สงสัยไหมว่า...ทำไมเด็กชอบพูดคนเดียว


เคยเห็นลูกพูดกับตัวเองคนเดียว  และคุณแม่ก็บอกว่า...ครูอ้อย ก็เคยพูดคนเดียว

เรามารู้เรื่องนี้ไปพร้อมๆกันนะคะ

นักจิตวิทยาสำรวจพบว่า เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ขวบ ใช้ 20-60 เปอร์เซ็นต์ของเวลาในการพูดทั้งหมดพูดพึมพำกับตนเอง

ผู้ใหญ่หลายคนมีความคิดเห็นว่าการพูดของเด็กลักษณะนี้เป็นนิสัยที่ไม่มีความหมายใดๆ เป็นพฤติกรรม ที่ส่อแสดงความไร้เสถียรภาพของอารมณ์ของเด็กนั้นๆ หลายคนจึงออกปากสั่งห้ามมิให้เด็กพูดกับตนเอง

แต่วงการจิตวิทยาปัจจุบันได้พบหลักฐานหลายประการที่ส่อแสดงว่า การพูดกับตนเองเป็นพฤติกรรมธรรมชาติที่จำเป็น สำหรับเด็กที่กำลังพัฒนา และการเข้าใจต่างๆ ในความสำคัญของพฤติกรรมลักษณะนี้กำลังมีบทบาทช่วยแก้ไขเด็ก ที่มีปัญหาในการเรียนหนังสือให้ทุเลาเบาบางได้

*****

Lev. S. Vygotsky นักจิตวิทยาชาวรัสเซีย เป็นบุคคลแรกของโลกที่ได้ตระหนักในความสำคัญของการที่เด็กพูดกับตนเอง

แต่ผลงานของเขาถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์ยุค Stalin ประณามและถูกห้ามเผยแพร่

เขาเสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2477 โดยมิได้ล่วงรู้แม้แต่น้อยว่า ผลการวิจัยของเขาจะเป็นที่ยอมรับในอีก 60 ปีต่อมา

ความล่าช้าในการยอมรับความคิดของ Vygotsky เกิดจากการที่วงการจิตวิทยาในสมัยนั้นยึดมั่นในคำสอนของ Piaget นักจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียงชาวสวิส Piaget เชื่อว่า การพูดกับตนเองของเด็กเล็กๆ ไม่มีความสำคัญ และไม่มีบทบาทในการพัฒนาเด็กแต่อย่างใด

เมื่อเด็กเติบใหญ่ขึ้น เมื่อเขาสามารถมีความสัมพันธ์ทางคำพูดกับบุคคลรอบข้างได้อุปนิสัยชอบพูดกับตนเองของเขาจะหมดไปเอง

แต่ในเวลาต่อมา Kohlberg นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่งชาวอเมริกันกลับมีความคิดเห็นพ้องกับความคิดของ Vygotsky ในประเด็นความสำคัญของการชอบพูดกับตนเองของเด็ก Kohlberg คิดว่า การเข้าใจพฤติกรรมลักษณะนี้ของเด็กจะช่วย ให้ผู้ใหญ่สามารถพัฒนาขีดความสามารถของเด็กเล็กๆ ได้ เพราะเวลาเด็กเล็กๆ พูดกับตนเอง เด็กคนนั้นกำลังพยายามจะ ติดต่อกับสังคมรอบข้าง การพูดบ่อยและพูดซ้ำ เพราะคำพูดของเด็กสามารถจุดประกายความคิดของเขาและชี้นำให้เขารู้จักคิด ที่จะทำกิจกรรมต่างๆ จนชำนาญ ตามแนวคิดของตน

*****


เมื่อเร็วๆ นี้ L.E Berk แห่ง Illinois State Univ.

ในสหรัฐอเมริกา   ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร Child Development   สนับสนุนความคิดของ Vygotsky และ Kohlberg   

เธอกับคณะได้พบว่า ขณะอยู่ท่ามกลางสังคมที่สับสน เด็กเล็กๆ มักจะ ใช้วิธีการพูดกับตนเองในการแก้ปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่

การพูดกับตนเองจะเกิดบ่อยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของ กิจกรรมที่เด็กคนนั้นกำลังทำอยู่ และขึ้นอยู่กับการที่เขาเข้าใจความมุ่งหมายของงานที่เขากำลังทำอีกด้วย

นอกจากนี้อุปนิสัย ส่วนตัวของเด็กก็เป็นปัจจัยสำคัญในการชักนำให้เด็กพูดกับตนเอง

ดังนั้นเมื่อครู หรือผู้ปกครองเห็นเด็กกำลังพูดกับตนเอง นั่นก็คือสัญญาณการชี้บอกให้ผู้ใหญ่แสวงหาหนทางสร้างสหภาพแวดล้อมของเด็ก

ให้เขาใช้กระบวนการพูดกับตนเองได้ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่นเวลาเด็กเล็กพยายามทำงาน ที่เขาไม่เคยมีประสบการณ์ทำมาก่อน เด็กคนนั้นจะพูดกับตนเองบ่อย แสดงว่าเขากำลังต้องการคำพูดสนับสนุนจากผู้ใหญ่ และต้องการการประคับประคอง

เวลาที่เขาไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายในการทำกิจกรรมใดๆ เขาก็มักจะพูดกับตนเองบ่อยเช่นกัน ผู้ใหญ่ก็อาจจะบอกวิธีทำจุดมุ่งหมายที่เกิดขึ้น ให้เขาเห็นอย่างชัดเจนก่อน


เมื่อสังเกตเห็นว่า เขาเข้าใจแล้ว ผู้ใหญ่จึงค่อย ถอนตัวออกมาทีละน้อยเพื่อให้เด็กรู้จักทำกิจกรรมตามแนวความคิดของตัวเด็กที่ถูกสั่งห้าม หรือถูกตำหนิ


เวลาที่เขาพูดกับตนเอง มักจะเกิดอาการไม่ชอบเรียนหนังสือ และเด็กเหล่านี้มักจะไม่รู้จักควบคุมอารมณ์เวลาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในภายหน้า


เมื่อเป็นเช่นนี้ Berk และคณะจึงสรุปว่า การพูดกับตนเองเป็นพฤติกรรมที่ปกติของเด็กเล็กที่ผู้ใหญ่ควรสนใจ เพื่อจะได้เข้าใจ ความคิดฝัน และความยุ่งยากในจิตใจของเขา อันจะนำไปสู่การหาหนทางช่วยเหลือ หรือชี้แนะให้เขาสามารถแก้ปัญหา ที่เขากำลังประสบอยู่ให้ลุ่ล่วงด้วยตัวเขาเองได้ ณะนี้


ทฤษฎีของ Vygotsky กำลังมีบทบาทมากในการช่วยนักการศึกษาสอนเด็กเล็กที่มีปัญหาในการเรียนหนังสืออีกด้วย

เสียดายที่ทฤษฎีนี้พลาดโอกาสช่วยผู้ใหญ่รุ่นเราให้เรียนได้ และเรียนดีกว่านี้ค่ะ

From: http://variety.teenee.com/science/5344.html

หมายเลขบันทึก: 342951เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2010 06:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ต้องเรียนรู้เรื่อง เด็กเล็ก  เพราะ จะได้กอดหลานชายแล้วค่ะ...เอิ๊กเอิ๊ก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท