บล๊อกของเครือข่ายกลุ่มแสงตะวันจังหวัดพิจิตร


คิดถึงในหลวง ราชวงค์จักรี เรียบง่าย พอเพียง พอดี รู้จัก สามัคคี ทำดี ตอบแทนแผ่นดินเกิด

เครือข่ายกลุ่มแสงตะวันจังหวัดพิจิตรเป็นองค์กรหนึ่งที่ได้เข้าร่วมงานกับ สคส.โดยได้จัดกิจกรรมตลาดนัดความรู้เรื่องโรงสีชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม  2547  ได้พบทางออกของชาวนาที่เป็นเจ้าของโรงสีชุมชนว่าจะต้องมีพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีกินอร่อยไว้สำหรับปลูกเพื่อสีเป็นข้าวสารไว้กินเอง  และเพิ่มมูลค่าของข้าวเปลือกด้วยการแปรรูปเป็นข้าวสารจำหน่ายในยี่ห้อของโรงสีชุมชน  ปัญหาที่สำคัญที่สุดของการบริหารจัดการโรงสีชุมชนก็คือ ขาดข้าวเปลือกพันธุ์ดีกินอร่อยเพื่อสีข้าวสารจำหน่ายทั้งปี

จากประสบการณ์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกิจกรรมตลาดนัดความรู้เรื่องโรงสีชุมชนและประสบการณ์การเข้าร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิข้าวขวัญจังหวัดสุพรรณบุรี  เครือข่ายกลุ่มแสงตะวันได้ค้นพบวิธีการที่ทำให้โรงสีชุมชนมีข้าวเปลือกไว้สีทั้งปีนั้น สมาชิกของโรงสีชุมชนจะต้องมีพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีทั้งพันธุ์ข้าวนาปี เช่น เหลืองอ่อน,ขาวตาแห้ง,ขาวอากาศ,หอมมะลิ,ขาวกอเดียว,ฯลฯและพันธุ์ข้าวนาปรังกินอร่อย เช่น สุพรรณ 60 , เหลืองทอง เป็นต้น 

ทางเครือข่ายกลุ่มแสงตะวันจังหวัดพิจิตรได้ประมวลความรู้ทั้งหมดและนำไปปฏิบัติการในพื้นที่โดยร่วมกับเจ้าของแปลงนาสาธิตที่ต้องการจะทำนาแบบต้นทุนต่ำ  โดยใช้ความรู้เรื่องการทำนาต้นทุนต่ำของคุณชัยพร   พรหมพันธ์ จังหวัดสุพรรณบุรีมาเป็นแม่แบบในการทำนาแปลงสาธิต

กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น เป็นกระบวนการเรียนรู้ของชาวนาด้วยกันเอง ต่างจากโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญ   คือไม่มีโรงเรียน ไม่มีการสอน  แต่เป็นการแนะนำเทคนิคในแปลงสาธิตให้ดูวิธีการสอนเน้นการปฏิบัติจริงในแปลงนาจำนวน 45 ไร่  โดยตั้งเป้าหมายไว้ก็คือเจ้าของแปลงนาสาธิตแปลงนี้ต้นทุนต่ำกว่าชาวนารายอื่น ๆ ในละแวกใกล้เคียง   มีชาวนาแปลงใกล้เคียงสนใจได้มาสอบถามและเกิดการวิพากย์วิจารณ์ถึงวิธีการทำนากันต่าง ๆ นา ๆ  บ้างก็ว่าดี บ้างก็ว่าบ้า บ้างก็ดูถูกว่าจะได้กินมั๊ย สารพัด 

ปรากฏว่าผลผลิตที่ได้ในครั้งแรกนั้นได้ผลผลิตข้าวไร่ละ 80 ถัง (ข้าวพันธุ์เหลืองทอง  ไปซื้อมาจาก คุณผดุง  เครือบุปผา จากตำบลคลองคูณ จำนวน 2 ตัน)    คิดค่าใช้จ่ายจากการลงทุนบวกค่าแรงเจ้าของนาโดยละเอียดแล้วพบว่ามีกำไร เหลือเงินเก็บ 100,000  บาท  ทำให้ชาวนาแปลงใกล้เคียงอึ้งและทึ่ง  รวมทั้งเจ้าของรถเกี่ยวข้าวที่เคยดูถูกไว้ ต้องยอมรับถึงวิธีการทำนาต้นทุนต่ำแบบนี้ การกระจายความรู้ของการทำนาแบบนี้กระจายไปถึงท่าข้าวที่ชาวนาตนแบบรายนี้ไปขายข้าว และกระจายไปยังธนาคาร ธกส.ที่ชาวนารายนี้ไปรับเงิน  

จากการที่ชาวนาได้คุยกันในสถานที่ต่าง ๆ นั่นคือกระบวนการจัดการความรู้  ในครั้งที่สองในการทำนาต้นทุนต่ำแบบเดิม  ผลผลิตได้มากกว่าเดิม คือได้ผลผลิตไร่ละ 90 ถัง  แต่คราวนี้ ต้นทุนลดลงมากกว่าเดิม  เพราะว่าสารสมุนไพรขับแมลงที่ทำครั้งที่แล้วยังไม่หมด  ปุ๋ยเคมีใส่น้อยลง สรุปว่าครั้งที่สองนี้ มีกำไรเหลือถึง 140,000  บาท 

คราวนี้เองกระบวนการเรียนรู้ของชาวนาในละแวกนั้น ตื่นเหมือนค้นพบอะไรบางอย่าง ค้นพบวิธีการทำนาให้รวย และมีเงินเหลือเก็บเยอะ ๆ มีเพื่อนเยอะ ๆ ชาวนาต้นทุนต่ำแปลงนี้มีเพื่อนชาวนาจากตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน  จังหวัดอุตรดิตถ์มาดูงาน  ปลื้มกันไปใหญ่ 

เครือข่ายกลุ่มแสงตะวันพิจิตรก็ได้ความรู้จากโรงเรียนชาวนาธรรมชาติ ที่เกิดจากการวิพากย์ และถ่ายทอดกันตามประสาของชาวนาด้วยกัน  ที่สำคัญการเลือกชาวนาต้นแบบนั้นเราเลือกชาวนาที่มีคุณลักษณะที่เป็นบัวพ้นน้ำ มีความพร้อม มีความน่าเชื่อถือ  พูดอะไร มีคนเชื่อ ชาวนารายนี้ชื่อนายลำพูน  นาคเพ็ง  อยู้บ้านเลขที่ 235 หมู่ 5 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 

ทางสภาข้าวต้มของเครือข่ายกลุ่มแสงตะวันจังหวัดพิจิตรได้ลงมติให้ชาวนารายนี้เป็นชาวนา    ต้นแบบเรื่องการทำนาต้นทุนต่ำคนแรกของจังหวัดพิจิตรที่ทำแปลงสาธิตเป็นแปลงนาขนาดใหญ่และมีการขยายผลการเรียนรู้ไปยังเพื่อนชาวนารายอื่น ๆ  สมควรยกย่องเป็นชาวนาดีเด่นของสภาข้าวต้มเครือข่ายกลุ่มแสงตะวันจังหวัดพิจิตร

นายข้าวเปลือก

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3419เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2005 03:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอต้อนรับสู่ GotoKnow.org ครับ    โอ้โฮ เปิดฉากก็เอาเรื่องเล่าชั้นยอดมาเล่า    ขอชื่นชมกับเครือข่ายกลุ่มแสงตะวัน   คุณลำพูน  และนายข้าวต้มด้วยครับ    ต่อไปเขียนเล่าเรื่องเทคนิคการตลาดของโรงสีชุมชนได้ไหมครับ

วิจารณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท