พยาบาลจิตอาสา...ถึงอยู่ที่ไหน ใจก็คือ...พยาบาล


พยาบาลจิตอาสาประจำหมู่บ้านน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ยากหากทุกคนมีใจที่พร้อมจะทำ...ถึงอยู่ที่ไหน ก็คือใจที่เป็นพยาบาล

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและครอบครัวนั้น ปัจจัยแห่งความสำเร็จอย่างหนึ่งที่ขาดเสียมิได้นั่นคือ "ใจ" ของผู้ให้บริการ  เรื่องราวที่หลากหลายต่อไปนี้ เป็นอะไรที่แสดงให้เห็นถึงการบ่มเพาะ และการเจริญเติบโตทางด้านจิตใจของสมาชิกทีมการดูแลแบบประคับประคอง(Palliative Care Team) ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว เชิญสัมผัสเรื่องเล่าของพวกเรา ด้วยกันนะคะ 

 

 เรื่องเล่า “พยาบาลจิตอาสา...ถึงอยู่ที่ไหน ใจก็คือ...พยาบาล”

พันธ์ทิพย์  อยู่อเนก,พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ

 

            ข้าพเจ้าโชคดีที่มีโอกาสได้เข้ารับการอบรมเรื่อง “การเผชิญความตายอย่างสงบ” ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน โรงพยาบาลของเราเป็นโรงพยาบาล ขนาด 90 เตียง อยู่ในเขตพื้นที่ห่างไกล แต่เดิมเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สีชมพู ใน 21 แห่งที่มีโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช  การที่ท่านคณะวิทยากรซึ่งนำโดย เครือข่ายพุทธิกา เขมสิขาลัย ท่านพระอาจารย์ ไพศาล  วิสาโล ได้กรุณาเดินทางมาเป็นวิทยากร ตามคำเชิญของทีมงานโรงพยาบาล นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เมืองน่านมีคำกล่าวว่า ถ้าไม่ตั้งใจจะไม่ได้มาถึงเพราะการเดินทางมาเมืองปิดนั้นต้องตั้งใจมา น่านบ้านเราไม่มีพื้นที่จังหวัดอื่นที่จะเดินทางต่อไปได้อีก นอกจากชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ฉะนั้น เราถึงโชคดีที่ได้รับการอบรมครั้งนี้

            เมื่อรับการอบรมช่วงหนึ่งวิทยากรพูดคุยถึงเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบองค์รวม และให้พวกเราเล่าเรื่องราวแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยผ่านมาที่ได้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย  ข้าพเจ้าทำงานในหน่วยงานผู้ป่วยเด็กไม่ค่อยจะได้พบผู้ป่วยระยะสุดท้าย แต่ก็สนใจในเรื่องนี้ จิตให้นึกถึง  case ผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชนที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ ข้าพเจ้าย้ายเข้ามาอาศัยในหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งอยู่ด้านหน้าโรงพยาบาลเรานี้เอง เป็นหมู่บ้านเล็ก ประมาณ 250 หลังคาเรือน แต่ความประทับใจที่ข้าพเจ้ารู้สึกอยู่เสมอว่า ข้าพเจ้าโชคดีที่ได้มาอยู่ในชุมชนนี้ คงเป็นฟ้าลิขิตมาให้เราเพราะพ่อวิไลที่ขายที่ดินให้ ท่านบอกว่า คนอื่นๆ มาติดต่อขอซื้อที่ดิน ท่านไม่เคยขายให้ แต่กับเราพ่อวิไล บอกว่า ตัดสินใจขายให้ เพราะชอบเรา อยากให้มาอยู่ใกล้ๆ เผื่อวันข้างหน้าจะได้พึ่งพากัน เชื่อว่าพวกเราจะช่วยดูแลท่านยามแก่เฒ่า และรักเราเหมือนลูกหลานคนหนึ่ง และพวกเราก็โชคดีที่เพื่อนบ้านรอบ ๆ ละแวกนั้น ทุกหลังคาเรือน มีอัธยาศัยที่ดีช่วยเหลือครอบครัวเรามาตลอด และครอบครัวเราก็แบ่งปันและให้เพื่อนบ้านเช่นกัน

            เช่น เรื่องเล่าของข้าพเจ้าในวันนั้น ทำให้นึกถึง ผู้เฒ่าคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในซอยใกล้บ้านของข้าพเจ้า “ตารุณ” มัคทายกประจำหมู่บ้าน ทุกเย็นตารุณชอบเดินมาออกกำลังกายที่สนามกีฬาหน้าบ้านของข้าพเจ้า ซึ่งมีเครื่องออกกำลังกายฟิทเนส ที่คนสูงวัยสามารถจะเล่นได้ และมีสนามเปตองที่ตารุณชอบเล่นเป็นประจำ ข้าพเจ้ามักจะได้ยินเรื่องเล่า ความหลังต่างๆ จากตารุณทุกครั้งที่มาออกกำลังกาย  ช่วงเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว   วันนั้นขณะที่ข้าพเจ้าทำงานอยู่ มีเพื่อนบ้านมาเดินบอกว่า ตารุณไม่สบาย ญาตินำส่งโรงพยาบาลนอนที่ตึกสามัญชาย  ข้าพเจ้าจึงไปเยี่ยม และทราบว่าตารุณจะต้องถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลน่านเพื่อทำ CT Scan ตารุณ ไปนอนที่โรงพยาบาลน่าน จำได้ว่าวันนั้นดูวุ่นวายพอสมควร เพราะลูกชายของตารุณทำงานเป็นลูกจ้างเทศบาล ลูกสะใภ้ซึ่งกำลังท้อง ทำงานรับจ้างที่โรงแรม หลานฝาแฝด 2 คน กำลังเรียนชั้นประถม ยายผาง ภรรยาของตารุณก็ทำงานรับจ้างทำสวนไปวัน ๆ   ข้าพเจ้ารับหน้าที่โทรศัพท์แจ้งไปยังน้องลำไยซึ่งอยู่บ้านใกล้ๆ ที่ทำงานเทศบาลเหมือนกันเพื่อบอกให้ลูกชายตารุณรีบตามไปที่โรงพยาบาลน่าน ได้รถยนต์ของเพื่อนบ้านอีกคนที่เปิดร้านซ่อมมอเตอร์ไซด์ อยู่หน้าโรงพยาบาลอาสาไปส่งโดยยอมปิดร้านในวันนั้น  นี่ก็เป็นความงดงามอีกมุมหนึ่งที่เราจะพบเจอได้ในชุมชนชนบทบ้านเรา 

            หลังจากทราบข่าวว่า ตารุณ ช๊อคไปขณะที่อยู่โรงพยาบาลน่าน  เราต่างก็ได้ดีใจอีกครั้ง เมื่อทราบข่าวว่าตารุณดีขึ้นแล้ว และจะกลับมาอยู่บ้าน  แต่ที่เสียใจก็คือทราบว่าตาเป็นมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้าย เมื่อกลับมาถึงโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว  ช่วงนั้นผู้ป่วยเยอะมาก เตียงแต่ละตึกเต็มไม่พอให้ผู้ป่วยนอน หมอให้ตารุณกลับไปนอนต่อที่บ้าน โดยที่ต้องเทียวมาฉีดยา Aritibiotic วันละ 2 เข็ม เช้า-เย็น ที่ห้องอุบัติเหตุ-ฉุกเฉินของโรงพยาบาลโดยวิธี Drip เข้าทางหลอดเลือดดำ ข้าพเจ้าตามไปเยี่ยมตารุณที่บ้านหลังเลิกงาน จากที่ได้พูดคุยทำให้ทราบปัญหา ความกับวลในสีหน้าของลูกชายในการที่จะต้องพาตารุณไป drip ยาที่โรงพยาบาลทุกเช้า-ทุกเย็น โดยต้องนั่งรอจนกว่ายาจะหมดก็ประมาณ 1 ชม. อีกทั้งคุณตาก็แก่มากหลังโกงด้วย เวลานั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์ไปคงลำบาก และลูกชายต้องไปทำงานให้ตรงเวลา เพราะเป็นลูกจ้างรายเดือนของเทศบาล เวลาเจ้านายเรียกระดมพล (อยู่ฝ่ายป้องกัน) ก็ต้องไปให้ทัน ลูกสะใภ้ก็ท้องโตแล้ว ยายก็ขับมอเตอร์ไซด์ไม่เป็น ข้าพเจ้ารู้สึกเห็นใจและเข้าใจในความเดือดร้อนก็เลยคิดว่า บ้านเราก็อยู่ใกล้ น่าจะมาเอา ยามา drip ให้ที่บ้านได้แต่อาจต้องวางแผนปรับเวลาของการฉีดยาให้สะดวกกับการที่ข้าพเจ้าก็ต้องไปทำงานทุกวันเช่นกัน ก็เลยไปปรึกษาหมอที่ห้องฉุกเฉิน ปรับเวลาเป็น 8 โมงเช้า และ 2 ทุ่ม และขอเบิกยาเป็น dose ไป ผสมแล้วก็ drip ที่บ้าน  พบปัญหาอีกว่า ไม่มีเสาน้ำเกลือ ก็ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ตัดไม้ไผ่ มาทำเป็นราวแขวนน้ำเกลือแทนเรื่องราวก็ผ่านไปด้วยดี  ยังมีปัญหาใหม่อีกคือ เส้นเลือดของตารุณที่ให้ยา drip นั้นเปราะบางมากและอักเสบบ่อย ต้องเปิดเส้นใหม่ให้บ่อย ๆ แทบจะเว้นวัน ตาบ่นปวดมากๆเวลาให้ยาฉีดยา    2 วัน แรกตรงกับวันหยุด ข้าพเจ้าก็เฝ้าดูได้ พอถึงวันราชการต้องใช้วิธีไป drip ตอนเช้าก่อนไปทำงานแปดโมง แล้วรีบนั่งมอเตอร์ไซด์ไปทำงานโชคดีที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล พอครบชั่วโมงก็ขอเวลาน้องๆทีมการพยาบาลที่ตึก เพื่อออกไป off  ยาให้ตารุณ  น้อง ๆ ก็บอกไปเลยพี่ นี่คือความเป็นพยาบาลที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน พร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย ถึงแม้ไม่ได้ทำด้วยตัวเอง ก็ยินดีสนับสนุนผู้อื่นให้ทำความดีได้เช่นกัน

            พยาบาลนอกจากจะดูแลผู้ป่วยแล้ว ยังทำหน้าที่ได้อีกหลายอย่าง อาทิเช่น การเป็นครู ช่วงที่ข้าพเจ้าต้องไป drip ยาให้ตารุณในตอนเย็น หลานฝาแฝดของตารุณ น๊อตกับเน๊ต ซึ่งอยู่ชั้น ป.2 ก็มักจะมานั่งทำการบ้านอยู่ด้วยและเด็ก ๆก็จะคอยถามการบ้าน ข้าพเจ้าจึงรับหน้าที่เป็นครู สอนการบ้านให้ด้วย ก็รู้สึกสนุกไปอีกแบบ  หลังจากฉีดยาครบ 7 วัน ตารุณก็ดีขึ้น ข้าพเจ้ารับรู้เรื่องราวอีกว่า ตารุณมีทำท่าถอนหายใจอยู่บ่อย ๆ ข้าพเจ้าจึงถามว่ากังวลอะไรอยู่  ได้ความว่าช่วงตาไม่สบาย ทำให้ยายไม่ได้ไปรับจ้างทำสวน จึงไม่มีรายได้ เงินที่เก็บไว้ก็หมด เพราะยายไม่กล้าทิ้งตาไว้คนเดียว ข้าพเจ้าจึงแนะนำให้ตารุณช่วยบอกยายผางซิว่า ให้ไปรับจ้างก็ได้ ตาอยู่บ้านคนเดียวได้ แล้วอีกอย่างเพื่อนบ้านก็อยู่บ้านติดกันช่วยดูแลได้ไม่ต้องห่วง  จนยายยอมไปทำงานรับจ้างได้ 2 – 3 วัน  ช่วงนี้ตารุณดีขึ้นมาก อยากกินลาบปลา อาหารโปรด กินได้เยอะเลย     แต่อีก 2 วัน ตารุณกลับเข้าโรงพยาบาลอีก เพราะกินไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยรู้สึกตัว ต้องให้อาหารทางสายยาง และญาติก็ขอนำตารุณกลับมาดูแลที่บ้านโดยมีลูกสาวของตารุณที่ทำงานอยู่โรงงานต่างจังหวัด ลาพักมาช่วยดูแลพ่อ เป็นคน Feed อาหารให้ และไปรับอาหารเหลวจากโรงพยาบาลทุกวัน

            ข้าพเจ้ามีความประทับใจในชุมชนที่นี่ทุก ๆคืน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะมาเยี่ยมตารุณกันช่วงนั้นอากาศหนาวก็จะก่อไฟผิงกันข้างๆบ้าน ข้าพเจ้ามักจะมีกิจกรรมที่ทำให้คนเยี่ยมไม่เบื่อ เช่น ซื้อเผือก มัน ที่ชาวเขานำมาขายที่โรงพยาบาลเอาไปให้ทุกคนเผาไฟกินข้าวตอนผิงไฟบางวันก็เอาข้าวเหนียวจี่ (อร่อยมาก) บางคืนก็ทำส้มตำมารวมกันโดยไม่ทำให้เจ้าของบ้านสิ้นเปลือง ข้าพเจ้าได้ฟักทองจากชาวบ้านเอาให้ก็นำไปทำของหวานบวดฟักทอง บ้างก็ช่วยออกน้ำตาล บ้างบีบมะพร้าว ก็ขูดมะพร้าวมาให้ทางผู้ใหญ่และเด็กได้กินกัน ข้าพเจ้าชอบซื้อ “ข้าวควบ” (ข้าวเกรียบแผ่นใหญ่ๆ ขนาดซุปเปอร์จัมโบ้) ที่ญาติของคนไข้ซึ่งมาฟอกไตที่โรงพยาบาลเอามาขาย นำไปให้พวกเค้าปิ้งไฟ (อร่อยอีกเช่นกัน) ข้าพเจ้ามองเห็นได้ถึงความผ่อนคลายจากความเศร้าของญาติที่ต้องคอยดูแลบุคคลอันเป็นที่รักของครอบครัวในระยะสุดท้ายที่นอนรอความตายอยู่ในบ้าน ชุมชนเพื่อนบ้านเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้กำลังใจและเค้าสามารถ ยอมรับความเจ็บป่วย ความสุญเสียนี้ได้ จากที่ข้าพเจ้าได้ดูแลตารุณมาตลอด ข้าพเจ้ารับรู้ได้ถึงความรู้สึกที่ตารุณมีต่อข้าพเจ้า ครั้งหนึ่ง ยายผางบอกว่า ตารุณว่าถ้าตาหายแล้วจะไปช่วยทำงานบ้านให้แม่เลี้ยงช่วยกวาดเศษไม้ใบหญ้า รดน้ำต้นไม้ให้ โดยไม่คิดค่าจ้าง เป็นการตอบแทนบุญคุณ แต่ท้ายที่สุดตาก็ไม่มีโอกาสได้ทำอย่างที่ตั้งใจไว้    ช่วง 2 – 3 วันหลัง ตารุณไม่คอยตอบสนองต่อ การ Feed อาหาร ข้าพเจ้าเคยอ่านในหนังสือการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายว่า ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้อง Feed อาหารเลยก็สามารถอยู่ได้อีกหลายวัน ข้าพเจ้าจึงปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ ก็บอกว่าเอกออกได้ ถ้าญาติยอมรับแล้ว ข้าพเจ้าจึงไปเอาสายยางออกให้  ทุกวันที่ตาไม่ค่อยตอบสนอง ข้าพเจ้าจะไปเยี่ยม คอยเรียกชื่อและจับมือตา ทุกครั้งตาจะมีการตอบสนองลืมตาขึ้นมาดูแล้วก็หลับไปอีก มีอยู่วันหนึ่ง ทุกคนบอกว่าวันนี้ตาไม่ยอมลืมตา ตอบสนองใครเลย พอข้าพเจ้าและสามีไปเยี่ยม ข้าพเจ้าเรียกชื่อและจับมือ ตาก็ลืมตาขึ้น ทุกคนต่างดีใจว่าตายังรับรู้ และเมื่อข้าพเจ้าจะลากลับ ตาก็ยกมือขึ้น เหมือนโบกมือลา ญาติบอกว่าวันนี้ตายอมตอบสนองเฉพาะแม่เลี้ยงเท่านั้น ข้าพเจ้ารู้สึกตื้อในใจ รับรู้ว่าตารู้สึกกับข้าพเจ้าอย่างไรในการที่เราช่วยดูแลตามาตลอด  และแล้วรุ่งสางของอีกวัน ตาก็จากไปอย่างสงบ ยายสวยข้างบ้านวิ่งมาบอกข้าพเจ้าว่า  “ตารุณไม่มีแล้ว” ข้าพเจ้าไปช่วยจัดการดูแลศพ ก่อนจะไปทำงานตอน 8 โมงเช้า

            วันนี้ทำให้ประทับใจอีกเรื่องของคนในชุมชน คือ มีหลายคน ลางานวันนี้เพื่อช่วยจัดการงานศพ โดยที่ไม่ใช่ญาติสายตรง ข้าพเจ้ารู้สึกว่าในสังคมเมืองคงพบเหตุการณ์เช่นนี้ได้ยาก  วันแรกมักจะเป็นเรื่องฉุกละหุกสำหรับญาติ แต่หากมีเพื่อนบ้านคอยช่วยจัดการในเรื่องต่างๆให้ก็คงจะรู้สึกอุ่นใจ และไม่เดียวดายเกินไป  ช่วงจัดงานศพ 4 วัน ทุกคนต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือ สิ่งที่ข้าพเจ้ารู้สึกดีก็คือการรับรู้ว่าญาติและเพื่อนบ้านรู้สึกอย่างไรกับเรา ก็คือทุกคนจะต้องเป็นห่วงเรียกไปทานข้าวบ้านงานทุกมื้อ บางครั้งงานยุ่งบางวันก็ไม่ได้ไปทาน ก็แบ่งกับข้าวไว้ให้ นอกจากนี้ได้ดูแลตอนป่วยแล้วตอนจัดงานศพข้าพเจ้าก็ช่วยดูแลคนแต่งดอกไม้ในงานตามอัตภาพของญาติโดยไม่ให้สิ้นเปลืองแต่ก็สวยนะ ที่รู้สึกสะท้อนในใจก็คือตอนที่กำลังจัดดอกไม้ คนแก่ๆ ในหมู่บ้านมายืนดูแล้วดูกว่า “ถ้ายายตาย ช่วยทำให้ยายสวยๆ แบบนี้ด้วยนะ”ข้าพเจ้าบอกว่า “ได้เลยยาย ถ้าหนูไม่ตายไปก่อนยายนะเพราะหนูไม่รู้หรอก ว่ายายกับหนูใครจะไปก่อน” ยายก็หัวเราะบอกว่าแม่เลี้ยงบ่ตายง่ายเตื้อ  ยายแหละจะตายก่อน...ไม่แน่หรอกยายความตายกำหนดไม่ได้   หลังวันเผาศพตารุณข้าพเจ้าได้รับคำสั่งให้ไปสู่ขวัญ แล้วก็กินไก่ที่สู่ขวัญ ติดต่อกันไปอีกหลายบ้านจนเบื่อไก่ไปเลย

            แล้ววันนี้เดือนในเดือนธันวาคมของอีกปี เหตุการณ์คล้ายเดิมก็เกิดขึ้นอีกแล้ว พ่อหลวงจันทร์ ซอยหน้าบ้านแก่มากแล้ว และเป็นหมอขวัญ ประจำหมู่บ้าน ก็ป่วยเป็นปอดอุดกั้นเรื้อรังระยะสุดท้ายเช่นกัน ข้าพเจ้าก็ยังทำหน้าที่พยาบาลประจำหมู่บ้านเช่นเคย  พยาบาลจิตอาสาประจำหมู่บ้านน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ยากหากทุกคนมีใจที่พร้อมจะทำ...ถึงอยู่ที่ไหน ก็คือใจที่เป็นพยาบาล....

หมายเลขบันทึก: 342482เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2010 06:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พี่เล็กขา กลับถึงบ้านเเล้วเหรอคะ ดีใจที่ได้เจอนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท