วิธีอ่านคำบาลี


การเขียนภาษาบาลีด้วยอักษรไทยและวิธีอ่าน

วิธีอ่านคำบาลี

ภาษาบาลีเป็นภาษาที่บรรจุพระพุทธศาสนาไว้อย่างครบถ้วน  ผู้นับถือพระพุทธศาสนาจึงควรจะรู้ภาษาบาลีพอสมควร  หรืออย่างน้อยก็ควรจะรู้วิธีอ่านคำบาลีให้ถูกต้อง  ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการอ่านคำศัพท์ธรรมบัญญัติจำนวนมาก  ที่ยืมมาจากภาษาบาลี (และสันสกฤต) มาใช้ในภาษาไทย  เช่น  อนุปุพพิกถา, ปฏิจจสมุปบาท

 

การเขียนภาษาบาลีด้วยอักษรไทยและวิธีอ่าน

๑.  รูปสระ  เมื่อเขียนภาษาบาลีด้วยอักษรไทย  สระทุกตัว (ยกเว้น สระ อ)  มีทั้งรูป “สระลอย”  (คือสระที่ไม่มีพยัญชนะต้นประสมอยู่ด้วย)  และรูป “สระจม”  (คือสระที่มีพยัญชนะต้นประสมอยู่ด้วย)  ให้ออกเสียงสระตามรูปสระนั้น  เช่น  อาภา [อา-พา], อิสิ[อิสิ], อุติ[อุ-ตุ] ทั้งนี้ก็เช่นเดียวกับภาษาไทย

๒.  รูปพยัญชนะ  พยัญชนะเมื่อประสมกับสระใด  ก็จะมีรูปสระนั้นปรากฏอยู่ด้วย  (ยกเว้นเมื่อประสมกับสระ อ)  และให้ออกเสียงพยัญชนะประสมกับสระนั้น  เช่น  กรณีย [กะ-ระ-ณี-ยะ]

          พยัญชนะที่ให้โดยไม่มีรูปสระปรากฏอยู่  และไม่มีเครื่องหมาย  . (พินทุ) กำกับ  แสดงว่าประสมกับสระ อ  และให้ออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมกับ [อะ] เช่น  รตน [ระ-ตะ-นะ]

          ส่วนพยัญชนะที่มีเครื่องหมาย . (พินทุ) กำกับ  แสดงว่าไม่มีสระใดประสมอยู่ด้วย  ให้ออกเสียงเป็นตัวสะกด  เช่น  ธมฺม [ทำ-มะ], ปจฺจตฺตํ [ปัด-จัด-ตัง],   หรือตัวควบกล้ำ  เช่น พฺรหฺม [พ๎ระ -ห๎มะ] แล้วแต่กรณี  ในบางกรณีอาจต้องออกเสียงเป็นทั้งตัวสะกดและตัวควบกล้ำ  เช่น ตตฺร [ตัด-ต๎ระ], กลฺยาณ [กัน-ล๎ยา-นะ]

          อนึ่ง  รูป เอยฺย  มักนิยมออกเสียงตามความสะดวก  เป็น [ไอ-ยะ] ก็มี  หรือ [เอย-ยะ] ก็มี  เช่น ทกฺขิเณยฺย  ออกเสียงเป็น [ทัก-ขิ-ไน-ยะ] หรือ [ทัก-ขิ-เนย-ยะ] เมื่อยืมมาใช้ในภาษาไทย  จึงปรากฏว่ามีใช้ทั้ง ๒ รูป  คือ  ทักขิไณย(บุคคล)  และ ทักขิเณยย(บุคคล)

                ๓.  เครื่องหมายนิคหิต  เครื่องหมาย   ํ  (นิคหิต)  ต้องอาศัยสระ  และจะปรากฏเฉพาะหลังสระ อ, อิ  หรือ อุ  ให้ออกเสียงสระนั้น ๆ (เป็น  [อะ], [อิ], หรือ [อุ]  แล้วแต่กรณี)  และมี [ง] สะกด  เช่น  อํส [อัง-สะ], เอวํ [เอ-วัง], วิสุง [วิ-สุง]

                ตัวอย่างข้อความภาษาบาลีและวิธีอ่าน  ดังนี้

  ภวตุ     สพฺพมงฺคลํ         รกฺขนฺตุ            สพฺพเทวตา

  [พะ-วะ-ตุ]  [สับ-พะ-มัง-คะ-ลัง]       [รัก-ขัน-ตุ] [สับ-พะ-เท-วะ-ตา]

  สพฺพพุทฺธานุภาเวน          สทา     โสตฺถี     ภวนฺตุ     เต.

  [สับ-พะ-พุด-ทา-นุ-พา-เว-นะ]         [สะ-ทา]   [โสด-ถี][พะ-วัน-ตุ] [เต]

การอ่านคำที่มาจากภาษาบาลี (และสันสกฤต)

                หลักพื้นฐานดังกล่าวอาจนำมาประยุกต์กับการอ่านคำไทยที่มาจากภาษาบาล (และสันสกฤต)  โดยอนุโลม  แต่ยังต้องดั้งแปลงให้เข้ากับรูปคำและวิธีออกเสียงแบบไทยด้วย  เช่น  การออกเสียงอักษรนำในคำว่า  สมุทัย  [สะ-หมุ-ไท]  แทนที่จะเป็น [สะ-มุ-ไท]

                นอกจากนี้  หากจะออกเสียงให้ถูกต้องตามความนิยมในวงการศึกษาพระพุทธศาสนา  ผู้อ่านต้องมีความรู้เพิ่มเติมว่า  รูปเดิมของศัพท์คำนั้นเป็นอย่างไร  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  จะต้องทราบว่า  พยัญชนะตัวใดมีพินทุกำกับด้วยหรือไม่  เช่น  ปเสนทิ  มีรูปเดิมเป็น  ปเสนทิ  จึงต้องอ่านว่า [ปะ-เส-นะ-ทิ]  ไม่ใช่ [ปะ-เสน-ทิ]  แต่ อนุปุพฺพิกถา  มีรูปเดิมเป็น อนุปุพพิกถา  จึงต้องอ่านว่า [อะ-นุ-ปุบ-พิ-กะ-ถา]  ไม่ใช่ [อะ-นุ-ปุบ-พะ-พิ-กะ-ถา]  หรือ ปฏิจจสมุปบาท  มีรูปเดิมเป็น ปฏิจฺจสมุปฺปบาท  จึงต้องอ่านว่า [ปะ-ติด-จะ-สะ-หมุบ-บาด]  ไม่ใช่ [ปะ-ติด-จะ-สะ-หมุบ-บาด]

(พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) (๒๕๕๑) พจนานุกรมพุทธศาสน์  ฉบับประมวลศัพท์ (ชำระ-เพิ่มเติมช่วงที่๑) (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จันทร์เพ็ญ)  หน้า ถ-ท

หมายเลขบันทึก: 347308เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2010 13:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท