นาฏยประดิษฐ์


การสร้างสรรค์ท่ารำ

นาฏยประดิษฐ์  ระบำลีลานาฏกะ 

 บทนำ

            นาฏยประดิษฐ์   หมายถึง  สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้นทางการแสดงการฟ้อนรำ ที่จะสร้างสรรค์ความพึงพอใจความเพลิดเพลินอารมณ์ทั้งนี้อาจเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นตามอย่างธรรมชาติที่มีอยู่  เช่น  ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีหรือสิ่งรอบข้างอื่นๆ และอาจเป็นชุดการแสดงที่สร้างสรรค์ขึ้นให้อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติแต่ต้องไม่ขัดกับความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ในโลกมนุษย์ 

            ระบำลีลานาฏกะ  เป็นระบำชุดหนึ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นจากแนวคิดของการเล่นหุ่นเงาหนังตะลุงในจังหวัดนครศรีธรรมราช  บริบทของการสร้างสรรค์ระบำชุดนี้สร้างจากองค์ประกอบหลายด้าน ที่เป็นภูมิรู้ทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมการแสดงของคนไทยที่สั่งสมประสบการณ์มาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน 

                วัตถุประสงค์ของการเขียนบทความนี้เพื่อชี้แสดงเทคนิคการสร้างสรรค์นาฏยประดิษฐ์สำหรับใช้เป็นแนวคิดทางการสร้างวัฒนธรรมการแสดง  เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชุมชนให้คงอยู่สืบไป

ประวัติความเป็นมาของหุ่นเงาหนังตะลุงในประเทศไทย

วัฒนธรรมการเล่นหนังเป็นละครเงา (Shadow play)  ปรากฏในแหล่งอารยะธรรมเก่าแก่ของโลกมาแต่โบราณ  เช่น  อียิปต์  จีน  อินเดีย  และเกือบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  รูปหนังที่ใช้เล่นมี  ๒  แบบ  คือส่วนแขนที่ติดกับลำตัวมีขนาดใหญ่  เช่นหนังใหญ่ของไทยและหนังสแบก (Nang Sbek)  ของลาวและชนิดที่ส่วนแขนฉลุแยกจากลำตัวแต่ร้อยหมุดให้ติดกันเคลื่อนไหวได้ เช่น  หนังอายอง (Nang Ayong) ของเขมร  วายังกุลิต (Wayang Kulit) ของมาเลเซีย  วายังวองของชวา  และหนังตะลุงของไทย  ทั้งนี้วัฒนธรรมอินเดียที่แพร่กระจายมายังเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาเมื่อใดไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัด   แต่น่าจะเป็นตอนต้นของคริสตกาล  ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เจริญรุ่งเรือง  คือ  อาณาจักรฟูนัน  จัมปา  ศรีเกษตร  ทวารวดี  และศรีวิชัย  โดยวัฒนธรรมที่เข้ามามีอิทธิพลคือ  ศาสนา  การปกครอง  อักษรศาสตร์  และศิลปกรรม  ในส่วนของการแพร่กระจายของหนังตะลุง  สรุปได้ว่า  หนังตะลุงและรามเกียรติ์หรือมหากาพย์รามายณะมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด  โดยที่หนังตะลุงเป็นเครื่องบอกเล่าเนื้อเรื่อง มหากาพย์  และเป็นการเผยแพร่ความรู้คติธรรมทางศาสนา  และคติทางโลกรวมทั้งความบันเทิงแก่ผู้ชมควบคู่ไปด้วย  หนังตะลุงของอินเดียมีมาก่อนพุทธกาล  ต่อมาได้แพร่กระจายมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะอินโดนีเซียพร้อม ๆ กับวัฒนธรรมต่าง ๆ ของอินเดียคือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ   หลักฐานการแสดงหนังที่เก่าแก่ในอินเดีย ปรากฏอยู่ในคัมภีร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้   ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พุทธศาสนาภาษาบาลีชื่อ  “เภรีกถา”  และคัมภีร์มหาภารตะ  โดยอินเดียเรียกการแสดงชนิดนี้ว่า “ฉายานาฏกะ” แต่เดิมการแสดงชนิดนี้ถือเป็นของสูงพวกพราหมณ์ใช้เล่นเพื่อบูชาเทพเจ้าเล่าเรื่องศักดิ์สิทธิ์และเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อเผยแพร่ความรู้ทั้งคติธรรมและคติโลก  โดยแสดงเรื่องรามายณะ เป็นพื้น  ส่วนการเล่นหนังเพื่อความบันเทิง และแพร่หลายมาสู่กลุ่มชาวบ้านธรรมดาเพิ่งมีต่อมาในภายหลัง  หลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการแสดงหนังที่เก่าแก่ของอินเดียซึ่งยังคงสืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน คือการแสดงหนังที่รัฐเกราลาและโอริสา  ซึ่งใช้ตัวหนังที่คล้ายคลึงกับหนังตะลุงในภาคใต้  กล่าวคือ  รูปหนังมีขนาดเล็กแขนเคลื่อนไหวได้และนิยมแสดงเรื่องรามายณะอยู่อยู่เช่นเดิม

ดังที่ได้อ้างแล้วว่า เดิมหนังตะลุงเป็นเรื่องของพราหมณ์  เห็นได้จากการที่หนังตะลุงออกอิศวร  น่าจะเป็นเครื่องชี้ถึงกลุ่มลัทธิที่นำหนังตะลุงเข้ามาว่าน่าจะเป็นพวกที่นับถือฮินดูลัทธิไศวนิกายคือบูชาพระอิศวรเป็นใหญ่  ลัทธินี้ถ้าดูจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในภาคใต้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช  พัทลุง และสุราษฎร์ธานี  และน่าจะตกอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่  ๑๓  แต่ก็มิได้หมายความว่า  หนังตะลุงเข้ามาพร้อมกับลัทธินี้ ซึ่งอาจจะเป็นช่วงหลังก็ได้  แต่คงไม่เลยพุทธศตวรรษที่  ๑๗ เพราะตามตำนานบอกเล่าซึ่งนายหนังตะลุงรุ่นเก่าได้ถ่ายทอดไว้เป็นบทไหว้ครูหนัง (ตอนออกรูปกาด)  ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่ามีมาตั้งแต่ครั้งศรีวิชัย

               จากการทบทวนเรื่องระยะเวลาการเกิดหนังตะลุง และหนังใหญ่  นั้นปรากฏว่าหนังตะลุงเกิดหลังหนังใหญ่ของภาคกลาง  คำว่าหนังตะลุงเป็นคำเรียกใหม่บางทีก็เรียกว่าหนังควน ส่วนที่เรียกว่า  หนังตะลุงนั้น  คาดว่าเป็นคำที่เกิดขึ้นตอนที่ หนังควนได้เข้ามาแสดงในกรุงเทพ ฯ  นอกจากนี้มีหลายท่านกล่าวว่าหนังตะลุงเป็นของใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕ พวกชาวบ้านควนมะพร้าว  จังหวัดพัทลุง คิดเอาอย่างหนังแขกมาเล่นเป็นเรื่องไทยขึ้นก่อน แล้วจึงแพร่หลาย ไปที่อื่นในมณฑลนั้นเรียกกันว่า  หนังควน  เจ้าพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ (วร บุนนาค) นำเข้ามากรุงเทพ ฯ ได้เล่นถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๕) ในครั้งแรกที่บางปะอิน  เมื่อปีชวด  พ.ศ.  ๒๔๑๙  ทรงถามว่ามาจากไหน  ก็ได้คำตอบจากคนใต้  ซึ่งชอบพูดสั้นๆว่า หนังลุง  หมายถึง  หนังที่มาจากเมืองพัทลุงจึงเรียกกันมาว่า “หนังตะลุง”

ชวาเป็นแหล่งที่มีความรู้สึกนึกคิดและโลกทรรศน์แบบอินเดียอย่างลึกซึ้ง ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในการเล่นหนังตะลุงชวาที่เรียกว่าวายังปูรวะ  อ้างอิงถึงเงินเหรียญชวาซึ่งมีรูปตัวหนังชวา  เหรียญดังกล่าวมีในสมัยมัชปปหิตรุ่งเรือง  ร่วมกับสมัยสุโขทัย  สำหรับหนังตะลุงของภาคใต้ได้รับอิทธิพลหรือมีความเกี่ยวเนื่องกับหนังตะลุงชวา  แต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่ามีแต่เมื่อใด  หนังตะลุงภาคใต้มี  ๓ แบบ  คือ  หนังตะลุงภาคใต้ทั่ว ๆ ไป   หนังตะลุงวายังวอหรือวายังชวา  ซึ่งสูญหายไปหมดแล้ว  ยังเหลือเพียงตัวหนังเป็นหลักฐานสำคัญและวายังเซียม ซึ่งเป็นหนังตะลุงที่ผสมผสานกันระหว่างวายังวอกับหนังตะลุงภาคใต้  สิ่งแสดงเพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงเพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้นั้นพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีชี้ให้เห็นว่า  หมู่เกาะชวาเป็นแหล่งอารยะธรรมแหล่งหนึ่งของโลก  ทั้งในยุคก่อนหน้าและยุคหลังที่มีการติดต่อกับวัฒนธรรมอินเดีย  การแสดงเงาหรือวายังน่าจะมีแพร่หลายในชวาก่อน  ทั้งนี้เพราะว่าวายังเป็นศิลปะพื้นเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับการบูชาพรรพบุรุษชวา 

อย่างไรก็ตามมีหลักฐานยืนยันว่า ในตอนต้นคริสตวรรษมีอาณาจักรชวาซึ่งมีวัฒนธรรมอินเดียแพร่หลายเข้ามาเกิดขึ้นแล้ว  จึงเป็นการยืนยันถึงความยาวนานของอารยะธรรมอินเดียในบริเวณนี้  แม้ว่าในคริสตวรรษที่ 14  ศาสนาอิสลามได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือชวาก็ตาม  และบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับหนังเงาเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่โลกทัศน์แบบอินเดียและความเชื่อเกี่ยวกันกับรามายณะก็ยังฝังแน่นในจิตใจชาวชวา  หนังตะลุงชวาเริ่มแพร่กระจายเข้าสู่ประเทศไทยโดยผ่านประเทศมาเลเซียเรียกหนังตะลุงว่า“วายังกุลิต” ซึ่งมี ๒  ชนิดคือ  วายังสยาม หรือวายังเซียม และวายังชวา หรือวายังยาวอ  วายังสยามมีแสดงทางตอนเหนือมาเลเซีย  และภาคใต้ของไทย  ส่วนวายังชวาปัจจุบันกำลังเลือนหายไป หนังตะลุงทั้ง ๒ ชนิด มีวิธีการเล่นคล้ายคลึงกัน ข้อแตกต่างอยู่ตรงบทหนัง  ตัวหนัง  และดนตรี  เมื่อการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมการแสดงหุ่นเงาเข้ามาสู่ประเทศไทยในรูปแบบหนังตะลุง  จึงได้เปลี่ยนแปลงบทบาทของการแสดงตามอัตลักษณ์ความเป็นอยู่ของชุมชนในท้องถิ่นใต้  ทั้งภาษาพูด  บทบรรยายเนื้อเรื่อง  เครื่องดนตรี  และตัวหนัง  ให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่เห็นถึงความประณีตของชุมชนคนในท้องถิ่นใต้อย่างเด่นชัด  และมีการแสดงมาจนถึงปัจจุบันนี้

 

การพัฒนาท่ารำระบำลีลานาฏกะ

การพัฒนาท่ารำนาฏยประดิษฐ์ ระบำลีลานาฏกะนำเสนอเทคนิคกระบวนการนำเสนอเทคนิคการบูรณาการจากนามธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ  แต่อย่างไรก็แล้วแต่ภูมิปัญญาทางการแสดงคือทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่  สามารถนำเสนอได้ ๒ ประเด็นคือ  พื้นฐานการสร้างจินตนาการ    การเลียนแบบสร้างจินตนาการ  ดังนี้

๑.  พื้นฐานของการสร้างจินตนาการ

                พื้นฐานของการสร้างจินตนาการ ในการแสดงนาฏศิลป์ไทยนอกจากต้องเข้าใจความรู้พื้นฐานทางการแสดงที่ได้กล่าวแล้วนั้น  ยังต้องรู้จักประมวลองค์ความรู้สู่การนำไปใช้ได้อย่างมีความสุข  เพื่อให้เห็นวิธีการประมวลองค์ความรู้ใคร่  สรุปเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ ต้องมีความพร้อมของตนเอง ต้องมีความพร้อมในวิชาการ ต้องมีความพร้อมในการนำเสนอ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

๑.  ต้องมีความพร้อมในตนเอง  หมายถึง  ศิลปินที่จะสร้างสรรค์งานทางนาฏศิลป์  นั้นจะต้องเตรียมความพร้อมของตนเองให้เต็มศักยภาพความสามารถ ต้องตรวจสอบองค์ความรู้ที่มีอย่างรอบคอบ  เช่น ต้องมีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ  ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ต้องเป็นผู้ช่างสังเกต  ต้องมีสมาธิ  และต้องกล้าแสดงออก  เช่น   ต้องมีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ  ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้  หมายถึง ต้องมีความรอบรู้โดยเฉพาะต้องศึกษาจากองค์ประกอบพื้นฐาน  เช่น  ถ้าหากต้องการสร้างสรรค์ความคิดจากกระบวนการสร้างงานของหนังตะลุง จะต้องอ่านและทำความเข้าใจทั้งความหมายของหนังตะลุง  ประวัติหนังตะลุง  องค์ประกอบของการแสดงหนังตะลุง  นอกจากนี้ยังต้องศึกษาในเรื่องของนาฏยศัพท์และภาษาท่าทางนาฏศิลป์  เพื่อจะได้นำองค์ความรู้ที่เข้าใจนั้นมาบูรณาการสู่การปฏิบัติได้อย่างมีความสุข   ต้องเป็นผู้ที่มีการสังเกต    ต้องมีสมาธิ  หมายถึง  ต้องมีความนิ่ง ไม่หลุกหลิก  เพราะการนิ่งอย่างมีสมาธิจะทำให้เกิดปัญญา จดจำสิ่งรอบข้างได้เป็นอย่างดี  ดังนั้นหากนักเรียนจำเป็นต้องสร้างสรรค์ปัญญาด้วยกระบวนการคิด  อยู่ในจิตใจ  สิ่งที่จะช่วยให้กระบวนการคิดนั้นบรรลุเป้าหมายอย่างตามประสงค์สมาธิจะช่วยเราได้ในลำดับต้น ๆ เสมอ   ต้องกล้าแสดงออก  และต้องขยัน 

๒.  ต้องมีความพร้อมในวิชาการ  หมายถึง  วิชาการทางนาฏศิลป์เพราะจะเป็นสิ่งส่งเสริมให้ตัวศิลปินคิดงานได้อย่างรอบคอบและรัดกุม  ไปตามแนวทางของการปฏิบัติที่ถูกต้อง วิชาการที่กล่าวนี้  ได้แก่  การเคลื่อนไหว  ความรู้เรื่องเพลง  ดังนี้

       ๒.๑   การเคลื่อนไหว  หมายถึง  การเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง เพื่อให้เห็นความหลากหลายของรูปแบบการสร้างสรรค์  เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถของนักแสดง หรือเพื่อแสดงให้เห็นว่านักแสดงทุกคนมีความพร้อม  มีความลงตัวในการแสดง ลักษณะการเคลื่อนไหวที่กล่าวนี้เรียกว่า  การแปรแถว  ซึ่งต้องมีหลักในการปฏิบัติ  คือ เคลื่อนที่เพื่อไม่ให้ปักหลักอยู่นาน         กระทำแต่พอสมควร  ไม่วิ่งวน หรือวิ่งบ่อย ๆ จนแลดูขวักไขว่  คำนึงถึงระยะใกล้ไกลให้พอดีคำร้องแลทำนองเพลงในวรรค  เพื่อไม่ให้ลุกลน   คำนึงถึงความสูงต่ำของนักแสดง   คำนึงถึงสีเครื่องแต่งกายที่ต้องสลับสีกันหรือต้องการรวมกลุ่มสี   การแปรแถวไม่ควรซ้ำแบบกันเกินสามครั้ง  หรือถ้าไม่ซ้ำแถวได้ยิ่งดี  จะต้องระวัง  จุดศูนย์กลางของเวทีจะต้องตรงจุดศูนย์กลางเสมอ 

ลักษณะตัวอย่างของการแปรแถวที่มีปรากฏในการแสดงนาฏศิลป์  ประกอบด้วย  แถวหน้ากระดานเดี่ยว  แถวตอน  แถววงกลม  แถวครึ่งวงกลม  และ แถวสามเหลี่ยม เป็นต้น

       ๒.๒   ความรู้เกี่ยวกับเพลงและดนตรี  หมายถึง  ผู้แสดงนาฏศิลป์ทุกคนจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเพลงอย่างถ่องแท้ว่าเพลงนั้น ๆ มีความหมายอย่างไร  ร้องอย่างไร  ทั้งนี้องค์ประกอบของเพลงและดนตรีที่ต้องคำนึง  ประกอบด้วย

              ๒.๒.๑   ต้องทำความเข้าใจกับความหมายและวัตถุประสงค์ของเพลงให้เข้าใจตามที่กล่าวนี้ก็หมายความว่า  ถ้าเพลงกล่าวถึงบรรยากาศอย่างไรก็ต้องร้องเพลงตามบรรยากาศนั้น  อย่างเพลงระบำไก่  เป็นเพลงที่ร้องเพื่อบรรยายลักษณะของไก่ที่กำลังมีความสุขกับอวัยวะของร่างกายที่สวยงามของตนเอง  ดังนี้ผู้ร้องเพลงระบำไก่ต้องถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกรักหวงแหน ตลอดทั้งให้เกิดความภาคภูมิใจไปกับเนื้อร้องทำนอง  และจังหวะเพลง  นอกจากนี้แล้วการร้องเพลงจะต้องให้ชัดถ้อยชัดคำ  มีสีสันตลอดการขับร้อง

              ๒.๒.๒   ต้องศึกษาจังหวะของเสียงเพลงดนตรีของเพลงไทย   โดยปกติทั่วไป  จังหวะในเพลงไทย มี ๓  จังหวะ  คือ  จังหวะ อัตราชั้นเดียว อัตราสองชั้น และอัตราสามชั้น  ตามลำดับ ในอัตราของจังหวะนี้หมายถึงจังหวะของเสียงฉิ่งที่ดังประกอบการขับร้อง  คือเสียง “ฉิ่ง”   และเสียง  “ฉับ”  ดังนั้น  การขับร้องที่ได้รับการควบคุมตามช่วงจังหวะของเสียง “ฉิ่ง” และเสียง “ฉับ”  ไม่ร้องคล่อมจังหวะจะทำให้ผู้ฟังเกิดความกระชับในความรู้สึก  นอกจากนี้การปฏิบัติท่ารำก็จะกระชับและปฏิบัติท่ารำได้ถูกต้องสวยงามด้วย

                               ๒.๒.๓    ต้องศึกษากระบวนของเสียงเพลงทำนองดนตรีให้เข้าใจ  เฉพาะอย่างยิ่งในเพลงลีลานาฏกะ  ซึ่งเป็นเพลงตัดแต่งทำนองจากขั้นตอนการเล่นหนังตะลุงของภาคใต้ มาต่อเนื่องใส่ท่ารำตามจินตนาการของรูปตัวหนังที่จะออกดำเนินเรื่องแต่ละช่วง  กล่าวคือ

                                               ๒.๓.๑.๑   เพลงโหมโรง  ซึ่งใช้เพลงในทำนองสนุกสนานเร้าใจ  เพื่อเตรียมความพร้อมของการแสดง  โดยจะเริ่มบรรเลงด้วยเพลงทำนองอัตราจังหวะ  สามชั้นก่อน จากนั้นจึงค่อยลดเป็นอัตราจังหวะสองชั้นให้ท่วงทำนองกระชับขึ้น   แล้วจบด้วยทำนองจังหวะชั้นเดียว   ซึ่งเป็นจังหวะสนุกสนานเร้าใจ

                                               ๒.๓.๑.๒   เพลงล่อฤาษี  เป็นเพลงที่ให้บรรยากาศของความศักดิ์สิทธิ์เพื่อผู้ทรงศีลจะได้ช่วยขจัดปัดเป่าเสนียดจัญไรให้เกิดกับการแสดง 

                                ๒.๓.๑.๓   เพลงพระอิศวรขวัดโค  เป็นเพลงสนุกสนานเพื่อสอนคติให้คนรู้ถึงสัจจะธรรมของชีวิตในการครองตัวครองตนในสังคม  ต้องพยายามทำความดี เพราะธรรมซึ่งเป็นฝ่ายดี  ย่อมชนะอธรรม  หรือความชั่วเสมอ  ในที่นี้พระอิศวรหมายถึงสิ่งดีงาม  ส่วนโคอุสุภราชกำลังตกมัน เป็นสิ่งแสดงถึงความชั่ว  เมื่อสู้รบกันเสร็จสรรพสิ่งไม่ดีย่อมแพ้ภัยตัวเอง

                                ๒.๓.๑.๔  เพลงปรายหน้าบท เป็นเพลงทำนองไพเราะอ่อนหวาน สำหรับให้ผู้ชมฟังอย่างเพลิดเพลิน เพราะเป็นตัวแทนบทบาทสมมุติของนายหนังออกมาคารวะ สิ่งศักดิ์และผู้ชม

                                                ๒.๓.๑.๕   เพลงบอกเรื่อง เป็นเพลงทำนองไพเราะสนุกสนานเพื่อให้ตัวละครกล่าวเกริ่นในสิ่งที่ต้องแสดง  ตัวละครที่ออกมาบอกเรื่องในที่นี้ส่วนใหญ่จะเป็นตัวตลก 

                                                ๒.๓.๑.๖  เพลงตั้งบ้านตั้งเมือง เป็นเพลงเริ่มต้นแสดงของหนัง ทำนองจะฟังดูโอ่อ่ายิ่งใหญ่ และมีพระมหากษัตริย์  และนางกษัตริย์ออกมาว่าราชการ  ยกสมมุติเป็นเมืองเพื่อเริ่มดำเนินเรื่องไปสู่จุดจบของการแสดง

                                                ๒.๓.๑.๗   เพลงทำนองนางสองแขน เป็นเพลงสำหรับตัวตลกผู้หญิงที่สามารถขยับเขยื้อนเคลื่อนแขนได้ทั้งสองแขน ส่วนใหญ่จะรับบทนางร้ายหรือนางอิจฉา   ดังนั้นทำนองเพลงในท่อนนี้จะรวดเร็วและรุกเร้าในอารมณ์มาก

                องค์ประกอบของการฟังเพลงก็ดี  การฟังจังหวะก็ดีเป็นสิ่งที่นักแสดงที่ดีจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นเสมอ  ตามที่กล่าวเกริ่นเป็นเบื้องต้นแล้วว่า  จินตนาการเป็นความรู้สึกนึกคิดในห้วงความรู้สึก  ที่ผู้ประดิษฐ์ท่ารำใช้สร้างภาพเป็นโครงสร้างในรูปแบบการวางแผนตามความต้องการของตนเอง  ดังนั้น  เมื่อสร้างองค์ความรู้พื้นฐานอันจะก่อให้เกิดจินตนาการตามที่ต้องการแล้ว  นักนาฏยประดิษฐ์จะต้องมีความฝัน  ความต้องการที่จะสร้างงานให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์  สิ่งแรกที่จะต้องสร้างแรงกระสันให้เกิดในภาพจินตนาการนั้น  ควรจะสร้างองค์รวมในเรื่องต่อไปนี้  คือต้องสร้างความคิดในโครงสร้างของการประดิษฐ์ท่ารำคือ   สร้างเพลง  สร้างเครื่องแต่งกาย  สร้างท่ารำ  และสร้างการเคลื่อนไหวในทิศทางต่าง ๆ  ดังรายละเอียดกล่าวคือ

๑.  สร้างเพลง  ในชุดนาฏยประดิษฐ์ ระบำลีลานาฏกะนี้  ผู้วิจัยมีความมุ่งหวังจะนำขั้นตอนการเล่นหนังตะลุงมานำเสนอ  จึงได้นำเพลงที่ใช้ประกอบการเล่นหนังตามขั้นตอนการเล่นหนังตะลุงมานำเสนอ  แต่ด้วยเพลงที่ใช้ประกอบการเล่นหนังตะลุงมีหลายเพลง  จึงอาจทำให้ชุดการแสดงดูเยิ่นเย้อทั้งในเรื่องของการปฏิบัติท่ารำและเรื่องของระยะเวลาของท่วงทำนองเพลง  จึงได้นำเพลงตามที่กล่าวข้างต้นมานำเสนอ  โดยจัดลำดับการปฏิบัติท่ารำตามลักษณะการออกของตัวหนังตะลุง  คือ  ออกฤาษี  ออกอีศวรทรงโค  ออกปรายหน้าบท  ออกบอกเรื่อง  ออกตั้งบ้านตั้งเมือง  จากนั้นผู้วิจัยไม่สามารถนำเพลงที่เกี่ยวกับการแสดงเป็นเรื่องมานำเสนอได้เพราะต้องใช้หลายเพลง อาจทำให้ความยาวของท่อนเพลงมีปัญหากับการนำเสนอ  จึงใช้แนวคิดในการนำเสนอตัวแสดงที่มีความสำคัญต่อการแสดงเรื่องมานำเสนอ  เช่น  ตัวนางเดินดง  ตัวยักษ์เดินป่า  และตัวนางสองแขน  ซึ่งตัวละครทุกตัวที่กล่าวถึงจำเป็นต้องใช้ในการเล่นหนังตะลุงในแต่ละคราวมานำเสนอ  จากนั้นเมื่อผู้วิจัยศึกษาเรื่องการทำเพลงประกอบระบำ  โดยการสังเกตและสอบถามผู้รู้ทำให้ทราบว่า  เพลงในชุดระบำทุกเพลงจะต้องมีเพลงออก เพื่อเตรียมความพร้อม  หรือเพื่อให้นักแสดงเคลื่อนตัวเองออกจากหลังเวทีสู่หน้าเวทีสำหรับปฏิบัติท่ารำต่อไป  และเพลงจบ  ที่จะทำให้ตัวละครออกจากเวทีเข้าสู่หลังฉากเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการร่ายรำแล้ว  จึงได้นำเพลงโหมโรงซึ่งเป็นเพลงที่ใช้บรรเลงก่อนมีการเล่นหนังอยู่แล้วมาตัดแต่งห้องเพลงให้สั้นกระชับ  และสุดท้ายใช้เพลงเลยบทมาใช้เป็นเพลงในการจบการแสดง  ซึ่งทุกอย่างนี้  ได้สร้างมโนทัศน์ในความรู้สึกเพื่อสร้างภาพให้สมบูรณ์ก่อนจะมีการเริ่มต้นทำงานนาฏยประดิษฐ์ ชุดระบำลีลานาฏกะ

๒.  สร้างเครื่องแต่งกาย  ในชุดนาฏยประดิษฐ์ ระบำลีลานาฏกะนี้  ผู้วิจัยมีความมุ่งหวังจะนำเสนอกลิ่นอายความเป็นหนังตะลุงมาใช้สื่อสารให้มากที่สุด  จึงได้ตั้งคำถามจากมโนคติว่า  ในหลายประเด็น  กล่าวคือ 

       ๒.๑   ต้องมีความเป็นท้องถิ่นทางใต้มากที่สุด เพราะหนังตะลุงเป็นมหรสพที่เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไปว่ามีกำเนิดในภาคใต้

       ๒.๒  ต้องใกล้เคียงกับลักษณะของตัวหนังตะลุงตัวใดตัวหนึ่งให้มากที่สุด ในที่นี้การปฏิบัติท่ารำระบำลีลานาฏกะ  นักแสดงส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง  ดังนั้นตัวหนังที่มีความสำคัญในการนำเสนอในครั้งนี้จึงมุ่งสังเกตที่ลักษณะของตัวหนังตะลุงที่เป็นตัวนางเอกของเรื่อง  นอกจากนี้ผู้แสดงที่ออกมาประกอบเสริมเติมเต็มกับท่ารำคือตัวที่เชิดหนังตะลุง นั้นจะแต่งกายโดยเลียนแบบพราหมณ์คือสวมชุดขาวเป็นเสื้อแขนยาว และนุ่งผ้าโจงกระเบน  แต่ใช้การตกแต่งให้สวยงามเพื่อให้เหมาะกับการเป็นชุดการแสดง

       ๒.๓  ต้องถูกต้องและตรงกับองค์ประกอบของเครื่องแต่งกายละครไทยตามแบบที่ผู้เชี่ยวชาญได้บัญญัติไว้ตามรูปแบบการแต่งกายละครไทยมาแต่อดีต 

เมื่อผู้วิจัยได้ประเด็นคำถามทั้ง ๓ ข้อที่กล่าวแล้วข้างต้น  จึงได้มุ่งพยายามคิดหาคำตอบเพื่อให้ได้ครอบคลุมตามโจทย์ที่ตั้ง  และมาสรุปตรงที่พยายามแอกแบบเครื่องแต่งกายในชุดระบำลีลานาฏกะ นั้นจะแต่ง ๒ ลักษณะ  คือ  แต่งกายของนางรำ  และแต่งกายแบบผู้เชิด 

 

เลียนแบบสร้างจินตนา

การเลียนแบบสร้างจินตนาในการวิจัยครั้งนี้  ผู้วิจัยประดิษฐ์ท่ารำโดยการเลียนแบบลีลาการเชิดตัวหนังแต่ละประเภทตามที่ได้นำเสนอมาเป็นขั้นตอน  เช่น  การเชิดรูปฤาษี  การเชิดรูปพระอิศวรทรงโค  การเชิดรูปปรายหน้าบท  การเชิดรูปบอกเรื่อง  การเชิดรูปตั้งบ้านตั้งเมือง  การเชิดรูปนางเดินดง  การเชิดรูปยักษ์เดินป่า  และการเชิดรูปนางสองแขน  ทั้งนี้ท่ารำบางท่านั้นผู้วิจัยใช้จินตนาการของตนเองเป็นส่วนส่งเสริม  ดังรายละเอียดต่อไปนี้

๑.  ท่าออก  หมายถึง  ท่าการเคลื่อนไหวร่างกายของนักแสดงจากหลังเวทีออกสู่หน้าเวที  ในหลักของทางนาฏศิลป์ไทยโดยทั่วไปนั้นส่วนใหญ่นักแสดงจะต้องออกจากซ้ายมือของผู้ชม  และการเข้าหลังเวทีจะต้องเข้าทางขวามือของผู้ชม  ส่วนท่าออกของระบำลีลานาฏกะครั้งนี้ จะยึดหลักตามแบบที่กล่าวซึ่งผู้แสดงจะต้องวิ่งเข้าออกตามช่วงของท่วงทำนองเพลงที่เปลี่ยนแปลงตามการนำเสนอของท่ารำการเชิดตัวหนัง  เช่น

๒.  ท่ารำ  หมายถึง  การปฏิบัติท่ารำที่สร้างสรรค์ขึ้นจากการเลียนแบบของตัวหนัง  เช่น  การล่อฤาษี  พระอิศวรขวัดโค  ปรายหน้าบท  การบอกเรื่อง  การตั้งบ้านตั้งเมือง  การนาดนางเดินดง   ท่ารำยักษ์เดินป่า  และท่านางสองแขน

๓.  ท่าจบ  หมายถึง  ท่าที่นักแสดงสรุปชุดการแสดงและพร้อมจะออกจากเวทีการแสดง  ในระบำชุดนี้จะจบด้วยการตั้งซุ้มของนักแสดงแล้วนักแสดงทุกคนเลื่อนตัวเข้าสู่หลังเวที

 

สรุป

นาฏยประดิษฐ์ระบำลีลานาฏกะ เป็นชุดการแสดงที่มีคุณภาพสำหรับใช้เป็นแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาสื่อทางภูมิปัญญาท้องถิ่นการเล่นหนังตะลุงให้คงอยู่กับเยาวชน  การพัฒนาท่ารำระบำลีลานาฏกะ  จำเป็นต้องใช้องค์ประกอบสำคัญ  ๒ ลักษณะคือ  ลักษณะที่ ๑ นั้น จะต้องมีพื้นฐานของการสร้างจินตนาการ ในการแสดงนาฏศิลป์ไทยนอกจากต้องเข้าใจความรู้พื้นฐานทางการแสดงที่ได้กล่าวแล้วนั้น  ยังต้องรู้จักประมวลองค์ความรู้สู่การนำไปใช้ได้อย่างมีความสุข  คือ ต้องมีความพร้อมของตนเอง ให้เต็มศักยภาพความสามารถ ต้องตรวจสอบองค์ความรู้ที่มีอย่างรอบคอบ  ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ต้องเป็นผู้ช่างสังเกต  ต้องมีสมาธิ  และต้องกล้าแสดงออก   พร้อมกันนี้ต้องมีความพร้อมในวิชาการ  ได้แก่  การเคลื่อนไหว  ความรู้เรื่องเพลง  และต้องมีความพร้อมในการนำเสนอ คือต้องรู้จักสร้างงาน เช่น สร้างเพลง  สร้างเครื่องแต่งกาย  และสร้างท่ารำ  เป็นต้น  ส่วนลักษณะที่ ๒ จะต้องรู้จักเลียนแบบเพื่อสร้างจินตนาการ ในนาฏยประดิษฐ์ชุดระบำลีลานาฏกะ นี้ใช้การเลียนแบบจากตัวหนังที่ปรากฏในการแสดง และใช้ท่ารำโนรา พร้อมทั้งท่ารำที่เกิดในเพลงแม่บทใหญ่ของไทยมาเป็นตัวสร้างเสริมเติมเต็มของจินตนาการ

                ท่ารำระบำลีลานาฏกะ ใช้ท่ารำทั้งหมด ๑๗ ท่า  สามารถแบ่งได้ตามกระบวนการขั้นตอนการแสดง  คือ  ท่ารำเชิดฤาษี  มี ๓  ท่า  ประกอบด้วย  ท่าออก  ท่าล่อไม้เท้า(ครั้งที่๑)  ท่าล่อไม้เท้า(ครั้งที่๒)  ท่าล่อไม้เท้า(ครั้งที่๓)  ท่ารำเชิดพระอิศวรทรงโค มี  ๒  ท่า  ประกอบด้วย  ท่าออก  ท่ารำเชิดพระอิศวรทรงโค   ท่ารำปรายหน้าบท  มี  ๒  ท่า  ประกอบด้วย  ท่าออก  ท่ารำปรายหน้าบท (จังหวะที่ ๑ และจังหวะที่๒)  ท่ารำบอกเรื่อง  มี  ๒  ท่า  ประกอบด้วย  ท่าออก  ท่ารำบอกเรื่อง  ท่ารำตั้งบ้านตั้งเมือง  มี  ๒  ท่า  ประกอบด้วย  ท่าออก  ท่ารำตั้งบ้านตั้งเมือง (จังหวะที่๑  จังหวะที่๒ จังหวะที่๓)  ท่ารำนางเดินดง  มีท่าเดียว  คือ  ท่ารำนางเดินดง  ท่ารำยักษ์เดินป่า  มี ๒ ท่า คือ ท่าออก และท่ารำยักษ์เดินป่า  และท่ารำนางสองแขน  มีท่าเดียวคือท่ารำนางสองแขน  แต่ทั้งนี้กระบวนการรำนั้นส่วนใหญ่จะต่อเนื่องด้วยท่ารำไหว้ของรูปตัวหนัง  โดยปรากฏในช่วงสุดท้ายของการต่อท่วงทำนองเพลงในแต่ละบทเพลง 

มุมมองของการปฏิบัติท่ารำของนักแสดงที่ต่อเนื่องสอดรับกัน  ของเพลงต่อเพลง  ทั้งการล่อฤาษี  พระอิศวรทรงโค  ปรายหน้าบท  บอกเรื่อง  การตั้งบ้านตั้งเมือง  นางเดินดง  ยักษ์เดินป่า  และนางสองแขน  ที่นำเพลงหลาย ๆ เพลงมาต่อเนื่อง แล้วนำเสนอให้สอนประสานเกี่ยวพันกัน  ในเพลงระบำลีลานาฏกะนี้ประสบความสำเร็จมาก สอดรับกับระยะเวลาของการชมการแสดงชุดระบำลีลานาฏกะ  ช่วงเวลาอยู่ใน เวลา ๙ นาที  รวมทั้งเพลงโหมโรง  และเพลงเลยบทที่ใช้เกริ่นนำการแสดง  และส่งนักแสดงเข้าเวที  ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมของการตัดต่อห้องเพลงให้สั้นกระชับ  และอยู่ในช่วงของการสนใจของผู้ชมเป็นอย่างดี

การทำนาฏยประดิษฐ์ในครั้งต่อ ๆ ไปจำเป็นต้องคำนึงถึงอุปกรณ์ประกอบการแสดง  ที่ต้องเด่นชัด  สื่อสารได้ตรง  และมีความสวยงามแข็งแรงทนทาน  อีกทั้งมีความจำเป็นมากที่จะต้องคิดรูปแบบการเคลื่อนไหวหรือการแปรแถวที่วิจิตรบรรจง  พร้อมทั้งต้องคำนึงถึงท่ารำที่ต้องสื่อแสดงให้เห็นทั้งคุณภาพของการคิดที่มีหลักการ  มีอัตลักษณ์ที่บ่งบอกได้อย่างชัดเจนสวยงาม ต้องมีความประณีตในเรื่องของเพลงต้องเด่นชัด สั้น  กระชับ  ต่อเนื่องกันอย่างเกิดสุนทรียภาพ

 

หมายเลขบันทึก: 346233เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2010 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 05:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์ธีรวัฒน์ เก่งจริงๆค่ะ ขอชื่นชมผลงานด้วยความจริงใจ จาก เพื่อนเก่า แดนไกล

นางสาวจุรีพร สงวนทอง

สวัสดีค่ะอาจารย์จำหนูได้ไหมลูกศิษย์อาจารย์อยากถามว่าเอกนาฏศิลป์และการละครสอบครูผู้ช่วยได้ไหมปีนี้เขาเปิดท่ีสพม16ในรายละเอียดบอกว่าเอกนาฏศิลป์อย่างเดียว ครั้งก่อนหนูไปสอบท่ีสุราษฎร์เขาให้สมัครแต่พอวันสอบไม่มีชื่อหนูสอบถามเขาบอกว่าต้องเอกนาฏศิลป์อย่างเดียวหนูจะทำอย่างไรดีค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท