ไปวัดป่ามหาปัญโญ


เมื่อวันที่ 5-12 ธันวาคม 2552 ข้าพเจ้าได้ไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่ามหาปัญโญ  อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่  มีแนวการปฏิบัติโดยการเจริญสติระลึกรู้อยู่กับปัจจุบัน กายานุปัสสนา กายเคลื่อนใจรู้ ตามแนวของหลวงพ่อเทียน จิตตะสุทฺโธ

วัดนี้เป็นวัดที่สร้างขึ้นมาใหม่ โดย ท่าน ส.มหาปัญโญ คือ หลวงตาสุริยา จากวัดป่าโสมพนัส  อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร  ซึ่งหลวงตาท่านก็จะไป ๆ มา ๆ ขณะที่พวกเราไปปฏิบัติธรรมก็มีลูกศิษย์ (มือขวา) ของท่านดูแลอยู่ 1 รูป คือ พระอาจาย์ประทินหรือเราเรียกท่านว่า "พระอาจารย์เจ๊าะ "

สมาชิกที่ไปปฏิบัติธรรมครั้งนี้มีทั้งหมด 8 คน จากขอนแก่น 3 คน มีข้าพเจ้า, คุณไก่,คุณบุษ  จากชัยภูมิ 3 คน มี พี่อารีย์, พี่ตุ่ม,คุณติ๋ว จากกรุงเทพฯ 1  คน คือ อ.หมอพรทิพย์(จาก รพ.จุฬา) จากเชียงใหม่ 1 คน คือ น้องทองดี

บรรยายกาศที่วัดนี้ดีมากๆ  มีน้ำตก  ภูเขา  ป่าไม้ เรียกว่า ค่อนข้างสัมปายะ สิ่งปลูกสร้างของวัดยังไม่มีเท่าไหร่นัก  พวกเราบางส่วนก็พักในกุฏิ  บางส่วนก็นอนในเต้นท์ ซึ่งได้บรรยากาศมาก  ต้นไม้ที่อยู่ใกล้บริเวณที่ปฏิบัติพึ่งปลูกยังไม่โตเท่าไหร่นัก ทางจงกรมยังไม่ค่อยมีเหมือนที่วัดโสมพนัส  พระอ.เจ๊าะท่านก็จัดทำให้ใหม่เป็นอย่างดีเลยอยู่ริมน้ำตก (ไม่ได้อารมณ์ให้มันรู้ไป)

อากาศในช่วงนั้นหนาวมากในตอนกลางคืน กลางวันก็เย็นสบาย

กิจวัตรในแต่ละวัน ตื่นตี 3 มาที่ศาลาทำวัตรเช้า ตี 4    ตี 5 ถึง 6 โมงเช้าเศษ ๆ ฟังเทปธรรมและเจริญสติ   หลังจากพระอ.ไปบิณฑบาตร  พวกเราทำธุระส่วนตัว เตรียมอาหารเช้า  พระ อ.กลับมาจากบิณฑบาตร ประมาณ 7 โมงเศษ  ฉันอาหารเช้า  และพวกเรารับอาหารพร้อมกับล้างจานชามเสร็จประมาณ 8.30 น. ก็แยกย้ายกันไปปฏิบัติเจริญสติตามที่พระ อ. มอบหมายพื้นที่ให้  ท่านจะคอยดูห่าง ๆ ถ้าเห็นท่าว่าจะมีนิวรณ์โดยเฉพาะ ตัวง่วง เข้ามาแทรกท่านก็จะมาปลุก หาวิธีช่วย เช่น ให้ไปปลูกต้นไม้  ให้ถางทางจงกรมใหม่ เป็นต้น   ก่อน 5 โมงเย็นนิดหนึ่งท่านจะให้ไปอาบน้ำ  ถ้าอาบเย็นกว่านี้น้ำจะเย็นมาก เดี๋ยวจะอาบไม่ไหว บางคนก็ขออนุญาตท่านไปอาบน้ำตก ท่านก็อนุญาต  เวลา 6 โมงเย็นผู้หญิงก็มาทำน้ำปานะ เมื่อทุกคนพร้อมกันเข้ามาที่ศาลารับน้ำปานะแล้ว ประมาณ 1 ทุ่ม ก็จะทำวัตรเย็นประมาณ 30 - 45 นาที หลังจากนั้นก็ฟังธรรมะจาก พระ อ. บ้าง  อ.หมอพรทิพย์ หรือจากเทปบ้าง แล้วแต่โอกาส จนถึง 3 ทุ่มจึงเข้านอน

นอกจากนี้ พระอ. ยังพาพวกเราไปธุดงค์รอบ ๆ บริเวณนั้น ซึ่งก็ได้ถ่ายภาพมาให้ดูบ้างบางตอน

ต้องปีนป่ายตลอด  สู้ตายทุกคน....ขนาดสาวอายุ 60 กว่า ๆ อย่าง อ.หมอพรทิพย์ยังไหวเลย

ขึ้นถึงน้ำตกชั้นที่ 2 แล้วสบายมาก.....

ปีนแล้วก็พักเหนื่อยเป็นระยะ ๆ

ถึงยอดส่วนหนึ่ง  อ.หมอพรทิพย์ กับพี่ตุ่ม (ลูกศิษย์ อ.หมอ พักที่กฏิเดียวกัน อ.หมอ train มากับมือ) พี่ตุ่มมีบุคลิกเงียบ ๆ เวลาช่วยงานครัวก็เก่งคล่องแคล่ว  จน อ.หมอบอกว่าเหมือนแม่ชี ก็เลยเรียกว่า "แม่ชีตุ่ม" พวกเราก็พลอยเรียกตามด้วย 

เดินลงทางลาดจะเข้าบริเวณรีสอร์ทของเอกชนแถวนั้น สังเกตว่ามีเจ้าดำนำทางด้วย เป็นหมาที่ พระอ.รักมาก แต่ตอนนี้มันตายเสียแล้ว...อนิจจัง...

ลุยน้ำด้วย...

บริเวณรีสอร์ทมีต้นตะบองเพชร พวกเราก็มา action กันหน่อย   คุณไก่.....

พี่อารีย์, พี่ตุ่ม, คุณติ๋ว

น้องทองดี (ลูกพี่รินโยมอุปฐากวัดมหาปัญโญ)

ถึงร้านอาหารในรีสอร์ทพวกเราก็นั่งพักรับน้ำปานะชมธรรมชาติ

อ.หมอขอพักด้วยการนอนเล่นที่เปลบริเวณด้านล่างของร้าน

หลังจากพักหายเหนื่อยแล้วเราก็เดินต่อเห็นกระต๊อบน่ารัก ก็เลยถ่ายภาพมาไว้เผื่อใครอยากเอาไปเป็นแบบ  อ.หมอยังชอบเลย   บอกว่าน่าเอาไปสร้างเป็นกุฏิในวัดป่ามหาปัญโญ

เดินต่อมาอีกจะเห็นบ้านดิน และมีแผงโซล่าเซลพลังงานแสงอาทิตย์ พระอ.ท่านบอกว่าน่าจะมีไว้ในวัดป่ามหาปัญโญ

อ.หมอ อยากดูบ้านดิน ก็เลยเดินเข้ามาสำรวจ

พวกเราเข้าไปดูข้างใน จึงได้รู้ว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่เห็นไม่ใช่สิ่งที่เป็น  บ้านดินที่ว่าแค่ฉาบไว้ภายนอก แต่ภายในเป็นปูน ตกแต่งหรูหราเป็นที่พักของรีสอร์ท

พวกเราก็เลยเดินทางตรงมาหยุดตรงที่เขาจัดให้เป็นที่เล่นแคมไฟ  เนื่องจากมีเพื่อนเราบางส่วนกำลังสาละวนกับการเก็บมะขามป้อม โดยมีพนักงานของรีสอร์ทช่วยเก็บให้ด้วย

เดินทางต่อ......

ข้างทางชาวเขาปลูกสวนส้ม

ศึกษาธรรมชาติข้างทาง

  พี่ตุ่ม หรือ ที่พวกเราเรียกว่า แม่ชีตุ่ม (อ.หมอบอกว่าแม่ชีอยู่ที่ใจไม่ได้อยู่ที่ชุด) พึ่งมาปฏิบัติธรรมครั้งแรก แม้ว่าจะไม่ได้อะไรมาก แต่ก็ชอบมากและคิดว่าพอได้แนวทางในการดำรงชีวิต เพื่อที่จะไม่ให้ทุกข์ และจะต้องมาปฏิบัติธรรมอีก

เดินมาถึงโขดหินและมีทางน้ำไหลก็เลยถ่ายภาพหมู่อีก

ถึงบ้านพักริมทาง

พระ อ.เจ๊าะกับลูกศิษย์ก้นกุฏิน้องทองดี...ดีจังเลยอายุยังน้อยก็มาปฏิบัติธรรมแล้ว อนุโมทนา สาธุ....

เดินมาจนถึงทางจะเข้าหมู่บ้าน

                         

ในหมู่บ้านเห็นบ้านยายกำลังนั่งทำใบตองนึกว่าจะมีขนมจำหน่าย แต่ไม่มี  มาทราบภายหลังว่ากำลังรีดใบตองที่ใช้ห่อขนมกาละแม  ต้องนั่งรีดเป็นพัน ๆ ใบจึงจะได้เงิน ร้อนก็ร้อน    ทุกข์จริง ๆ...

เดินผ่านมาเจอเด็กชาวเขาอยู่บ้านกันตามลำพัง พ่อแม่ไปทำนา ทำไร่ นี่ก็ก้อนทุกข์....

 

 

วันสุดท้ายก่อนกลับก็ได้ถ่ายภาพหมู่ไว้  รุ่น 8 เซียน แต่ทองดีไม่ได้ถ่ายด้วย เพราะยังไม่กลับ   ทองดีมาที่หลังพวกเรา 1 วันก็เลยกลับหลัง 1 วัน

       การปฏิบัติครั้งนี้ แม้ว่าข้าพเจ้าจะยังไม่ได้พบกับความรู้สึกตัวทั่วพร้อม สิ่งที่ข้าพเจ้าได้  คือ ได้ปฏิบัติธรรม สะสมการเจริญสติ  ครั้งนี้ข้าพเจ้าสามารถจัดการกับความง่วงได้เร็วขึ้น ได้อารมณ์การปฏิบัติ คือ สนุกกับการปฏิบัติ ได้ความสงบ ส่วนในทางโลกข้าพเจ้ามีความสุข สนุกสนานกับธรรมชาติมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้อาบน้ำตกที่เย็น ใส สะอาด  ถ้ามีโอกาสก็จะไปอีก    ขอกราบนมัสการกับพระอาจารย์เจ๊าะ  กราบขอบพระคุณอาจารย์หมอพรทิพย์ เป็นอาจารย์ โคช พี่เลี้ยง  ครูจิ๋ว คุณแขก คุณริน ดูแลรับส่งเป็นอย่างดี  ขอขอบคุณ สหายทางธรรมทั้ง 7ท่าน ที่ร่วมไปปฏิบัติธรรมครั้งนี้  ขออนุโมทนา สาธุ.....

หมายเลขบันทึก: 344747เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2010 13:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะพี่หมวย

ขออนุโมทนาบุญในครั้งนี้ด้วยนะคะ...ดูจากภาพแล้วทุกท่านอิ่มบุญ....บรรยากาศก็ดูสงบนะคะ

 

ขอบคุณมากจ๊ะน้องแดง ไปเที่ยวทะเล หรือที่ไหนจ๊ะ มีเรือ มีแม่น้ำด้วย

"แม้ว่าข้าพเจ้าจะยังไม่ได้พบกับความรู้สึกตัวทั่วพร้อม สิ่งที่ข้าพเจ้าได้  คือ ได้ปฏิบัติธรรม สะสมการเจริญสติ  ครั้งนี้ข้าพเจ้าสามารถจัดการกับความง่วงได้เร็วขึ้น "

สาธุ ค่ะ

สวสดีค่ะพี่

แวะมาชม

ดูแล้วรู้สึกสุข สงบ มีความสุขค่ะ

ขอบคุณคะ ถ้ามีโอกาสอยากชวนให้ไปปฏิบัติธรรมด้วยกัน...แนะนำให้เข้าอ่านข้อธรรมะจาก web วัดโสมพนัส ก่อน หาจาก google ได้เลย

พี่หมวยมาเขียนไว้แต่ในblogนี้ ไม่ยอมไปเขียนเล่าในเว็บบ้างเลยนะ

จงมา จงมา ซะดีดี

อุตส่าห์มาตามนะเนี่ย

อิอิอิ

น้องนินจ๊ะ

ตอนที่พี่หัดทำ blog พี่เขียนลงในเว็บไม่เป็น ตอนนี้ทำเป็นแล้ว (หลังจากที่หัด load รูปวันสงกรานต์อยู่ตั้งนาน ) จะลองไปลงในเว็บดู ทุกอย่างต้องใช้เวลา (ป้าทำช้าหนะ) รอสักพักน่ะจ๊ะ....

ยังไงก็ตามขอบคุณมากที่ตามมาถึงใน blog

รัก

พี่หมวย

ปฏิบัติกรรมฐานแบบไร้รูปแบบ

ช่วงวันหยุดยาววันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยเป็นวันเริ่มต้นปฏิบัติธรรมแบบเคลื่อนไหวของผู้เขียน จำได้ว่าคุณหมออินทิราได้โทรศัพท์มาสั่งของและคุยเรื่องปิดคลินิกพาบุคลากรทั้งหมดไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่าโสมพนัส จากคำบอกเล่าวิธีการปฏิบัติซึ่งแตกต่างจากอานาปานสติทำให้ผู้เขียนลองเปลี่ยนมาปฏิบัติ และปีนี้ก็ครบ 8 ปีพอดี เวลาผ่านไปรวดเร็ว ผู้เขียนเกษียณอายุราชการมา 3 ปีกว่าแล้ว การปฏิบัติธรรมซึ่งเดิมตั้งใจว่าทำเพื่อฆ่าเวลา หลังเกษียณอายุราชการ เปลี่ยนเป็นการเข้าเรียนวิชาใหม่ซึ่งยากสลับซับซ้อนกว่าที่เรียนมาเกือบทั้งชีวิต เป็นมหาวิทยาลัยชีวิต มหาวิทยาลัยซึ่งไม่มีผู้บริหาร ไม่มีหลักสูตรแน่นอน ไม่มีผู้ประเมินผล และไม่มีวิธีประเมิน

ในครั้งแรกผู้เขียนได้เรียนความรู้พุทธศาสนาพื้นฐานจากการฟังเทปธรรมท่านพุทธทาสแห่งสวนโมกขพลาราม เข้าใจความสงบจากการฝึกอานาปานสติ เป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ว่ามีเรื่องที่ยังไม่เคยเรียนรู้ การฝึกสมาธิทำให้เกิดความสงบ สบาย เหมือนอยู่อีกซีกโลกไม่มีความวุ่นวายเหมือนชีวิตที่ผ่านมา

เมื่อเริ่มเข้าเจริญสติแบบเคลื่อนไหวกับหลวงตา (พระอาจารย์สุริยา มหาปัญโญ) ก็เหมือนต้องมาปรับวิธีการเรียนใหม่ จากเดิมนั่งสงบกำหนดลมหายใจคล้ายเรียนหนังสือในห้องปรับอากาศสบายๆ เป็นเดินจงกรมบนทางจงกรมกลางแดดกลางฝนทั้งวันคล้ายกรรมกร ในระยะ 8 ปีที่ผ่านมามีญาติธรรมหลายแบบ หลายรุ่น เข้ามาและก็หายไปจนนับไม่ถ้วน แต่ผู้เขียนก็ยังคงอยู่อาจเป็นเพราะการมีกิจกรรมหลายอย่างที่ช่วยผูกมัดผู้เขียนไว้ เช่น จากเดิมเป็นคนไม่เคยมีโอกาสท่องเที่ยวในชนบทก็ได้เที่ยวธุดงค์ขึ้นเขาลงห้วยเกือบทั่วอีสานตอนบน ไปเที่ยววัดกราบเกจิอาจารย์เกือบทุกวัด และด้วยความอยากได้บุญก็ชักนำผู้ใกล้ชิดมาลองปฏิบัติก็ต้องมาเป็นเพื่อน หลวงตาให้เป็นวิทยากรก็ภูมิใจว่าได้บุญจากการจรรโลงพุทธศาสนา เนื่องจากการศึกษาวิชาพุทธศาสนาเป็นปัตจัตตัง คือ รู้เองจากการปฏิบัติ และเป็นการเรียนรู้ภายใน ผู้เขียนก็เพิ่งรู้ว่าที่เรียนมาจนถึงปัจจุบันว่าเป็นการเรียนรู้ภายนอกเท่านั้น

ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนเริ่มกลับเข้ามาเรียนภายในตัวเองหลังจากเสียเวลาไปนานมาก ถ้าถามว่าทำไมจึงพลาด ผู้เขียนเข้าใจว่าความเป็นคนฉลาดทางวิชาการ(กิเลส)เป็นตัวบัง ความรู้แท้จริง(ปรมัตถ์) ก็อย่างที่หลวงตาเทศน์ว่าการเจริญสติเป็นเหมือนการแกว่งน้ำให้ตะกอน คือ กิเลส...ให้ลอยขึ้นและเติมน้ำดีคือสติลงไปในน้ำล้นออก ไม่ให้ตกตะกอนนอนเนื่อง เมื่อความรู้ทางโลกมากก็คงต้องแกว่งนานกว่าเป็นธรรมดา

ผู้เขียนได้ปลีกตัวออกมาลองปฏิบัติเองประมาณ 1 ปี แต่ไม่ได้เก็บอารมณ์จริงจัง เพราะมีเหตุปัจจัยบุญมาขัดขวางในทุกครั้งที่ไปเก็บอารมณ์ ได้ข้อสอบที่ยากเข้ามาทดสอบอารมณ์ เช่นในครั้งนี้ก็สนุกไปอีกแบบ

ในระหว่างวันหยุดยาววันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปี พ.ศ. 2552 คุณอารีย์ได้นัดแนะว่าจะไปปฏิบัติธรรมร่วมกัน ผู้เขียนให้คุณอารีย์เลือกสถานที่จนกระทั่งใกล้วันคุณอารีย์จึงตัดสินใจว่าจะไปเมืองก๊ะ ผู้เขียนเองยังกังวลใจว่าการไปวัดป่ามหาปัญโญซึ่งเคยได้สภาวธรรมจะมีอุปสรรค ความคิดในอดีตจะเข้ามารบกวน แต่เมื่อให้คุณอารีย์ตัดสินใจก็ต้องไป ออกเดินทางวันที่ 2 ธันวาคม 2552 คุณสมมาตรมารับที่สนามบินพาเข้าไปวัด มีลูกค้าชาวญี่ปุ่นของคุณสมมาตรตามเข้าไปเที่ยววัดด้วย ผู้เขียนได้เข้าพักในบ้านไม้หลังเก่าซึ่งปรับปรุงใหม่เพราะหลังผู้เขียนกลับ 2 วัน ในครั้งมาปฏิบัติธรรมเมื่อเดือนมิถุนายน บ้านก็พังถล่ม คงเป็นเพราะการปรับพื้นดินหน้าศาลาด้านล่าง และการสร้างถังเก็บน้ำขนาดใหญ่เพิ่มด้านบนติดบ้านทำให้น้ำหนักเกินกว่าแผ่นดินจะลองรับ และด้วยความผุพังของบ้านซึ่งสร้างมานานกว่า 20 ปี ครูบาเจ๊าะได้ดัดแปลงสร้างบ้านจากวัสดุเดิมใหม่ เพิ่มห้องน้ำเป็น 2 ห้อง โดย 1 ห้องเปิดเข้าได้จากด้านนอกสำหรับผู้เก็บอารมณ์ในกุฏิมุงหญ้า

ในวันที่สอง(3 ธันวาคม) ผู้เขียนได้ลงมือทำสะอาดขัดพื้นห้อง เมื่อทำเสร็จจึงเดินจงกรมได้ในตอนบ่าย ก็สบายใจ สบายเท้าดี ในตอนเย็นครูบาให้ช่วยลงกล้าผักตามคำสั่งหลวงตาให้ปลูกผักสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมในเดือนมกราคม ครูบาได้เตรียมร่องผักไว้ ผู้เขียนคาดคะเนว่าคงให้ปลูกฆ่ากิเลสมากกว่า เพราะดินมีวัชพืชมากมายเกินกว่าจะกำจัด และเมื่อใส่ปุ๋ยวัชพืชคงจะโตเร็วกว่าผัก หลวงตาคงจะให้เห็นสัจธรรมว่าการปลูกสติ คือ ต้นกล้าจะต้องทำต่อเนื่องเพราะกิเลสคือวัชพืชซึ่งอยู่แต่เดิมชอบแอบเข้ามาแทรกแซงแย่งที่แย่งน้ำต้นกล้าจึงแคระแกน

ในวันที่สาม(4 ธันวาคม 52) หลังฉันเช้าครูบาแจ้งว่าพระอาจารย์ทรงศิลป์ วัดป่าสุคะโตจะมาเยี่ยมชมสถานที่ ท่านมาช่วยหลวงพ่อคำเขียนเปิดอบรมกรรมฐานที่บ้านพันดาว ก็คงเป็นธรรมะจัดสรรที่จะได้กราบนมัสการท่านนอกวัดป่าสุคะโต ในระหว่างรอคุณสมมาตรได้เข้ามารับชาวบ้านไปอบรมการสร้างบ้านก้อนฟางกับคุณโจน จันได ด้วยนิสัยชอบศึกษาเรื่องการอยู่กับธรรมชาติจึงขอไปสังเกตการณ์ด้วย และตั้งใจจะไปกราบพระอาจารย์ทรงศิลป์ที่บ้านพันดาวภายหลัง

เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้เขียนต้องมีกิจกรรมนอกหลักสูตรในระหว่างการปฏิบัติธรรมแบบเข็ม(การเก็บอารมณ์) จึงคิดว่าเส้นทางทางธรรมคงเป็นเช่นนี้ ต้องเรียนรู้และสอบอารมณ์กรรมฐานกับการทำงาน

เมื่อถึงสถานที่อบรม คือ บ้านของสมาชิกในกลุ่มพันพรรณ(ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์) คุณโจน จันได กำลังบรรยายเรื่องการสร้างบ้านก้อนฟาง มีผู้เข้าอบรมมากกว่า 40 ท่าน มีชาวต่างชาติประมาณ 10 ท่าน และหลักการของกลุ่มคือช่วยกันทำเป็นแรงงานอาสา มีหลายท่านเดินทางมาจากกรุงเทพฯ เป็นการท่องเที่ยวแบบเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม การสร้างบ้านก้อนฟางจะสร้างเสร็จภายในเวลา 3 วัน เป็นการสร้างบ้านก้อนฟางหลังที่สองของกลุ่มเจ้าของบ้านจะสร้างเป็นเรือนหอ อาสาสมัครหลายท่านกางเต็นท์นอนในบริเวณใกล้ๆ

การสร้างบ้านเริ่มต้นโดยทุกคนช่วยกันแบกก้อนฟางมาเรียงบนฐานปูนทำมาก่อนล่วงหน้า บางท่านเหลาลิ่มไม้ไผ่ขนาดยาวเพื่อตอกยึดก้อนฟาง หญิงฝรั่งก็ร่วมกันตอกลิ่มไม้ไผ่ ลูกเล็กของฝรั่งก็วิ่งเล่นบนกองทรายเหมือนเด็กในชนบท

เมื่อถึงเวลาอาหารกลางวันก็ได้ลิ้มรสอาหารซึ่งเจ้าของบ้านปรุงและนำมาบริการแบบบุฟเฟ่ ส่วนใหญ่เป็นผักสดไร้สารซึ่งทางกลุ่มปลูก ผักเหล่านี้เป็นสินค้าส่งโรงแรมชั้นนำในกรุงเทพฯ ทุกคนรับประทานอาหารปลอดสารพิษด้วยความสบายใจ

ในตอนบ่ายมีเวลาว่างเพราะฟ่อนฟางไม่พอต้องไปหาเพิ่มเติม ผู้เขียนจึงได้ไปเยี่ยมหมู่บ้านบ้านดิน ซึ่งเป็นสถานเรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ บ้านดินจัดเป็นที่พักมีความสะดวกสบายและด้านหลังจัดสวนแปลงผักไร้สารสามารถเก็บมาปรุงอาหาร และเป็นสนามการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เข้าพักทดลองการปลูกผัก และมีการสอนการสร้างบ้านดินให้ผู้เข้าพักด้วย

จากการซักถามเจ้าของหมู่บ้านดินเธอเล่าว่าทุกคนในหมู่บ้านนี้จะมีชีวิตแบบพอเพียง นั่งพักอยู่บ้านดินประมาณครึ่งชั่วโมงเธอได้พาขึ้นไปชมหมู่บ้านฝรั่งในเมืองไทย มีฝรั่งมาสร้างบ้านดินอยู่แบบพอเพียง ปลูกผักไร้สารเคมี หมู่บ้านเป็นเหมือนชนบทมีทางเดินลัดเลาะไปตามบ้านพักซึ่งเป็นบ้านดินและเห็นฝรั่งขี่จักรยานผ่านไปมา มีการจัดการสอนการเรียนรู้อยู่อย่างไทย(Thailand project) มีฝรั่งประมาณ 30 ท่าน กำลังฟังการบรรยายจากเจ้าของโครงการซึ่งเป็นฝรั่ง เท่าที่ฟังเป็นการอธิบายการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การกำจัดขยะแบบธรรมชาติ มีฝรั่ง 1 ท่านกำลังนวดแป้งทำขนมปัง และคนไทย 2 ท่าน หั่นผักเตรียมอาหาร และที่ประทับใจผู้เขียน คือ เตาอบทำด้วยดินปั้นมีตะแกรงวางของที่จะอบ และเชื้อเพลิงเป็นกิ่งไม้เก่าปลวกกินจนเกือบหมดสภาพ เป็นการใช้ธรรมชาติอย่างสมบูรณ์แบบ โดยรอบมีบ้านดินที่สร้างเสร็จมีหลายแบบ บางบ้านก็กำลังสร้างดูเหมือนมีการทดลองสร้างโดยผสมฟางและดินหลายแบบบ้านดินส่วนใหญ่ไม่มีวงกบประตูหน้าต่าง ทำเป็นช่องว่างปิดด้วยผ้าม่านเท่านั้น มีความพยายามสร้างเตาอบจากพลังแสงอาทิตย์โดยใช้แผ่นโลหะต่อเป็นกล่องสะท้อนแสง มีโรงเก็บวัสดุและการทำไวน์ สุดยอดของการอนุรักษ์ธรรมชาติ คือ ห้องส้วมไร้น้ำใช้แกลบกลบและคงนำกลับมาเป็นเชื้อเพลิงต่อได้

เนื่องจากมีเวลาจำกัดทำให้ไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วน แต่เท่าที่เห็นก็เป็นเรื่องที่คนไทยต้องกลับมาคิดใหม่ ฝรั่งกลุ่มนี้ย้อนกลับมาใช้ชีวิตแบบไทยชนบทในสมัย 50 ปีที่แล้ว มีการกว้านซื้อที่ดินดังกล่าวมาปรับปรุงดินจากเดิมแห้งแล้ง ปลูกพืชไม่ได้คนไทยจึงขายทิ้งในราคาถูกๆ ไปอยู่ในเมือง แต่ฝรั่งซึ่งอยู่ในเมืองกลับมาปรับปรุงดินกลายเป็นที่อุดมสมบูรณ์ ปลูกผักผลไม้แบบไร้สารเคมี

ได้เข้าไปในบ้านดินอีกหลังมีขนาดกว้างสร้างเป็นห้องประชุม ฝรั่งท่านหนึ่งกำลังฉาบผนังด้วยดินปนทรายผสมแป้งมัน เธอใช้มือเปล่าตักดินถูไปมาๆ ช้าๆ จนผิวเรียบ เธอทำอย่างมีความสุขเพราะเธอมีความรู้สึกสัมผัสกับการทำงานตลอดเป็นเหมือนการฝึกสติกับงาน เมื่อถามความรู้สึกเธอกล่าวว่ามีความสุขที่สุดในโลก

และเมื่อผ่านถึงแปลงผักไร้สารเห็นความสมบูรณ์ของผัก ทำให้เข้าใจว่าทำไมทุกคนจึงยิ้มแย้มแจ่มใส อาหาร อากาศ ที่ปลอดสารพิษทำให้สุขภาพกายและใจแข็งแรง และการทำงานแบบมีสติก็ยิ่งเสริมจิตให้ดีขึ้นอีกต่อ อาจมีผู้บรรลุธรรมจากการสร้างบ้านดินหรือปลูกผักก็เป็นได้

เมื่อกลับถึงวัดในตอนเย็นก็ปฏิบัติธรรมเดินจงกรมต่อ นอนประมาณ 2 ทุ่ม ใจคิดว่าคุณอารีย์กับคุณติ๋วจะถึงวัดวันพรุ่งนี้ ครูบาบอกว่ามีคนมาสมทบเพิ่มเป็นพยาบาลจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ รวม 6 คน และลูกชายคุณรินทร์(ทองดี) จะเข้าปฏิบัติในวันที่ 6 รวมทั้งหมดเป็น 8 คน เหตุและปัจจัยเปลี่ยนไปก็เป็นข้อสอบใหม่ให้พิจารณา

นักปฏิบัติธรรมทั้ง 6 คนได้เข้ามาในเวลาเพล คุณรินทร์ได้จัดอาหารเข้ามาถวาย และซื้ออาหารสดแห้งมาเพิ่ม 5 ท่านเคยปฏิบัติกับหลวงตามาก่อน คือ คุณอารีย์ คุณติ๋ว คุณหมวย คุณไก่ และคุณบุษบา และเคยไปเข้าอบรมหลายสิบครั้งยกเว้นคุณบุษบาเคยไปครั้งเดียวแต่ได้เจริญสมาธิ มีอีก 1 ท่าน คือ คุณตุ่มพี่สะใภ้คุณอารีย์ยังไม่เคยปฏิบัติธรรม เธอลาออกจากงานก่อนเกษียณอายุ 8 ปี เพื่อปฏิบัติธรรมหาทางพ้นทุกข์

ผู้เขียนก็ทำตัวเป็นหัวหน้ากลุ่มบอกว่าเป็นการเก็บอารมณ์ให้ปฏิบัติเอง ไม่มีเสียงระฆัง ไม่มีการทำวัตร และทุกคนแยกย้ายหาที่พักตามสะดวก หลังฉันเพลคุณอารีย์พักกุฏิไม้ไผ่ด้านหลัง คุณหมวยพักกุฏิหลวงตา ส่วนคุณติ๋ว คุณไก่ คุณบุษบา พักที่เชิงเขาใกล้น้ำตกโดยกางเต็นท์

เนื่องจากครูบามีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง ท่านให้ผู้เขียนช่วยดูแลคุณตุ่ม ก็เป็นภาระของใหม่ของผู้เขียน ได้พาคุณตุ่มมาบ้านไม้ เธอจัดที่นอนและขออาบน้ำ คุณตุ่มค่อนข้างช้ามาก รอเธออยู่นานพอควรจึงพร้อมที่จะปฏิบัติได้สอนให้เธอสร้างจังหวะและปล่อยให้เธอสร้างจังหวะต่อในห้องพัก ส่วนผู้เขียนเดินจงกรมเป็นเพื่อนอยู่ที่ระเบียง คุณตุ่มมีความพยายามสูงผู้เขียนเกรงเธอจะง่วง แนะนำให้เดินจงกรม แต่เธอขอสร้างจังหวะให้ชำนาญก่อน ผู้เขียนได้เดินจงกรมจนค่ำ ได้บอกคุณตุ่มว่าอากาศหนาวเย็นมากในเวลากลางคืน คุณตุ่มจะนอนคนละด้านของห้อง ประมาณ 4 ทุ่ม คุณตุ่มร้องขอความช่วยเหลือว่าตัวเธอสั่นไม่หยุดและเวียนศีรษะมาก เธอกลัวมาก จึงอธิบายว่าการสั่นเป็นเพราะอากาศหนาวมากให้สวมเสื้อทับหลายชั้น คุณตุ่มควานหาเสื้อและใส่ทับหลายชั้น สักพักอาการสั่นค่อยทุเลา สังเกตคุณตุ่มยังนอนกระสับกระส่ายอยู่นานพอควรถึงไถ่ถามอาการ เธอจึงระบายว่าเธอไม่ทราบรายละเอียดของการปฏิบัติธรรมมาก่อน และคุณอารีย์ก็ไม่ได้อธิบาย คิดว่าจะกลับบ้านในวันพรุ่งนี้ ผู้เขียนจึงพูดปลอบใจและอธิบายว่าเธอเป็นคนที่มีบุญที่ได้มา เป็นการลัดขั้นตอน คนอื่นที่มาได้ปฏิบัติธรรมมาเป็นเวลานานกว่าจะถึงจุดนี้ การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องที่ยากต้องใช้ความเพียรสูง เพื่อสู่สุคติในบั้นปลายชีวิต คุยอยู่สักพักเธอก็สงบอารมณ์ได้ แต่ก็ยังนอนกระสับกระส่าย ประมาณตีหนึ่งจึงบอกให้เธอลุกขึ้นสร้างจังหวะ ส่วนผู้เขียนก็เดินจงกรมบริเวณระเบียงนอกห้องเป็นเพื่อนตลอดคืน และบอกเธอว่าถ้าง่วงก็นอนไม่ต้องรอผู้เขียน ประมาณตีสี่เธอก็นอนหลับได้ ผู้เขียนเดินจงกรมจนสว่าง การสร้างจังหวะทำให้คุณตุ่มกลับมาอยู่กับปัจจุบันหยุดฟุ้งซ่าน เมื่อตื่นในตอนเช้าเธอรู้สึกสบายใจและเปลี่ยนใจจะปฏิบัติธรรมต่อ ผู้เขียนเข้าใจว่าคุณตุ่มคงเห็นความเพียรของผู้เขียนจึงฮึดสู้

ในวันรุ่งขึ้นจึงทราบว่าคุณตุ่มเป็นอาจารย์จบปริญญาโทสอนพุทธศาสนา และครูบาคงอยากให้เกิดความมั่นใจ และความศรัทธาจึงให้พักกับผู้เขียนซึ่งนักวิชาการ เมื่อคุณตุ่มเล่าให้ครูบาฟังในตอนเช้าครูบาจึงให้ผู้เขียนดูแลคุณตุ่มต่ออีก 2 วัน เพราะท่านยังมีไข้สูงอยู่ ก็แปลกที่ต้องดูแลนักเรียนใหม่เป็นอาจารย์สอนพุทธศาสนา การสอนผู้เขียนใช้วิธีทำให้ดูเท่านั้น ผู้เขียนเดินจงกรม เธอก็นั่งสร้างจังหวะ ในเช้าวันที่สามเธอก็รู้สึกสบายขึ้นมากผู้เขียนเรียกเธอว่าแม่ชี เพราะเธอได้บวชทางใจเรียบร้อยแล้ว ทุกคนและครูบาจึงเรียกว่าแม่ชีหมด และคงช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เธอยิ่งมีความตั้งใจปฏิบัติมากขึ้น ทุกคนรู้สึกดีใจที่เธอรู้สึกสบาย ได้ปิติ เธอเพิ่งทราบว่าได้แบกทุกข์ไว้มากมาย เมื่อสร้างจังหวะกลับมาอยู่กับปัจจุบันเธอก็สบาย

ผู้ปฏิบัติธรรมท่านอื่นก็ได้อารมณ์ในวันที่สาม การปฏิบัติติดต่อแบบไร้รูปแบบไม่มีเสียงระฆังปลุก ไม่มีการทำวัตรเช้า ตื่นเองปฏิบัติเอง เช้าทำอาหารเสริมเพราะบางท่านยังไม่คุ้นกับอาหารบิณฑบาต คุณไก่และคุณติ๋วเป็นแม่ครัวหลัก คุณแม่ชีเป็นผู้ช่วย หลังฉันก็แยกย้ายกันไปปฏิบัติตามใจชอบ ด้วยทุกคนเคยชินกับการปฏิบัติแบบเข้มงวดของวัดป่าโสมพนัส เมื่อปล่อยให้เป็นอิสระจึงได้อารมณ์ง่ายและเร็ว ส่วนทองดีซึ่งจะมาช้ากว่า 1 วัน คือ วันที่ 6 ธันวาคม ก็สามารถปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังบ่นว่ายังรู้สึกเบื่อๆ แต่เธอคงต้องอยู่จนครบถึงวันที่ 13 ธันวาคม เพื่อได้รางวัลโบนัสคือรถยนต์ตามที่คุณบุญรินทร์สัญญาไว้ ในระหว่างสัญญาคุณบุญรินทร์จะต้องไม่เข้ามาในวัด ดังนั้นเสบียงอาหารจึงร่อยหรอต้องเก็บผักจากแปลงมาปรุงอาหาร

ในเย็นวันที่สามขณะเตรียมน้ำปานะ ก็เกิดการรวมตัวของผู้ปฏิบัติโดยไม่นัดหมาย จึงเล่าอารมณ์กรรมฐานของแต่ละท่านให้ครูบาฟังในครัว ผู้เขียนได้กล่าวนำว่าการปฏิบัติธรรมครั้งนี้เป็น workshop โดยผู้ปฏิบัติมีพื้นฐานแตกต่างกัน หลายท่านผ่านการอบรมจากหลวงตามาหลายครั้ง และการอบรมของวัดป่าโสมพนัสก็เป็นการสอนแบบการบรรยายเช่นในมหาวิทยาลัยปิด มีข้อวินัยบังคับภายนอกให้สงบ สิ่งที่ได้คือวิธีการปฏิบัติคือการสร้างจังหวะ และการเดินจงกรมแบบมาราธอน เพื่อให้กลับมาดูภายใน หลายท่านรวมทั้งผู้เขียนรู้สึกว่าความก้าวหน้าช้ามากจนเกิดความเบื่อ เมื่อมาเข้าปฏิบัติครั้งนี้ไม่มีการบังคับจึงเกิดความผ่อนคลายเร็ว ทุกคนกลับมาดูใจตัวเองจึงได้อารมณ์

ส่วนบุษบาซึ่งเคยผ่านอารมณ์เจริญสมาธิเมื่อครั้งปฏิบัติธรรมกับหลวงตาก็รู้สึกอึดอัดในระยะแรก อาจกังวลใจความชุลมุนวุ่นวายของผู้ปฏิบัติธรรม และเมื่อผู้เขียนกล่าวว่าพวกเราหนีหลวงตามา สร้างศรัทธาในพุทธศาสนาแทนการศรัทธาในตัวหลวงตา คุณบุษบาหน้าเสียและแย้งทันทีว่าไม่ใช่ต้องอธิบายว่าทุกคนยังเคารพในหลวงตาเป็นเพียงขั้นตอนของสภาวธรรม และเธอจะเข้าใจภายหลังเอง ผู้เขียนถือว่าคุณบุษบาและคุณติ๋วเป็นผู้ปฏิบัติธรรมซึ่งข้ามชั้นขึ้นมาเข้าคอร์สนี้ เพราะผู้เขียน คุณอารีย์ และคุณหมวยเป็นศิษย์รุ่นแรกๆ และไปวัดนับครั้งไม่ถ้วน ส่วนคุณแม่ชีก็เป็นนักปฏิบัติธรรมซึ่งหลงทางเข้ามา ก็ยังแปลกใจว่าเธอก็ได้อารมณ์ดีมาก อาจเพราะเธอมีความรู้พื้นฐานพุทธศาสนา และเมื่อเห็นผู้ปฏิบัติธรรมท่านอื่นๆ ตั้งใจปฏิบัติก็เลยทำตาม แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาถ้าได้อารมณ์ไว การเสื่อมก็จะไวเช่นกัน ในวันที่สามเมื่อเธอเห็นงูก็เกิดความกลัวไม่กล้าออกไปปฏิบัตินอกห้อง ต้องอธิบายอยู่นานจึงยอมออกจากห้อง

ในวันที่ 4 ครูบาพาออกไปศึกษานอกวัด เดินปีนขึ้นภูเขาไปรีสอร์ทตาดปลาแค้มป์ เป็นรีสอร์ทที่สวยงามและเดินกลับทางถนนลงไปหมู่บ้านเมืองก๊ะ แวะชมสวนของชาวกรุงซึ่งซื้อไว้เป็นบ้านพักตากอากาศ เป็นบ้านไม้หลายหลัง สร้างสวยงาม โดยรอบจัดเป็นสวนป่ามีลำธารไหลวกวนภายในให้ความชุ่มชื้นร่มรื่น ได้เก็บพริกไทยสดที่หน้าบ้านกลับมาเพื่อปรุงอาหาร เดินข้ามทุ่งนาชาวกะเหรี่ยงซึ่งกำลังเตรียมดินปลูกถั่วเหลือง ทักทายเด็กลูกชาวกะเหรี่ยงที่พ่อแม่นำมาไร่ด้วย เดินถึงอนุสรณ์สถานขุนหลวงวิรังคะ และเดินดูร้านค้าในหมู่บ้านซื้อผักสด หมู ไปปรุงอาหาร

คุณอารีย์โชคดีมีทากมาเกาะ 1 ตัว ก็เป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงความหลัง เมื่อมาครั้งก่อนคุณอารีย์โดนทากเกาะจนเลือดไหลไม่หยุด ทากคงติดใจรสเลือดจึงมาเกาะอีกเพราะฤดูนี้จะไม่มีทาก

ในระหว่างเดินทางลงจากภูเขาครูบาบอกว่าไม้ไผ่บริเวณนี้นิยมนำไปบรรจุข้าวหลาม หลายท่านก็รู้สึกอยากกินข้าวหลาม ท่านจึงปรารภว่าจะให้เผาข้าวหลาม ก็เกิดความโกลาหลในเช้าวันที่ 5 มีเมนูอาหารสารพัดให้ทำเพราะได้ซื้อผัก หมู ถั่ว กะทิ ฯลฯ จากหมู่บ้านมาเสริมและจะเผาข้าวหลามอีก คุณอารีย์ คุณไก่ และคุณติ๋วปรุงอาหารหลายอย่าง คุณหมวยและคุณบุษบาบรรจุข้าวเหนียวลงในกระบอกไม้ไผ่ ผู้เขียนหั่นฟักทองทำเป็นข้าวหลามสังขยาหน้าฟักทอง ทองดีก็เป็นคนเผาข้าวหลาม เมื่อถามทองดีว่าข้าวหลามขาดรสอะไรเธอก็ตอบว่าขาดรส คุณไก่และคุณติ๋วต้องเอากลับมาเผาซ้ำเพราะทองดีต้องตามไปบิณฑบาต

ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าผู้ปฏิบัติธรรมกำลังถูกกิเลศเข้ามารุกราน ในตอนเย็นหลายท่านรับประทานอาหารที่เหลือและเริ่มวางแผนปรุงอาหารมื้อเช้า ซึ่งบอกกับแม่ชีว่าพรุ่งนี้จะพลิกอารมณ์ผู้ปฏิบัติ จะปรุงอาหารเช้าเองให้ทุกคนปฏิบัติห้ามเข้าครัว แต่ขอร้องให้แม่ชีเป็นผู้ช่วย เนื่องจากครูบาให้ 2 วันสุดท้ายมีการทำวัตรเช้าและเย็น ดังนั้นในเช้าวันที่ 5 หลังทำวัตรเช้าผู้เขียนบอกให้ทุกคนปฏิบัติห้ามเข้าครัว ผู้เขียนปรุงอาหารและสอนให้แม่ชี มีสติกับการปรุงอาหาร สร้างความประทับใจแก่แม่ชีเพราะเธอเพิ่งเคยปรุงอาหารแบบมีสติ อาหารมื้อนี้เป็นการแสดงความสามารถของผู้เขียนว่ามีพรสวรรค์เรื่องการทำอาหาร หลังฉันทุกคนก็ปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง สามารถเรียกอารมณ์กรรมฐานกลับมาได้ทุกคน การปฏิบัติธรรมครั้งนี้จึงเป็นภาคปฏิบัติเท่านั้น ผู้ปฏิบัติมีสติควบคุมใจให้นิ่งในขณะมีการเคลื่อนไหวภายนอกตัวตลอดเวลา ต้องทำเอง รู้เอง และมีบทเรียนให้กิเลสเข้ามากระทบเมื่อเผลอตลอดเวลา เพื่อทดสอบความรวดเร็วและความเข้มแข็งของสติ ใครสอบได้สอบผ่านก็รู้ได้เอง

ในเช้าวันสุดท้ายหลังฉันเช้าก็เตรียมตัวกลับ เนื่องจากมีเวลาเหลือคุณรินทร์จึงพาไปบ้านพันดาวไปกราบพระอาจารย์ทรงศิลป์ซึ่งมีคอร์สอบรมอยู่ สถานที่อบรมเป็นหมู่บ้านไม้หลายหลัง มีคูขุดโดยรอบ ต้นไม้สูงใหญ่ร่มรื่น บ้านพันดาวจัดสร้างเพื่อภารกิจสาธารณะกุศล สถานที่สงบร่มเย็นสะอาดตา มีห้องประชุม กุฏิ ศาลาห้องพักเพรียบพร้อมเป็นระเบียบสวยงาม คุณบุญรินทร์ได้พาไปเที่ยวไนท์พลาซ่าเพื่อซื้อของฝาก และทุกคนก็ต้องลาจากกันและสัญญาว่าแปดเซียนจะกลับมารวมตัวกันใหม่ เพื่อเดินก้าวสู่เส้นทางธรรมต่อไป

ขอบพระคุณมากคะอาจารย์หมอ

อาจารย์หมอเขียนเล่าได้เยี่ยมจริง ๆ (มองเห็นภาพได้ยิ่งกว่าภาพจริงเสียอีก)

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าธรรมะจะจัดสรรให้แปดเซียนได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งที่วัดป่ามหาปัญโญนะคะ สาธุ............

สวัสดีครับ ผมพึ่งผ่าการอบรมสติ 21-28 กุมภาพันธ์ 2555 วัดป่ามหาปัญโญ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่  ยินดีที่ได้รู้จักกัลยาณมิตร ขอบคุณที่เล่าเรื่องพลังสติให้ฟังครับ

วีรธรรม  ปัญจขันธ์

081-9507599

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท