หมอนรองกระดูกกับอาการปวดหลังจากการทำงาน


การป้องกันไม่ให้ปวดหลังจากหมอนรองกระดูก

หมอนรองกระดูกกับอาการปวดหลังจากการทำงาน

เขียนโดย ผศ.ดร.วรรธนะ ชลายนเดชะ   

     การบาดเจ็บจากการทำงานไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บแบบเฉียบพลันและแบบค่อย เป็นค่อยไปนั้นป้องกันได้ ความรู้และความเข้าใจของคนทำงานมีส่วนสำคัญอย่างมาก เพื่อป้องกันตัวเองมิให้บาดเจ็บจากการทำงาน

     คนทำงานมักพบอาการปวดหลังได้บ่อย คนทั่วไปประมาณ ๑ ใน ๖ เคยมีอาการปวดหลังที่ต้องนอนพักอย่างน้อย ๑ ครั้งในชีวิต อาการปวดหลังส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนรู้เรื่องของหลัง (back school) ทำให้คนทำงานตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อหลัง เข้าใจกลไกการบาดเจ็บ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน เนื่องจากอาการปวดหลังส่วนหนึ่งมาจากหมอนรองกระดูก ครั้งนี้จึงนำเสนอเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลังและวิธีป้องกันไม่ให้ปวด หลังจากการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกสันหลัง

การเรียงตัวของกระดูกสันหลัง

     กระดูกสันหลังมีทั้งหมด ๒๖ ชิ้น เรียงตัวกันเป็นส่วนโค้ง ๓ ส่วน โดยกระดูกสันหลังส่วนคอจะโค้งไปทางด้านหน้า ส่วนอกจะโค้งไปด้านหลัง ส่วนเอวหรือหลังส่วนล่างจะโค้งไปทางด้านหน้า (lordotic curve) ดังรูปที่ ๑ การ เรียงตัวของกระดูกสันหลังเป็นส่วนโค้งแทนที่จะเป็นแท่งตรงเหมือนลำไม้ไผ่ เพื่อที่จะลดแรงกระแทกจากพื้นมาสู่ศีรษะเวลาเดิน คล้ายกับสปริงหรือแหนบกันกระเทือนในรถยนต์ ส่วนโค้งแต่ละช่วงมีความสำคัญ ถ้าแอ่นมากขึ้นหรือมีความโค้งน้อยลงอยู่นานๆ จะส่งผลทำให้เกิดอาการปวดได้ กระดูกสันหลังต่อเรียงกันด้วยหมอนรองกระดูกทางด้านหน้า และข้อสันหลัง ๒ ข้อทางด้านหลัง ข้อดีของการมีหลายข้อต่อเรียงกันเป็นกระดูกสันหลังคือ เราสามารถจะเคลื่อนไหวส่วนของหลังได้หลายทิศทางตั้งแต่ก้ม-เงย หมุนซ้าย-ขวา เอียงซ้าย-ขวา รวมทั้งหลายทิศทางพร้อมกัน เช่น การก้มหลังพร้อมกับการบิดและเอียงตัวในเวลาเดียวกัน แต่ข้อเสียของการเคลื่อนไหวได้หลายทิศทางคือส่วนของหลังจะมีความมั่นคงน้อย ลงและจะบาดเจ็บได้ง่าย

หมอนรองกระดูก

     หมอนรองกระดูกเป็นโครงสร้างที่ช่วยรับน้ำหนักและลดแรงกระแทกคล้ายกับระบบกัน กระเทือนของรถยนต์ ถ้าจะเปรียบเทียบกับลักษณะของหมอนรองกระดูกจะคล้ายกับขนมเด็กที่เป็นเยลลี่ รูปสัตว์ ด้านนอกจะเหนียวขณะที่ด้านในเป็นน้ำ การบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ตัวหมอนรองกระดูกเองมีเส้นประสาทมาเลี้ยงน้อยมาก เมื่อแตกหรือปลิ้นจะไม่เจ็บที่ตัวหมอน แต่อาจอักเสบหรือกดทับเอ็น กระดูกและเส้นประสาทที่อยู่ใกล้ ทำให้มีอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่างรวมทั้งมีอาการปวดที่ขาได้ อาการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกไม่จำเป็นต้อง มีอาการปวดทันทีเสมอไป ถ้าหมอนรองกระดูกแตกและปลิ้นจะเกิดอาการอักเสบ บวม และจะค่อยๆ มีอาการปวดน้อยๆ จนกระทั่งปวดมากในชั่วโมงที่ ๘ ถึง ๑๒ เพราะอาการอักเสบนั้นไปรบกวนเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียง

การแตกและปลิ้นของหมอนรองกระดูก

การบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกจะสัมพันธ์กับกรณีต่อไปนี้
     ๑. การก้มหลังจนสุด
     ๒. การนั่งเป็นเวลานาน
     ๓. ช่วงเวลาในแต่ละวัน ตอนเช้าจะมีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บมากกว่า
     ๔. การก้ม บิด เอียง ซ้ำๆ กันหลายครั้ง จนกระทั่ง เนื้อเยื่อหมอนล้าและการแตก
     ๕. คนอายุน้อย พบว่าคนในวัยทำงานจะมีสารน้ำในหมอนรองกระดูกมากกว่าคนสูงอายุ จึงมีแรงดันในหมอนสูง โอกาสที่จะแตกจะง่ายกว่า

การก้มตัว

     การก้มตัวทำได้ ๒ แบบ คือ การงอที่สะโพก (รูปที่ ๒) และการงอที่หลังส่วนล่าง (รูปที่ ๓) จะเห็นว่าการงอที่สะโพกจะยังมีส่วนโค้งของหลังอยู่ ส่วนการงอที่หลังทำให้โค้งกลับไปทางด้านหลัง (reverse lordotic curve) การงอหลังแบบนี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้หมอนรองกระดูก สันหลังบาดเจ็บได้ง่าย

การนั่ง

     การนั่งจะทำให้ส่วนโค้งของหลังน้อยลงหรือกลับทิศ (reverse lordotic curve) ดังรูปที่ ๔ การโค้งกลับทิศในลักษณะนี้ร่วมกับแรงกดจากน้ำหนักตัวส่วนบน จะทำให้หมอนรองกระดูกมีโอกาสปลิ้นออกทางด้านหลังได้ง่าย การนั่งนานจะทำให้แรงกดที่หมอนรองกระดูกเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จนกระทั่งมีค่ามาก

ช่วงเวลาในแต่ละวัน

     เมื่อนอนลงจะมีการดึงน้ำไปอยู่ในตัวหมอนรองกระดูก การที่มีน้ำเข้าไปอยู่ในหมอนรองกระดูกมากทำให้หมอนรองกระดูกบาดเจ็บได้ง่าย ขณะตื่นนอนใหม่จึงมีความเสี่ยงที่จะมีการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกมากกว่า ช่วงเย็น

การป้องกันไม่ให้ปวดหลังจากหมอนรองกระดูก

จากความรู้ข้างต้นนำมาสู่คำแนะนำที่จะช่วยป้องกันไม่ให้มีอาการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกได้ ดังนี้
     ๑. อย่างอหลังเมื่อยกวัตถุ ให้พยายามรักษาส่วนโค้งของหลังให้คงอยู่ขณะยกวัตถุให้งอที่สะโพก
     ๒. อย่านั่งนานเกิน ๒ ชั่วโมง ให้ลุกเดินเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ
     ๓. เปลี่ยนท่านั่งบ่อยๆ เช่น นั่งหลังตรง นั่งพิงหลัง นั่งเอามือเท้าโต๊ะ สลับกัน
     ๔. ถ้าจำเป็นต้องนั่งนาน เช่น นั่งขับรถ ให้แอ่นหลัง พิงพนัก ๕ วินาที เพื่อลดแรงกดที่หมอนรองกระดูก
     ๕. ผู้ที่นั่งนาน และต้องลุกมายกวัตถุทันที เช่น พนักงานขับรถส่งของต้องพยายามแอ่นหลังบ่อยๆ ขณะขับรถหรือหาหมอนมาหนุนหลังส่วนล่างในขณะขับรถ ถ้ามีเวลาพอ เมื่อลงจากรถให้ยืนแอ่นหลังประมาณ ๕ วินาที จึงเริ่มยกวัตถุ
     ๖. หลังตื่นนอนหลีกเลี่ยงการก้มหลัง หรือการออกกำลังกายที่ต้องก้มหลัง งอหลัง การยกวัตถุหนัก อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง
     ๗. ไม่ออกกำลังกายกล้ามเนื้อหน้าท้องแบบมีแรงต้านในท่านั่ง เพราะเป็นการงอหลังซ้ำๆ หลายครั้ง ขณะที่มีแรงดันในหมอนรองกระดูกสูง มีโอกาสบาดเจ็บสูง
     ๘. ออกแบบสภาพงานให้เหมาะสม เช่น ไม่ให้ยกวัตถุหนักจากที่ต่ำ บิดหรือเอียงตัว ยกวัตถุห่างตัว และยกวัตถุที่หนักเกินกำลัง

     อาการปวดหลังนั้นไม่จำเป็นต้องมาจากหมอนรองกระดูกเสมอไป ยังมีเนื้อเยื่ออื่นๆ ที่อาจบาดเจ็บได้ เช่น กล้ามเนื้อ หรือเอ็นที่อยู่บริเวณนั้น หรือมาจากสาเหตุอื่น เช่น การอักเสบของอวัยวะภายใน มะเร็งของกระดูก ตัวหมอนรองกระดูกนั้นเสื่อมสภาพตามวัยเหมือนกระดูก คนประมาณร้อยละ ๓๐ ที่ไม่เคยปวดหลัง มีหมอนรองกระดูกปลิ้น บางครั้งชัดเจนมากแต่ไม่มีอาการ

     อย่าลืมว่าคนทำงานไม่งอหลังขณะยกวัตถุ ไม่นั่งนาน ไม่ก้มหลังหรือยกวัตถุเมื่อตื่นนอนใหม่ๆ ไม่ยกวัตถุหนักเกินกำลัง ปรับสภาพงานให้เหมาะสม ทำเช่นนี้ท่านจะห่างไกลอาการปวดหลังจากการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูก

ที่มา: http://www.doctor.or.th/node/1235

หมายเลขบันทึก: 346548เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2010 20:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 15:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมไม่ได้เข้ามานานยังคิดถึงครับ

ขอบคุณสำหรับความรู้นี้ค่ะ เมื่อวานไปหาหมอที่โรงพยาบาล หมอให้ใบความรู้เรื่องโรคนี้ละค่ะ

P ขอบคุณครับที่แวะมาติดตาม ยินดีครับ

P มีประโยชน์มากครับคุณปริมปราง ถ้าเรานำมาปฏิบัติ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท