ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ของคณะทำงานจัดการปัญหาชาติพันธุ์มานิก (ซาไก)


ในช่วงที่เราลงไปสืบค้นข้อมูลชาวบ้านแม่อาย ที่เราไม่เคยรู้จัก เราจะพยายามไปคุยกับหลายๆ คน ไม่เฉพาะคนที่เราจะเก็บข้อมูลเท่านั้น แต่รวมถึงบุคคลแวดล้อมคนคนนั้น ที่จะช่วยให้เราได้ข้อมูลหลายอย่างมาประกอบกัน เราวิ่งไปหลายบ้าน และหลายหมู่บ้าน เพื่อไปพูดคุยกับคนที่จะเป็นจิ๊กซอว์ต่อให้ภาพของกรณีศึกษาของเราชัดเจนขึ้นในด้านต่างๆ แต่ทั้งนี้เรื่องเวลาก็เป็นข้อจำกัดของเราไม่ต่างกัน แต่การวางแผนล่วงหน้าก็จะช่วยได้มาก เพราะการคุยกับบางคนก็จะเชื่อมโยงถึงอีกบางคนอยู่แล้ว เช่นคุยกับหมอตำแยคนหนึ่ง ก็เป็นคนทำคลอดให้กับกรณีศึกษาของเราหลายคน ก็ไม่ต้องไปคุยหลายรอบ

ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม

ของคณะทำงานจัดการปัญหาชาติพันธุ์มานิก (ซาไก)

 

                ได้ทำความเข้าใจข้อมูลต่างๆ ที่ทีมงานส่งมาในเบื้องต้น ขอให้ความเห็นกับปัญหาอุปสรรคที่ทีมงานหารือมาในเบื้องต้น ดังนี้ค่ะ

ขั้นตอนที่ ๑  :  ภาพรวมความสัมพันธ์ของคนในชุมชน

                ตามที่คณะผู้เก็บข้อมูลได้วางแผนการเก็บข้อมูลขั้นแรก โดยให้เห็นภาพรวมความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ผ่านการทำ “แผนผังครอบครัว” นั้น  เป็นขั้นเริ่มต้นที่ดีมากที่จะช่วยให้ทีมเข้าใจ และสามารถสื่อสารให้คนนอกเข้าใจตามไปได้ง่าย  และสะดวกต่อการวางแผนการเก็บข้อมูลรายกรณีต่อไป

                ในการทำแผนผังครอบครัวเบื้องต้นนี้ จากประสบการณ์สำรวจชุมชนแม่อาย ในฐานะเป็นคนนอก ที่มีคนในชุมชนช่วยจัดทำแผนผังครอบครัวไว้ ทำให้ได้ประโยชน์มากตอนเริ่มต้นวางแผน

                กรณีนี้ ชาวบ้านในชุมชนอาจไม่สามารถทำเองได้ ก็เป็นการถูกต้องที่คณะผู้เก็บข้อมูลได้ทำหน้าที่แทนคนในชุมชน และทำได้อย่างชัดเจน ซึ่งถ้าได้ตามแผน ๔ ขั้นที่เขียนมา ก็เชื่อว่าข้อมูลที่ได้จะเป็น “แผนผังครอบครัวฉบับสมบูรณ์ที่ถูกต้องที่สุด” ตามที่กำหนดไว้ในแผน

ขั้นตอนที่ ๒ : การเลือกกรณีศึกษาเพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึก

                ขั้นตอนนี้สำหรับทีมงาน ดูเหมือนกลมกลืนกันไปกับขั้นตอนที่ ๓  เลยอาจทำให้พลาดรายละเอียดบางสิ่งที่ควรจะได้เพิ่มเติมเพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลบางอย่างได้  ความจริงแล้ว กลุ่มเป้าหมายไม่มากนักอาจไม่จำเป็นต้องแยกขั้นตอน ๒ และ ๓ ออกจากกันก็ได้ ยิ่งถ้าคุยลึกๆ ทุกครอบครัว (เพียง ๘ ครอบครัว) ได้ก็จะยิ่งได้ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ภาพรวมชุมชนมากขึ้น

วิธีการเก็บข้อมูลของทีมงาน

                การเก็บข้อมูลตามแบบสอบถามควบคู่กับการสนทนาที่ทีมงานใช้ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งอันที่จริงควรเริ่มต้นด้วยการสนทนา ทำความรู้จัก เยี่ยมเยียน โดยยังไม่ต้องกางแบบสอบถามและปากกาเตรียมจดให้ชาวบ้านเกร็ง ยิ่งถ้าผู้ประสานงานยังไม่ได้อธิบายเป้าหมายการมาคุยของทีมงาน ก็ยิ่งต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดเจนก่อน จะมีผลอย่างมากในการให้ข้อมูล  

คำถามหลักที่เราต้องการได้ในแบบสอบถาม ควรเป็นสิ่งที่ ‘อยู่ในใจ’ อยู่แล้วตอนไปพูดคุย ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นคำถามพูดคุยทำความรู้จักทั่วไป เช่น ชื่ออะไร ครอบครัวมีกี่คน มีลูกกี่คน มาอยู่ที่นี่ตั้งแต่เมื่อไร เกิดที่นี่เลยไม๊ ถ้าไม่ใช่ย้ายมาจากไหน พ่อแม่มาจากไหน ย้ายไปไหนมาไหนกันบ้าง ทำมาหากินอะไร หรือแม้แต่จะได้คำตอบว่าอยู่ในป่า ในป่า และในป่า แต่ก็น่าจะมีรายละเอียดที่ซักไซ้เพิ่มเติมได้บ้าง เช่น ตรงนั้นเขาเรียกอะไร ช่วงนั้นไปติดต่อกับใครบ้างไหม หรือมีใครมาติดต่อไหม (อาจเป็นคนท้องถิ่น เจ้าของสวนยาง พ่อค้า ครู ฯลฯ)  การคุยแบบเป็นกันเองซักไซ้ไปเรื่อย ก็จะค่อยๆ ได้ข้อมูลมากขึ้น บันทึกไว้ (ในหัว หรือในสมุดโน้ต ถ้ามีมากเกินไป) แล้วค่อยนำกลับมาประมวลที่ที่พัก (ควรบันทึกวันต่อวันเพื่อไม่ให้ลืม หรือสับสน หากต้องคุยวันละหลายคน อาจต้องมีช่วงเบรกบันทึกเป็นช่วงๆ  ถ้าเป็นไปได้ ไม่ควรให้การบันทึกมาขัดจังหวะการพูดคุย)

การสืบค้นข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง

ลักษณะการเก็บข้อมูลของทีมงาน ที่ว่า “ในขณะที่เข้าสัมภาษณ์ ชาวมานิกกลุ่มนี้ก็มักจะมานั่งพูดคุยกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้หญิง”  ความจริงเป็นวิธีเก็บข้อมูลทางมานุษยวิทยาที่ดีมาก ช่วยให้ได้ข้อมูลมากขึ้น จากการพยายามช่วยกันนึกเพื่อให้ได้คำตอบที่ตรงกัน ตามที่ทีมงานบันทึกว่าได้ประโยชน์มาก  แต่จากประสบการณ์คิดว่าควรจะมีอีกทางหนึ่งประกอบกันด้วย นั่นคือการตามไปคุยที่บ้านเป็นรายกรณี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบข้อมูลบางอย่าง  ซึ่งหากข้อมูลของชาวบ้านชุมชนนี้เป็นเครือญาติกันทั้งหมด การเก็บข้อมูลจากชุมชนใกล้เคียงก็จะเป็นประโยชน์ไม่น้อย

ยกตัวอย่าง การสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นภาพรวมของข้อมูลชุมชน โดยเฉพาะด้านการเคลื่อนย้ายหรือตั้งถิ่นฐาน  เราอาจเริ่มจาก “นายหย้า” ซึ่งมาแต่งงานกับนางพิน ที่ทีมงานสอบถามข้อมูลรายบุคคลแล้วระบุว่า “นายหย้าเป็นคนที่เก็บข้อมูลได้น้อยมาก เนื่องจากเป็นคนที่เกิดก่อน พ.ศ.๒๕๒๙ ที่จะสามารถเทียบเหตุการณ์จากนายดำได้ นอกจากนี้นายหย้ายังเป็นชาวมานิกที่มาจากกลุ่มอื่น”  ความจริงอยากให้ความเห็นว่า วิกฤตนี้อาจเป็นโอกาส  จากประสบการณ์เมื่อพบข้อเท็จจริงลักษณะนี้ เราจะรีบวางแผนให้นายหย้าพาไปคุยกับครอบครัวเดิม ที่อีกชุมชนที่เขาย้ายมา ไม่ว่าจะเป็น นายโซะ บิดา  หรือมารดา-พี่น้อง หรือคนทำคลอดของนายหย้า ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์สถานะของนายหย้าชัดเจนขึ้นแล้ว ยังน่าจะช่วยให้ได้ภาพอื่นๆ ของชุมชนที่เรากำลังศึกษาชัดเจนเพิ่มขึ้นด้วย

ในช่วงที่เราลงไปสืบค้นข้อมูลชาวบ้านแม่อาย ที่เราไม่เคยรู้จัก เราจะพยายามไปคุยกับหลายๆ คน ไม่เฉพาะคนที่เราจะเก็บข้อมูลเท่านั้น แต่รวมถึงบุคคลแวดล้อมคนคนนั้น ที่จะช่วยให้เราได้ข้อมูลหลายอย่างมาประกอบกัน เราวิ่งไปหลายบ้าน และหลายหมู่บ้าน เพื่อไปพูดคุยกับคนที่จะเป็นจิ๊กซอว์ต่อให้ภาพของกรณีศึกษาของเราชัดเจนขึ้นในด้านต่างๆ  แต่ทั้งนี้เรื่องเวลาก็เป็นข้อจำกัดของเราไม่ต่างกัน แต่การวางแผนล่วงหน้าก็จะช่วยได้มาก เพราะการคุยกับบางคนก็จะเชื่อมโยงถึงอีกบางคนอยู่แล้ว เช่นคุยกับหมอตำแยคนหนึ่ง ก็เป็นคนทำคลอดให้กับกรณีศึกษาของเราหลายคน ก็ไม่ต้องไปคุยหลายรอบ

การที่ทีมงานเกาะติดกับการให้ข้อมูลของลุงดำ (นายประดิษฐ์) จะทำให้ได้ภาพในมุมเดียว จากประสบการณ์ของลุงดำ  ควรกระจายไปคุยกับหลายๆ คน โดยเฉพาะผู้อาวุโส  เช่น เฒ่าสัง หรือนางบ๊ะ ถ้ายังมีชีวิตอยู่ ต้องไม่พลาดที่จะไปพูดคุยด้วย  โดยไม่ต้องกลัวว่าข้อเท็จจริงที่จะกรอกในแบบสอบถามของทั้งสองมีไม่มาก ตรงข้ามผู้อาวุโสทั้งสอง จะสามารถให้ข้อมูลด้านอื่นๆ ของชุมชน และการเคลื่อนย้ายได้อย่างชัดเจนกว่าทุกคน

จินตภาพวิถีชีวิต

เราจำเป็นต้องคุยหลายๆ คน หลายๆ ทาง เพื่อให้เกิดจินตภาพของชุมชนและการเคลื่อนย้ายของชุมชนในหัวของผู้เก็บข้อมูลให้ชัดเจนที่สุด ชัดขนาดที่ว่าเราไม่เคยรู้จักสบยอน (พื้นที่ทับซ้อนกรณีปัญหาชาวบ้านอำเภอแม่อาย) ก็เห็นได้อยู่ในหัว เห็นภาพชาวบ้านที่เดินทางไปเพาะปลูกหน้าฝน และหลังจากหน้าเก็บเกี่ยวก็หอบผลผลิตใส่เรือกลับมาเก็บไว้ที่หมู่บ้าน 

เราจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ร่วมกับชาวบ้านในจินตนาการ เวลาเขาให้ข้อมูล หรือเราถามคำถามสั้นๆ จากแบบสอบถาม เช่น เมื่อถามว่า ‘ทำอาชีพอะไร’ ก็ไม่น่าจะได้คำตอบแค่ หาของป่า เก็บหัวเผือกหัวมัน ควรซักไซ้ให้เห็นภาพการทำมาหากินของพวกเขา อาจรวมถึงวงจรวิถีชีวิตในรอบปีของพวกเขา จะช่วยให้เราเข้าใจความเป็นอยู่ของพวกเขาได้มากขึ้น ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการเดินทางเคลื่อนย้ายถิ่น

เมื่อภาพเช่นนี้ชัดก่อน เวลาเราคุยข้อมูลของแต่ละคนก็จะง่าย และปะติดปะต่อได้ชัดยิ่งขึ้น  ที่สำคัญ เมื่อเราต้องนำเสนอให้คนนอก เช่นฝ่ายราชการ ให้เห็นว่าชุมชนนี้เก่าแก่ เคลื่อนย้ายไปมาในพื้นที่อย่างไร เราเองต้องชัดก่อน เพื่อเวลาเราอธิบายจะได้อธิบายอย่างชัดเจน และมีน้ำหนัก เป็นพื้นฐาน ส่วนถ้ามีพยานหลักฐานอื่นๆ ประกอบยิ่งช่วยเสริมได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะถ้าคนเฒ่าคนแก่ หรือที่ทีมงาน เรียกว่า ‘กลุ่มมานิกรุ่นใหญ่’ ที่ยังไม่สามารถกำหนดจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยได้ เพราะเกิดอยู่ในป่า และขาดพยานรู้เห็นการเกิด ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้ข้อสันนิษฐานของระเบียบ ปี ๔๓   จินตภาพที่ว่านี้ยิ่งมีความจำเป็นในการสื่อสารกับภายนอกอย่างมาก

ขั้นตอนที่ ๓ : การเก็บข้อมูลคนในชุมชนที่ต้องการให้ความช่วยเหลือ (การใช้แบบสอบถาม)

                ขั้นตอนนี้ ทางทีมงานระบุว่า “เก็บเป็นทีละครอบครัวๆ ซึ่งมีทั้งหมด ๘ ครอบครัว เนื่องจากการเก็บข้อมูลเป็นรายบุคคลนั้น จะทำให้เสียเวลาและเก็บข้อมูลซ้ำซ้อน เพราะองค์ประกอบของข้อมูลในแต่ละครอบครัวนั้นเป็นข้อมูลอันเดียวกัน เช่น ข้อมูลของบิดามารดา บุตรหลาน ที่อยู่อาศัย ญาติพี่น้อง” 

                ตรงนี้เห็นด้วยกับวิธีการที่ทางทีมงานได้ใช้ เพราะจากประสบการณ์ตั้งแต่ชุมชนแรกที่เราเริ่มสำรวจ ก็พบปัญหาเรื่องข้อมูลซ้ำซ้อนกัน ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาแบบสอบถามการเก็บข้อมูล จากแบบสอบถามรายบุคคล ปรับเป็นแบบสอบถามรายครอบครัว เพื่อใช้ในกรณีที่สอบถามเป็นครอบครัว  แต่ก็มีข้อควรตระหนักในการใช้สอบถามเป็นครอบครัว  เพราะในการวิเคราะห์สถานะบุคคลทางกฎหมาย จะมีข้อเท็จจริงบางส่วนที่เป็นข้อมูลเฉพาะบุคคลที่มีผลกำหนดให้สถานะทางกฎหมายของแต่ละคนนั้น แตกต่างกัน อาทิ วันเดือนปีเกิด สถานที่เกิด เป็นต้น  แต่ถ้าเป็นข้อมูลทั่วไปเช่นที่ทีมงานได้กล่าวมา เช่น ชื่อบิดามารดา ที่อยู่อาศัย เหล่านี้ ก็สามารถใช้ร่วมกันได้ ไม่เสียเวลาในการพูดคุยสอบถาม 

ประเด็นอื่นๆ

สำหรับปัญหาอื่นๆ ที่พบ ตามที่ทีมงานได้บันทึกมานั้น เช่นการสื่อสาร การไว้เนื้อเชื่อใจ ความไม่ตระหนักถึงสิทธิต่างๆ ที่จะได้รับจากการได้สถานะ  เป็นปัญหาร่วมที่ทุกพื้นที่ก็ประสบเช่นกัน  ในบางพื้นที่มีองค์กรหลากหลายทั้งรัฐ เอกชน วิชาการ เข้าไปสำรวจแบบสอบถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า นอกจากชาวบ้านจะไม่ไว้วางใจแล้ว หลายครั้งยังเริ่มเบื่อและไม่อยากร่วมมือ เพราะสำรวจไปก็ไม่เห็นผล

กรณีข้อมูลสำคัญบางอย่างที่ไม่สามารถสืบค้นได้ เช่นปีเกิดที่ระบุไม่ได้ชัด วิธีที่ทีมงานใช้อยู่โดยเทียบเคียงกับปีเกิดของลูกลุงดำก็เป็นวิธีที่ดี และน่าเชื่อถือได้  นอกจากนี้สำหรับรุ่นเก่าๆ ที่ไม่อาจเทียบเคียงได้ อาจใช้การเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เช่น ซักถามถึงเหตุการณ์สำคัญในช่วงที่เกิด อาทิ มีน้ำท่วมใหญ่หลังจากเกิดได้ ๑ ปี  เป็นต้น   ในตอนเริ่มต้นที่สืบค้นข้อเท็จจริงจากชนเผ่า ยังเคยประสบปัญหาเรื่องการนับปีซึ่งนับไม่เหมือนกัน เป็นต้น

เมื่อเราทำหน้าที่ด้านข้อมูลชาวบ้านของเราอย่างดีที่สุดแล้ว ที่เหลือก็จะเป็นเรื่องของ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ตาม work process ที่ไหมได้วางไว้แล้ว ที่จะมีการตั้งวงคุยหลายฝ่าย ก็จะช่วยให้ปัญหาอื่นๆ ที่เราติดขัดอยู่ในการช่วยเหลือชาวบ้านคลี่คลายไปได้  โดยเฉพาะเรื่องสำคัญสุด คือ น้ำหนักพยาน !!

สรินยา กิจประยูร   ...  9/3/53

หมายเลขบันทึก: 343334เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2010 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท