การแข่งขัน CQ160 CW ปี 2010 และสายอากาศ Inverted L ของ HS8JYX


cq160 ให้นักวิทยุสมัครเล่นทั่วโลกติดต่อกันให้ได้มากที่สุด สำหรับย่านความถี่ 1.8 MHz

รายการแข่งขันที่ผมสนใจอีกรายการก็คือ CQ160 meter CW ในปี 2010 นี้จัดขึ้นในวันที่ 29 (2200 UTC)-31 มกราคม 2531 หรือพูดกันง่าย ๆ เขาจะจัดทุกสัปดาห์สุดท้ายของเดือน มกราคม ของทุกปี โดยให้นักวิทยุสมัครเล่นทั่วโลกติดต่อกันให้ได้มากที่สุด สำหรับย่านความถี่ 1.8 MHz ผมเลือกใช้สายอากาศ Inverted L วัสดุที่ใช้ทำก็ใช้สายไฟที่ใช้เดินตามอาคาร ขนาด 1.5 mm. และ คาปาซิเตอร์ทนแรงดันสูงเก่า ๆ จากทีวี

ผมเดินทางมาถึงจุดที่จะตั้งสถานีในวันศุกร์ ใช้ไม้ไผ่ 2 ต้นเป็นเสาแทนที่จะใช้เสาโลหะ

ใช้ไม้ไผ่ 2 ต้นเป็นเสาแทนที่จะใช้เสาโลหะ

จุดป้อนสัญญาณ ผมได้จัดทำไว้แล้ว โดยใช้ VC เป็นตัวปรับค่า SWR ใช้ Ground Rod 1 แท่งยาว 6 ฟุต ผมตอกลงไปประมาณ 5 ฟุต อีก 1 ฟุตไว้ต่อสาย และเพื่อความสะดวกเวลาเก็บอุปกรณ์ ใช้ Ground Radial 3 เส้น ตามสูตร สายที่ใช้ไปแล้วคือ 100 เมตร (1 ม้วน) โดยประมาณ

สายอากาศ inverted L

จากการทดลอง ผมรับวิทยุกระจายเสียง AM ได้ดีมาก อย่างไม่เคยรับได้แบบนี้มาก่อน (ในเวลากลางวัน) ผมทดลองถอดสายอากาศ Inverted L ออก แล้วรับด้วยสายไฟธรรมดาดู ปรากฏว่า รับได้ไม่ดี สัญญาณรบกวนมาก หลังจากนั้นผมก็ทดลองส่งสัญญาณ ปรากฏว่าค่า SWR สูงกว่า 3:1 ลองปรับ VC แล้ว ปรับได้นิดหน่อย ผมสังเกตว่า พอปรับ VC ให้มีค่ามากสุด SWR จะตำลง แสดงว่า ค่า C ต้องน้อยไปแน่ ๆ (ผมคิดเอาเอง) จากนั้นก็ไปหยิบ C ที่พามาด้วยมาลองต่อขนานดู ทดลองเปลี่ยนดูหลาย ๆ ค่าได้ผลครับ ค่า SWR ลดลงมากจนถือว่า สามารถออกอากาศได้เลย

สายอากาศ inverted L

C ที่ใช้ต้องเป็น C ที่ทนแรงดันสูง ๆ หน่อยนะครับ อย่างน้อยๆก็ 1.5KV ขึ้นไป ผมนำ C 2 ตัวมาขนานกัน เพื่อให้ได้ค่าที่ใกล้เคียงตามที่ต้องการ และผมได้นำ C อีกตัวมาลองขนานเข้าไปอีก ปรากฏว่า ไม่มีผล SWR ไม่ลดแล้ว น่าจะมากไปแล้ว ผมก็เลยเอาออก

สายอากาศ  inverted L

ผมได้ความสูงของไม้ไผ่ประมาณ 6-7 เมตรเองครับ ตามสูตรที่เขาคำนวณไว้ควรจะสูง 12.5 เมตร

สายอากาศ inverted L

ปลายอีกด้าน ไม่ได้ต่อกับไม้ไผ่โดยตรง ผมจะใช้เชือกฟางมีเป็นฉนวนอีกที ที่ไม่ต่อตรง ๆ เพราะไม้ไผ่ยังสดอยู่ มันจะมีความชื้นอาจจะให้ค่า SWR สูง (ไม่อยากเสียเวลาและแรงงาน ยกไม้ไผ่ขึ้นลงหลายรอบก็ควรใช้ฉนวน)

ในคืนวันศุกร์ ก่อนการแข่งขัน ผมเปิดเครื่องลองหาเพื่อนสมาชิกที่ CQ ในโหมด CW แต่ก็ไม่เจอ (คงนอนหลับเอาแรงก่อนการแข่งขัน) เลยมารับฟังวิทยุ AM รอไปพลาง ๆ สัญญาณวิทยุที่รับได้นั้นแรงมาก ๆ เรียกได้ว่าแค่หมุนไปนิดเดียวก็เจอ เพลงและดีเจ ล้วนจะออกแนว ๆ โบราณ โฆษณาบางตัวผมไม่นึกว่าจะยังมีอยู่ (ฟังมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว) สัญญาณวิทยุ AM ถ้าไม่ใช่นักวิทยุสมัครเล่นคงไม่มีใครชอบรับฟังสักเท่าไร เสียงไม่สดใส เดียวแรง เดียวขาดหาย บ้างก็โดนรบกวน จากสถานีใกล้เคียง หรือ จากธรรมชาติ ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า ก็โดนหมด แต่ถ้าเป็นนักวิทยุสมัครเล่นแล้วนี่คือมนต์ขลังแห่งวงการอย่างหนึ่งก็ว่าได้ ครับ

ถึงเวลาเริ่มการแข่งขัน เวลาตี 5 ของประเทศไทย ผมรับได้หลายสถานี เป็นที่น่าพอใจ ผมรู้สึกว่าความถี่ที่เขาให้มามันน้อยนะคนเล่นกันแน่นเอี๊ยด ! จะติดต่อได้มากได้น้อยก็อยู่ที่ประสบการณ์ของ Operator แล้วละครับ ผมเล่นไปสักพักก็สว่าง สัญญาณไกล ๆ เริ่มจางหาย จนสายขึ้นมาอีกนิด สัญญาณทุกสัญญาณหายไปหมดเลย มีแต่เสียงรบกวนจากธรรมชาติแทน ผมเลยหยุดเล่น เอาเวลาว่างไปเพิ่มสาย Ground Radial อีก 3 เส้น รวมเป็น 6 เส้น รู้สึกว่าค่า SWR จะสูงขึ้น ผมไปอ่านมาจากหนังสือ Low Band DX เขาบอกให้ทดลองเปลี่ยนความสูง ของปลาย Ground Radial ยกขึ้นสักนิดหน่อยจากพื้นดินจะช่วยในการปรับ SWR ได้ ผมทดลองตามนั้นก็ได้ผล SWR กลับมาไม่เกิน 1.5:1 ตามเดิม (โดยไม่ตัดสายให้สั้นลง)

ต้นแบบสายอากาศ Inverted L สำหรับย่าน 160 meter

ต้นแบบสายอากาศ Inverted L สำหรับย่าน 160 meter ความยาวของส่วนแพร่คลื่นประมาณ 1/4 Lambda

 

ข้อมูลที่น่าสนใจ

  • Ground Rod นั้นมีผลดีในแง่ของ dc ground ลดอันตรายจากฟ้าผ่า ไม่ค่อยมีผล หรือมีผลน้อยมาก กับ RF ground ผมเลยลดความสนใจเรื่องนี้ลง (ตอนแรกจะเอา Ground Rod มาหลาย ๆ แท่ง)
  • ผมมี Ground Rod แบบสั้น 2 แท่ง (ยาวประมาณ 1 ฟุต) ทดลองมาปักไว้ไกล้ ๆ กับ Ground Rod แท่งเดิมปรากฏว่าค่า SWR สูงขึ้นผิดปกติจนเครื่องลดกำลังส่งเองโดยอัตโนมัติ ผมทดลองอยู่หลายรอบ ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น
  • ขนาดของ Ground Radial ในกรณีที่ Ground Radial มีน้อยว่า 6 เส้น ขนาดของ Ground Radial จะมีผลควรจะใช้ลวดเบอร์ 16 ขึ้นไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่ถ้าจำนวน Ground Radial มีมาก ขนานของ Ground Radial จะมีผลน้อยลง เราสามารถใช้ลวดที่เล็กลงได้
  • สายอากาศแบบ Inverted L เป็นสายอากาศแบบ Vertical การทำงานเหมือนสายอากาศ Quarter wave แต่พับส่วนปลายของสายลงมา ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรจะส่วนที่เป็นแนวดิ่งสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ความยาวรวมของส่วนที่เป็นตัว L ก็จะประมาณ 1/4 Lambda
  • กลางวัน ความถี่ 1.8 MHz ติดต่อได้เฉพาะพื้นที่ใกล้ ๆ เมื่อดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นมา ชั้นบรรยากาศที่ชื่อว่า D layer จะถูกสร้างขึ้น การ ionization จะสูงสุดตอนบ่าย (หลังเที่ยงวันไปเล็กน้อย) ชั้นนี้จะดูดกลื่นความถี่ช่วงนี้เป็นอันมาก หลังจากดวงอาทิตย์ตก ชั้น D layer จะค่อย ๆ จางหายไป การติดต่อย่าน 1.8 MHz ก็เริ่มขึ้น
  • สายอากาศแบบ balanced เช่น Dipoles, Loop หรือสายอากาศทั่วไปในประเภทนี้ ส้วนแต่ไม่ต้องการ Ground Radial แต่สายอากาศแบบ unbalanced ระบบ radial system หรือ counterpoise เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก
  • ทดลองมาสองคืน ตอนกลางคืนค่า SWR จะต่ำกว่าตอนกลางวัน อย่างเห็นได้ชัด อาจจะเกิดจากความชื้น ส่วนหนึ่ง เป็นความชื้นและน้ำค้าง เกาะบนตัว VC (ผมไม่ได้ปิดฝา) ส่วนหนึ่ง น้ำค้างที่อยู่บนยอดหญ้าข้าง ๆ Ground Rod (อันนี้เป็นแค่ข้อสงสัย)
  • ระบบ Ground เราพอจะแข่งได้เป็น 3 แบบคือ 1. Safety ground เป็นกราวด์ที่ต่อกับเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปเพื่อป้องกันไฟรั่ว 2.Lightning ground อันนี้เป็นระบบกราวด์เพื่อป้องกันฟ้าผ่า ต้องมีความแข็งแรง แน่นหนากว่าแบบแรก แบบสุดท้ายก็คือ RF ground อันนี้เกี่ยวข้องกับวิทยุ สายอากาศบางแบบต้องการกราวด์แบบนี้ เพื่อการทำงานที่สมบูรณ์ (ครบวงจร)

หนังสือ Low - Band DXing  หนังสือที่น่าอ่านสำหรับผู้ที่สนใจความถี่ต่ำ ๆ

หนังสือ Low - Band DXing หนังสือที่น่าอ่านสำหรับผู้ที่สนใจความถี่ต่ำ ๆ เนื้อหาเป็นวิชาการมากเลยครับ

แถมด้วยบรรยากาศ ทุ่งนา ทะเล อ.หัวไทร

ทุ่งนา ต้นข้าว ต้นตาล

ในภาพไม่ใช่เกาะนะครับ เป็นกองหินขนาดใหญ่ วางเป็นระยะ เพื่อลดความแรงของคลื่น ซึ่งปัจจุบันคลื่นแรงมากกว่าอดีต

Link :: http://www.hs8jyx.com/html/cq160_2010.html

หมายเลขบันทึก: 347428เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2010 22:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 01:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท