin) ในเขตการค้าเสรีนั้นเท่านั้นที่จะได้รับสิทธิพิเศษให้ส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในรัฐสมาชิกอื่นๆของเขตการค้าเสรีนั้นได้โดยปลอดภาษี ถ้าเป็นสินค้าที่ไม่ได้มีแหล่งกำเนิดในเขตการค้าเสรีนั้นก็ยังคงต้องเสียภาษีขาเข้าตามพิกัดอัตราปกติอยู่เช่นเดิม ดังนั้นในกรณีของประเทศสิงคโปร์สินค้าจากนอกเขตAFTAเข้าไปในสิงคโปร์ได้แต่ส่งออกมายังประเทศอื่นก็ต้องเสียภาษีเหมือนกัน

                 แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าชิ้นส่วนและส่วนประกอบของสินค้านั้นต้องมีแหล่งกำเนิด ผลิต หรือมาจากเขตการค้าเสรีนั้น (Local Content)เสียทั้งหมด  ส่วนปัญหาว่าสินค้าที่จะถือว่ามีแหล่งกำเนิดในเขตการค้าเสรีนั้นต้องมีส่วนประกอบซึ่งมาจากเขตการค้าเสรีนั้นในสัดส่วนมากน้อยเพียงไรย่อมขึ้นอยู่กับธรรมนูญก่อตั้งของเขตการค้าเสรีนั้นเอง  แต่ทั้งนี้ก็ไม่มีอะไรห้ามถ้าหากว่าประเทศสมาชิกจะตกลงกันให้แก้ไขเป็นอย่างอื่นในภายหลังตามวิถีทางที่กำหนดไว้ในธรรมนูญก่อตั้งเขตการค้าเสรีนั้น ตัวอย่างเช่นเขตการค้าเสรีของอาเซียน (ASEAN Free Trade Area-AFTA) ส่วนประกอบของสินค้าอาเซียนจะต้องมีถิ่นกำเนิดในอาเซียนอย่างน้อย 40% โดย10%ใน 40% นั้นจะต้องมีถิ่นกำเนิดในประเทศสุดท้ายที่ส่งออก (Last Exporting Country) และเพื่อให้สามารถควบคุมแหล่งกำเนิด (Origin) ของสินค้านั้นได้ จึงต้องกำหนดให้สินค้าที่ประเทศสมาชิกจะส่งออกไปจำหน่ายในประเทศสมาชิกอื่นโดยปลอดภาษีต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin-Co)กำกับสินค้าทุกชิ้นไว้ด้วยเสมอ

                 GATT Article XXIV ไม่ได้จำกัดว่าเขตการค้าเสรีจะต้องมีประเทศสมาชิกกี่ประเทศดังนั้นการก่อตั้งเขตการค้าเสรีจึงสามารถกระทำได้ทั้งในระดับพหุภาคีหรือระดับทวิภาคีก็ได้

การตั้งเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีนั้น  กล่าวคือ การที่ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่เกื้อหนุนกันมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่คล้ายกัน ก็ย่อมเหมาะที่จะตั้งเป็นเขตการค้าเสรี  ไม่ว่าประเทศนั้นจะอยู่ใกล้หรือไกลกัน ดังเช่นกรณีของประเทศไทยกับออสเตรเลีย ประเทศไทยสามารถได้รับประโยชน์จากการค้าเสรีโดยสามารถส่งสิ่งทอ  เครื่องใช้ไฟฟ้า  รถยนต์และชิ้นส่วน  ทูน่ากระป๋อง ฯลฯ ไปขายที่ออสเตรเลีย ส่วนออสเตรเลียก็สามารถส่งสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง นม เนื้อสัตว์ ฯลฯ มาจำหน่ายในประเทศไทย

การตั้งเขตการค้าเสรีแบบพหุภาคี  กล่าวคือ เป็นการตั้งเขตการค้าเสรีแบบหลายฝ่ายหลายประเทศ มักจะเป็นการตั้งเขตการค้าเสรีในระดับภูมิภาคเช่น ASEAN ก็ได้ตั้งเขตการค้าเสรีที่เรียกว่า AFTA หรือในแถบอเมริกาเหนือก็ตั้งเขตการค้าเสรีที่เรียกว่า NAFTA เป็นต้น

                 สหภาพศุลกากร( Customs Union) คือ เขตการค้าเสรีที่มีระดับการรวมตัวทางเศรษฐกิจสูงขึ้นกว่าเขตการค้าเสรีทั่วๆไป เช่น EEC ซึ่งเป็นตลาดร่วม (Common Market) แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น ECเพื่อแสดงว่ามีการรวมตัวกันทางด้านอื่นด้วย และในที่สุดก็ได้เปลี่ยนมาเป็น EUหรือสหภาพยุโรป ที่ในเรื่องเศรษฐกิจเรียกว่า "ตลาดเดี่ยว"(Single Market) ซึ่งมีการรวมตัวกันมากขึ้นอีกในแทบทุกด้าน โดยมีแนวโน้มที่จะพัฒนาต่อไปอีกให้เป็นสหพันธรัฐ (Federation)ในที่สุด

                 สหภาพศุลกากรมีหลักการสำคัญอยู่ที่ว่า นอกจากจะต้องยกเว้นภาษีศุลกากรขาเข้าให้แก่กันและกันสำหรับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศสมาชิกของสหภาพศุลกากรเดียวกันเช่นเดียวกับในเขตการค้าเสรีแล้ว ประเทศสมาชิกของสหภาพทุกประเทศยังต้องปรับ (Hamonize)ระบบและอัตราภาษีศุลกากรของตนสำหรับสินค้าที่นำเข้ามาจากนอกสหภาพใ้สอดคล้องกันและใช้พิกัดอัตราภาษีขาเข้าเดียวกันเพื่อทำให้สินค้าขาเข้าที่นำเข้าจากนอกสหภาพไม่ว่าจะโดยประเทศสมาชิกใดก็ต้องเสียภาษีขาเข้าเท่ากันทั้งสิ้น ซึ่งจะทำให้ไม่มีประเทศสมาชิกใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันในเรื่องการเก็บภาษีศุลกากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่นำเข้าจากนอกสหภาพฯ และโดยหลักการเมื่อสินค้าเข้ามาในสหภาพฯแล้ว ก็สามารถส่งออกไปจำหน่ายในประเทศสมาชิกทุกประเทศได้โดยเสรีจึงไม่มีปัญหาในเรื่องแหล่งกำเนิดของสินค้าและไม่ต้องมีเงื่อนไขเรื่องแหล่งกำเนิด(Origin) ว่าส่วนประกอบของสินค้าต้องมีแหล่งกำเนิดในท้องถิ่นนั้น ดังนั้นจึงไม่ต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้ากำกับสินค้าแต่ละชิ้นเหมือนกับในกรณีของเขตการค้าเสรี

                  ผลกระทบของการก่อตั้งเขตการค้าเสรี(FTA)และสหภาพศุลกากร(Customs Union) ต่อการค้าระหว่างประเทศ 

                ถึงแม้ว่าการรวมตัวทางเศรษฐกิจในทั้่งสองรูปแบบนี้จะเป็นการส่งเสริมให้มีการค้าระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคเมื่อมองในภาพรวมวัตถุประสงค์คือต้องการเพิ่มการค้าขายระหว่างประเทศทำให้ปริมาณการค้่าสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเขตที่สินค้าหลากหลาย เป็นการขจัดอุปสรรคทางการค้าในด้านพิกัดอัตราภาษีศุลกากรไปเลยแต่ในระดับสากลกลับจะกลายเป็นการสร้างกลุ่มการค้า (Trading Blocs)ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าเสรีในระดับโลก ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของ GATT และWTO เพราะจะมีผลเป็นการกีดกันการนำเข้าสินค้าจากนอกกลุ่มการค้านั้นโดยปริยายเพราะจะตัดโอกาสสำหรับสินค้าที่นำเข้าจากนอกกลุ่มการค้านั้นๆที่จะเข้ามาแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมกับสินค้าในตลาดของกลุ่มการค้าดังกล่าว  เนื่องจากมีความเสียเปรียบที่ต้องเสียภาษีขาเข้าและต้องเสียค่าขนส่งสูงกว่าสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในกลุ่มการค้านั้น  ในขณะที่สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในกลุ่มการค้าเหล่านั้นทั้งได้รับการยกเว้นภาษีขาเข้าและเสียค่าขนส่งต่ำกว่ามากทำให้สินค้าที่นำเข้าจากนอกกลุ่มการค้านั้นมีต้นทุนสูงกว่าจึงต้องจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าทำให้ไม่มีโอกาสที่จะแข่งขันในด้านราคากับสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในกลุ่มการค้านั้นได้เลย  เว้นแต่จะใช้วิธีทุ่มตลาด (Dumping) โดยการจำหน่ายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ควรจำหน่าย (ซึ่งหมายถึงราคาที่คุ้มทุนและมีกำไรพอที่ผู้ประกอบการจะอญู่ได้) หรือจะเ)็นวิธีการให้การอุดหนุน (Subsidies) ซึ่งในกรณีเช่นนั้นประเทศผู้นำเข้าก็จะมีสิทธิเก็บต่อภาษีต้านการทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duties -AD หรือ ภาษีตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duties -CVD) ซึ่งจะทำให้ความได้เปรียบจากการทุ่มตลาดและการอุดหนุน ที่จะทำให้สามารถแข่งขันในด้านราคากับสินค้า ซึ่งมีแหล่งกำเนิดในกลุ่มการค้านั้นได้เป็นอันไร้ผลไป

           

หมายเลขบันทึก: 34776เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2006 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท