คุณภาพสำหรับเด็กพิเศษๆ


แม้เนื้องานที่แตกต่างกัน แต่คุณภาพก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งได้เสมอ
         เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ได้มีโอกาสติดตาม อ.เรวดี ศิรินคร ไปประเมินการพัฒนาคุณภาพตามบันไดขั้นที่ 1 ของ “สถาบันจิตเวชเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์” โดยในการนี้ท่านผู้อำนวยการ นพ.บัณฑิต ศรไพศาล และทีมงานให้การต้อนรับเป็นอย่างดี จากการนำเสนอของทีมงาน สถาบันแห่งนี้เน้นการพัฒนาวิชาการและบริการตรวจ วินิจฉัย รักษาและให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่นที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี และครอบครัว แบบผู้ป่วยนอก ให้บริการ day care ในการกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติก เด็กที่มีปัญหาพัฒนาการช้า และ Nurseryโดยมีวิสัยทัศน์ที่ว่า   “ภายในปี 2550 จะเป็นองค์กรหลักของประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว”

          สถาบันแห่งนี้ได้ดำเนินกิจกรรมหัวหน้าพาทำคุณภาพและกิจกรรมทบทวนคุณภาพทั้ง 12 กิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกหน่วยงาน มีการจัดตั้งทีมดูแลผู้ป่วย (Patient Care Team: PCT) โดยมีจิตแพทย์ทั้ง 3 ท่านเข้าร่วมเป็นแกนนำ รวมทั้งจัดตั้งทีมบริหารความเสี่ยงเพื่อดูแลความเสี่ยงของทั้ง รพ.

           บรรยากาศที่สัมผัสได้ของที่นี่ คือ อบอุ่น มีความสุข อยู่กันแบบพี่น้อง ทำงานกันเป็นทีม และมีอัธยาศัยที่ดี สมกับเป็นสถานที่ที่ดูแลเด็กพิเศษๆ จริงๆ ในการนำเสนอของทีม PCT และทีมบริหารความเสี่ยง เป็นไปด้วยความเข้าใจและเรียบง่าย มีการพัฒนาระบบงานในหลายเรื่องที่ได้จากการทบทวน เช่น

            การทบทวนเวชระเบียน 44 ฉบับ เป็นโรคสมาธิสั้น 6 ราย (ซึ่งเด็กสมาธิสั้นจะมีลักษณะก้าวร้าว ทำร้ายตนเอง/ผู้อื่น และโรงเรียนปฏิเสธ) พบว่าข้อมูลการวินิจฉัยครบ 4 ราย ข้อมูลการประเมินอาการสมาธิสั้น (Conner Score) และแผนการรักษา 0 ราย นำมาสู่การปรับระบบการดูแลโดยวิชาชีพต่างๆที่ชัดเจน มีการดูแลครอบคลุมทั้งเด็กและพ่อแม่ รวมทั้งส่งผลให้มีการลงเวชระเบียนครบถ้วนในเวลาต่อมา

           การทบทวนการติดเชื้อในเด็ก โดยในปี 2547 มีการระบาดของโรคอีสุกอีใสในหน่วยพัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 10 คน จากทั้งหมด 60 คน เมื่อวิเคราะห์หาสาเหตุพบว่าเด็กนำเชื้อมาติดกันโดยพยาบาลไม่ได้แยกเด็กตั้งแต่เริ่มแรก ส่งผลให้มีการปรับระบบคัดกรองเด็ก และการเฝ้าระวังในหน่วยบริการเด็ก เช่น การแยกเด็กติดเชื้อ การทำความสะอาดของใช้เด็กประจำวัน เป็นต้น ส่งผลให้ในรอบปีที่ผ่านมาไม่มีอุบัติการณ์การติดเชื้อในเด็ก

          การทบทวนเหตุการณ์เด็กพลัดหลงจากผู้ปกครองขณะรับบริการ ซึ่งมีกรณีที่เด็กอายุ 5 ขวบวิ่งตามผู้ปกครองคนอื่นไป เนื่องจากคิดว่าเป็นแม่ของตนเอง ทำให้เกิดการพัฒนาระบบการแลกบัตรสำหรับผู้รับบริการ การจัดทำป้ายชื่อแสดงตนของผู้ปกครองและเด็ก และก่อนอกจาสถาบันจะตรวจสอบทุกครั้ง ทำให้ไม่เกิดอุบัติการณ์ดังกล่าวซ้ำอีก

           มีการนำความรู้ทางวิชาการมาจัดทำ Gap analysis ตั้งแต่การแรกรับจนกระทั่งจำหน่าย ทำให้มีแผนในการใช้ DSM-TV-TR Criteria มาใช้ในการซักประวัติ การจัดทำแบบ checklist การตรวจร่างกายและระบบประสาท มีการส่งตรวจสุขภาพจิตโดยมีข้อบ่งชี้ชัดเจนในการตรวจ มีแบบประเมินให้กับผู้ปกครองและโรงเรียนกรณีเด็กสมาธิสั้น มีการจัดทำ Behavior treatment ทุกราย กรณีที่ผู้ปกครองมีปัญหาจะส่งให้นักสังคมสงเคราะห์ดูแลช่วยเหลือและทำ family therapy ในรายที่จำเป็น เป็นต้น

          มีการกำหนดเกณฑ์ในการส่งตรวจเชาว์ปัญญา เนื่องจากพบว่าในปีที่ผ่านมามีการส่งตรวจโดยไม่มีข้อบ่งชี้จำนวนมาก

          นอกจากนี้ยังมีการทบทวนที่หน่วยงานอีกหลายประเด็น เช่น ปัญหาเด็กวิ่งชนกัน ได้มีการแก้ปัญหาโดยแยกกลุ่ม และปรับทิศทางการวิ่งของเด็กไม่ให้ชนกัน การปรับระบบเวร ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถลดข้อร้องเรียนของผู้รับบริการได้ การจัดทำแผ่นรองเอกสารเสนอผู้อำนวยการให้มีสีต่างกันบ่งบอกถึงความเร่งด่วนที่ต่างกัน การจัดทำแผนที่โรงแรม สถาบันการศึกษาต่างๆของพนักงานขับรถ เป็นต้น

          ในการนี้ อ.เรวดี ได้ต่อยอดการพัฒนาคุณภาพ คือ การทบทวนสู่การพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ มีระบบที่เกี่ยวข้องด้วยคือ ระบบการดูแลผู้ป่วย (การให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์เป็นหนึ่งในกระบวนการดูแล) และระบบการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นต้น นอกจากนี้ยังเน้นในเรื่องความเป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยให้นำเอาความรู้วิชาการที่มีมาพัฒนาระบบงานและการดูแลผู้ป่วย ให้สมกับที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ผู้อื่นสามารถมาดูงานได้ อีกทั้งยังได้บรรยายหัวข้อมาตรฐาน HA และประเด็นสำคัญของมาตรฐานแต่ละข้อ และการใช้ Clinical tracer เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถาบันแห่งนี้ได้รับทราบแนวคิดที่สำคัญและขั้นตอนการก้าวต่อไปในเส้นทางแห่งคุณภาพ

          ก่อนกลับยังอดนึกถึงคำพูดของสาวสวยคนหนึ่งในฝ่ายบริหารงานทั่วไปที่ว่า “HA ทำให้เรามีความสะดวกสบาย ปลอดภัย ทำให้เรามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย รู้สึกว่าเราเป็นทีมในการดูแลผู้ป่วยกับเขาด้วย” ฟังแล้วประทับใจจริงๆค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3450เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2005 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท